รายงานการประชุมแสวงหาความรู้จากอาจารย์แต่ละคน

ทัศนะของรุ่นพี่ ที่ฉายภาพในคณะวิทย์

6 เม.ย.53 มีโอกาสทำรายงานการประชุมตามแผนการจัดการความรู้ (KM : Knowledge Management) ของอาจารย์กลุ่มหนึ่ง เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หลายท่านขอสงวนนามไว้ แต่มีรายละเอียดชวนให้เรียนรู้ เป็นแนวคิดของแต่ละคน ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอน ดังนี้
     1) อ.อติบุ๋มให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในด้านนี้ว่า ในการพัฒนาสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศในการเรียนรู้ในระดับบุคคลและกลุ่มบุคคล จำเป็นต้องมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสามารถประมวลผลความรู้ในแต่ละด้าน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งการแสวงหา แลกเปลี่ยน และพัฒนาความรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการปฏิบัติงาน อันเป็นผลมาจากความรู้ใหม่ อันจะนำไปสู่การสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
      2) อ.ศศิแนนให้ความคิดเห็นว่าการพัฒนาการเรียนการสอนนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งบุคลากร นักศึกษา อาจารย์ สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม กระบวนการจัดการเรียนการสอน การดูแลเอาใจใส่ แหล่งค้นคว้า ทัศนคติ เป้าหมายที่ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน เสริมซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการให้คะแนนนั้นต้องเป็นไปในทางเดียวกันคือมีคะแนนพัฒนาการวิชาละ 5 คะแนน เพื่อวัดพัฒนาการหรือความก้าวหน้าในการเรียนรายบุคคล จากประสบการณ์ใช้วิธีบันทึกว่านักศึกษาแต่ละคนก่อนเรียนเป็นอย่างไร เมื่อให้งานแล้วผลการเรียน หรือผลสอบพัฒนาขึ้นมากน้อยเพียงไร ก็จะใช้เป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนพัฒนาการ
     3) อ.วิบุญให้ความคิดเห็นว่าอาจารย์จำเป็นต้องเห็นนักศึกษาคือลูก ต้องทำตัวเป็นพ่อผู้ให้ความรักอย่างเอื้ออาทร และแสดงออกให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพราะทุกคนมีคุณค่า หากเริ่มต้นด้วยจิตใจที่ดีแล้ว ทุกอย่างก็จะดีงามเป็นเงาตามตัว ขอให้ทุกคนคิดดีด้วยจิตใจที่งามเห็นนักศึกษาเป็นลูกหลาน แล้วการให้คำปรึกษา การสอน หรือการปฏิบัติตนต่อนักศึกษาก็จะเป็นไปในแบบกัลยาณมิตร นักศึกษาก็จะเข้าเรียนอย่างมีความสุขกับพ่อพระที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ชี้แนะลูกทุกคน อย่างมีความสุขด้วยความเท่าเทียม การจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ดีทำให้ทุกคนได้มาประชุมร่วมกันหากมีสิ่งดี ๆ ก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้อีก ทำให้เกิดกำลังใจหนุ่นเสริมให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข และไม่รู้สึกว่าทำงานอีกต่อไป แต่รู้สึกว่าเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา
     4) อ.ทนงเมืองให้ความคิดเห็นว่าการพัฒนาการเรียนการสอนต้องมีเทคนิควิธีในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งต้องบูรณาการเทคนิคเข้ากับวิชาที่ตนสอน โดยมีประเด็นนำเสนอทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1) การอภิปรายกลุ่มใหญ่ (Whole – Class Discussion) 2) การอภิปรายกลุ่มย่อย (Small – Group Discussion) 3) การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) 4) สถานการณ์จำลอง (Simulation) 5) ละคร (Dramatization) นำเสนอประสบการณ์ว่าได้จัดกิจกรรมกลุ่มที่เปิดให้นักศึกษารวมกันเป็นกลุ่มเล็ก แบ่งหน้าที่กันทำงาน เรียนรู้ที่จะทำงานอย่างบูรณาการ รู้หน้าที่ของกันและกัน จำลองเหตุการณ์เพื่อแก้ปัญหา เช่นวิชาด้านความปลอดภัยที่เปิดให้ค้นคว้า แบ่งกันหาข้อมูล นำมาแลกเปลี่ยนและสรุปร่วมกัน และนำเสนออย่างรู้หน้าที่ร่วมกัน
     5) อ.เกศลาเห็นพร้องกับ อ.ทนงเมือง และเสนอประเด็นหรือเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนอีก 6 ประเด็นคือ 1) กระบวนการสืบค้น (Inquiry Process) 2) การตั้งคำถาม (Questioning) 3) การศึกษาเป็นรายบุคคล (Individual Study) 4) การจัดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยี (Technology – Related Instruction) 5) การฝึกปฏิบัติการ (Practice) 6) กรณีศึกษา (Case Studies) ตัวอย่างเช่นวิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นที่ให้นักศึกษาทำโครงงานประจำวิชา ได้สืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ตั้งโจทย์ด้วยตนเองที่ต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียนเป็นรายบุคคล ฝึกปฏิบัติสร้างภาพยนต์ด้วยโปรแกรม Flash หรือเรียนรู้จากกรณีศึกษา และวิเคราะห์ร่วมกัน ซึ่งถูกใช้ในหลายวิชา และสอดแทรกไปอยู่เสมอ การใช้เทคนิคเหล่านี้เป็นไปโดยธรรมชาติ การได้นำเสนอให้เกิดการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้รู้สึกดี และเสนอให้จัดขึ้นบ่อย ๆ เพราะถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในชั้นเรียนก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนร่วมกันได้
     6) อ.บุพันธุ์ เสริมว่ายังมีอีก 2 ประเด็นคือ การเรียนแบบค้นพบ   (Discovery Learning) และ  การเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving) ตัวอย่างเช่นวิชาการโปรแกรมจาวาที่ให้นักศึกษาเรียนการใช้ฟังก์ชัน และสร้างฟังก์ชันขึ้นใช้เอง เพื่อใช้สำหรับแก้ปัญหาที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีรหัสต้นฉบับให้กับนักศึกษาและให้นักศึกษาค้นหาว่ารหัสต้นฉบับที่ให้นั้นมีคำสั่งใด รูปแบบ หรือผลลัพธ์ผิดพลาดอย่างไร ถ้าพบปัญหาแล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร
     7) นางสาวพัชวรรณ เสริมว่าแผนการสอน หรือเอกสารประกอบการสอนขออาจารย์ทุกท่านสามารถขอดูได้ที่เลขานุการเพื่อนำไปเรียนรู้ หรือเป็นบทเรียนในการพัฒนาการเรียนการสอนภายในคณะ ปัจจุบันคณะมีคลังแผนการสอนที่สั่งสมมาหลายปีหากมีการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมก็จะเกิดประโยชน์ได้

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply