บทเรียนที่ร่วมวิจัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยลำปาง

นิคมพัฒนา
นิคมพัฒนา

9 มิ.ย.54 บทเรียนจากการร่วม “โครงการวิจัย แนวทางการทำงานของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในจังหวัดลำปางเพื่อสร้างการเรียนรู้และเสริมศักยภาพชุมชนพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปา“จากการร่วมโครงการระยะที่ 1 ระหว่าง 1 มกราคม 2554 – 31 พฤษภาคม 2554 จำแนกได้ 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นหลักที่ 1 ความรู้ คือ
1. การได้รู้เทคนิค และฝึกฝนการวิเคราะห์ชุมชนผ่านการใช้ SWOT ที่เปรียบเทียบกับการใช้อริยสัจสี่ เพราะทั้งสองแบบสามารถใช้งานได้กับชุมชน โดย SWOT นั้นถูกใช้รวบรวมข้อมูลตามประเด็นหลัก 3 ครั้งได้แก่ การศึกษา เกษตร อาชีพ และอริยสัจสี่ใช้กับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
2. การได้ฝึกเขียนแผนที่ความคิด (MindMap) และเรียนรู้การเขียนจากคุณภัทรา มาน้อย ผ่านการลงมือปฏิบัติ เปรียบเทียบการเขียน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งการใช้เป็นเครื่องมือเก็บประเด็นเป้าหมาย และการนำเสนอผลการวิเคราะห์ชุมชนรายกลุ่ม
3. การได้แลกเปลี่ยนเทคนิคการวางแผน การจับประเด็น การคิด การพูด การฟัง ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้มีโอกาสฟังข้อเสนอแนะของ นักคิดนักบริหารระดับประเทศ คือ ศ.ดร.ปิยวัฒน์ บุญหลง และ ดร.บัญชร แก้วส่อง ต่อโครงการของทีมงาน

ประเด็นหลักที่ 2 ความสุข คือ
1. การได้เห็นรอยยิ้มจากความสุขผู้คนในชุมชน ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มที่มีความเข้าใจ มีฐานคิดคล้ายกัน ได้ระบายปัญหา จุดแข็ง และเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และได้ออกมานำเสนอด้วยตนเอง
2. การได้ใช้เวลาว่างในวันสุดสัปดาห์ทำงานกับชุมชน เพราะการทำงานในกรอบ ใต้กฎเกณฑ์รัดตัว ผู้คนที่มุ่งแต่แข่งขัน ในป่าคอนกรีต ย่อมมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากการทำงานกับชาวบ้าน ในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยป่าเขา ลำธาร และบรรยากาศบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ผู้คนมากมายใฝ่ฝัน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ไปถึงฝั่งฝัน
3. การทำตัวเป็นประโยชน์แก่ชุมชน เพราะการให้ความรู้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่มุ่งเข้าศึกษาในสถาบันนั้นมีกรอบอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย แต่การออกให้บริการวิชาการเชิงประยุกต์นั้น มีเรื่องคาดไม่ถึงให้ประหลาดใจอยู่เสมอ  เพราะนอกจากจะเป็นผู้ให้ความรู้แก่ชุมชนแล้ว ก็ยังเป็นผู้รับความรู้ไปพร้อมกัน พร้อมกับการแก้ปัญหาไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า
4. การได้เพื่อนใหม่ต่างวัยต่างสมณะที่มาจากห้าสถาบันการศึกษาหลัก รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยลำปาง แล้วร่วมกันทำงานวิจัยและบริการวิชาการเพื่อชุมชน เป็นโอกาสที่อาจมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะเพื่อนจากแต่ละสถาบันมีความเป็นกัลยาณมิตรที่หาได้ยากยิ่ง ในทีมทั้ง 29 คนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำเพื่อชุมชน และมุ่งประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง

Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply