22 ม.ค.53 นำขั้นตอนเดิมที่เผยแพร่เมื่อ 25 พ.ย.2552 มาปรับปรุง และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการคิดต่อในการเขียนระบบและขั้นตอนของงานหน่วยอื่นต่อไป โดยมีรายละเอียดใหม่ดังนี้ วัตถุประสงค์ของระบบคือ ปรับปรุงข้อมูลผลการเรียนของนักศึกษา ที่ให้บริการแก่นักศึกษาตรวจผลการเรียนด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ให้เป็นข้อมูลล่าสุดหลังจากคณะวิชาส่งผลการเรียนทุกสิ้นภาคการศึกษา กลไกที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามระบบ คือ บุคลากรที่หัวหน้างานทะเบียนมอบหมายให้ดำเนินการมีหน้าที่ดำเนินการทุกสิ้นภาคการศึกษา และหลังเปิดภาคเรียนไปแล้วประมาณ ๓ สัปดาห์
มีขั้นตอนดังนี้ ๑) งานทะเบียนรับผลการเรียนจากอาจารย์ผู้สอนในแต่ละคณะวิชา ๒) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล ๓) เลือกส่งออกข้อมูลที่จำเป็นไปเป็นแฟ้มข้อมูลเฉพาะเรื่อง ได้แก่ แฟ้มผลการเรียน แฟ้มอาจารย์ และแฟ้มวิชา ให้อยู่ในแฟ้มที่มีรูปแบบเป็น CSV ๔) เข้าสู่ระบบ e-document ของมหาวิทยาลัยในห้อง grade ๕) upload แฟ้มผลการเรียนเฉพาะเรื่องที่มีรูปแบบเป็น CSV สำหรับแฟ้มผลการเรียนให้แยกเป็นภาคเรียนละ ๑ แฟ้ม ๖) สั่งปรับปรุงข้อมูลในเครื่อง yn1 โดยใช้ข้อมูลจากเครื่อง it ให้มีข้อมูลตรงกัน โดยมีตัวอย่าง URL ดังนี้ http://yn1.yonok.ac.th/grade/_regist20083.php ๗) ตรวจสอบผลการปรับปรุงว่านักศึกษาได้ข้อมูลผลการเรียนล่าสุดของตนหรือไม่ จาก URL ดังนี้ http://www.yonok.ac.th/grade ๘) ประชาสัมพันธ์ให้คณะวิชา และนักศึกษาได้รับทราบ
Category: การทำงานและอาชีพ
รวมเรื่องเล่าจากการทำงาน
พบ ดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร ที่โยนก ลำปาง
19 ม.ค.53 ในการอบรมผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาระหว่าง 18 – 20 มกราคม 2553 ได้พบกับ ดร. ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร ซึ่งท่านมีตำแหน่งเป็น รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กลุ่มของท่านได้เข้าสังเกตการสอนของอาจารย์ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น ในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ซึ่งรับผิดชอบฝึกประเมินด้านการเรียนการสอน แต่ผมมีโอกาสพบกับกลุ่มบริหารจัดการ และกลุ่มวิจัยก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อได้พบและพูดคุยกับท่านก็รู้สึกดี เพราะเรามีความสนใจในเรื่องการพัฒนาเว็บไซต์คล้ายกันและทำงานด้านการศึกษาเหมือนกัน .. แล้วท่านยังได้ชวนไปเที่ยวเมืองกาญจนบุรี .. ในใจผมก็คิดว่ายินดีครับ
อบรมการเขียนรายงานโครงการ cbpus
10 ม.ค.53 นายกร ศิริพันธุ์ นางสาวอรพรรณ สงเคราะห์ธรรม อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน พร้อมเพื่อนที่รับทุน cbpus ที่เชื่อมผ่านโหนด (node) ลำปาง ซึ่งดูแลโดย อ.ฉิ่ง ของราชภัฏเชียงใหม่ โดยมีนางสาวภัทรา มาน้อย เป็นผู้ประสานงานของโหนด ทำหน้าที่ดูแลผู้รับทุนจากกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มราชภัฏ กลุ่มราชมงคล กลุ่มมจร. กลุ่มโยนก วัตถุประสงค์การอบรมครั้งนี้ เพื่อให้การปิดโครงการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นไปตามกำหนดการ จึงต้องทำความเข้าใจ ติดตาม ซักซ้อม ลงมือเขียนรายงานให้ไปในทางเดียวกัน และส่งเอกสารทางการเงิน โดยนัดหมายนำเสนอสรุปโครงการแต่ละโครงการในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ราชภัฏลำปาง
นางสาวรัตติกร บุญมี ผู้บรรยายได้ให้แนวการเขียนรายงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นแก่นักวิจัยชุดนี้ โดยให้แนวการเขียนรายงานการวิจัยแบ่งเป็น 5 บท คือ 1) บทนำ 2) แนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 3) วิธีการดำเนินงาน 4) ผลการดำเนินงานวิจัย 5) สรุปอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ภาคผนวกมี 3 ส่วนคือ 1) บทความเผยแพร่ 2) ภาพกิจกรรม 3) ประวัตินักวิจัย .. แนวการทำงานของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับวิจัยเชิงวิชาการอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ถ้าปรับให้การเขียนรายงานเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ คนที่มีเป้าหมายเพื่องานวิชาการก็จะนำไปใช้ในด้านวิชาการได้
+ http://thaiall.com/research/hidden/training_cbpus_report_530110.zip
อภิปรายผลการวิจัย การศึกษาการประยุกต์ไอทีสำหรับผู้บริหาร
2 ม.ค.53 มีโอกาสช่วย ยกร่างอภิปรายผลการวิจัย ของกลุ่มเพื่อนที่ศึกษาการใช้ไอทีของผู้บริหารในองค์กรหนึ่ง เมื่ออ่านรายละเอียดในรายงานแล้ว ทำให้เข้าใจว่าการดำเนินงานและผลการวิจัยเป็นอย่างไร แต่ก็เขียนได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะไม่ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิพากษ์ว่าสิ่งที่ผมยกร่างขึ้นมานั้น ทีมวิจัยทั้ง ๓ ท่านที่ศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเห็นตรงหรือไม่ แต่นี่เป็นเพียงการยกร่างของการอภิปรายผล ที่หวังจะให้เกิดการพัฒนา และนำไปต่อยอดต่อไป จะปรับเปลี่ยนประการใดก็สุดแล้วแต่ทีมวิจัยท่าน
โดยมีประเด็นอภิปรายแบ่งเป็น ๔ เรื่อง ดังนี้ ๑. ผู้บริหารสามารถใช้งานโปรแกรมสำนักงานในกลุ่มของไมโครซอฟท์ เพื่อพิมพ์เอกสาร ตารางคำนวณ และงานนำเสนอมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอน และงานบริหารในองค์กร แล้วยังสามารถสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และสื่อสารด้วยอีเมลได้ ๒. ผู้บริหารเห็นความสำคัญจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากโปรแกรมสำเร็จรูป และมองไปที่ภาพรวมของเทคโนโลยี แต่การระบุปัญหาส่วนใหญ่เน้นไปที่ปัญหาด้านอุปกรณ์มากกว่าปัญหาด้านสารสนเทศที่มาจากระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งไม่พบการชี้ชัดที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาจากการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานให้บรรลุสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ขององค์กร ๓. ผู้บริหารยังใช้งานโปรแกรมประยุกต์หรือระบบฐานข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจในรูปของสถิติยังไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจตามความต้องการของผู้บริหาร และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้บริหารที่จะทำความเข้าใจในประโยชน์ของระบบฐานข้อมูลแต่ละระบบ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถกำหนดความต้องการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน ๔. ผู้บริหารไม่ต้องการพัฒนาตนเองในการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งโปรแกรมสำเร็จรูปโดยทั่วไปไม่ช่วยสนับสนุนการใช้ระบบเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารที่ชัดเจน โดยวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ให้น้ำหนักของการศึกษาวิจัยเพื่อวางแผนการจัดอบรมและจัดหลักสูตรด้านไอทีให้กับผู้บริหารโดยให้ความสำคัญกับโปรแกรมสำเร็จรูปโดยทั่วไป มากกว่าการศึกษาความต้องการของผู้บริหารที่ต้องการเติมเต็ม แล้วนำไปช่วยให้การตัดสินใจที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร
ผลประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ DB
29 ธ.ค.52 พรุ่งนี้ผมจะปิดเล่มรายงานการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล จึงเลือกบางส่วนมาเล่าสู่ กันฟัง มีการประเมินทั้งหมด ๑๙ ระบบฐานข้อมูล และรายงานนี้เป็นรายงานผลฉบับสุดท้ายของโครงการประเมิน ๓ อย่างเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูลในปีการศึกษา ๒๕๕๒ ประกอบด้วย ๑)ประเมินประสิทธิภาพ ๒)ประเมินความปลอดภัย ๓)ประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งผลประเมินเป็นไปตามการประกันคุณภาพ และหน่วยงานเข้าของระบบใช้เป็น KPI ของตนได้
ผลการประเมินความพึงพอใจจำแนกตามประเด็นคำถาม ๖ ประเด็นเรียงจากความพึงพอใจมากไปน้อย พบว่า ๑) ความถูกต้องของข้อมูลหรือสารสนเทศที่ท่านได้รับ มีความพึงพอใจในระดับมาก (X=๓.๕๔) ๒) สารสนเทศมีประโยชน์ และช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของท่าน มีความพึงพอใจในระดับมาก (X=๓.๕๒) ๓) ความทันสมัยของข้อมูลหรือสารสนเทศที่ท่านได้รับ มีความพึงพอใจในระดับมาก (X=๓.๔๗) ๔) สารสนเทศถูกนำมาใช้ตามแผนงานของท่าน ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ มีความพึงพอใจในระดับมาก (X=๓.๔๕) ๕) ความง่ายในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือสารสนเทศจากระบบ มีความพึงพอใจในระดับมาก (X=๓.๔๒) ๖) มองเห็นความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของข้อมูลกับระบบต่าง ๆ มีความพึงพอใจในระดับปานกลาง (X=๓.๓๕) โดยภาพรวมของความพึงพอใจต่อทุกระบบอยู่ในระดับมาก (X=๓.๔๖)
การประเมินครั้งนี้ อ.วิเชพ ใจบุญ รักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงความห่วงใยว่า รายงานผลการประเมินทั้ง ๓ เรื่องที่ปิดรายงานไปจะไม่มีผลในรอบการประเมินตามแผนพัฒนาคุณภาพ ปีพ.ศ.๒๕๕๓ ทำให้ผมได้ทราบความจริงข้อนี้และเป็นผลให้ต้องวางแผนทำโครงการนี้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ เพื่อให้เข้ารอบเวลาของคณะวิทย์ และรอบเวลาของการประเมินตามเกณฑ์ของสกอ.ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ซึ่งทุกคณะวิชาจะได้นำรายงานผลไปใช้ในฐานะที่ร่วมเป็นคณะกรรมการทำงานเชิงบูรณาการ ซึ่ง อ.เกศริน อินเพลา ร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลชุดนี้ ก็คาดว่าท่านจะได้นำเรียนในที่ประชุมคณะในลำดับต่อไป
ออกบูธงานฤดูหนาวและกาชาดลำปาง 2553
26 ธ.ค.2552 คุณพัชรินทร์ สันสุวรรณ ตัวแทนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปร่วมดูแลบูธ (Booth) ของมหาวิทยาลัยร่วมกับคุณแอ๋ม และนักศึกษา โดยมีอ.บอย ผู้อำนวยการสำนัก และอ.เอก ผู้ประสานตรวจบูธ Creative Campus@Yonok ไปร่วมตรวจสอบความเรียบร้อยเป็นวันแรก ปีนี้เราจ้างเหมามืออาชีพมาช่วยจัดบูทตามแบบที่ อ.หนุ่ย ออกแบบโดยมี Theme เป็นแบบ Creative Campus ซึ่งหลายอย่างไม่อาจมองด้วยตาเปล่าได้ .. รายละเอียดเป็นอย่างไรขอเชิญไปชมที่บูธได้ครับ
+ http://www.yonok.ac.th/yonokenlarge
ชื่นชมคุณธรณินทร์(แบงค์) ผู้สรุปรายงานการประเมินฯ
25 ธ.ค.52 วันนี้มีโอกาสตรวจรายงานประเมินประสิทธิภาพและประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลที่ คุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ ปลุกปล้ำกับระบบฐานข้อมูล 19 ระบบที่มีเจ้าของระบบใน 11 หน่วยงาน และอนุกรรมการอีกมากกว่าสิบท่าน ซึ่งเป็นโครงการที่บูรณาการร่วมกับทุกคณะวิชา โดยผลการประเมินจะถูกอ้างอิงโดยคณะวิชา และมหาวิทยาลัย ที่จะใช้เป็นหลักฐานในตัวบ่งชี้ ๗.๕ ศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ถ้าไม่ได้คุณแบงค์ช่วยประสานหน่วยงานแบบถึงลูกถึงคนในครั้งนี้ ไม่ได้คุณอนุชิต ยอดใจยา และคุณอรรถชัย เตชะสาย ในฐานะผู้พัฒนาที่มุ่งมั่นทุ่มเทและกระตือรือร้นในการเข้าประเมินหน่วยงาน ถ้าไม่ได้ อ.เกศริน อินเพลา อ.วิเชพ ใจบุญ อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น หัวหอกทะลวงฟันเข้าตรวจสอบหลักฐานเอกสารด้วยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว .. รายงานฉบับแรกนี้คงไม่สำเร็จลงด้วยดี หรืออาจได้รายงานไม่ทันกับการประเมินที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้
ระบบฐานข้อมูลที่เข้ารับการประเมินครั้งแรกนี้มีจำนวนมาก แต่ถ้ามองตามตัวหนังสือในคู่มือประกันคุณภาพฯ ก็จะพบว่ามีระบบฐานข้อมูลที่ถูกพาดพิงจำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 1) ระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียน 2) ระบบฐานข้อมูลรับชำระเงิน 3) ระบบฐานข้อมูลงบประมาณ 4) ระบบฐานข้อมูลเงินเดือน กลุ่มการเรียนการสอน ประกอบด้วย 5) ระบบฐานข้อมูลประเมินการสอนออนไลน์ 6) ระบบฐานข้อมูลรายงานผลการเรียนออนไลน์ 7) ระบบฐานข้อมูลอีเลินนิ่ง กลุ่มการวิจัย ประกอบด้วย 8) ระบบฐานข้อมูลวิจัย
ถ้างานนี้มีความดีความชอบที่จะให้ใครก็ขอให้กับผู้ที่ถูกเอ่ยนามทั้งหมดข้างต้น ยกเว้นผมที่ไม่ควรได้อะไรทั้งสิ้น เพราะผมเป็นเพียงคนที่นั่งบ่นไปวัน ๆ เขียนอะไรเรื่อยเปื่อยไปนาทีต่อนาที ไม่เหมือนคนทำงานข้างต้น ที่มีผลงานในรูปกิจกรรมชัดเจน .. ผมขอยืนยันในบันทึกนี้
น้องจัดซุ้มรับปริญญาให้พี่บัณฑิตและมหาบัณฑิต
19 ธ.ค.52 เป็นวันพิธีประสาทปริญญาบัตรครั้งที่ 18 ของบัณฑิต และครั้งที่ 15 ของมหาบัณฑิต น้องคณะวิทย์ และ น้องจากทุกคณะวิชาจัดซุ้มรับรุ่นพี่ที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อาจารย์ เจ้าหน้าที่ก็มาร่วมทุ่มเทกันจนดึก เพราะสุขและปิติกันทุกคน คิดถึงจากการที่ห่างหายกันไปนาน แต่ละซุ้มก็ใช้ทั้งเวลา งบประมาณ แรงกาย แรงใจ ช่วยกันจัดทำกันเต็มที่ เตรียมซุ้มเย็นวันที่ 18 ธ.ค.52 ให้รุ่นพี่มาถ่ายรูปสวย ๆ กับดอกสด ๆ ในวันรับปริญญาที่ทุกคนมาพร้อมครอบครัวและญาติผู้ใหญ่ ที่ขาดไม่ได้คือกล้องดิจิทอล ที่ใช้เล็งและยิงกันแบบไม่ยั้ง เพราะสมัยนี้ไม่เปลืองฟิล์ม ถ่ายแล้วก็ดู ถ้าไม่สวยก็ไม่ล้าง .. ว่ากันอย่างนั้น
ร่างผลประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล
22 ธ.ค.52 จากแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูลรวม 19 ระบบได้แบบสอบถามจำนวน 410 ชุด (ยังส่งมาไม่ครบ) ซึ่งแต่ละระบบมีจำนวนแบบสอบถามไม่เท่ากันต่างกันไปตามกลุ่มผู้ใช้ของแต่ละระบบ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ใช้ที่อาจอยู่ในฐานะเป็น 1) ผู้ให้ข้อมูลเข้าสู่ระบบ 2) ผู้มีส่วนประมวลผล หรือ 3) ผู้รับข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ พบว่าจากคะแนน 5 ระดับ ระบบที่ผู้ใช้มีความพึงพอใจสูงสุด คือ ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์มีความพึงพอใจระดับมาก (3.75) รองลงมาคือ ระบบแฟ้มดิจิทอลในระดับมาก (3.70) ส่วนความพึงพอใจต่ำสุด คือ ระบบฐานข้อมูลจัดซื้ออยู่ในระดับปานกลาง (2.63)
รองลงมาคือระบบฐานข้อมูลโทรศัพท์อยู่ในระดับปานกลาง (2.85)
หน่วยงานระดับคณะมี 6 คณะวิชา แต่มีผู้บริหารที่ร่วมตอบแบบประเมินความพึงพอใจเพียง 3 คณะวิชา สำหรับความพึงพอใจของผู้บริหารคณะวิชาที่มีความพึงพอใจสูงสุดคือ คณะสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์อยู่ในระดับมาก (4.00) รองลงมาคือคณะนิติศาสตร์อยู่ในระดับปานกลาง (3.32)
หน่วยงานระดับคณะมี 6 คณะวิชา ขณะนี้ส่งแบบประเมินแล้ว 5 คณะวิชา จากผู้ใช้แต่ละคณะที่ประกอบด้วย ผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา สำหรับความพึงพอใจในภาพรวมของคณะมีความพึงพอใจสูงสุดคือ คณะบริหารธุรกิจอยู่ในระดับมาก (3.66) รองลงมาคือคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อยู่ในระดับมาก (3.59)
? ผลการประเมินข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหน่วยงาน และ/หรือคณะวิชาส่งแบบประเมินเพิ่มเติม
ประเมิน effi, secu, sati ไปใกล้เสร็จ .. สังหรว่ามีปัญหา
21 ธ.ค.52 มีการประเมิน 3 ประเภท ขณะนี้เหลือการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ ที่เลยเวลาที่หน่วยงานส่งแบบประเมินมาให้ผมแล้ว 4 วัน และผมหาแบบสอบถามของหน่วยงานหนึ่งไม่พบ สังหรใจว่าได้แบบสอบถามไม่ครบร้อยเปอร์เซ็น ทำปีแรกจะพลาดบ้างก็ไม่น่าแปลก เป็นความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งของผม แต่ชีวิตยังไม่สิ้นก็ต้องสู้กันต่อไปและยอมรับความล้มเหลวในครั้งนี้ พรุ่งนี้จะโทรตาม และตามหาเอกสารที่ยังไม่ครบ ส่วนประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยน่าจะจบแล้ว เหลือความพึงพอใจมาเติมรายงานให้ครบการประเมิน 3 ประเภทเท่านั้น
ร่างบทสรุป : ปีการศึกษานี้เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยโยนกจัดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยโยนกที่มาจากการตัวแทนคณะวิชา และหน่วยงานเจ้าของระบบฐานข้อมูล รวมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลในภาพรวม โดยภารกิจหนึ่ง คือ การประเมินประสิทธิภาพและประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล และประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งสอดรับกับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ใน องค์ประกอบที่ 7 การบริหารและการจัดการ ตัวบ่งชี้ที่ 7.5 ศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย
มีระบบฐานข้อมูลที่เข้ารับการประเมินทั้งหมดจำนวน 19 ระบบ ดังนี้ 1) ระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียน 2) ระบบฐานข้อมูลรับชำระเงิน 3) ระบบฐานข้อมูลประเมินการสอนออนไลน์ 4) ระบบฐานข้อมูลรายงานผลการเรียนออนไลน์ 5) ระบบฐานข้อมูลอีเลินนิ่ง 6) ระบบฐานข้อมูลผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ 7) ระบบฐานข้อมูลการจัดการความรู้ 8) ระบบเว็บบอร์ด 9) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง 10) ระบบห้องภาพกิจกรรมโยนก 11) ระบบฐานข้อมูลบุคลากร 12) ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ 13) ระบบฐานข้อมูลบัญชี 14) ระบบฐานข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ 15) ระบบแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ 16) ระบบฐานข้อมูลจัดซื้อ 17) ระบบฐานข้อมูลห้องสมุด 18) ระบบฐานข้อมูลงบประมาณ 19) ระบบฐานข้อมูลเงินเดือน
ผลการประเมินประสิทธิภาพระบบฐาน ซึ่งดำเนินการประเมินโดยอนุกรรมการที่รับผิดชอบในแต่ละระบบฐานข้อมูลประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้พัฒนา และตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ซึ่งมีผลการประเมินมีคะแนนเพียง 3 ระดับ พบว่า มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 1 จำนวน 7 ระบบคิดเป็นร้อยละ 36.84 มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 2 จำนวน 6 ระบบคิดเป็นร้อยละ 31.58 และมีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 3 จำนวน 6 ระบบคิดเป็นร้อยละ 31.58
ผลการประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล ซึ่งดำเนินการเช่นเดียวกับการประเมินประสิทธิภาพ และมีคะแนนเพียง 3 ระดับเช่นกัน พบว่า ไม่มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ในระดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 0 มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 2 จำนวน 2 ระบบคิดเป็นร้อยละ 10.53 และมีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 3 จำนวน 17 ระบบคิดเป็นร้อยละ 89.47
ระบบและกลไกการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย มีดังนี้ 1) แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยโยนก 2) คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ ผู้พัฒนา และตัวแทนคณะกรรมการ เป็นคณะอนุกรรมการเข้าประเมินระบบฐานข้อมูลแต่ละระบบ 3) ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลฯ เตรียมความพร้อมในการเข้าประเมิน 4) ผู้พัฒนาประสาน และนัดหมายทุกฝ่าย เพื่อเข้าประเมินกับเจ้าของระบบฐานข้อมูล 5) เข้าประเมินโดยตรวจสอบเอกสารหลักฐานในหน่วยงานเจ้าของระบบฐานข้อมูล 6) ส่งร่างผลการประเมินให้เจ้าของระบบฐานข้อมูลตรวจสอบก่อนจัดทำรายงาน 7) รวบรวมผลการประเมิน และจัดทำสรุปผลการประเมินโดยคณะกรรมการฯ 8) เผยแพร่รายงานผล
? สองภาพนี้สัมพันธ์กันอย่างใรใน creative campus .. ก็ถามตามกระแสครับ