15 ม.ค.53 บทความเผยแพร่เสนอลงใน นิตยสาร Eduzones ฉบับพิเศษ มหาวิทยาลัยโยนก เขียนโดย นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม แล้วส่งให้ คุณศักดิ์รพี วดีศิริศักดิ์ บก. Eduzones Journal ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอบโครงงานคือ อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศรินทร์ อินเพลา ได้รับทราบความก้าวหน้าของการทำโครงงาน
จากการลงทะเบียนเรียนในวิชา โครงงานระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ (CPIS 412) ซึ่งเป็นการเรียนที่เน้นการศึกษาค้นคว้า ศึกษาความต้องการขององค์กรทางธุรกิจ ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองแล้วพัฒนาเป็นโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ตอบความต้องการขององค์กร ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่มีโอกาสสัมผัสหรือทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ต่อมาอาจารย์ในคณะได้นำประสบการณ์ในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาชวนให้แลกเปลี่ยนในชั้นเรียน จึงเกิดความสนใจในโครงการหนึ่ง คือ โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง
เมื่อตัดสินใจเลือกทำงานวิจัยเพื่อชุมชนเป็นโครงงานจบตามหลักสูตร จึงเข้าไปศึกษาชุมชนบ้านไหล่หิน เพื่อเขียนข้อเสนอโครงการแล้วพบว่ามีประเด็นและลักษณะของชุมชนเหมาะสมกับงานนี้ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร คือ บ้านไหล่หิน หมู่ 2 และบ้านไหล่หินตะวันตกหมู่ 6 ประชากรส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธที่ศรัทธาในวัดไทย 2 วัด ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันคือ วัดเสลารัตนปัพพะตาราม (วัดไหล่หินหลวง) และวัดชัยมงคลธรรมวราราม ในด้านสถานศึกษามีโรงเรียนบ้านไหล่หินเปิดสอนในระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับประถมศึกษา และโรงเรียนไหล่หินวิทยาเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งวัดและโรงเรียนตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่กันอย่างเกื้อกูลเสมือนญาติพี่น้อง และมีความสามัคคี เมื่อมีงานที่เป็นงานส่วนรวม เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน หรืองานศพ จะมีชาวบ้านไปร่วมงานจำนวนมาก แล้วเจ้าภาพจะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งด้านสถานที่ ด้านอาหาร และการต้อนรับ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานมีความพึงพอใจในทุกด้านเเท่าเจ้าภาพจะจัดหาให้ได้
จากสภาพเศรษฐกิจ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาความยากจนเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ เมื่อครอบครัวใดมีคนเสียชีวิตจะต้องจัดงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าภาพไม่ได้มีการตระเตรียมเงินไว้ล่วงหน้าเหมือนงานบุญหรืองานมงคล ด้วยค่านิยมที่หลั่งไหล่เข้าสู่ชุมชน คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้นและเชื่อว่าการจัดงานศพที่ใหญ่โตแสดงถึงความมีหน้ามีตาของเจ้าภาพ ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เจ้าภาพต้องแบกรับ โดยละลายพฤติกรรมทางสังคมที่เป็นตัวบ่มเพาะชุมชนที่อยู่อย่างเกื้อกูลและความพอเพียงให้จางหายไป
ต้นปีพ.ศ.2550 ผู้นำหลากหลายบทบาทในหมู่บ้านทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนผู้นำองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ได้รวมตัวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในงานศพที่สูงขึ้นตามการบริโภควัฒนธรรมที่สวนทางกับกระแสเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมาเป็นเครื่องมือ โดยขอรับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ภายใต้โครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” หลังจากการดำเนินงานโครงการสิ้นสุดลงทีมวิจัยได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การขยายผลประเด็นการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนโดยใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือนั้น ยังขาดการนำเสนอที่เป็นรูปธรรม และเข้าใจง่าย
จึงมีแนวคิดที่จะจัดทำสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผล แต่เนื่องจากทีมวิจัยชาวบ้านมีข้อจำกัดในการพัฒนาสื่อด้วยตนเอง ดังนั้นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ ได้แก่ นายกร ศิริพันธุ์ และ น.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม ได้อาสาเข้าเติมเต็มต่อยอดงานวิจัยเดิมให้มีความสมบูรณ์ โดยเน้นไปที่การจัดทำสื่อขยายผลองค์ความรู้ จึงขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีควบคู่กับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสร้างเครื่องมือนำเสนอบทเรียนจากโครงการที่มีผลชัดเจนด้วยสื่อวีดีทัศน์เกี่ยวกับประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพ และกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น แล้วขยายผลสู่โรงเรียนเป้าหมายในชุมชน
โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้รับอนุมัติ คือ เรื่อง “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” เลขที่โครงการ PDG52N0013 มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือ 1)เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการหาประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 2) เพื่อจัดทำสื่อวีดีโอเผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 3) เพื่อศึกษาทิศทาง หรือแนวโน้มในการขยายผลการนำสื่อวีดีโอที่จัดทำไปใช้ในกลุ่มเป้าหมาย
กระบวนการทำงานมีขั้นตอนดังนี้ นักศึกษาเข้าเก็บรวบรวมข้อมูล สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง เรียนรู้ชุมชน รวมถึงการเรียนรู้เรื่องการจัดงานศพในหมู่บ้าน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ในการจัดทำโครงเรื่อง (Story Board) แล้วบันทึกวีดีโอของคนในชุมชนตัดต่อเป็นสื่อวีดีทัศน์เผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งจากการเข้าทำงานในชุมชน พบว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและทุกคนที่เข้าร่วมโครงการมีความสุข เนื่องจากเป็นโครงการมีประโยชน์ต่อชุมชน สามารถเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายบทบาทให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกที่คนในชุมชนจะใช้ประสบการณ์ที่ได้รับไปเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาอื่นได้อย่างมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการต่อไป
หลังจัดทำสื่อวีดีทัศน์สำเร็จได้นำไปทดลองฉายให้กับคนในชุมชน ในโรงเรียนบ้านไหล่หิน และในโรงเรียนไหล่หินวิทยา พบว่านักเรียนมีความเข้าใจและสนใจที่จะเรียนรู้ทั้งรูปแบบในการจัดการงานศพที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงสรุปได้ว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโครงการนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการวิจัยไปจัดทำสื่อได้อย่างถูกต้องในรูปสื่อวีดีทัศน์ที่เข้าใจง่าย เผยแพร่ง่าย ใช้ขยายผลเข้าไปในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้ตามความมุ่งหวัง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนมีจิตสำนึกสาธารณะมีความรักชุมชนอย่างเข้าใจและร่วมกันพัฒนาชุมชนของตนให้ยั่งยืนสืบไป
+ http://blog.eduzones.com/magazine/
+ http://www.thaiall.com/research/vdo_aricle_yookmag.doc