
30 พ.ค.52 ศูนย์ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ โดยคุณภัทรา มาน้อย (จิ๋ม) คุณรัตติกร บุญมี (จิ๊บ) และคุณอัญมณี แสงแก้ว (โบว์) ได้เชิญคุณกฤษดา เขียวสนุก (พี่บอย) มาเป็นวิทยากรที่ห้องประชุมของห้องสมุดเทศบาลนครลำปาง ในโครงการอบรมครั้งที่ 3 หัวข้อ การวาดเพื่อการสื่อสาร จากแผนงาน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 2) การเป็นวิทยากรกระบวนการ 3) การวาดเพื่อการสื่อสาร 4) การเขียน Social Mapping 5) การคิดแบบวิจัย มีตอนหนึ่งใน powerpoint เรื่อง วิธีเติมสารอาหารให้จินตนาการ มี 5 หัวข้อคือ 1) มองสภาพแวดล้อม 2) ขยับร่างกาย 3) ดูผลงานในปัจจุบัน 4) กล้าคิดแตกต่างอย่างท้าทาย 5) ช่างสังเกต
การอบรมครั้งนี้เน้นการวาดเพื่อการสื่อสาร มิใช่วาดเพื่อความสวยงามหลาย ๆ คนวาดได้สวยงามมาก แต่เป้าหมายของการวาดในงานวิจัย คือการนำเสนอให้ชุมชนได้เข้าใจในสิ่งที่นักวิจัยต้องการสื่อ แล้วจิ๋มก็ได้อธิบายว่า การวาดมี 2 แบบ หากแบ่งตามแผนการวาด คือ 1)แบบไม่มีแผน เพราะฟังคนในเวทีพูดแล้ววาดทันที 2) แบบมีแผน เพราะวางแผนไว้ในหัวแล้ววางโครงแบบเพื่อสื่อให้เห็นอย่างเป็นระบบ ช่วงเช้าวิทยากรจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม บรรยายทฤษฎีการวาดรู้ และการใช้จินตนาการ นำเสนอภาพจาก http://www.funpic.hu พอ 11.30 น. ก็สอนวาดภาพแสดงความรู้สึกของคน โดยใช้วงกลมกับเส้น 3 เส้นเป็นหลัก ช่วงบ่ายก็สอนวาดมุมของหน้า ตัวคน สถานที่ และการใช้ลูกศร บ่ายแก่หน่อยก็แบ่งกลุ่มให้วาดตามโครงการของตนเอง ทีมของผมมีลูกสาว 3 คน คือ รีม พีพี และมาหยา ช่วยลงสีในแผนภาพที่นำเสนอขั้นตอนในภาพรวมของโครงการวิจัยงานศพฯ
การวาดภาพครั้งนี้ ก็ต้องเลือกว่านำเสนอในกรอบใด ใช้ไดอะแกรมแบบใด และมีขอบเขตเพียงใด เพราะกรอบที่จะเขียนมีตัวเลือกในหัวของผมประกอบด้วย 1) ขั้นตอนในภาพรวม 2) ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนและบทบาทของคน 3) ประเด็นและบทบาทของคน 4) กระบวนการและบทบาทของคน 5) การพัฒนาสื่อและบทบาทของคน 6) วิเคราะห์ตาม Social Map 7) วิเคราะห์ตาม Mind Map

สรุปว่าภาพที่วาดออกมาแสดงถึงขั้นตอนในภาพรวม แบ่งตามช่วงเวลา ขอบเขตที่นำเสนอคือ บทบาทของกลุ่มคน สถานที่ในแบบตามลำดับ และสื่อที่ใช้ ส่วนลำดับในแผนภาพควบคุมการไหลแบบตามลำดับ (Sequence) เพราะสื่อให้เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพมุมกว้างไม่ละเอียดนัก แต่จำนวนประเด็นที่อยู่ในภาพมีมากเกินเวลาที่มีอยู่ การอธิบายให้เข้าใจสิ่งที่ต้องการนำเสนอจึงทำได้จำกัด เมื่อเทียบกับจำนวนกลุ่มที่ต้องออกมานำเสนอ ประกอบกับการอบรมครั้งนี้เป็นเพียงการฝึกวาดรูปเพื่อการสื่อสาร และวิทยากรก็บอกว่า “ได้เท่าใดเท่านั้น” ทำให้ผมไม่นำเสนอขั้นตอนการทำงานในระยะที่ 3 เพราะแค่ 2 ระยะที่เขียนไปก็คงต้องอธิบายกันยาวอยู่แล้ว
มีคุณหมอจากเมืองปานมาเป็นตัวแทนโครงการวิจัยน้ำดื่มฯ ของเมืองปาน ที่อ.อดิศักดิ์ เสมอพิทักษ์ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน เป็นทีมวิจัย เหตุที่ทั้ง 2 ท่านไม่ได้มาร่วมด้วยเพราะไปจัดงานมุทิตาจิตของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม ได้พบ รศ.ดร.บุญฑวรรณ วิงวอน ในงานกลางคืน แต่งานอบรมตอนกลางวันผมได้พบ ผศ.ดร.ดวงจันทร์ เดี่ยววิไล ก็เป็นอีกวันหนึ่งของผมที่ได้พบผู้คนมากมายอีกครั้ง