7 ก.ย.52 ถ้ามีคนพูดว่านักเรียน ป.4 เขียนโปรแกรมเพื่อสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน หลายคนก็คงบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ที่โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) เริ่มสอนนักเรียนวาดรูปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ชั้น ป.1 เมื่อมีพื้นฐานการใช้แป้นพิมพ์ เมาส์ การใช้เมนูบาร์ ไฟล์เมเนเจอร์ การสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต การคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาทำรายงานส่งครู การวาดรูปด้วยไมโครซอฟท์เพนท์ แล้วก็สอนการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาโลโก้ (Logo Writer) ในชั้น ป.4
การเขียนโปรแกรมนั้นเปรียบเสมือนการเขียนขั้นตอนหรือระบบหรือกระบวนการ ซึ่งพบว่าสอดคล้องกับงานประกันคุณภาพการศึกษาที่ อาจารย์ศศิวิมล แรงสิงห์ มหาวิทยาลัยโยนก จัดให้มีการวิพากษ์รายงานการประเมินตนเองทั้งในระดับคณะวิชาและระดับมหาวิทยาลัย โดยผู้เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณาความสมเหตุสมผลของหลักฐานประกอบเกณฑ์มาตรฐานในตัวบ่งชี้แต่ละข้อ และพบว่าสิ่งแรกที่ต้องทำในหลายตัวบ่งชี้คือการมีระบบ ดังนั้นการปูพื้นฐานการคิดของนักเรียนอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนตั้งแต่ระดับประถม จะทำให้เยาวชนของชาติมีคุณภาพและเข้าใจหลักข้อแรกของการทำงานเมื่อโตขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่จัดให้มีขึ้นในสถาบันการศึกษาทุกระดับดังเช่นตัวอย่างข้างต้น ที่ต้องเริ่มต้นการทำงานด้วยการเขียนระบบหรือขั้นตอนการทำงานเป็นลายลักษณ์อักษรและเผยแพร่ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน
เนื้อหาการเรียนการเขียนโปรแกรมของนักเรียน ป.4 เริ่มต้นจาก 1)การสอนให้พวกเขาอ่านโจทย์ให้เข้าใจ แล้ววางแผนแก้ปัญหาจากโจทย์หรือตัวบ่งชี้ความสำเร็จที่กำหนดอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน ถ้านักเรียนคนใดอ่านโจทย์แล้วไม่เข้าใจไม่สามารถกำหนดขั้นตอนการทำงานได้ก็คงล้มเหลวที่จะทำตัวบ่งชี้นั้นสำเร็จลงได้ ถ้าวางแผนได้อย่างเป็นระบบก็จะ 2)เข้าสู่ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ 3)พร้อมการตรวจสอบและแก้ไขในทันที เมื่อพบข้อผิดพลาด 4)หากทำได้แล้วก็จะเรียนรู้ประเด็นปัญหาใหม่ วางแผนแก้ปัญหาใหม่ ดำเนินการและแก้ไข อย่างนี้เรื่อยไป ตามวงจร PDCA (Plan Do Check Action) เมื่อเรียนต่อไปในชั้นประถม 5 และ 6 ต้องเรียนไมโครซอฟท์เวิร์ด เอ็กเซล เขียนเว็บเพจ ตัดต่อวีดีโอหรือจัดทำสื่อมัลติมีเดียจากกรณีศึกษาในชุมชน เป็นต้น นี่เป็นภาพที่ผู้ปกครองของนักเรียนคนหนึ่งมองเห็น กิจกรรมการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนี้
+ http://www.thaiall.com/logo/logowr.zip
+ http://www.dosbox.com