20 พ.ค.53 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงาน “การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาจังหวัด ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยมีรายละเอียดข้อหนึ่งได้กำหนดว่าให้มีการมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer : PCSO) มีหน้าที่ผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธภาพ
ผลพวงจากบันทึกข้อตกลงพบว่า กิจกรรมที่สามารถพัฒนาระบบสารสนเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ การนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ช่วยในการประมวลผลข้อมูล อ้างอิงข้อมูลจากจุดพิกัดทางภูมิศาสตร์ หาพื้นที่ทับซ้อนด้วยข้อมูลสารสนเทศหลายชั้น เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ ช่วยในการตัดสินใจวางแผนงานโครงการงบประมาณ และแผนพัฒนาจังหวัดที่จำแนกตามพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาคสนามจากเครื่องจีพีเอส (Global Positioning System : GPS) และเชื่อมโยงกับข้อมูลหลายภาคส่วน
หน่วยงานหนึ่งที่มีข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมคือ สทอภ. หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (gistda.or.th) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มุ่งมั่นพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรและภูมิสารสนเทศ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดังนั้นหลายหน่วยงานจึงขอข้อมูลจากหน่วยงานนี้มาใช้พัฒนาประเทศ หรือพื้นที่ในความรับผิดชอบ ซึ่งมีเว็บไซต์นำเสนอบทเรียนการใช้ข้อมูลดาวเทียมกับสถานการณ์หลายเหตุการณ์ดังนี้ ภาวะน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง ภาวะไฟป่า การเปลี่ยนแปลงลำน้ำโขง ธรณีพิบัติภัย สึนามิ พายุไซโคลนนาร์กีส ซึ่งมีรายชื่อหน่วยงานที่ขอรับบริการข้อมูลภาพดาวเทียมจาก สทอภ. อย่างต่อเนื่อง อีกหน่วยงานหนึ่ง คือ ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย (gisthai.org) เป็นอีกหน่วยงานที่เผยแพร่ข้อมูลการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (Remote sensing) เพื่อการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากดินถล่ม น้ำปนตะกอนบ่า น้ำหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคเหนือ