ชาวตำบลไหล่หินประกาศยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงคุมคชจ.งานศพ (7)

      ชาวตำบลไหล่หิน 6 หมู่บ้าน ประกาศเจตนารมณ์ลดเหล้าในงานศพ พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ออก 18 มาตรการ ควบคุมค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อลดภาระเจ้าภาพ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือเมื่อครอบครัวใดมีคนตาย จะต้องจัดการงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าภาพไม่ได้มีการตระเตรียมสำรองเงินไว้ล่วงหน้าเหมือนงานบุญ หรืองานมงคล โดยจากการศึกษาข้อมูลระหว่างปี 2533-2550 พบว่าชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 6 เสียชีวิตเฉลี่ย 19 คน/ปี และค่าใช้จ่ายในงานศพอยู่ที่ 13,000-17,000 บาท/วัน ดังนั้นถ้าเก็บศพไว้ 5-7 วัน จะมีค่าใช้จ่ายร่วม 100,000 บาท
       ซึ่งเมื่อศึกษารูปแบบงานศพในอดีต ก็พบว่าประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา เมื่อบ้านไหนมีผู้เสียชีวิตจะห่อผ้ามัดด้วยเชือกเงื่อนตอกงูลืน แล้วนำใส่แคร่ไม้ไผ่ไปทำพิธีเผาหรือฝังอย่างเร็วที่สุด ไม่มีการเก็บศพข้ามคืนข้ามวันรอคนมาร่วมพิธีอย่างในปัจจุบัน และถ้าไม่ใช่ขุนนาง จะไม่ใช้ล้อเข็นศพไปทำพิธีที่สุสาน ปราสาทก็มีเฉพาะชนชั้นเจ้านายเท่านั้น แต่ค่านิยมที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้น มีการสร้างปราสาทให้กับญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับ เพราะเชื่อว่าปราสาทเหล่านี้จะเป็นที่อยู่ของผู้ล่วงลับหลังความตาย ทั้งยังเชื่อว่างานศพที่ใหญ่โตแสดงถึงหน้าตาของเจ้าภาพ
ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์

        ด้านนายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภา อบต.ไหล่หิน ในฐานะรองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงวิธีการจัดการว่าหลังจากทราบข้อมูลแล้ว มีการทำประชาคมหมู่บ้าน ดึงทุกภาคส่วน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนหน่วยงาน องค์กรที่อยู่ในพื้นที่เข้าร่วม และได้ประชามติเป็นประเด็นการจัดการงานศพทั้งหมด 16 ประเด็น แยกเป็นด้านการจัดการ 9 ข้อ และด้านความเชื่อ 7 ข้อ ตามลำดับ ได้แก่ 1.การควบคุมไม่ให้อาหารรั่วไหล ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาอาหารมีปริมาณไม่เพียงพอกับแขก เพราะมีบางคนแอบตักออกไป ในลักษณะจิ้นลอดฮั้ว ชุมชนจึงเห็นพ้องว่าต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนั้นต่อไป 2.ใช้เครื่องปรุงพอประมาณ เนื่องจาการซื้อเครื่องปรุงแบบไม่วางแผนล่วงหน้า ทำให้มีปัญหาทั้งขาดและเหลืออยู่เสมอ 3.ลดน้ำอัดลมเป็นน้ำเปล่า ตามหลักความสมเหตุสมผลว่าน้ำหวานเจือสีอัดแก๊ซ มีผลเสียต่อสุขภาพ 4.ลดอาหารว่าง เช่น เม็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ขนมปังปี๊บ ข้าวต้ม กระเพาะปลา หรือกาแฟรอบดึก ซึ่งล้วนเป็นภาระของเจ้าภาพที่ต้องจัดหาตามแบบอย่างค่านิยมในเมือง 5.เตรียมเมี่ยงอย่างพอประมาณ เพราะความนิยมในการอมเมี่ยงลดลง แต่ผู้สูงอายุยังช่วยกันห่อเมี่ยงในงานศพตามปกติ ทำให้เหลือทิ้งอยู่เสมอ 6.ลดสุรา จากที่เคยตั้งโต๊ะทุกวัน เหลือเพียงบางวัน เช่น วันเก็บเต้นท์เก็บครัว เพื่อแทนคำขอบคุณผู้มาช่วยลงแรง 7.งดเล่นการพนัน 8.งดจ้างวงดนตรีสากล หรือวงลูกทุ่ง โดยส่งเสริมให้ใช้เทปหรือซีดีแทน 9.ใช้ดอกไม้แห้งในหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในชุมชน 10.ใช้โครงปราสาทถาวร ไม่ต้องซื้อปราสาทใหม่ทั้งหลังแล้วนำไปเผา เพียงแต่หากระดาษสีสวยงามติดตามโครงปราสาทที่มีอยู่ หรืออาจซื้อผ้าเต้นท์ไปขึงเป็นยอดปราสาท แล้วบริจาคให้เป็นสาธารณประโยชน์ดีกว่านำปราสาทไปเผาทิ้ง 11.ยืมโลงทองที่สวยงาม มาครอบโลงจริง 12.เก็บศพประมาณ 4-5 คืน ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนได้ร่วมกันหารือ จนมีมติลดจำนวนวันที่ไม่สมควรทำพิธีเผาศพให้เหลือเพียง 2 วัน คือวัน 9 ค่ำ และวันศุกร์ที่ตรงกับ 15 ค่ำ ส่วนเจ้าภาพที่ไม่เชื่อเรื่องวันเสีย จะเผาศพวันใดก็สามารถทำได้ 13.จัดผ้าบังสุกุลอย่างพอประมาณ 14.งดการจุดพลุและบั้งไฟ 15.ควรเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน จากธรรมเนียมปฏิบัติที่เพื่อนบ้านนำสำรับหรือสังฆทานไปร่วมทำบุญถวายแด่พระสงฆ์ แต่จำนวนสำรับมักมากกว่าจำนวนพระสงฆ์หลายเท่า ซ้ำปัจจัยที่บรรจุในสำรับไม่สดใหม่ หากเปลี่ยนจากสำรับเป็นเงิน ก็จะทำให้เจ้าภาพมีเงินเหลือไว้ทำบุญและง่ายต่อการจัดการ 16.ควรให้เงินสดแทนพวงหรีด เพราะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าภาพมากกว่า
         “ปรากฏว่าเมื่อนำมาทดลองใช้ใน 2 หมู่บ้าน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงมีการขยายผลไปสู่อีก 4 หมู่บ้านที่เหลือ และเกิดประเด็นเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1.งดชิงโชคจากโปรยทานด้วยลูกอมหรือเงินเหรียญ 2.ควรเผาศพในเมรุ 3.งดจุดธูปในบ้าน เพราะควันจากธูปก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การจุดในที่โล่ง หรือจุดแต่น้อย จึงเป็นข้อเสนอที่นำมาให้เจ้าภาพพิจารณา” รองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
        และเป็นที่มาของการรวมตัวกันในระดับตำบล ทั้ง 6 หมู่บ้าน ที่ศาลาวัดไหล่หินหลวง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หิน ไว้เป็นหลักฐาน
        ด้านนายชนะเกียรติ เจริญราช นายอำเภอเกาะคา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว ย้ำว่า การประกาศเจตนารมณ์ของชาว ต.ไหล่หิน ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับเจ้าภาพได้อย่างชัดเจน จึงขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ และในอนาคตอันใกล้ จะพยายามนำรูปแบบและวิธีการไปขยายผล เพื่อขับเคลื่อนสู่ระดับอำเภอต่อไป
หัวข้อเดิม ชาวตำบลไหล่หิน ประกาศยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ควบคุมค่าใช้จ่ายในงานศพ
จาก http://talk.mthai.com/topic/55481 (saichol)

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply