กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดในชุมชน

vj_suwant_a
สุวรรณ

       ชุมชนได้อะไรจากโครงการวิจัย  ในเชิงวิชาการชุมชนได้ความรู้พื้นฐาน  กับคำว่าวิจัย โดยพื้นฐานทางการศึกษาแล้ว ชุมชนมีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน  ซึ่งมีกลุ่มคนจำนวนน้อยในชุมชนที่ผ่านระบบการศึกษาที่รู้จักคำว่าวิจัย  มีจำนวนมากที่ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยิน   และมีจำนวนหนึ่งที่เคยได้ยิน ได้อ่านแต่ไม่รู้ความหมายหรือรู้แต่ไม่ชัดเจน โครงการวิจัยจึงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้และเกิดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน จึงทำให้ทุกคนในชุมชนหรือส่วนใหญ่ได้รู้จักคำว่าวิจัย คืออะไร     อีกคำหนึ่ง คือคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเป็นคำที่ทุกคนได้ยิน ได้ฟัง ได้คุ้นเคยผ่านทางสื่อต่างๆ  แต่การที่จะรู้ความหมายอย่างถ่องแท้เพื่อนำไปสู่การปฎิบัตินั้นมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่คิดเพียงเรื่องเศรษฐกิจ การกิน การใช้ และการคิดถึงอาชีพที่เป็นภาคการเกษตรเท่านั้น  มองว่าเป็นเรื่องของส่วนตัวและครอบครัวเท่านั้น  ซึ่งที่แท้จริง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินวิถีชีวิตของทุกกลุ่มอาชีพ  โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง  ครอบครัว  หน่วยงาน องค์กร  ชุมชนและสังคม  โครงการวิจัยจึงทำให้เกิดความชัดเจนในองค์ความรู้ กับคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับชุมชน  เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ ไปปฏิบัติที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม
       ชุมชนได้เกิดกระบวนการอย่างน้อย  2 กระบวนการ คือ
       1. กระบวนการมีส่วนร่วม   การจัดการในงานศพมิใช่มีคนเพียง 2 –3 คน ที่จะดำเนินการได้และตัดสินใจให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองได้ทุกอย่าง  บางอย่าง บางประเด็น เป็นเงื่อนไข  เป็นกติกา เป็นประเพณี ของสังคมที่ต้องปฏิบัติ   โครงการวิจัย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการใช้กระบวนการของเดรมมิ่ง ( P D C A )  โดยการคิดวางแผนร่วมกันเพื่อให้ได้ประเด็นปัญหาไปสู่การปฏิบัติจริง  มีการสำรวจตรวจสอบประเด็นปัญหาใดที่ไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ และนำผลนั้นมาประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป  การได้ประเด็นปัญหาของการจัดการงานศพที่มีอยู่มากมายที่มีผลกระทบต่อเจ้าภาพและชุมชนมาบริหารจัดการอย่างได้ผลจึงเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
      2. กระบวนการประชาธิปไตย  การจัดการงานศพเป็นรูปแบบที่จัดสืบต่อกันมาและมีปัญหามากมายที่ไม่มีใครมองหรือมีคนมองแต่มิได้นำเสนอสู่การแก้ไข  โครงการวิจัยทำให้ทุกคนมองถึงปัญหาและนำปัญหานั้นมาคิดพร้อมกับนำเสนออย่างมีเหตุผล  มีความขัดแย้งในเชิงเหตุผลของแต่ละบุคคล  ท้ายสุดเกิดการยอมรับในเหตุผลซึ่งกันและกันและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างลงตัว ทุกคนจึงเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามในกิจกรรมเดียวกัน
       รูปแบบการจัดงานศพ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นองค์ความรู้ของชุมชน การจัดการงานศพบางเรื่องเป็นความละเอียดอ่อน  เป็นกิจกรรมที่ไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารและจัดการแบบเร่งด่วนและฉับพลัน  ซึ่งมีหลักหรือประเด็นที่เป็นกิจกรรมในการบริหารจัดการที่พอจะแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆอยู่  3 ประเด็น  คือ  พิธีกรรม   ความเชื่อ   และค่านิยม
       1. พิธีกรรม หรือพิธีการ  เป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 พิธีใหญ่ คือ  พิธีทางศาสนา และพิธีทางสังคม
       พิธีทางศาสนา  เช่น การการนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ สวด  การจัดสำรับปัจจัย
       พิธีทางสังคม เช่น การเชิญแขกมาร่วมงาน  การบริการต้อนรับ  การจัดอาหารเลี้ยงดู  การจัดสถานที่ที่พักอาศัย การให้เกียรติผู้ร่วมงานเป็นตัวแทนในการวางผ้าบังสุกุลหรือถวายสำรับปัจจัยแด่พระสงฆ์ เป็นต้น
      2. ความเชื่อ   เป็นนามธรรมที่สามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรม  ความเชื่อเป็นกิจกรรมหรือวิธีการปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา เช่น ความเชื่อเรื่องของวันดี วันเสีย  เป็นความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากคนรุ่นก่อน ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนอย่างมีเหตุมีผลว่า ดีอย่างไร  เสียอย่างไร   เพียงแต่เชื่อและปฏิบัติต่อกันมาและเชื่อว่าหากฝืนปฏิบัติแล้วจะเกิดความไม่เป็นมงคล  ความวิบัติ ต่อครอบครัวหรือชุมชน   ตัวอย่างหรือสถิติของการไม่ปฏิบัติตามความเชื่อนั้นแล้วทำให้บังเกิดสิ่งที่ไม่ดีงามเกิดขึ้นต่อชุมชนและครอบครัว ก็ไม่มีความชัดเจน  ความเชื่อจึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามรุ่นต่อรุ่นมากกว่า  ผลกระทบของประเด็นนี้คือ การที่ต้องจัดเก็บศพไว้นานหลายวันด้วยข้อจำกัดของคำว่า วันดี วันเสีย
       3. ค่านิยม   เป็นกิจกรรมที่ได้ประยุกต์หรือบูรณาการตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  เพียงมีใครได้คิดและทำเป็นแบบอย่างครั้งหนึ่งก็เกิดการปฏิบัติตามกัน  ซึ่งในอดีตไม่เคยมี  เช่น การจัดงานเลี้ยงแบบงานรื่นเริงหรืองานมงคล  มีดนตรี มีการจัดตั้งโต๊ะเลี้ยงสุราอาหาร การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ  การจัดให้มีปราสาทสวยงามราคาแพง เป็นต้น  ค่านิยมได้ก่อรูปแบบให้สังคมได้ชี้ถึงความเด่น ความด้อย ความมีศักยภาพหรือฐานะของเจ้าภาพ
       โครงการวิจัย รูปแบบการจัดการงานศพฯ  ได้อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนมาร่วมคิดและแก้ไขปัญหาที่ซ่อนบ่มอยู่ในการบริหารจัดการ โดยการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการประยุกต์ใช้ ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน  โครงการได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง  รูปแบบ และพฤติกรรมสังคม สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
       รูปแบบการจัดงานศพเป็นองค์ความรู้ในชุมชนที่มีกระบวนการ  เป็นองค์ความรู้ที่มีความยั่งยืน และจะมีพัฒนาการไปอย่างไม่จบสิ้น เป็นไปตามสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
       การจัดรูปแบบงานศพโดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน การนำประเด็นปัญหาที่เป็นผลกระทบมาสู่การแก้ไขและนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นรูปแบบใหม่ในชุมชนที่ต้องปฏิบัติสืบไป
       ชุมชนได้นำประเด็นปัญหาที่มีทั้งความง่าย แลความยากในทางปฏิบัติมาจัดการได้อย่างลงตัวถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่ยิ่งของโครงการ  ประเด็นปัญหาที่มีความง่าย เช่น การเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน  เพียงชี้แจงเหตุผล ความเป็นมาให้กับชุมชนเข้าใจก็สามารถปฏิบัติได้ ประเด็นปัญหาที่มีความยาก เช่น เรื่องของวันดี วันเสีย ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมานานเป็นนามธรรมที่มีความละเอียดอ่อน  โดยนำเอาความหายนะ ภัยวิบัติ  ความไม่เป็นมงคล มากำหนดหากไม่ปฏิบัติตาม  ความยากอยู่ที่การเปลี่ยนความเชื่อโดยการหาเหตุผลมาหักล้าง ที่ทำให้ทุกคนยอมรับและพึงพอใจ
       การดำเนินงานตามโครงการวิจัยถือว่ามีความสำเร็จ บรรลุตามวัตถุประสงค์    ชุมชนได้อะไรมากมายจากการมีส่วนร่วมในโครงการนี้  โดยเฉพาะการได้มีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นวิถีชีวิตชุมชนแบบยั่งยืน  การได้สร้างพื้นฐานการเป็นนักวิจัยของคนในชุมชน  การสร้างความพร้อมให้ชุมชนที่จะมองปัญหาอื่นที่มีอยู่ในชุมชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชนที่โครงการได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยท้องถิ่นดีเด่นระดับประเทศ  ความภาคภูมิใจของชาวบ้านไหล่หินอีกประการหนึ่งคือ การที่ได้มีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวแบบในการจัดงานศพที่สามารถขยายผลไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียงได้ปฏิบัติตาม  ต้องขอขอบคุณ สกว.ที่มอบโอกาสให้เกิดกระบวนการสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชน
        อีกโอกาสหนึ่งในระบบการศึกษาในสถานศึกษาที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ คือการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในการจัดงานศพ มาจัดทำเป็นสาระหลักสูตรท้องถิ่น ให้บุตรหลานได้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการได้เห็นการปฏิบัติจริงของชุมชน ซึ่งมีเกือบทุกสาระอยู่ในองค์ความรู้นั้น
       ท้องถิ่น ชุมชน มีปัญหาซ่อนบ่มอยู่มากมาย ที่รอรับการแก้ไขและพัฒนา เพื่อสร้างความสงบสุขให้ชุมชน  เพียงแต่ว่าจะมีใครเสียสละเวลาและกล้าเป็นผู้นำในการมองปัญหานั้น ๆ แล้วสืบค้นเพื่อแก้ไข  โดยการอาศัยการสนับสนุน จาก สกว.ท้องถิ่น ที่พร้อมให้การสนับสนุน  ซึ่งถือว่า  สกว. มีส่วนช่วยสร้างและขัดเกลาสังคม  นำชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา นำความสุข ความสงบสู่ชุมชนท้องถิ่นได้ตามสถานการณ์
โดย อ.สุวรรณ  เกษณา    ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือ
http://www.thaiall.com/lovelampang/laihin_suwan.htm

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply