ประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความพึงพอใจของ DB

26 พ.ย.52 วันนี้ไปประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลรวม 15 คน ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยผมยกร่าง ตารางการเข้าประเมินระบบฐานข้อมูล และแบบประเมินทั้ง 3 ประเภทได้แก่ 1)แบบประเมินประสิทธิภาพ 2)แบบประเมินความปลอดภัย และ 3)แบบประเมินความพึงพอใจ ก็มีเรื่องให้ประหลาดใจว่า กรรมการไม่ติดใจเรื่องของแบบประเมินมากนัก เมื่ออธิบายในประเด็นที่มีข้อสงสัยก็เข้าใจกันทุกคน
     แต่มาติดใจตั้งแต่ 2 ระบบแรก ตามข้อมูลใน ตารางเข้าประเมินระบบฐานข้อมูล เรื่อง การประเมินที่ขึ้นกับชื่อระบบในประเด็นที่สัมพันธ์ กับ ความหมายของคำว่าระบบฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งอธิบายให้ทุกคนได้คลายข้อสงสัยว่า ระบบฐานข้อมูลแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1)ผู้ส่งข้อมูลเข้า (Input) 2)การประมวลผลหรือกระบวนการทำงาน (Process) และ 3)ผู้รับข้อมูลไปใช้ประโยชน์ (Output) โดยการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยจะจัดทีมที่เข้าใจเข้าไปประเมินทีละระบบ ซึ่งประเมินในส่วนของ การประมวลผลหรือกระบวนการทำงาน (Process)
     แต่การประเมินความพึงพอใจ จะประเมิน Input กับ Output ซึ่งไม่จำเป็นที่ผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องสัมผัสกับเครื่องบริการโดยตรง หรือไม่จำเป็นที่ระบบนั้นต้องเป็นออนไลน์ กว่าจะคลายข้อสงสัยได้ก็ใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง แต่ผมก็ว่าคุ้ม เพราะถ้าวันนี้ทุกคนเข้าใจ งานก็จะเดิน การประเมินตามแผนการประกันคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่สะดุด ถือว่าวันนี้คุ้มที่ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนบุคลากร

ประชุมเสร็จผมก็ทำหนังสือแจ้งกำหนดการ
๑. หน่วยงานที่ดูแลระบบฐานข้อมูลเตรียมความพร้อมรับการประเมิน 
     ๓๐ พ.ย.–๔ ธ.ค.๕๒
๒. ทีมประเมินประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเข้าประเมินฯ  
     ๒ ธ.ค.–๑๑ ธ.ค.๕๒
๓. เจ้าหน้าที่ IT เก็บข้อมูลการประเมินความพึงพอใจฯ   
     ๓๐ พ.ย.–๑๑ ธ.ค.๕๒
๔. เจ้าหน้าที่ IT สรุปผลและจัดทำรายงานการประเมินส่งให้หน่วยงาน 
     ๓๐ ธ.ค.๕๒
๕. คณะกรรมการฯ ประชุมวิพากษ์ผลประเมินและแบบประเมิน  
     ก.พ.๕๓

     วันนี้ผมยกให้กับ อ.แดน เป็นพระเอกในเวที เพราะท่านช่วยให้ความกระจ่าง ช่วยให้เวทีผ่อนคลายอย่างได้ผล ช่วยให้การโต้เถียงที่รุนแรงลดลง เพราะในเวทีมีหลายท่านกล้าพูด กล้าคิดในมุมของตน กล้าออกนอกกรอบ ด้วยผมก็รู้ว่าทุกคนมีเจตนาดี และแล้วก็กลับเข้าที่เข้าทาง ยังมีอีกหลายท่านก็พยายามช่วยกันกำกับเวที ทั้ง อ.นุ้ย และน้องแบงค์ ก็ขอบคุณด้วยเช่นกันที่ทำให้การประเมินครั้งที่ไม่ล้มไปซะก่อน
http://www.thaiall.com/yonok/52_project_poll_database_v3.doc

แลกเปลี่ยนระหว่างศิษย์กับอาจารย์

ittiphon25 พ.ย.52 ในคณะวิทย์ใครต่อใครต่างรู้จัก น้องอิทธิพล หรือที่ผมเรียกว่าลูกศิษย์ เพราะ ร.คณบดีก็พูดถึง อาจารย์ผู้สอบหัวข้อก็พูดถึง ส่วนผมรับช่วงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาคนใหม่ ก็ต้องดูแลศิษย์คนนี้ให้เต็มที่หน่อย ก็ต้องบอกว่าตอนนี้ลงทะเบียนเรียนเรียบร้อยแล้ว จึงมีเวลาทำงานอีกหลายเดือน แต่เขาก็จะเร่งให้เสร็จในวันนี้วันพรุ่ง ผมก็เอาใจช่วย เพราะเขาว่างเฉพาะตอนเย็น 1)การเข้าพบที่จริงจังนับได้ว่าวันนี้วันพุธเป็นครั้งที่ 2 โดยดูเพียงเอกสารก็ถือว่าเอกสารผ่านไปแล้วกว่า 80% 2)โดยครั้งแรกวันจันทร์ดูทั้งโปรแกรมและเอกสาร ซึ่งถ้าประเมินความสมบูรณ์ให้ได้เพียง 70% เพื่อนที่มาด้วยก็ยังชมเลยว่า ถ้าเมื่อก่อนมาพบอาจารย์ใต้บรรไดบ้านอย่างนี้บ่อย ๆ ป่านนี้จบไปแล้ว ผมก็เชื่อว่าถ้ามีเพื่อนคุมอย่างนี้ น่าจะสำเร็จการศึกษาได้ในไม่ช้า เพราะเขามีศักยภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว .. ดูจากภาพแล้วเขาก็ช่างพูดอยู่ไม่น้อยนะครับ

เล่าเรื่องเสนอแผน KM ที่เกือบถูกล้ม

25 พ.ย.52 ในการประชุมวันนี้ อ.บุ๋มและผม ได้ร่วมกันยกร่างแผน KM ของคณะ มีการกำหนดเป้าหมาย และหน่วยที่วัดผลได้เป็นรูปธรรม ซึ่งใช้เป็นต้นแบบประกอบการประชุม ประกอบด้วย 1)แผนการจัดการความรู้ 2)แบบฟอร์มกรอกประเด็นความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ สำหรับการบ่งชี้ความรู้ เช่น หลักธรรม วิธีการ เครื่องมือ และประสบการณ์ 3)ความหมายของการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในคู่มือประกันคุณภาพ 4)รายงานการประชุมที่มีการดำเนินการตามกิจกรรมที่ 1 มาแล้ว
     หลังจากเริ่มประชุมเพียง 5 นาทีแรก ผมก็เกือบล้มแผน KM ตามแนวทางในแผนซึ่ง ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กำหนดแนวทางไว้ นี่นับเป็นอีกครั้งที่ผมเกือบจะยอมแพ้ต่อโชคชะตา ซึ่งมติที่ประชุมจะหันไปมุมการทำแผนแก้ปัญหา หรือแผนปรับการเรียนการสอน เฉพาะวิชาหนึ่งของคณะ ในเป้าหมายเรื่อง “การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ซึ่งไม่ใช่แผนการจัดการความรู้ในแบบที่มีการปฏิบัติกันทั่วไป แต่งานนี้ อ.บุ๋ม ท่านไม่ยอมให้แผนถูกล้มหรือผลิกเป็นแผนอะไรก็ไม่รู้ เพราะท่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ และรู้ว่าถ้าพลิกแผนจะตอบคำถาม อย่างที่เคยถูก อ.ทัน เคยเคี่ยวในเวทีประเมินมาแล้วได้ลำบากขึ้น ท่านจึงเปิดเวทีแลกเปลี่ยนใช้เวลาทำความเข้าใจมากกว่าหนึ่งชั่วโมงให้ทุกคนได้เข้าใจ ว่าขั้นตอนเหล่านี้มีรายละเอียดอย่างไร จะพลิกแผนเป็นแผนอื่นก็จะผิดไปจากที่ควร .. สรุปว่าแผนครั้งนี้ไม่ถูกล้ม ยังคงเป็นแผนตามมาตรฐานการจัดการความรู้เช่นเดิม .. แต่ผมขู่ อ.บุ๋ม ไปว่า ถ้าครั้งต่อไปอาจารย์ไม่ร่วมประชุมล่ะก็มีหวังผมล้มแผน KM ในที่ประชุมเป็นแน่ .. ขอเอาใจช่วยให้แผน KM ยังคงเป็นแผน KM ไม่ถูกปรับแก้ไปตามความเข้าใจเดิมเดิม
     งานนี้สรุปได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าแผน KM ไม่มีชื่อผมก็คงจะไม่มีการเสนอล้มแผน KM เป็นแผนอื่น  เพราะผมเป็นพวกเคยชินกับความล้มเหลว ใครกำหนดอะไรมาแปลกผมเป็นต้องร้องทักไปแต่ถ้าการทำตัวเป็นจิ้งจกร้องทักของผมทำแล้วไม่เกิดผล ผมก็จะทำใจยอมรับกับชะตานั้น คงเพราะผมเคยชินกับการเขียนโปรแกรมแล้ว compile ไม่ผ่านมามาก เคยชินกับการเขียนโปรแกรมแล้วไม่มีคนใช้ ก็เลยชินครับ .. สรุปว่าผมเขียนเล่าเรื่องวิบากกรรมที่ผมกับอ.บุ๋ม พบในวันนี้ ก็เท่านั้นเอง
+ http://www.thaiall.com/km/indexo.html
+ http://www.thaiall.com/km/handbook_2549.doc

บริการวิชาการ 2 โครงการที่บ้านดง

บริการวิชาการที่ อบต.บ้านดง
บริการวิชาการที่ อบต.บ้านดง

18 พ.ย.52 อาจารย์ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และ อาจารย์เกศริน  อินเพลา หัวหน้าสาขาวิชาระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโยนก เป็นวิทยากรให้บริการวิชาการใน โครงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และ โครงการความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  แก่บุคลากรอบต.บ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ณ ที่ทำการอบต.บ้านดง เมื่อวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 โดย นายศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกอบต.บ้านดง และ นางสาวณภัทร หวันแก้ว ปลัดอบต.บ้านดง ให้การต้อนรับ มีบุคลากรร่วมรับการอบรมจำนวน 21 คน
+ http://www.bandongmaemoh.ob.tc/council.html
+ http://www.thaiall.com/yonok/52_service_bandong.zip

การเลื่อนตำแหน่งของภรรยาแบบวาปมิใช่ก้าวกระโดด

21 พ.ย.52 ช่วงนี้มีใครหลายคน แซวและชวนภรรยาของผมไปเลี้ยงฉลองตำแหน่งใหม่ หรืออาจได้รับตำแหน่งใหม่ในเร็ววันนี้ ผมได้แต่ดีใจด้วย ด้วยทัศนคติส่วนตัวคิดว่าเธอ เลื่อนตำแหน่งแบบวาร์ปไป (warp) มิใช่ก้าวกระโดด (jump) มีหลายประเด็นให้ได้พิจารณาคือ 1)ทำงานมา 10 กว่าปี เปลี่ยนหัวหน้ามา 11 คนในองค์กรเดียว  เปลี่ยนหน่วยงานมา 4 หน่วย มีประสบการณ์มากในการเป็นเลขาฯ 2)สำเร็จการศึกษา ป.ตรี ด้านการจัดการ จากราชภัฏ ทำงาน เป็น เจ้าหน้าที่ในสำนักรับนักศึกษา เลขานุการในฝ่ายวิชาการ เลขานุการในสถาบันวิจัย เจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์และธุรการในสำนักประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ในสำนักรับนักศึกษา แล้วกำลังจะวาร์ปไปเป็น หัวหน้างานประชาสัมพันธ์และรับนักศึกษา ซึ่งมีภาระรับผิดชอบงานที่ชี้ชะตาองค์กร ตามผลการวิเคราะห์ risk โดยกลุ่มผู้บริหาร แสดงว่าเธอเป็นตัวเลือกเดียวที่ดีที่สุดเป็นแน่ 3)หลายท่านให้กำลังใจว่าไม่ต้องเป็นกังวลเพราะเราทำงานในรูปคณะกรรมการ บูรณาการ ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีผู้เชี่ยวชาญทั้ง ด้านการตลาด (marketing) ด้านประชาสัมพันธ์ (public relation) ด้านการออกแบบ (design) ที่พร้อมให้คำแนะนำอยู่ใกล้ชิด อย่างอบอุ่น 4)ใจของเธอในฐานะปุถุชนยังกังวลในการได้รับความไว้วางใจในครั้งนี้ ว่าจะภูมิใจภาระใหม่ที่ไหลมาตามกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือหนักใจที่ได้รับภาระในภาวะวิกฤต ซึ่งเคยปราบทุกเซียนมาแล้ว ก็ดูว่าเธอจะใช้อะไรมาต่อสู้กับสถานการณ์ที่เป็นอีกหนึ่งวิกฤตขององค์กร .. งานนี้มีแต่ต้องเอาใจช่วย เพราะเป็นงานใหม่ที่ท้าทายอีกงานหนึ่ง

เวทีวิจัยจากทุน CBPUS เกี่ยวกับสื่อขยายองค์ความรู้งานศพ

งานวิจัย cbpus นักศึกษา ม.โยนก ในเวทีบ้านไหล่หิน
งานวิจัย cbpus นักศึกษา ม.โยนก ในเวทีบ้านไหล่หิน

คืนวันศุกร์ที่ 20 พ.ย.52 นักศึกษามหาวิทยาลัยโยนก ได้แก่ นายกร ศิริพันธุ์ และ น.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม และ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ ตามทุนวิจัยโครงการ “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ได้จัดเวทีวิจัย ณ ศาลาหมู่ 2 บ้านไหล่หิน มีตัวแทนชาวบ้านที่จะเป็นผู้แสดงและเคยเป็นนักวิจัยในโครงการ “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” จากทุน CBR มาพิจารณาวิเคราะห์ความสอดคล้องของโครงวีดีโอ และสคริปต์ร่วมกัน ก่อนดำเนินการถ่ายทำและตัดต่ออย่างเป็นระบบ ที่เป็นกิจกรรมที่ 5 ของโครงการจากทั้งหมด 8 กิจกรรมหลัก และเตรียมสำหรับการนำเสนอความก้าวหน้าต่อผู้ให้ทุน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ณ สกว.ศูนย์ลำปาง
      วาระในเวทีประกอบด้วย 1)ทบทวนวัตถุประสงค์ และกิจกรรมโครงการ 2)นำเสนอการดำเนินการที่ผ่านมาของนักศึกษากับชุมชน 3)นำเสนอโครงวีดีโอ 2 เรื่องคือ “ประเด็นปัญหา การแก้ไข และผลที่ได้” และ “กระบวนการวิจัย” 4)พิจารณาปรับปรุงโครงวีดีโอ บทวิเคราะห์โครง สคริปต์บทพูด 5)นัดหมายเพื่อถ่ายทำวีดีโอแต่ละท่านตามแผนในสคริปต์บทพูด
     กว่าจะถึงวันนี้ นักศึกษาทำงานไปแล้วตามขั้นตอน ดังนี้ 1)เข้าไปศึกษาชุมชน เดินสำรวจหมู่บ้าน สำรวจแหล่งทุนชุมชน นอนวัด นอนบ้าน เข้าพบ ผู้นำชุมชน และพระสงฆ์ 2)ศึกษาวรรณกรรมจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่นประวัติชุมชน กระบวนการวิจัย และการจัดงานศพ 3)เข้าเรียนรู้งานศพในบ้านไหล่หิน 2 งาน 4)เข้าสัมภาษณ์และบันทึกวีดีโอการนำเสนอองค์ความรู้จากนักวิจัยโครงการ CBR 5)ฝึกตัดต่อวีดีโอต้นแบบที่บันทึกมาแล้ว 6)ยกร่างโครงวีดีโอทั้ง 2 เรื่อง คือ “ประเด็นปัญหา การแก้ไข และผลที่ได้” และ “กระบวนการวิจัย” 7)ยกร่างสคริปต์บทพูด 8)จัดทำบทวิเคราะห์ และปรับแก้ทั้งความสัมพันธ์ของบท จัดวางพระเอกนางเอกให้เหมาะ กับบทพูด จัดลำดับ แก้ไขประเด็นคำพูด 9)นำสคริปต์บทพูดเข้าเวทีพิจารณาอีกครั้ง 10)เรียบเรียงทั้งหมดเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.webprodee.com/research
+ ตากล้องวันนี้คือ นายสุทัศน์ หรือบอย เพื่อนของกรกับปรางที่รับอาสาบันทึกภาพ

บ่นเรื่องลูกศิษย์ให้เขาฟังทางโทรศัพท์

เด็กติดเกม กับ ชีวิตที่สอง ที่เด็กโหยหา
เด็กติดเกม กับ ชีวิตที่สอง ที่เด็กโหยหา

19 พ.ย.52  เรื่องเล่าว่า ผมนัดลูกศิษย์ชายมาคุยงานวิชาโครงงานคอมพิวเตอร์ที่บ้านครั้งที่ 3 แต่ล้มเหลวอีกแล้ว ลูกศิษย์ลงทะเบียนมาแล้ว 3 ภาคเรียนในวิชาโครงงานฯ ที่ผ่านมาลงแล้วก็หายไปเป็นภาคเรียน แต่มีข่าวว่าเขาติดเกม ผู้ปกครองจึงเปิดร้านเกมให้ที่บ้านก็น่าจะเป็นการส่งเสริมให้ใช้ความสนใจ ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองได้ในระดับหนึ่ง นัดไปที่มหาวิทยาลัยก็ไม่สะดวก เพราะต้องดูแลร้านในเวลากลางวัน ตกเย็นต้องรอคุณพ่อคุณแม่มาดูร้านต่อ จะสะดวกก็ค่ำแล้ว
     มีเล่าต่อว่า ครั้งแรก เป็นวันสุดสัปดาห์ที่นัดลูกศิษย์มาคุย แต่เขามาไม่ได้เพราะฝนตกเดินทางไม่สะดวก ซึ่งเป็นวันที่ผมต้องเลื่อนนัดครอบครัวไปทานข้าวนอกบ้าน ครั้งที่สอง เป็นวันจันทร์ซึ่งผมเลื่อนนักลูกศิษย์อีก 2 คนออกไป เพราะลูกศิษย์คนนี้ต้องมาก่อนเนื่องจากมีปัญหาชัดเจน แต่เขาก็ไม่สะดวกที่จะมาพบ ครั้งที่สาม คือวันนี้ได้นัดไว้หลายวันแล้วและย้ำอีกครั้งเมื่อตอนกลางวันว่าพบกันเย็นนี้ แล้วผมก็ต้องเลื่อนไปส่งคุณแม่ที่ต่างอำเภอ เพราะไม่กล้าเลื่อนลูกศิษย์คนนี้ที่นัดไว้หลายวัน แต่สุดท้ายผมก็ต้องโทรไปถามว่าดึกแล้วทำไมยังมาไม่ถึง ก็พบคำตอบที่ไม่ประทับใจว่าวันนี้ไม่สะดวกขอเป็นพรุ่งนี้ .. ทำให้ผมต้องอธิบายเรื่องความผิดหวังต่อตัวเขาในฐานะเยาวชนของชาติที่ผมพยายามจะช่วยให้เขาสามารถสำเร็จการศึกษาและออกไปรับใช้ชาติของผมตามระบบและกลไกที่มหาวิทยาลัยได้วางไว้ แต่ผมก็ล้มเหลวเนื่องจากองค์ประกอบของความสำเร็จมีเขาเป็นปัจจัยสำคัญ .. ก็บ่นไปตามประสาของมนุษย์ผู้ยังมีหวังต่ออะไรอะไรอีกมากมาย

มองก้าว การจัดการความรู้คณะบริหารธุรกิจ ม.โยนก

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.52 คณะบริหารฯ ดำเนินการตามแผนการจัดการความรู้ เห็นในขั้นตอนที่ 1 “การบ่งชี้ความรู้” เป็นที่ประจักษ์ คือ การระบุประเด็นความรู้ รูปแบบ และผู้รู้ที่สอดรับกับนโยบาย ขอบเขตและเป้าหมายขององค์กร โดยกำหนดเรื่องของ KM ว่า “การบริหารจัดการยุคใหม่” ตามนโยบายของท่านอธิการที่จะมี KM คณะละเรื่อง ซึ่งคณะบริหาร มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจ มีความชำนาญ และผู้ที่ชำนาญในเรื่องที่กำหนดขึ้นก็มีอยู่หลายท่าน ก็ต้องเอาใจช่วยใน 2 เรื่อง คือ 1)กำหนดเป้าหมายที่จะวัดให้ชัดเจน (Desired State) 2)หน่วยที่วัดผลได้เป็นรูปธรรม เพราะการวัดผลสมัยนี้เป็นไปในแนวนี้ทั้งสิ้น ก็เอาใจช่วยและหวังจะเห็นคณะบริหารฯ เป็น good practice ขององค์กร เนื่องจากเริ่มต้นอย่างมีกระบวนการและเรื่องที่ชัดเจน ผ่านบทบาทของ อาจารย์บอย และ อาจารย์นิยม ในระดับคณะเป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัย
     จากการชวน อ.บอย แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง แผนการจัดการความรู้ ซึ่งมี 7 ขั้นตอน ตามแนว กพร. และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ที่ได้จัดทำคู่มืออบรมไว้โดยละเอียด พบว่า การดำเนินการตามแผนที่ได้รับการยอมรับในแวดวงประกันคุณภาพ น่าจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ซึ่งผมมอบแผน KM ที่ อาจารย์อติชาต หาญชาญชัย ท่านเขียนใช้ในคณะวิทย์ฯ ให้แก่อาจารย์บอยได้ศึกษาประยุกต์ ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยใช้แนวนี้ก็ได้
+ http://www.thaiall.com/km/indexo.html
+ http://www.yonok.ac.th/business/showword.php
+ http://www.thaiall.com/km/handbook_2549.doc

ระบบและกลไก ประเมินระบบฐานข้อมูล 3 ด้าน

14 พ.ย.52 คำว่าระบบในความหมายด้านการประกันคุณภาพ ได้รับคำอธิบายอย่างมุ่งมั่นตั้งใจอยู่บ่อยครั้งจาก อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ ผอ.สำนักประกันคุณภาพ พบว่ามีตัวบ่งชี้หนึ่งที่ต้องมีการประเมินอย่างน้อย 3 ด้าน ผมจึงใช้ความรู้ที่ได้มาจากท่าน มายกร่างระบบสำหรับงานนี้ ซึ่งมีอยู่ 9 ข้อ และมี กลไกแรก คือคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูล กลไกที่สอง คือตัวแทนอาจารย์คณะวิทย์ฯ ได้แก่ อ.วิเชพ ใจบุญ อ.เกศริน  อินเพลา อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น มาเป็นผู้เชี่ยวชาญ กลไกที่สาม คือผู้พัฒนาได้แก่ นายอนุชิต ยอดใจยา และนายธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ และ กระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการ มีอีก 4 ขั้นตอน คือ 1)หนังสือขอตัวแทนจากหน่วยงาน 2)ทบทวนรายชื่อคณะกรรมการ 3)ขออนุมัติท่านอธิการ 4)ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการ
     ระบบการประเมินฯ มีขั้นตอนดังนี้ 1)ขออนุมัติโครงการ “ประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล และความพึงพอใจของผู้ใช้ฐานข้อมูล2)มีกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มาจากเกี่ยว ข้องทุกด้าน 3)ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยโยนก 4)แจ้งให้กับเจ้าของระบบฐานข้อมูลทราบและเตรียมรับการประเมินใน ๓ ด้าน 5)ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อพิจารณาแบบประเมิน และกำหนดสายการประเมิน 6)ดำเนินการประเมินทั้ง ๓ ด้าน 7)รายงานผลการประเมินต่อเจ้าของระบบฐานข้อมูลและเปิดให้มีการส่งหลักฐานเพิ่มเติม 8)ประชุมพิจารณาผลการประเมินโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมและเจ้าของระบบฐานข้อมูล เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาต่อไป 9)จัดทำรายงานสรุปผล ซึ่งระบบฯนี้ได้ส่งให้เจ้าของระบบฐานข้อมูลทราบตามขั้นตอนที่ 4 แล้ว ส่วนคณะกรรมการจะทำงานหลังประกาศฯ ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ .. บางขั้นตอนยังไม่เรียบร้อย แต่งานต้องเดินต่อไป

วันวุ่นกับการยกร่างโครงการ

6 พ.ย.52 วันนี้ตั้งใจว่าจะเขียนชื่นชมเพื่อนร่วมงานหลายท่าน แทนการขอบคุณ สรุปว่างเขียนของอาจารย์อ้อมได้ท่านเดียว จากกลุ่มอาจารย์ที่ร่วมจัดกิจกรรมถวายผ้าจำนำพรรษาเชิงบูรณาการจนสำเร็จลุล่วง เนื่องจากติดภารกิจที่ อาจารย์วิเชพ ใจบุญ มอบหมายให้ยกร่างโครงการตามชื่อโครงการ และงบ ที่คณะกำหนดในแผนพัฒนาคุณภาพฯ แต่ก่อนสิ้นวันก็ดีใจที่ได้จัดทำหนังสือออก ถึง นายกอบต.ทุ่งกว๋าว สำเร็จ เพื่อขอไปให้บริการวิชาการ 2 โครงการ ในวันพฤหัสหน้า ตามที่ประสานงานกันไว้ สรุปว่าวันนี้ยกร่าง หรือปรับแก้โครงการไป 17 โครงการ ประกอบด้วย 1)โครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ 3 ด้าน 2)โครงการส่งเสริมพัฒนาการจัดกิจกรรมนักศึกษาแบบบูรณาการ 3)โครงการสนับสนุนการเป็นกรรมการวิชาการและวิชาชีพนอกสถาบัน 4)โครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาความรู้และทักษะวิชาชีพทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ 5)โครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในระดับชาติและระดับนานาชาติ 6)โครงการส่งเสริมนักศึกษาด้านวิชาการ วิชาชีพ คุณธรรมระดับชาติ 7)โครงการเชื่อมโยงงานบริการวิชาการกับการเรียนการสอน 8)โครงการการรวบรวมข้อมูลการใช้ทรัพยากรภายใน และภายนอกไว้เป็นฐานข้อมูล 9)โครงการการส่งเสริมและจัดทำฐานข้อมูลสื่ออิเล็กทรอนิคประกอบการเรียนการสอนบนระบบ e-Learning 10)โครงการประชุมทางวิชาการระดับชาติด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ 11)โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพว่าที่บัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 12)โครงการประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล และความพึงพอใจของผู้ใช้ฐานข้อมูล 13)โครงการถวายผ้าจำนำพรรษา 14)โครงการอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย 15)โครงการความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 16)โครงการวิจัยแนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 17)โครงการวิจัยพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ปี 2551 ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่ยกร่างใหม่ มีกว่าครึ่งที่มีโครงการอยู่แล้ว และนำมาปรับแก้ .. ก็ทั้งวันครับสำหรับการปรับและยกร่างโครงการ