สอนอย่างมีสไตล์…แบบฉบับสุทธิชัย หยุ่น

สอนอย่างมีสไตล์...แบบฉบับสุทธิชัย หยุ่น
สอนอย่างมีสไตล์...แบบฉบับสุทธิชัย หยุ่น
สอนอย่างมีสไตล์…แบบฉบับสุทธิชัย หยุ่น
โดย สุดถนอม  รอดสว่าง (31 มีนาคม 2555)
หากใครถามว่า เทคนิคการสอนที่ดีเป็นอย่างไร คำตอบนั้นอาจมีหลายแนวทาง สำหรับเทคนิคการสอนอีกแนวทางหนึ่งที่ดิฉันมาแบ่งปันในครั้งนี้ ได้มาจากการไปฟังบรรยายพิเศษของคุณสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น กรุ๊ป และคนต้นแบบของนักสื่อสารมวลชนเมืองไทย เรื่อง “ทิศทางสื่อ ทิศทางวารสารศาสตร์”  ในงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2555  โดยจัดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา การไปร่วมงานในครั้งนี้ นอกจากจะได้ความรู้ มุมมองใหม่ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่นักวิชาชีพสื่อมวลชนกำลังเผชิญอยู่ ยังได้เห็นวิธีการบรรยายที่เรียบง่าย แต่น่าติดตาม ซึ่งดิฉันคิดว่าเราสามารถนำมาปรับใช้เป็นเทคนิคการสอนตามแบบฉบับสุทธิชัย หยุ่น ได้ดังนี้
ประการแรก อาจารย์ต้องทำการบ้าน จากเนื้อหาที่คุณสุทธิชัยพูด สะท้อนให้เห็นว่าได้เตรียมพร้อมในเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดี  มีการวิเคราะห์กลุ่มผู้ฟัง และตีโจทย์แตกว่า ต้องพูดเรื่องอะไร ประเด็นไหนบ้าง พร้อมทั้งกำหนดรูปแบบและวิธีการนำเสนอเพื่อให้การบรรยายน่าติดตาม
ประการที่สอง กำหนดวิธีการเล่าเรื่องและลำดับเนื้อหาที่จะพูด  คุณสุทธิชัย เริ่มการบรรยายด้วยการพูดถึงประเด็นปัญหาที่นักวิชาชีพสื่อมวลชนกำลังประสบอยู่ โดยเปรียบปัญหาเทียบเท่ากับ Perfect Storm ที่นักเดินเรือจะบังคับเรือไปข้างหน้าก็ไม่รู้ทาง จะถอยก็ถอยไม่ได้ หากนักวิชาชีพสื่อมวลชนจะออกจาก Perfect Storm นี้ได้ ก็ต้องมีการปรับตัว (Adapt) พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และวางแผนการปฏิบัติงานในอนาคต หลังจากที่อธิบายให้เข้าใจประเด็นปัญหาแล้ว คุณสุทธิชัยได้ตั้งคำถามนำก่อนที่จะอธิบายขยายความ และยกตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจชัดเจนขึ้น หากไม่กำหนดประเด็น และลำดับเนื้อหา วิธีการเล่าเรื่อง ผู้สอนอาจจะบรรยายวกวน ไม่น่าสนใจได้
นอกจากนี้ ต้องมีลูกเล่น  ดิฉันเชื่อว่าเสน่ห์ของการบรรยายหรือการสอนที่ดีนั้น คือ ลูกเล่นหรืออารมณ์ขันของผู้บรรยาย หากมีเนื้อหาที่น่าสนใจ แต่ไม่มีลูกเล่นผู้ฟังก็เบื่อได้ ด้วยความเก๋าของอดีตพิธีกรดำเนินรายการข่าวที่มีจุดเด่นด้วยลีลาการสัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้การบรรยายมีสีสัน และสะกดผู้ฟังได้ตลอด โดยคุณสุทธิชัยเริ่มบรรยายจากการถามผู้ฟังว่าจะให้บรรยายแบบ twitter หรือบรรยายแบบเล่าข่าว หลังจากนั้นก็ประกาศว่าจะบรรยายพิเศษตามลักษณะของการเล่น twitter ที่พิมพ์ข้อความได้เพียงสั้นๆ แค่ 140 ตัวอักษร และเริ่มต้นบรรยายพร้อมสรุปจบการบรรยายอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที ก่อนที่จะมีหน้าม้ายกมือขอให้บรรยายเพิ่ม และเปลี่ยนเป็นการบรรยายแบบเล่าข่าวแทน  อย่างไรก็ตาม ลูกเล่นที่กล่าวถึงนั้น ไม่ใช่แค่เพียงลีลาการพูด คำคม อารมณ์ขันของผู้บรรยายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงข้อมูลอ้างอิง รูปภาพ คลิปวีดิโอที่หลากหลาย ซึ่งคุณสุทธิชัยได้นำมาใช้ประกอบการบรรยายอีกด้วย
ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ได้แก่ เนื้อหา หากลีลาดี แต่ไม่มีประเด็นที่ใหม่ น่าสนใจ และน่าเชื่อถือแล้ว การบรรยายหรือการสอนนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
สำหรับเนื้อหาที่คุณสุทธิชัย บรรยายถึงทิศทางสื่อ ทิศทางวารสารศาสตร์ นั้น คุณสุทธิชัยมองว่าเทคโนโลยีเปลี่ยน ดังนั้นเราควรจะต้องมาทบทวน หาแนวทางใหม่ที่จะสอนนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ ให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานข่าว เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ทันเหตุการณ์ และที่สำคัญสามารถผลิตข่าวที่มีคุณภาพได้  โดยในการกำหนดอนาคตของการเรียนการสอนวารสารศาสตร์นั้น คุณสุทธิชัยเสนอว่า ผู้สอนต้องตอบคำถาม 3 ข้อ ให้ได้ก่อนว่าเราจะ สอนใคร สอนอะไร และสอนทำไม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สอนใคร ในมุมมองของคุณสุทธิชัย หยุ่น คำว่า “สอนใคร” หมายความว่า “เราจะสอนให้เป็นอะไร”  โดยคุณสุทธิชัยได้กำหนดบัญญัติ 5 ประการ สำหรับการเป็นคนข่าวยุคใหม่ ดังนี้
1. เป็นนักวิเคราะห์ข่าวดิจิทัลทุก Platform โดยนักข่าวสามารถหาข้อมูลมาทำข่าว และบรรณาธิกรข่าวได้ทุกแบบไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งสามารถตัดต่อรายการเองได้
2. เป็น Curator ของ Content ทุกรูปแบบ ในกรณีนี้ Curator น่าจะหมายถึงผู้สะสม และเสาะหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการทำข่าว ซึ่งไม่ควรหยุดนิ่ง ต้องแสวงหาข้อมูลใหม่เสมอ โดยใช้ Social Media ในการหาข้อมูล
3. เป็น Julian Assange แห่ง Wikileaks หมายความว่า คนข่าวรุ่นใหม่ ควรเป็นนักเจาะข่าว สามารถล้วงความลับที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ แต่เป็นความลับที่เป็นประโยชน์ เป็น Public Interest ซึ่งในโลกดิจิทัลมีวิธีการเจาะข่าวหลายแบบ นักข่าวต้องรู้วิธีล้วงข้อมูลลับ โดยใช้ Social Media มาช่วยในการทำข่าวและนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนรู้
4. เป็น Multimedia User หรือ นักสื่อสารกับมวลชนผ่านทุกสื่อ Online สามารถใช้เครื่องมือทุกอย่างทำข่าวได้
5. เป็น Entrepreneur Journalist กล่าวคือ สามารถเป็นเจ้าของสื่อ เนื่องจาก Social Media จะทำให้ระบบนายทุนสื่อหายไป เพราะคนมีช่องทางในการสื่อสารมากขึ้น และสามารถสร้างช่องหรือทำรายการของตนเองผ่าน YouTube โดยผู้เสพสื่อไม่จำเป็นต้องรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เสมอไป  ดังนั้น โอกาสในการเป็นผู้ประกอบการจึงมีให้กับทุกคน
สอนอะไร ในอนาคตอาจารย์ผู้สอนควรเน้นสอนแนวทาง หรือวิธีการให้นักศึกษาเป็นคนข่าวยุคใหม่ โดยควรสอน ดังนี้
1. สอนความมุ่งมั่นทุ่มเท (Passion) ในการทำงาน เพื่อความยุติธรรม และความเป็นธรรมของสังคม
2. สอนคิดให้เป็น (Critical Thinking) ผู้สอนต้องสอนให้นักศึกษาสามารถแยกแยะเหตุผล โฆษณาชวนเชื่อ และอารมณ์ได้ โดยควรสอนให้คิดวิเคราะห์ ไม่นำอารมณ์มากำหนดว่าอะไรดีหรือเลว
3. สอนเขียนหนังสือให้เป็น (Clear, Focused writing) เพราะถ้านักศึกษาสื่อภาษาไม่ได้ จะรายงานข่าวไม่ได้
4. สอนจริยธรรม (Ethics) ผู้สอนควรสร้างค่านิยมตั้งแต่เริ่มเรียนว่าภารกิจหลักของนักข่าวไม่ใช่แค่วิ่งหาข่าว แต่ต้องทำให้สังคมดีขึ้น ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน นักข่าวก็จะคงอยู่ได้ถ้าหากมีคุณธรรม
5. สอนทักษะการใช้ New Media ทุกประเภท
6. สอน Short – Form และ Long – Form Journalism โดยเฉพาะการเขียนข่าวแบบ Long – Form Journalism ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ มีเหตุผล มีประเด็น แสดงความคิดเห็น พร้อมหาข้อมูลอ้างอิงประกอบเพื่อให้น่าสนใจ และต้องเขียนได้ทั้งในมิติสั้น ยาว ลึก
7. สอนการใช้ Social Media for Investigative Reporting หรือการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน หากใช้ Social Media เป็น จะสามารถระดมความคิด และข้อมูลจากคนจำนวนมาก (Crowd Sourcing) เพื่อนำมาใช้ในการรายงานข่าวเชิงลึกได้
8. สอนสร้างหนังโดยใช้ Smartphone เนื่องจากปัจจุบัน Smartphone ได้ปลดแอกสื่อแล้ว หากนักข่าวมีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวก็สามารถถ่ายคลิป ทำข่าว ตัดต่อและส่งข่าวได้
สอนทำไม คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ แต่โดนใจทุกคนก็คือ สอนให้นักศึกษาทุกคนเป็นบุคลากรที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม
ปิดท้ายด้วยคำถามชวนคิด ว่า “แล้วใครจะสอนครู?” แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นนี้ อย่างน้อยการบรรยายพิเศษครั้งนี้ คุณสุทธิชัย หยุ่น ก็ได้ทำหน้าที่เป็นคนสอนครูตัวเล็กๆ อย่างดิฉัน ให้ Adapt … Not to Die in a Perfect Storm.

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

มีอะไรมากมายที่ต้องศึกษา อาทิ seo, script, virus, snw, blog

Leave a Reply