เรื่อง “อุดมศึกษาไทยที่จะอยู่รอดในยุคแข่งขันเดือดและผู้เรียนลดลง อย่างไร ”
บทความโดย ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
พบว่า อ.อดิศักดิ์ จำปาทอง แชร์มาในกลุ่ม จึงนำมาแชร์ต่อ
ทุกวันนี้ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย (ป.ตรี – เอก) ทั้งของรัฐ และเอกชน ต่างก็มีปัญหา เพื่อความอยู่รอดของกลไกตลาด (Market Mechanism) ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีหลัก ๆ คือ
1. สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน มีมากเกินกว่า “ตลาดผู้เรียน” เรียกว่าเป็น “สภาพการณ์อุปทานล้น (Over Supply Circumstances)” ของ อุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) เนื่องจากโครงสร้างการเกิดของประชากรที่ลดลง จะเห็นได้ว่ารับกันหลายรอบ ต่างก็ไม่เต็มกันแทบทุกหลักสูตร ทุกสถาบัน
2. นโยบายและการกำกับของรัฐ ที่มีรายละเอียดมาก ทั้งการควบคุม มาตรฐาน การประกันคุณภาพ สารพัดองค์/ตัวบ่งชี้ และ เกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าระบบ TCAS (Thai University Center Admission System) ที่ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงบ่อย อีกทั้งยังมีหลายมาตรฐานควบคุม ระหว่าง 1) มหาวิทยาลัยรัฐ 2) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ- ราชมงคล 3) มหาวิทยาลัยของรัฐนอกระบบ / ในกำกับ (Autonomous University) 4) มหาวิทยาลัย-สถาบัน-วิทยาลัย เอกชน ซึ่งในหลายๆมิติ จะเห็นว่าบุคลากรทางการศึกษา ต้องใช้เวลาหลายอย่างมากกว่าเน้นการจัดการสอน
http://www.cheqa.mua.go.th/
3. โอกาสเปิดกว้างกับสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศ และ การเรียนผ่านระบบเครือข่าย (Online Degree and Courses) ที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเรียนในชั้นปกติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ในขณะที่มาตรฐานองค์รวมของสถาบันอุดมศึกษาไทยขยับตัวพัฒนาช้า จนทำให้มาตรฐานดูพัฒนาในภาพรวมช้า
https://www.thaicyberu.go.th/
4. ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนมุมมองของคน Generation Y และ Generation Z ซึ่งรวมถึงคนวัย 30 ลงมาถึง teenage ที่มีเกือบครึ่งประเทศ ต้องการมีอิสระ และทางเลือกของตนเอง ดังนั้นทั้งต้องการเรียนรู้เอง ต้องการหาประสบการณ์ และ อาชีพเฉพาะตน/ SME มากขึ้น
ทั้งปัญหา ตลาด ระบบ คู่แข่งขันหน้าใหม่ และ วิถีชีวิต ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น สถาบันการศึกษาไทย จึงต้องปรับตัว ขอตอบด้วยทฤษฎี Ansoff Matrix จากที่ทำได้ง่ายสุด ไปถึงที่ทำยากสุด ดังนี้
1. กลยุทธ์เจาะตลาด (Market Penetration) ลงลึก เน้นหนักตลาดปัจจุบัน ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ (Present Market + Present Product)
สถาบันนั้นๆต้องปรับตัว เน้นทำตลาดให้ชัด สื่อสารการตลาดครบวงจร (Integrated Marketing Communication:IMC) ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย ทันการณ์ สดใส ทั้ง คณาจารย์ สร้างภาพมืออาชีพ เน้นใช้เทคโนโลยีช่วยสอน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีเชิงประจักษ์ ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) , CRM (Customer Relationship Management), CEM (Customer Experience Management) ให้ตลาดเห็นสถาบันเรามีตัวตน โดดเด่น (Outstanding) ออกมา พร้อมทั้งสร้างจุดเด่นจุดยืน (Brand Positioning) หาจุดยืนให้ชัดไปเลยว่าเราเป็นใครในตลาด เช่น เราคือ สถาบันวิจัย เราคือ สถาบันที่มีมาตรฐานการสอนสูงสุด เราคือผู้นำด้านสื่อสารมวลชน เป็นต้น หาแม่เหล็ก (Magnets) ด้วยตัวแทนสร้างชื่อ (Brand Ambassadorship) เน้นนำเสนอ เหล่าดารา นักกีฬา นักธุรกิจ มาเรียนที่เรา และอย่าลืม ลดต้นทุน ที่ไม่สำคัญออก ส่วนใดตัด Outsourcing ได้ ก็ทำ
2. กลยุทธ์พัฒนาตลาด (Market Development) หาตลาดใหม่ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีเดิม (New Market + Present Product)
เป็นวิธีที่เราเชื่อว่าสถาบันมีหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนที่ดีแล้ว ก็หาตลาดใหม่ เปิดตลาดหาผู้เรียนจากต่างชาติเป็นภาษาไทย หรือปรับหลักสูตรให้เป็นภาษาที่ 2 หรือ 3 นำหลักสูตรไปหาตลาดต่างประเทศ สอนในต่างประเทศ ทั้งนี้ รวมถึงใช้เทคโนโลยีหาตลาดใหม่ด้วยการศึกษา Online ในหลักสูตร/ คณะต่างๆ เพิ่มขึ้น
3. กลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) หาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่โดนใจตลาดเดิม (Present Market + New Product)
สถาบันที่มีศักยภาพในความพร้อมทั้งบุคลากร เงินทุน เครื่องมือ และระบบสนับสนุนต่าง ๆ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมา (ต้องตอบโจทย์ที่เป็นที่ต้องการตลาดด้วย) ได้แก่ การเปิดคณะใหม่/ สาขาใหม่ ที่รองรับตาม Trend เช่น สังคมสูงวัย (Aging Society) ดังนั้นให้เปิดคณะ/ สาขา ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์- สุขภาพ ครบวงจร
อีกทั้งพัฒนาบริการที่เกี่ยวเนื่องการศึกษาอื่น ๆ (Subsidiaries) เช่น เป็นศูนย์บริการเชิงพาณิชย์ เช่น วิจัยธุรกิจ ที่ปรึกษาธุรกิจ ฝึกอบรม บริการสอนให้วุฒิบัตรต่าง ๆ (certificate) และยังสามารถมองตลาดแบบพัฒนาถอยหลัง (Backward Integrations) ลงไปเชื่อมธุรกิจกับระดับโรงเรียนมัธยม/ ปวช-ปวส หรือ พัฒนาเดินหน้า (Forward Integrations)เชื่อมเป็น Partner กับภาคธุรกิจ- ภาครัฐ รูปแบบต่าง ๆ
4. กลยุทธ์เข้าธุรกิจใหม่ (Diversification) หาผลิตภัณฑ์และตลาดที่มีศักยภาพใหม่ ที่เราพร้อมลุย
(New Market + New Product)
มองหาธุรกิจใหม่เพิ่มเติม ที่ทีมบริหาร เห็นโอกาส ว่ายอดขาย กำไร และ ส่วนแบ่งตลาด ที่เราทำได้ อาจใกล้ตัวหรือไกลตัว เช่น ธุรกิจหอพัก ศูนย์การค้า บริษัทการค้าต่าง ๆ เป็นต้น
สถาบันต่าง ๆ ควรต้องปรับตัว/ พัฒนา ไปทางใดทางหนึ่ง อย่าหยุดนิ่ง ซึ่งนึกถึงกฎของเมอฟี่ (Murphy’s Law) ที่ว่า “Anything that can go wrong, will go wrong” คือ “อะไรที่มีทิศทางเชิงลบ อย่าปล่อยไป” และ “อย่าปล่อยโอกาสให้มีการผิดพลาด โดยไม่สนใจ” เรารู้อยู่แล้วว่าอุดมศึกษาไทยแข่งเดือด แย่งกัน หลายสถาบันกำลังไปไม่รอด เริ่มมีสัญญาณปิดตัว โดนต่างชาติยึด เริ่มควบรวม เป็นต้น
หมายเหตุ: ทั้งหมดนี้ แค่มุมมองส่วนตัว ในฐานะที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการอุดมศึกษาไทยมา 21 ปี
ทฤษฎี Ansoff Matrix
https://www.tutor2u.net/business/reference/ansoffs-matrix