บ่นเรื่องแผนงานวันนี้ พรุ่งนี้ และมะรืนนี้

10 มิ.ย.53 เย็นนี้หมดแรงข้าวต้มแล้ว เพราะเผยแพร่สถิติของสื่อ ทำรายงานการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา ยกร่างโครงการพัฒนาน.ศ.ด้านไอที ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พรุ่งนี้ผมจะปิดร่างแผนพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่ส่งให้ทุกบุคลากรทุกคนได้ร่วมเสนอเข้ามา ซึ่งมีอาจารย์เพียงหนึ่งท่านส่งกลับมา ส่วนรายชื่อผู้พัฒนาอีเลินนิ่งตามแผนปี2553 และรายงานโครงการวิจัยพร้อมแฟ้มที่คุณศิริพร ยาสมุทร ช่วยประสานนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สะดวกส่งกลับมา ทำให้ผมชะลอการพัฒนาระบบฐานข้อมูลได้ เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลเป็นฐานในการพัฒนาต่อไป .. ก็เป็นการแก้ตัวไปน้ำขุ่น ๆ อีกแล้ว .. วันมะรืนมีแผนทำรายงานประกันคุณภาพของคณะวิชา เพราะได้รับมอบหมายจาก อ.วิเชพ ใจบุญ ให้ทำ องค์ที่ 3 กิจกรรมการพัฒนานิสิตนักศึกษา องค์ 4 การวิจัย องค์ 5 การบริการทางวิชาการแก่สังคม องค์ 6 การทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม .. นึกแล้วก็ขำ ขำ กับวิถีชีวิต .. โบราณท่านว่าชีวิตยังไม่สิ้นก็ดิ้นกันไป

ผลดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา

http://www.yonok.ac.th/grade

9 มิ.ย.53 กรณีศึกษาการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา ซึ่งเป็นแผนแรกที่ใช้กลไกของอาจารย์ผู้สอนเป็นสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา และใช้วิธีการติดตามจากอาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปเสริมกระบวนการในชั้นเรียน เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการเรียนการสอนตามปกติ โดยมี 5 กิจกรรมดังนี้
     1. ตรวจสอบข้อมูลและผลการเรียนของนักศึกษาเป็นรายบุคคลแล้วพบว่า นาย … รหัส … สาขา… มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ แต่เรียนจนครบหลักสูตรแล้ว จึงจำเป็นต้องลงทะเบียนเพิ่มในภาคเรียนฤดูร้อน เพื่อให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงกว่า 2.0
     2. ประมวลผลเพื่อหาผลการเรียนที่จะทำให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาได้ โดยใช้บริการประมวลผลจากระบบรายงานผลการเรียนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยโยนก ที่พัฒนาโดยงานทะเบียนและประมวลผลที่ http://www.yonok.ac.th/grade แล้วพบว่านักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนอีกอย่างน้อย 3 วิชา รวมกับวิชาโครงงานระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้อีก 1 วิชา เป็นทั้งหมด 4 วิชา โดยผลการเรียนควรได้เกรด A อย่างน้อยจำนวน 3 วิชาและ C+ จำนวน 1 วิชา ซึ่งศึกษาความเป็นไปได้แล้วพบว่ามี 3 วิชา คือ …  ส่วนวิชา … จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในภาคเรียนฤดูร้อนนี้ เนื่องจากเป็นวิชาที่ลงทะเบียนไว้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551
     3. การพัฒนานักศึกษาด้วยการติดตามจากอาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับการเข้าเรียน การส่งงาน และความคิดเห็นของผู้สอนแต่ละวิชา พบว่าในภาพรวมแล้วนักศึกษาเข้าเรียนทุกวิชาอย่างสม่ำเสมอ และตั้งใจเรียน ซึ่งมีข้อมูลจากอาจารย์ผู้สอนแต่ละท่านดังนี้  … ผู้สอนวิชา … ให้ข้อมูลว่านักศึกษาเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ และเชื่อว่าไม่มีปัญหาต่อผลการเรียน … ผู้สอนวิชา … ให้ข้อมูลว่านักศึกษาตั้งใจอ่านหนังสือ และพฤติกรรมในชั้นเรียนเป็นที่น่าพอใจ … ผู้สอนวิชา … ให้ข้อมูลว่าได้จัดการสอนและการประเมินผลของนักศึกษาคนนี้เป็นพิเศษ และกิจกรรมที่ผ่านมาผลการเรียนของนักศึกษาน่าจะได้ตามที่คาดไว้ ส่วน … ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิชา … ให้ข้อมูลว่านักศึกษามาพบอย่างสม่ำเสมอ และรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อได้ว่าผลการเรียนจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
     4. ก่อนสอบปลายภาคได้นัดให้นักศึกษามาพบ และทำความเข้าใจกับนักศึกษาว่าต้องตั้งใจอ่านหนังสือ แล้วให้นักศึกษารายงานปากเปล่าถึงกิจกรรม และการสรุปผลการเรียนที่ผ่านมา ซึ่งนักศึกษาสามารถอธิบายเนื้อหาวิชาแต่ละวิชาได้อย่างเข้าใจ และนำเสนองานในวิชาโครงงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผลการประเมินในเบื้องต้นเชื่อว่านักศึกษาจะได้ผลการเรียนสูง และได้สอบถามจากอาจารย์ผู้สอนแต่ละท่านก็พอใจในพฤติกรรมของนักศึกษาที่มีในชั้นเรียนในระดับสูง
     5. ผลการเรียนหลังสอบปลายภาค ประจำภาคเรียนฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552 พบว่านักศึกษามีผลการเรียนดังนี้ ในระดับ … จำนวน 4 วิชา ซึ่งผลการเรียนเฉลี่ยที่มีการประมวลผลโดยงานทะเบียนฯ เป็น … เป็นผลให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาด้วยระดับคะแนนที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ในหลักสูตร
+ takecare_sittikorn.doc

สถิติสื่อต่อนักศึกษาเมื่อมิถุนายน 2552

สถิติ มิ.ย.2552

9 มิ.ย.53 วันนี้ไปแก้โปรแกรมรับเงินผ่อนค่าลงทะเบียน กับรายงานเพิ่ม-ลดกระบวนวิชา ของฝ่ายการเงิน มีโอกาสได้คุยกับคุณลัดดาวรรณ เรือนทัศนีย์ (คุณน้อย) ฝ่ายทะเบียน ที่ย้ายห้องทำงานชั่วคราวมาที่นั่น ก็เล่าให้ฟังว่าปีที่แล้ว (มิ.ย.52) ได้จัดทำข้อมูลเชิงสถิติมากมายเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษาเสนอผู้บริหารทุกสัปดาห์ หนึ่งในตารางข้อมูลคือ ชนิดของสื่อที่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีสถิติว่า 3 อันดับแรกที่ให้ข้อมูลข่าวสารถึงกลุ่มเป้าหมายคือ 1) เว็บไซต์มหาวิทยาลัย 2) ป้ายประชาสัมพันธ์ 3) แผ่นพับ มีรายละเอียดอื่นตามภาพ

รายงานผลส่งเสริมร่วมประชุม nccit10

8 มิ.ย.53 รายงานการดำเนินงานโครงการ เรื่อง “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในระดับชาติและระดับนานาชาติ” ตามรูปแบบที่กำหนดใช้งานภายในคณะฯ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ 4 หัวข้อ คือ 1) บทสรุปผู้บริหาร 2) สรุปผลการดำเนินงานโครงการ 3) ผลการประเมินตามโครงการ 4) สรุปบทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ
     ขอสรุปเฉพาะหัวข้อที่ 3 และ 4 ดังนี้ หัวข้อที่ 3) ผลการประเมินตามโครงการ พบว่า โครงการมีตัวบ่งชี้ 2 ตัว คือ มีอาจารย์ผลิตผลงานวิชาการไปนำเสนอในเวทีระดับชาติอย่างน้อย 1 คน และมีอาจารย์ไปร่วมประชุมวิชาการในเวทีระดับชาติอย่างน้อย 3 คน ซึ่งผลการประเมินตามตัวบ่งชี้ของโครงการพบว่าผ่านตามตัวบ่งชี้ทั้ง 2 ตัว สรุปว่าผ่านตัวบ่งชี้ที่ 1 คือ มีชื่ออาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปนำเสนอผลงานวิชาการในระดับชาติจำนวน 2 คน คือ  อ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ ซึ่งมากกว่าที่ตั้งไว้ 1 คน สรุปว่าผ่านตัวบ่งชี้ที่ 2 คือ มีอาจารย์ไปร่วมประชุมวิชาการในระดับชาติจำนวน 5 คน คือ 1) อ.อติชาต หาญชาญชัย 2) อ.วิเชพ ใจบุญ 3) อ.เกศริน อินเพลา 4) อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น และ 5) ผศ.บุรินทร์  รุจจนพันธุ์ ซึ่งมากกว่าที่ตั้งไว้ 3 คน
     หัวข้อที่ 4) สรุปบทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ พบว่า บทเรียนจากการร่วมประชุมวิชาการ พบว่ามีนวัตกรรมมากมายที่มีการนำเสนอผ่านบทความวิชาการในการประชุมครั้งนี้ เช่น ระบบเครือข่ายประสาทเทียม ตารางจำแนก มาตรฐาน CMMI การพัฒนาฐานข้อมูลกับ Google Map การประเมินซอฟท์แวร์ด้วยทฤษฎีใหม่ เป็นต้น ซึ่งคณะวิชาควรสนับสนุนให้บุคลากรได้เข้าร่วมงานประชุม และกลับมาเขียนบทความจากงานวิจัย เพื่อไปนำเสนอในปีต่อไปเพิ่มขึ้น
+ http://www.thaiall.com/research/nccit10/report_project_nccit10.doc
+ http://www.thaiall.com/research/nccit10/report_seminar_nccit10.doc
+ http://www.thaiall.com/research/nccit10/report_form_science.doc

ผลประเมินการอบรมการส่งข้อมูลระดับบุคคล 3 ตอนแรก

7 มิ.ย.53 ตามที่มีการอบรม การส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองระดับบุคคล วันนี้มีจัดอบรม 3 ตอน จำนวน 9, 2 และ 4 คน ในเวลา 11.00น.-12.00น. 13.00น.-14.00น. และ 14.00น.-15.00น. ตามลำดับ ใน 3 ตอนนี้มีบุคลากรเข้าอบรมรวมทั้งหมด 7 คน และเจ้าหน้าที่ 8 คน รวม 15 คน
     จากผลการประเมินความพึงพอใจจำแนกเป็น 8 ประเด็นพบว่า 1) ห้องฝึกอบรม มีความพึงพอใจระดับปานกลาง (X=3.4) 2) หัวข้ออบรม มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (X=4.4) 3) เอกสารประกอบการอบรม มีความพึงพอใจระดับมาก (X=3.87) 4) วิทยากรด้านประกันคุณภาพ มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (X=4.33) 5) วิทยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (X=4.27) 6) ระยะเวลา มีความพึงพอใจระดับมาก (X=4.2) 7) ที่อยู่เว็บเพจ มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด (X=4.4) 8) เห็นด้วยที่มีการเชื่อมโยงข้อมูล มีความคิดเห็นระดับมากที่สุด (X=4.47)
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/sar_53060708_person.xls

ผลประเมินการอบรมและวิพากษ์ข้อมูลพื้นฐาน

7 มิ.ย.53 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.53 ที่ผ่านมา มีเวทีที่จัดโดยงานประกันคุณภาพ อ.อัศนีย์ ณ น่าน และเป็นเสมือนการอบรมนักวิจัยในการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นและความพึงพอใจในการใช้งานโปรแกรมไปพร้อมกัน พบว่า ผลประเมิน 5 คำถามมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (X=3.96, S.D=0.65)
     โดยแบบสอบถามในครั้งนี้มุ่งสร้างการรับรู้แก่ผู้ร่วมวิพากษ์ โดยใช้คำถามนำที่มุ่งไปสู่การให้ความสำคัญกับหลักฐาน การรับรู้เรื่องข้อมูลพื้นฐาน การมีส่วนร่วมจากบุคลากร การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการประกันคุณภาพ และการมติสำหรับการจัดอบรมเพิ่มเติม ซึ่งสรุปความคิดเห็น/ความพึงพอใจได้ว่า
     1) บุคลากรเชื่อว่าการใช้ระบบฐานข้อมูล ช่วยรวบรวมหลักฐานจากแต่ละบุคคลสู่คณะ และมหาวิทยาลัย นำมาตรวจสอบการอ้างอิงตามเกณฑ์มาตรฐานได้ง่าย อยู่ในระดับมาก (X=4,S.D=0.55)
     2) บุคลากรเชื่อว่าการใช้ระบบฐานข้อมูล สามารถเป็นแหล่งรวบรวมเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐาน (CDS) จากหน่วยงาน และคณะวิชาให้ตรงกับข้อมูลในตัวบ่งชี้ อยู่ในระดับมาก (X=3.86,S.D=0.53)
     3) บุคลากรเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “หลักฐานส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานของบุคลากรหรือคณะกรรมการ หากผู้รับผิดชอบส่งข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูล แล้วคณะวิชาหรือมหาวิทยาลัยนำไปใช้อ้างอิงตามตัวบ่งชี้ ก็จะแสดงการมีส่วนร่วมจากบุคลากร” อยู่ในระดับมาก (X=4.14,S.D=0.53)
     4) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วท่านสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการประเมินตนเอง อยู่ในระดับมาก (X=3.79,S.D=0.43)
     5) ถ้ามีการจัดอบรมการใช้ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง เพื่อนำข้อมูลเข้าตามเกณฑ์ ตัวบ่งชี้ หรือข้อมูลพื้นฐาน บุคลากรเห็นว่าควรมีการจัดอบรมขึ้นอีกครั้ง อยู่ในระดับมาก (X=4,S.D=1.04)
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/sar_530601_cds.xls

ส่งข่าวเรื่องการไปปฏิบัติงานประชุมวิชาการที่กทม

nccit 2010

6 มิ.ย.53 มหาวิทยาลัยโยนกร่วมเป็นเจ้าภาพกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ในชื่องาน The 6th National Conference on Computing and Information Technology and The 10 th International Conference on Innovative Internet Community Systems ณ โรงแรมอิสติน กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 3 – 5 มิถุนายน 2553 โดยมีบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา 
     โดยมี ดร.มนชัย เทียนทอง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ. ให้การต้อนรับใกล้ชิด ซึ่งบุคลากรที่ไปร่วมงานครั้งนี้ประกอบด้วย อ.วิเชพ ใจบุญ อ.อติชาต หาญชาญชัย อ.เกศริน อินเพลา อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น และ ผศ.บุรินทร์  รุจจนพันธุ์ ส่วนพี่ตี๋ทำหน้าที่ควบคุมการเดินทางให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
+ http://www.nccit.net

เตรียมเอกสารอบรมส่งข้อมูลระดับบุคคลเพื่องานประกันคุณภาพ

5 มิ.ย.53 เตรียมเอกสารการอบรมการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลประเมินตนเองระดับบุคคล ปีนี้เป็นปีแรกที่มี อ.อัศนีย์ ณ น่าน มารับงานประกันคุณภาพ และท่านอธิการให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากระดับบุคคล เกิดกระบวนการส่งเสริมการทำงานร่วมกัน สร้างความเข้าใจในการประกันคุณภาพอย่างมีส่วนร่วม และพัฒนาทรัพยากรบุคคลเชิงบูรณาการ กิจกรรมในการอบรมภายใน 1 ชั่วโมงประกอบด้วยการชี้แจงโดยตัวแทนฝ่ายประกัน และอบรมการส่งข้อมูลเข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และองค์ประกอบ และประเมินผล ซึ่งการติดตามจะมีกลไกของงานวิจัยมาขับเคลื่อน
     ซึ่งรายการเอกสารหลักฐานเป็นสิ่งที่บุคลากรต้องไปพูดคุยแลกเปลี่ยนในหน่วยงานของตน หรือเป็นที่ต้องการของคณะวิชา หรือมหาวิทยาลัย ว่ามีอะไรที่ต้องใช้ในเกณฑ์ใด เพราะมหาวิทยาลัยดำเนินการตามเกณฑ์นี้มาแล้วสามปี ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะใช้เกณฑ์ชุดนี้ ก่อนใช้เกณฑ์ใหม่ ส่วนคณะวิชาจะถูกเชิญมารับการอบรมในการดึงข้อมูลที่แต่ละบุคคลส่งเข้าไป มาใช้อ้างอิง หรือประสานกลับไปสำหรับรายละเอียดของเนื้อหา ความสมบูรณ์ และรูปเล่มเป็นลำดับต่อไป วันนี้จัดทำแบบสอบถามการอบรมครั้งนี้ และใบเซ็นชื่อ ส่วนแบบสอบถามที่ใช้วิพากษ์ข้อมูลพื้นฐานอยู่ที่มหาวิทยาลัยและจะประมวลผลเป็นลำดับต่อไป
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/52_sar_person.doc
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/ques_sar52_530601.doc
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/ques_sar52_53060708.doc

เข้าอบรมทักษะการคิดแบบวิจัย

นักวิจัยส่วนหนึ่งที่ร่วมกิจกรรม

29 พ.ค.53 สถาบันนวัตกรรมกระบวนการเรียนรู้ชุมชนจัดอบรมทักษะการคิดแบบวิจัย ที่ สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 2 ลำปาง วันเสาร์ที่ 29 พ.ค.53 นำโดยคุณอัญมณี แสงแก้ว (โบว์) คุณภัทรา มาน้อย (จิ๋ม) และคุณรัตติกร บุญมี (จิ๊บ) เป็นกิจกรรมที่ 3 ใน 7 กิจกรรมตามแผนของปี 2553 คือ 1) เทคนิคการวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 2) วิทยากรกระบวนการ 3) ทักษะการคิดแบบวิจัย 4) การวาดเพื่อการสื่อสาร 5) การเขียนโครงการเพื่อขอรับทุน 6) การทำแผนที่ทางสังคม 7) สุนทรียสนทนา
     นอกจากกิจกรรมวิชาการที่ให้แนวการวิเคราะห์งานไว้ 4 ประเด็นคือ ปรากฎการณ์ รูปแบบ โครงสร้าง และแบบจำลองความคิด และองค์ประกอบของบ้านแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการคิดแบบวิจัย อาทิ วาดจักรยาน เดินเท้าชิด และแม่น้ำพิษ ส่วนโครงการใหม่ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้คือ กลุ่มนักวิจัยวัดปงสนุก และกลุ่มนักวิจัยน้ำห้วยปุ๊
     มีโอกาสแลกเปลี่ยน กับนายกอบต. ท่านสนใจจัดทำสื่อมัลติมีเดียของตำบล ผมจึงแนะนำ กรกับปราง ที่ทำงานวิจัยจัดทำสื่อวีดีทัศน์บ้านไหล่หิน ได้ติดต่อกับท่านนายก และในเวทีนี้ คุณภัทรา ได้ฉายวีดีโอที่กรกับปรางจัดทำ ให้เพื่อนในทีมวิจัยได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัยของบ้านไหล่หิน .. ก็หวังว่า กรกับปราง จะเข้าไปขยายงานในชุมชนนี้ได้สำเร็จ

กิจกรรมต่อเนื่องร่วมกับสกว.ภาค ศูนย์ลำปาง

แผนที่ไป สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 2 ลำปาง

28 พ.ค.53 ได้รับอีเมล 2 ฉบับจากน้องโบว์ เรื่องแรกคือเปลี่ยนสถานที่อบรมพัฒนาศักยภาพนักวิจัย จากห้องสมุดเป็น สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 2 ลำปาง คาดว่าโบว์ใช้วิธีวาดรูปแล้ว scan จากนั้นก็ส่งให้ผมทางอีเมล คาดว่าพรุ่งนี้คงทราบเหตุว่าเปลี่ยนจากห้องสมุดเทศบาลนครลำปาง มาเป็นส.ว.ล เพราะอะไร เรื่องที่สองคือได้รับรายงานการขอขยายเวลาโครงการวิจัย คาดว่าส่งให้หัวหน้าโครงการทุกคนที่อยู่ในรายการ เห็นรายชื่อโครงการที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ และระยะเวลาที่ขอขยายออกไปของแต่ละโครงการแล้ว ก็ต้องบอกว่าเป็นภาระของศูนย์ที่ต้องดูแลใกล้ชิด เนื่องจากโครงการที่ขยายเวลาออกไปนานก็จะต้องใช้ทรัพยากรเพิ่ม ทั้งด้านเวลา งบประมาณ และการดูแล ถ้าจบเร็วก็จะได้ใช้เวลาที่เหลือของชีวิตไปทำกิจกรรมอื่นได้ .. ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกโครงการที่ยังปิดไม่โดยสมบูรณ์เร่งให้เสร็จโดยเร็ว