ชื่นชมคุณธรณินทร์(แบงค์) ผู้สรุปรายงานการประเมินฯ

สรุปผลประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ DB
สรุปผลประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ DB

25 ธ.ค.52 วันนี้มีโอกาสตรวจรายงานประเมินประสิทธิภาพและประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลที่ คุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ ปลุกปล้ำกับระบบฐานข้อมูล 19 ระบบที่มีเจ้าของระบบใน 11 หน่วยงาน และอนุกรรมการอีกมากกว่าสิบท่าน ซึ่งเป็นโครงการที่บูรณาการร่วมกับทุกคณะวิชา โดยผลการประเมินจะถูกอ้างอิงโดยคณะวิชา และมหาวิทยาลัย ที่จะใช้เป็นหลักฐานในตัวบ่งชี้ ๗.๕ ศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ถ้าไม่ได้คุณแบงค์ช่วยประสานหน่วยงานแบบถึงลูกถึงคนในครั้งนี้ ไม่ได้คุณอนุชิต ยอดใจยา และคุณอรรถชัย เตชะสาย ในฐานะผู้พัฒนาที่มุ่งมั่นทุ่มเทและกระตือรือร้นในการเข้าประเมินหน่วยงาน ถ้าไม่ได้ อ.เกศริน อินเพลา อ.วิเชพ ใจบุญ อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น หัวหอกทะลวงฟันเข้าตรวจสอบหลักฐานเอกสารด้วยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว .. รายงานฉบับแรกนี้คงไม่สำเร็จลงด้วยดี หรืออาจได้รายงานไม่ทันกับการประเมินที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้
      ระบบฐานข้อมูลที่เข้ารับการประเมินครั้งแรกนี้มีจำนวนมาก แต่ถ้ามองตามตัวหนังสือในคู่มือประกันคุณภาพฯ ก็จะพบว่ามีระบบฐานข้อมูลที่ถูกพาดพิงจำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 1) ระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียน 2) ระบบฐานข้อมูลรับชำระเงิน 3) ระบบฐานข้อมูลงบประมาณ 4) ระบบฐานข้อมูลเงินเดือน กลุ่มการเรียนการสอน ประกอบด้วย 5) ระบบฐานข้อมูลประเมินการสอนออนไลน์ 6) ระบบฐานข้อมูลรายงานผลการเรียนออนไลน์ 7) ระบบฐานข้อมูลอีเลินนิ่ง กลุ่มการวิจัย ประกอบด้วย 8) ระบบฐานข้อมูลวิจัย
     ถ้างานนี้มีความดีความชอบที่จะให้ใครก็ขอให้กับผู้ที่ถูกเอ่ยนามทั้งหมดข้างต้น ยกเว้นผมที่ไม่ควรได้อะไรทั้งสิ้น เพราะผมเป็นเพียงคนที่นั่งบ่นไปวัน ๆ เขียนอะไรเรื่อยเปื่อยไปนาทีต่อนาที ไม่เหมือนคนทำงานข้างต้น ที่มีผลงานในรูปกิจกรรมชัดเจน .. ผมขอยืนยันในบันทึกนี้

น้องจัดซุ้มรับปริญญาให้พี่บัณฑิตและมหาบัณฑิต

ซุ้มรับปริญญา
ซุ้มรับปริญญา

19 ธ.ค.52 เป็นวันพิธีประสาทปริญญาบัตรครั้งที่ 18 ของบัณฑิต และครั้งที่ 15 ของมหาบัณฑิต น้องคณะวิทย์ และ น้องจากทุกคณะวิชาจัดซุ้มรับรุ่นพี่ที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อาจารย์ เจ้าหน้าที่ก็มาร่วมทุ่มเทกันจนดึก เพราะสุขและปิติกันทุกคน คิดถึงจากการที่ห่างหายกันไปนาน แต่ละซุ้มก็ใช้ทั้งเวลา งบประมาณ แรงกาย แรงใจ ช่วยกันจัดทำกันเต็มที่ เตรียมซุ้มเย็นวันที่ 18 ธ.ค.52 ให้รุ่นพี่มาถ่ายรูปสวย ๆ กับดอกสด ๆ ในวันรับปริญญาที่ทุกคนมาพร้อมครอบครัวและญาติผู้ใหญ่ ที่ขาดไม่ได้คือกล้องดิจิทอล ที่ใช้เล็งและยิงกันแบบไม่ยั้ง เพราะสมัยนี้ไม่เปลืองฟิล์ม ถ่ายแล้วก็ดู ถ้าไม่สวยก็ไม่ล้าง .. ว่ากันอย่างนั้น

ร่างผลประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล

เกณฑ์ประเมินความพึงพอใจ
เกณฑ์ประเมินความพึงพอใจ

22 ธ.ค.52 จากแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูลรวม 19 ระบบได้แบบสอบถามจำนวน 410 ชุด (ยังส่งมาไม่ครบ) ซึ่งแต่ละระบบมีจำนวนแบบสอบถามไม่เท่ากันต่างกันไปตามกลุ่มผู้ใช้ของแต่ละระบบ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ใช้ที่อาจอยู่ในฐานะเป็น 1) ผู้ให้ข้อมูลเข้าสู่ระบบ 2) ผู้มีส่วนประมวลผล หรือ 3) ผู้รับข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ พบว่าจากคะแนน 5 ระดับ ระบบที่ผู้ใช้มีความพึงพอใจสูงสุด คือ ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์มีความพึงพอใจระดับมาก (3.75) รองลงมาคือ ระบบแฟ้มดิจิทอลในระดับมาก (3.70) ส่วนความพึงพอใจต่ำสุด คือ ระบบฐานข้อมูลจัดซื้ออยู่ในระดับปานกลาง (2.63)
รองลงมาคือระบบฐานข้อมูลโทรศัพท์อยู่ในระดับปานกลาง (2.85)
     หน่วยงานระดับคณะมี 6 คณะวิชา แต่มีผู้บริหารที่ร่วมตอบแบบประเมินความพึงพอใจเพียง 3 คณะวิชา สำหรับความพึงพอใจของผู้บริหารคณะวิชาที่มีความพึงพอใจสูงสุดคือ คณะสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์อยู่ในระดับมาก (4.00) รองลงมาคือคณะนิติศาสตร์อยู่ในระดับปานกลาง (3.32)
     หน่วยงานระดับคณะมี 6 คณะวิชา ขณะนี้ส่งแบบประเมินแล้ว 5 คณะวิชา จากผู้ใช้แต่ละคณะที่ประกอบด้วย ผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา สำหรับความพึงพอใจในภาพรวมของคณะมีความพึงพอใจสูงสุดคือ คณะบริหารธุรกิจอยู่ในระดับมาก (3.66) รองลงมาคือคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อยู่ในระดับมาก (3.59)
? ผลการประเมินข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหน่วยงาน และ/หรือคณะวิชาส่งแบบประเมินเพิ่มเติม

ประเมิน effi, secu, sati ไปใกล้เสร็จ .. สังหรว่ามีปัญหา

21 ธ.ค.52 มีการประเมิน 3 ประเภท ขณะนี้เหลือการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ ที่เลยเวลาที่หน่วยงานส่งแบบประเมินมาให้ผมแล้ว 4 วัน และผมหาแบบสอบถามของหน่วยงานหนึ่งไม่พบ สังหรใจว่าได้แบบสอบถามไม่ครบร้อยเปอร์เซ็น ทำปีแรกจะพลาดบ้างก็ไม่น่าแปลก เป็นความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งของผม แต่ชีวิตยังไม่สิ้นก็ต้องสู้กันต่อไปและยอมรับความล้มเหลวในครั้งนี้ พรุ่งนี้จะโทรตาม และตามหาเอกสารที่ยังไม่ครบ ส่วนประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยน่าจะจบแล้ว เหลือความพึงพอใจมาเติมรายงานให้ครบการประเมิน 3 ประเภทเท่านั้น
      ร่างบทสรุป : ปีการศึกษานี้เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยโยนกจัดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยโยนกที่มาจากการตัวแทนคณะวิชา และหน่วยงานเจ้าของระบบฐานข้อมูล รวมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลในภาพรวม โดยภารกิจหนึ่ง คือ การประเมินประสิทธิภาพและประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล และประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งสอดรับกับการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ใน องค์ประกอบที่ 7 การบริหารและการจัดการ ตัวบ่งชี้ที่ 7.5  ศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย
     มีระบบฐานข้อมูลที่เข้ารับการประเมินทั้งหมดจำนวน 19 ระบบ ดังนี้  1) ระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียน 2) ระบบฐานข้อมูลรับชำระเงิน 3) ระบบฐานข้อมูลประเมินการสอนออนไลน์  4) ระบบฐานข้อมูลรายงานผลการเรียนออนไลน์ 5) ระบบฐานข้อมูลอีเลินนิ่ง 6) ระบบฐานข้อมูลผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ 7) ระบบฐานข้อมูลการจัดการความรู้ 8) ระบบเว็บบอร์ด 9) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง 10) ระบบห้องภาพกิจกรรมโยนก 11) ระบบฐานข้อมูลบุคลากร 12) ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ 13) ระบบฐานข้อมูลบัญชี 14) ระบบฐานข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ 15) ระบบแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ 16) ระบบฐานข้อมูลจัดซื้อ 17) ระบบฐานข้อมูลห้องสมุด 18) ระบบฐานข้อมูลงบประมาณ 19) ระบบฐานข้อมูลเงินเดือน
     ผลการประเมินประสิทธิภาพระบบฐาน ซึ่งดำเนินการประเมินโดยอนุกรรมการที่รับผิดชอบในแต่ละระบบฐานข้อมูลประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้พัฒนา และตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ซึ่งมีผลการประเมินมีคะแนนเพียง 3 ระดับ พบว่า มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 1 จำนวน 7 ระบบคิดเป็นร้อยละ 36.84  มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 2 จำนวน 6 ระบบคิดเป็นร้อยละ 31.58 และมีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 3 จำนวน 6 ระบบคิดเป็นร้อยละ 31.58   
     ผลการประเมินความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล ซึ่งดำเนินการเช่นเดียวกับการประเมินประสิทธิภาพ และมีคะแนนเพียง 3 ระดับเช่นกัน พบว่า ไม่มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ในระดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 0  มีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 2 จำนวน 2 ระบบคิดเป็นร้อยละ 10.53 และมีระบบฐานข้อมูลที่อยู่ระดับที่ 3 จำนวน 17 ระบบคิดเป็นร้อยละ 89.47 
     ระบบและกลไกการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย มีดังนี้ 1) แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยโยนก 2) คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ ผู้พัฒนา และตัวแทนคณะกรรมการ เป็นคณะอนุกรรมการเข้าประเมินระบบฐานข้อมูลแต่ละระบบ 3) ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลฯ เตรียมความพร้อมในการเข้าประเมิน 4) ผู้พัฒนาประสาน และนัดหมายทุกฝ่าย เพื่อเข้าประเมินกับเจ้าของระบบฐานข้อมูล 5) เข้าประเมินโดยตรวจสอบเอกสารหลักฐานในหน่วยงานเจ้าของระบบฐานข้อมูล 6) ส่งร่างผลการประเมินให้เจ้าของระบบฐานข้อมูลตรวจสอบก่อนจัดทำรายงาน 7) รวบรวมผลการประเมิน และจัดทำสรุปผลการประเมินโดยคณะกรรมการฯ 8) เผยแพร่รายงานผล
? สองภาพนี้สัมพันธ์กันอย่างใรใน creative campus .. ก็ถามตามกระแสครับ

คลิ๊ปจากพิธีประสาทปริญญาบัตร 2552

คลิ๊ปบูม กับ คลิ๊ปเวทีริมน้ำ
คลิ๊ปบูม กับ คลิ๊ปเวทีริมน้ำ

20 ธ.ค.52 คลิ๊ปนักศึกษาหน้าเวทีริมอ่างในชุดบาทหลวงโบราณ กับคลิ๊ปบูมหน้าซุ้มคณะ ล่อนใน youtube.com ให้คนทั่วไปได้ชมร่วมกับคลิ๊ปบูมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่วนภาพดอกสวยได้เพิ่มเข้าไปอีกหลายสิบภาพในห้องภาพโยนกภาพใหญ่ 1.5 MB สำหรับภาพสุดท้ายเป็นนักศึกษาทั้งหญิงและชายใช้แรงงานตัดไม้ไผ่ทองไปทำอะไรในคลิ๊ปนั่นหละครับ .. บันทึกนี้เขียนสั้นแค่นี้นะครับ
http://www.youtube.com/watch?v=hX9wcgPBNAw
http://www.youtube.com/watch?v=czlFoO8m7AA
http://www.thaiall.com/yonokenlarge/openphotodir.php?type=t2&imgh=150&tot=6&start=6

น.ศ.ศูนย์ อ.โพนพิสัย เยือนโยนก

น.ศ.จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เยือน ศูนย์แม่
น.ศ.จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เยือน ศูนย์แม่

19 ธ.ค.52 วันนี้นักศึกษาโยนก จากศูนย์โพนพิสัย และศูนย์เซกา รวมกันกว่า 210 คนมา 5 รถบัส มาร่วมพิธีประสาทปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยโยนก ช่วงเย็นได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับชื่องาน “ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน”  แบบขันโตก มีงานแสดงของนักศึกษา และนักเรียนในจังหวัดหลายชุด แสดงวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง ส่วนนักศึกษาจาก 2 ศูนย์ก็นำการแสดงบั้งไฟ และฟ้อนรำหลายชุดมาเผยแพร่เช่นกัน  มีการร้องเพลง และฟ้อนรำ อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับอบอุ่น ทำกิจกรรมร่วมกัน และดูมีความสุขกันดีกับงานบันเทิงครั้งนี้  .. มีภาพเป็นหลักฐานถึงความสุขจากการฟ้อนรำครับ
     วันรุ่งขึ้นจะเดินทางไปทัศนศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ มี อ.เกศริน อินเพลา อ.ทรงศักดิ์ เมืองฝั้น และนักศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยว ร่วมเดินทางไปอำนวยความสะดวก และนำทัศนศึกษาในครั้งนี้

ปิดร่างรายงานการวิจัย sar51 แล้ว

หน้าจอโปรแกรม การประเมินตนเอง 2550 - 2551
หน้าจอโปรแกรม การประเมินตนเอง 2550 - 2551

16 ธ.ค.52 วันนี้ผมปิดร่างรายงานการวิจัย “พัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ปีการศึกษา 2551 กรณีศึกษามหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง” จากการส่งร่างให้ทีมวิจัยทั้ง 8 คนตรวจสอบก็ดำเนินการไปแล้ว ต่อจากนี้จะประสานส่งรายงานตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะมีกลไกดังนี้ 1) ส่งให้คณบดีพิจารณา 2) คณะกรรมการวิจัยในคณะ 3) สถาบันวิจัย 4) คณะกรรมการของสถาบันวิจัย 5) เวทีวิจัยของมหาวิทยาลัย 6) ท่านอธิการ ถ้าผ่านกลไกนี้ก็จะปิดงบถ่ายเอกสารของโครงการ แล้ววางแผนรวมทีมวิจัยโครงการต่อยอดกับข้อมูลปี 2552 เพื่อขยายให้ถึงระดับบุคคล ซึ่งมีความเป็นไปได้ด้วย 2 ปัจจัย คือ ท่านอธิการสนับสนุน และบุคลากรมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากการอบรมในเดือนที่ผ่านมา โดยบทคัดย่อมีดังนี้
      งานวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโปรแกรมระบบฐานข้อมูลให้หน่วยงานจัดเก็บข้อมูลการประเมินตนเอง และเพื่อให้ผู้ประเมินตรวจสอบหลักฐานเพื่อการประกันคุณภาพด้วยความพอใจ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยโยนก กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาใช้วิธีเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 2 กลุ่ม รวม 13 คน คือ ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษา 7 คน ตัวแทนคณะวิชาและสาขาวิชา 6 คน เครื่องมือที่ใช้พัฒนาระบบคือเครื่องบริการไอไอเอส ตัวแปลภาษาพีเอชพี  เอแจ็กซ์ และระบบฐานข้อมูลไมโครซอฟท์แอคเซส ใช้แบบประเมินความพึอพอใจหลังการอบรมใช้งานโปรแกรม และหลังการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับสถาบันเสร็จสิ้น โดยลักษณะคำตอบเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ งานที่พัฒนาขึ้นสามารถเลือกข้อมูลปีการศึกษา 2550 หรือ 2551 แบ่งเป็นระบบย่อยที่สำคัญ 6 ระบบ ประกอบด้วย 1) ระบบเข้าใช้งานของผู้ใช้  2) ระบบนำแฟ้มข้อมูลเข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน  3) ระบบบันทึกรายละเอียดตามตัวบ่งชี้ 4) ระบบจัดการข้อมูลพื้นฐาน 5) ระบบปรับปรุง  และ 6) ระบบรายงานผลประเมินความพึงพอใจต่อการใช้งานโปรแกรมของหน่วยงานโดยรวมอยู่ระดับมาก (X = 3.71 , S.D = 1.16) และผลการประเมินความพึงพอใจต่อการใช้งานโปรแกรมของผู้ประเมินโดยรวมอยู่ระดับปานกลาง (X = 3.24, S.D = 1.11) ซึ่งสรุปได้ว่าระบบที่พัฒนาขึ้นยังไม่ตอบสนองความพึงพอใจต่อผู้ใช้ทั้ง 2 กลุ่มในระดับมาก
     The objective of this operational research was to develop the self assessment system to serve the satisfaction of users and assessors. This system used the case study of YONOK University.  The data sampling is divided into 2 groups consisting of 7 assessors and 6 faculties. The system development tools were Internet Information Server, PHP Interpreter, AJAX and Microsoft Access Database. 5-scale rating questionnaire was collected to evaluate system performance after finishing training and evaluation of the system. This system could be surve to database of 2550 and 2551.  There are 6 sub-systems: user’s login, documents upload, indicator update management, and common data set management, data updating and reporting system. The evaluation result of user’s satisfaction was high (a mean of 3.71 and standard deviation of 1.16). The evaluation result of assessor’s satisfaction was also moderate (a mean of 3.24 and standard deviation of 1.11). It is concluded that the system performance was not satisfy to both group in high level.
+ http://www.thaiall.com/research/sar51/fullpaper_sar51_521216.zip  500 KB
ถ้าท่านใดอ่านแล้วมีข้อเสนอแนะ แจ้งได้ครับ เพราะยังไม่ปิดงบถ่ายเอกสาร เป็นเพียงร่างรายงาน

นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล

13 ธ.ค.52 ปีการศึกษานี้เริ่มการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบฐานข้อมูล ซึ่งหลายท่านไม่ทราบนิยามศัพท์ของคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำ นิยามศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูล โดยรับความอนุเคราะห์เรียบเรียงจาก อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศริน อินเทลา  และเผยแพร่ให้ทุกคณะ และหน่วยงานได้รับทราบผ่านบันทึก งทส. ๔๑/๒๕๕๒ โดยมีรายละเอียดดังนี้
     ๑. ระบบฐานข้อมูล (Database System) คือ การรวมและจัดเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันเข้าด้วยกัน (Integration) โดยมีการจัดกลุ่มข้อมูลให้อยู่ในรูปตาราง (Grouping) ที่สามารถเชื่อมโยงตารางทั้งหมดเข้าหากัน(Sharing) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บ (Non Redundancy) ไม่มีความขัดแย้งของข้อมูล (Inconsistency) และมีความคงสภาพของข้อมูล (Integrity)
     ๒. ข้อมูล (Data) คือ ค่าของความจริงที่ปรากฏขึ้น โดยค่าความจริงที่ได้จะนำมาจัดการ ปรับแต่งหรือประมวลผล เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
     ๓. สารสนเทศ (Information) คือ กลุ่มของข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลตามกฎเกณฑ์ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นมีความหมายและมีประโยชน์ตามความต้องการของผู้ใช้
     ๔. ระบบ (System) คือ สิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากหน่วยย่อยหรือองค์ประกอบย่อย ที่มีความสัมพันธ์และทำหน้าที่ร่วมกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
    ๕. ระบบ (System) มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 222
ระบบ (System) ประกอบด้วย 1)วัตถุประสงค์ (Objective) 2)ปัจจัยนำเข้า (Input) 3)กระบวนการ (Process) และ 4)ผลผลิต (Output) แต่ในการประเมินตามคู่มือของ สกอ. คำว่าระบบ จะเน้นที่กระบวนการ หมายถึง ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการ ขั้นตอนการปฏิบัติงานจะปรากฎให้ทราบโดยทั่วกันไม่ว่าจะในรูปของเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการอื่น ๆ
     ๖. ระบบและกลไก มีความหมายอธิบายในคู่มือของ สกอ. (พ.ค.52) หน้า 162
     ระบบและกลไก คือ ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยบุคลากร ทรัพยากร กฎเกณฑ์ มาตรการ แนวปฏิบัติ และปัจจัยต่าง ๆ เป็นกลไกให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย

เรียบเรียงโดย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผลวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนจากการประเมิน .. ออกแล้ว

วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนใน 3 ตารางแรก
วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนใน 3 ตารางแรก

13 ธ.ค.52 วันนี้ช่วงกลางวันมีภารกิจวิพากษ์แผนพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งวัน โดยมี อ.วิเชพ ใจบุญ เป็นผู้ดำเนินการ และมี อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะ เมื่อกลับบ้านก็หายจากอาการทอนซิลอักเสบพอดี จึงนำข้อมูลผลการประเมินคุณภาพภายใน ที่เกิดขึ้นในปลายเดือนสิงหาคม 2552 ที่มาจากผู้ประเมินภายในของแต่ละคณะ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างผลการประเมินตนเอง และผลการประเมินของผู้ประเมิน ระหว่างปีการศึกษา 2550 และ 2551 ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งผลของความคลาดเคลื่อนสูงเกินกว่าที่คาดไว้มาก ทำใจเขียนส่วนอภิปรายผล หรือสรุปผลต่อไม่ได้ และคิดว่าคืนนี้ผมคงมีเรื่องอะไรให้นอนคิดมากมายกว่าทุกวัน
     ตารางที่ 1 จำแนกตามจำนวนคะแนนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนจากผลต่างการประเมินตนเองและของผู้ประเมินในปีการศึกษา 2551 พบว่า ผลรวมจำนวนตัวบ่งชี้จากทุกคณะ ที่ผลประเมินตนเองตรงกับผลของผู้ประเมินมีเพียง 58.55% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 1 คะแนนมี 22.22% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 2 คะแนนมี 14.96% และที่มีคลาดเคลื่อนระดับ 3 คะแนนมี 4.27% ซึ่งผลในตารางที่ 1 ไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนนัก นอกจากตกใจที่เห็นผลประเมินเกือบครึ่งหนึ่งมีความคลาดเคลื่อน และพบว่าคณะของผมมีจำนวนตัวบ่งชี้คลาดเคลื่อนมากที่สุดคือ 20 ตัวบ่งชี้ แต่คณะบริหารคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดคือ 10 ตัวบ่งชี้
     ตารางที่ 2 จำแนกตามจำนวนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนเปรียบเทียบปีการศึกษา 2550 และ 2551 พบว่า ไม่มีคณะใดเลยที่มีความคลาดเคลื่อนลดลงจากปี 2550 ทั้งที่ได้มีการนำเสนอรายงานความคลาดเคลื่อนไปใน การประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 22 /2552 วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2552 วาระ 4.3 โดยมีตัวแทนนักวิจัยร่วมประชุมครั้งนี้ 4 ท่านได้แก่ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ อ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ อ.วันชาติ นภาศรี และ อ.คนึงสุข นันทชมภู โดย อ.วันชาติ นภาศรี เป็นตัวแทนทีมวิจัยจัดทำข้อเสนอแนะไว้ในรายงานจำนวน 3 ข้อ คือ 1)เร่งพัฒนาศักยภาพของระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร การเรียนการสอน การบริการวิชาการ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และการวิจัย 2)กำหนดนิยามปฏิบัติการในรายตัวบ่งชี้ที่ยังมีความสับสน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน 3)จัดทำคำอธิบายว่าตัวบ่งชี้ใดใช้หลักฐานอะไรบ้าง และจัดให้มีการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกคน นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลับมาหาสิ่งที่พบในตารางที่ 2 คือ คณะของผมติดอันดับหนึ่งในการที่มีจำนวนตัวบ่งชี้ที่คลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 15 ตัวบ่งชี้ ส่วนคณะที่จำนวนตัวบ่งชี้คลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดมีคณะบริหารกับคณะสังคม คือ 1 ตัวบ่งชี้
     ตารางที่ 3 จำแนกตามคะแนนที่คลาดเคลื่อนเปรียบเทียบปีการศึกษา 2550 และ 2551 พบว่า คณะของผมยังเป็นเบอร์ 1 คือ คะแนนคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นอีก 22 คะแนน โดยคณะสังคมคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือ 3 คะแนน รองลงมาคือคณะบริหาร 5 คะแนน ทั้ง 3 ตารางนี้ได้เปรียบเทียบในระดับคณะ ยังไม่เปรียบเทียบในระดับตัวบ่งชี้ ว่าองค์ประกอบใด หรือตัวบ่งชี้ใด มีความผิดปกติบ้าง แต่เท่าที่คาดการณ์ก็เชื่อได้ว่าความคลาดเคลื่อนกระจายอยู่ในทุกตัวบ่งชี้อย่างแน่นอน แต่จะมีตัวใดสูงเป็นพิเศษคงต้องใช้เวลาทำ pivot table อีกครั้ง
     จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมมีแผนส่งข้อมูลดิบให้แต่ละคณะและทีมวิจัยได้ตรวจสอบ ก่อนดำเนินการเขียนรายงานสรุปผล และอภิปรายผลรายงานการวิจัยต่อไป ซึ่งส่วนของการวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนเป็นเพียงผลการวิจัยที่เพิ่มเติมจากวัตถุประสงค์หลัก แต่นี่คืองานวิจัยสถาบันที่พบว่าระหว่างการวิจัยได้พบประเด็นที่จะเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยได้ และสนับสนุนให้การดำเนินงานวิจัยบรรลุตามวัตถุประสงค์ สิ่งที่ต้องการค้นหาเป็นหลัก คือความพึงพอใจต่อการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่พัฒนาขึ้น ซึ่งผลของความคลาดเคลื่อนและความพึงพอใจสอดคล้องกัน คือ ระดับความพึงพอใจเป็นไปในทางเดียวกับความคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย และจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ได้
+ http://www.yonok.ac.th/sar/nsar51.php

อบรมการเขียนแผนการสอนในวันรัฐธรรมนูญ

อาจารย์ดูมีความสุข .. ทำให้บรรยากาศดี
อาจารย์ดูมีความสุข .. ทำให้บรรยากาศดี

10 ธ.ค.52 วันนี้ที่มหาวิทยาลัยจัดอบรมการเขียนแผนการสอน สอดรับกับมาตรฐาน TQF ที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ท่านวิทยากรคือ ผศ.สุนทรี คนเที่ยง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายด้วยเนื้อหาก็เข้มข้น แฝงไว้ด้วยความเป็นกันเอง  เพราะท่านมีอารมณ์ขันในที สำหรับประเด็นที่บรรยายมีการแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ก็มีประเด็นมากมายให้ชวนคิด ทั้งการใช้เทคโนโลยี กลวิธีในการจัดการเรียนการสอน คุณธรรมของนักเรียน และครูที่ต้องไปด้วยกัน ช่วงท้ายได้เปิดให้อาจารย์ทุกคนได้เขียนแผนการสอนในแบบฟอร์มที่เตรียมมากันคนละ 1 หน่วย แล้วกล่าวปิดการอบรมโดย รองอธิการทั้งสองท่าน ที่น่าสนใจคือผมสังเกตว่าวิทยากรกล่าวทักทาย อ.แดน กุลรูป และผู้เข้าอบรมอีกหลายท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คในระหว่างการอบรม คงเป็นเพราะท่านก็สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ จากนั้นก็มีเพื่อนสมาชิกขอ add ท่านเป็นเพื่อนใน facebook.com รู้สึกว่ามีการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ทำให้ไม่รู้สึกห่างเหิน หรือตึงเครียดระหว่างการอบรม .. ก็ขอเขียนสะท้อนคิดวันนี้เท่านี้ (A Reflection A Day)