15 ต.ค.52 วันนี้ได้ร่วมเวที “ฮู้แฮง แป๋งฮ่อม ต้อมกำกึ๊ด เครือข่ายสถาบันการศึกษากับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ณ ห้องประชุมบัวตอง มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มีผมกับอ.กฤตภาส เสมอพิทักษ์ เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุน ร่วมเสวนาจากทั้งหมด 16 คนบนเวที โดยผู้ร่วมเวทีมีเป้าหมายมาจากมหาวิทยาลัยที่มีรับทุนในลำปาง 4 สถาบันเป็นหลัก ได้แก่ 1)มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง 2)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง 3)มหาวิทยาลัยโยนก 4)มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ห้องเรียนวัดบุญวาทย์วิหาร โดยแบ่งกลุ่มการเสวนาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1)การเรียนรู้ตลอดชีวิต/การศึกษานอกระบบ 2)การศึกษาระดับประถม/มัธยมศึกษา 3)การศึกษาระดับอุดมศึกษา-cbr-cbpus 4)การศึกษาระดับอุดมศึกษา-cbmag
เวทีนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ ได้แก่ 1)เพื่อนำเสนอความเชื่อมโยงขององค์ความรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ถูกนำไปใช้ในด้านการศึกษาและรูปธรรมที่เกิดขึ้น 2)เพื่อกำหนดแนวทางในการทำงานร่วมกับเครือข่ายการศึกษาในอนาคต
กิจกรรมภาคเช้า คุณภัทรา มาน้อย ชวนนักวิจัย 16 คนบนเวทีได้เล่าถึงกลไก บทเรียนและการนำไปใช้ในด้านการศึกษา แล้วผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่านออกมาให้ข้อเสนอแนะถึงการพัฒนาชุมชนในยุทธศาสตร์การศึกษาท่านสุดท้ายคือ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ พักกลางวันพบว่ามีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยรวมทั้งหมดกว่า 6 ท่าน และนักศึกษาคณะวิทย์ที่รับทุน cbpus คือ กร กับปราง ภาคบ่าย คุณกฤษฎา เขียวสนุก(บอย-ศิษย์เก่า) เล่าภาพความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นในเวทีช่วงเช้า ต่อจากนั้นก็มีการเปิดเวที โดยอาจารย์จากโยนกหลายท่านเข้าร่วมแลกเปลี่ยนซึ่งนำโดย อ.ศิรดา ชัยบุตร และอ.วิเชพ ใจบุญ ประเด็นเสวนาที่ชัด คือ 1)มหาวิทยาลัยลำปาง 2)co-fund, co-working 3)training 4)วารสารวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่แนวว่าจะได้รับงบจากคลังสมอง 5)โค้ช coach ตีพิมพ์งานวิจัยระดับชาติ
Category: การทำงานและอาชีพ
รวมเรื่องเล่าจากการทำงาน
ร่าง นโยบายด้านระบบฐานข้อมูล
14 ต.ค.52 ประชุมทำความเข้าใจ การประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ สกอ. ได้รับมอบหมายจาก ผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ อธิการบดีและวิทยากร ให้เขียนสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ยกร่างนโยบายด้านระบบฐานข้อมูล จึงสืบค้นข้อมูลจากหลายองค์กร และอ้างอิงจากคู่มือประกันคุณภาพ เป็นแนวในการเขียน แต่ก็ยังต้องตรวจสอบร่วมกับทีมงานคือ คุณอนุชิต คุณธรณินทร์ และคุณอรรถชัย ว่าที่ยกร่างมานี้จะผ่านความเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ โดยมีข้อความดังนี้
มหาวิทยาลัยโยนกมีนโยบายด้านระบบฐานข้อมูล คือ ให้บริการสารสนเทศแก่บุคลากร นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ และให้บริการสารสนเทศด้านการบริหารจัดการ การเรียนการสอน และการวิจัย ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย โดยผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจต่อการใช้งานสารสนเทศที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งกำหนดให้มีระบบฐานข้อมูล ดังนี้
1. ระบบฐานข้อมูลงานวิจัย (4.1.2)
2. ระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหาร (7.5)
3. ระบบฐานข้อมูลเพื่อการเรียนการสอน (7.5)
4. ระบบฐานข้อมูลทางการเงิน (8.1.3)
5. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากร (8.2)
6. ระบบฐานข้อมูลการประกันคุณภาพ (9.1.6)
แหล่งอ้างอิง
+ http://it.yonok.ac.th/doc/oit/center_policy.doc
+ http://www.tisi.go.th/thai/qms_policy.html
+ http://www.unionpioneer.co.th/code/profile_t3.html
+ http://www.chaiyaboon.com/TH/Tservice.html
+ http://www.human.nu.ac.th/nweb/about/plan.php
+ http://www.bjclogistics.co.th/th/company_quality.php
+ http://sot.swu.ac.th/CP342/Lesson12/cs1t1.htm
+ http://www.yonok.ac.th/sar/
เปิดโครงการวิจัยนักศึกษาที่บ้านไหล่หินในพื้นที่ครั้งแรก
2 – 4 ต.ค.52 นายกร กับน.ส.มะปราง พร้อมเพื่อนคือนายอั๋น และนายบอย เข้าเปิดตัวโครงการวิจัยที่รับทุน CBPUS เวลา 20.00น – 23.00น. ของศุกร์ที่ 2 ในเวทีนี้ที่มีโครงการวิจัยเชื่อมโยงกัน 3 โครงการ ซึ่งคืนแรกนอนกันที่วัดโดยพระครูดูแลพาสวดมนต์ค่ำ คืนนั้นก็พอถูไถไปได้อยู่ แต่คืนที่สอง ต้องไปนอนบ้านอ.เก๋ แล้วกรบอกว่ากลัวผีเข้าวัดได้ เนื่องจากดูภาพยนต์เรื่องทางห้าแพร่งมาก่อน อ.เก๋ ถึงกับอ้าปากค้าง (เล่าขวัญลูกศิษย์) ตะลึงว่าสมัยนี้ยังมีภาพยนต์หลอกเด็กจนเด็กเชื่อแบบนี้อยู่อีกหรือ ก็เป็นการเข้าพื้นที่ครั้งแรก ต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบกันก่อน ครั้งต่อไปก่อนปิดโครงการจะเกลี้ยกล่อมให้นอนวัดให้ได้ ไม่งั้นเสียชาติเกิดเป็นคนไอทีหมด วันรุ่งขึ้นและวันถัดไปเข้าสัมภาษณ์และบันทึกวีดีโอจากนักวิจัยชุมชนกว่า 10 ท่าน ได้พบผู้นำ นักเรียน และครูใหญ่ มีเรื่องเล่ากันมากมาย แต่ที่แน่ ๆ คือนอนตื่น 10 โมงเช้า เพราะอ.เก๋ ชวนเคลียร์ประเด็นเกือบตีสามทั้ง 2 คืน และคุยกันอีกยาวหลายต่อหลายรอบ
ประเด็นการประชุมมี 3 โครงการ คือ สรุปปิดโครงการของผม มี 11 วาระดังนี้ 1)นำเสนอบทสรุปของโครงการด้วยกิจกรรมชวนทุกคนร่วมทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการขยายผลทั้งองค์ความรู้ผ่านสื่อวีดีทัศน์ในรูปของโครงการวิจัยต่อยอด และความร่วมมือกับกลุ่มในชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชน โดยกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นคือการชวนทีมวิจัยเล่าเรื่องซึ่งมีประเด็นหลักดังนี้ 1)การเริ่มต้นของโครงการ 2)การได้มาของประเด็นปัญหา 3)นำเสนอปัญหาในฐานะแม่บ้าน 4)การรวมตัวของทีมต่างบทบาท 5)อุปสรรคในระยะแรก 6)การเข้ามาของเครื่องมือช่วยคลายปมปัญหา 7)ส่วนร่วมของนักเรียน 8)ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่สัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน 9)พลังของทีมวิจัยร่วม 10)ผลของการศึกษาดูงาน 11)ความประทับใจของนักวิจัย 2)นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม ในนามนักศึกษาทุนวิจัย CBPUS นำเสนอโครงการวิจัย “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” เพื่อต่อยอดขยายผลโครงการนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพในบ้านไหล่หิน 2)เพื่อจัดทำสื่อวีดีโอเผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นตามโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน 3)พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ อิสฺสรธมฺโม ในนามประธานชมรมธรรมะสว่างใจ นำเสนอ “โครงการขยายแนวร่วม ร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน บ้านไหล่หิน จ.ลำปาง” ที่ต้องอาศัยการรวมกลุ่มของทีมวิจัยที่เข้มแข็งมาเป็นกลไกขับเคลื่อนอีกแรกหนึ่ง แล้วอธิบายวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้ 1)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินมีคุณธรรมสามารถ ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด และอบายมุข 2)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินได้พัฒนาไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” 3)เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านไหล่หินมีครอบครัวอบอุ่น มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม
ก่อนกลับนักศึกษาได้ไปลาพระครู ท่านก็ให้พร และชวนไปทำวีดีโอโครงการของท่าน ซึ่งจะมีเครือข่ายสานสัมพันธ์กับผู้นำทั้งในและนอกพื้นที่ สื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเหล่าศิษย์ที่ท่านจะชวนไปรู้จักและไปเป็นเครือข่าย .. ผมยังนึกในใจว่าอยากกลับเป็นเด็กอีกครั้งจะได้มีโอกาสวิ่งเข้ามาชนแบบนี้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องลุ่นว่าศิษย์ของผมเห็นโอกาสเหล่านั้นอยู่ในทางเลือกของพวกเขาหรือไม่ ดังคำว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง .. คืนวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2552 ลูกศิษย์หลายคนจะไปเดินจงกลมรอบเจดีย์วัดไหล่หินลุ่ม และปีนดอยฮางศึกษาธรรมชาติ ศิษย์โยนกท่านใดสนใจติดต่อผมได้ แต่มีเงื่อนไขไม่รับคนกลัวผี
น.ศ.เข้าเรียนรู้กิจกรรมงานศพในชุมชน
10-11 ต.ค.52 นักศึกษาโครงการ PDG52N0013 คือ นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม เข้าพื้นที่บ้านไหล่หินครั้งที่ 2 เพื่อ 1)สัมภาษณ์ อ.สุวรรณ เกษณา อ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ และพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ เพิ่มเติมจากการเข้าพื ้นที่ครั้งแรก 2)เรียนรู้กระบวนการจัดการงานศพ 2 งานด้วยการเดินสำรวจ เก็บภาพ และร่วมกิจกรรมจูงศพในวันดา และวันเผา เพราะมีงานศพที่เผาวันเสาร์ และวันอาทิตย์วันละศพ โดยทั้ง 2 งานมีลักษณะแตกต่างกันเกี่ยวกับบทบาทของเจ้าภาพในชุมชน และมีประเด็นที่ทำให้ต้องพูดคุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยช่วงเวลาที่ให้ความสำคัญคือช่วงเวลาของมนุษย์ยุคปัจจุบัน 3)พานักศึกษาไปเรียนรู้วัฒนธรรมบนดอยฮาง เพราะประเมินสมรรถภาพแล้วน่าจะไหว เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติ และความงดงามของศาสนา ได้พบกับถ้ำกลางดอย และสักการะเจดีย์ดอยฮางที่ยอดดอย
แม้ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่พักในพื้นที่วิจัย แต่น.ศ.ก็ยังไม่สามารถค้างคืนที่วัดด้วยความสมัครใจ คาดว่าครั้งที่ 3 จะปรับตัวกันได้ มีแผนย้ายจากการพักบ้านอ.บุรินทร์ เป็นพักที่วัด การเข้าพื้นที่ครั้งต่อไปนอกจากจะเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมเสริมการยกร่าง story board แล้ว ยังกำหนดให้นักศึกษาตัดต่อวีดีโอลง VCD ชุดแรกให้เสร็จโดยใช้ข้อมูลวีดีโอของคนในชุมชนที่บันทึกไปนับสิบท่าน และเข้ามาทำความคุ้นเคยกับชุมชนด้วยการร่วมกิจกรรมกับวัดไหล่หินลุ่ม คือ เดินเวียนเทียนในวันศีล เพราะต่อไปต้องร่วมโครงการวิจัยกับพระครูฯ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานครั้งนี้ที่มีเครือข่ายร่วมกับชุมชน
อบรมการเขียนวิจัยภาษาอังกฤษ
6 ต.ค.52 เข้าอบรมการเขียนงานวิจัยภาษาอังกฤษ จัดโดยคณะสังคมฯ ซึ่งวิทยากรรับเชิญเป็นกลุ่มอาจารย์สอนปริญญาโทจากมหาวิทยลัยพายัพ แม้วันนี้เป็นวันที่สอง ก็มีคนแน่นห้องเหมือนเดิม บุคลากรภายใน 29 คน บุคคลภายนอกอีกพอกัน เนื้อหาบรรยายของวิทยากรแต่ละท่านมีดังนี้ 1)Sudha Subramanian เปิดด้วยการชวนแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิจัย อาจารย์หลายท่านร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งของโยนก และอาจารย์จากบุรีรัมย์ ฟังแล้วทึ่งในประสบการณ์ของหลายท่าน สำหรับหัวข้อประกอบด้วย Where do i start? และ How do i start? และ Three P’s : Probe ค้นหา, Passion ความชอบ , Persistence ความเพียร 2)Philip Keay, M.A., Dip,ELT สอนเขียนบทความแบบ Free writing โดยหัวข้อใหญ่คือ The process of writing มี 5 ขั้นตอนคือ 2.1)generating idea 2.2)planning 2.3)writing 2.4)revising 2.5) editing 3)Pearl Wattanakul, Ph.D. Department Head ท่านดู Active มาก สอนเรื่องการเขียนงานวิจัย ซึ่งมี Powerpoint นำเสนอวิธีการ 37 slides สำหรับหัวข้อที่สำคัญ อาทิ Process of Research, Research Proposal Structure, Classification of Research by Purpose, Classification of Research by Method 4)David Richards, M.Phil. เป็นท่านสุดท้าย แต่ผมติดภารกิจ จึงไม่อาจนำรายละเอียดมาเล่าให้ฟังได้ เสียดายมากครับ
สำหรับการเรียนกับ Philip Keay ท่านให้ทำงานเขียนบทความแบบ free writing ในห้องอบรม แล้ว อ.นาดีน ช่วย prove เรื่อง gramma ซึ่งมีผลงานดังนี้
Nowadays, globalization is the life style of everybody. It is a new generation of life. Digital computer can use data in type of 0 and 1 and it can be applied to images, sounds, animation and movies. We have tried to make artificial intelligence which looks like humans. All computers go into one network among wire and wireless technology. Everybody has an email account on the internet and communicate on social networking sites. If i mention the twitter website, it would represent individuals of today.
+ http://www.thaiall.com/ppt/research_proposal_drpearl.ppt
+ http://www.facebook.com/family/Subramanian
+ http://tesol.payap.org/Faculty.html
หนทางการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์
13 ก.ย.52 งานสัมมนาวิชาการ National e-Learning Day 2009 : A Roadmap to Success in Becoming (World Class) Cyber Universities “หนทางสู่ความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์” วันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2552 จัดโดย สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ITSC) โดยมี Prof.Dr.Zoraini Wati Abas, Director, Institute of Quality, Research and Innovation (IQRI), Open University Malaysia, Kuala Lumpur, Malaysia. เป็น Key Note บรรยายผ่านโปรแกรม Skype ชั่วโมงครึ่ง
กิจกรรมสำคัญ คือ การเสวนาวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศถึง 5 ท่าน ได้แก่ 1)ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการและประธานผู้บริหาร วิทยาลัยการศึกษาทางไกล อินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 2)ผศ.สุพรรณี สมบุณธรรม ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 3)รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่าย RSU Cyber University มหาวิทยาลัยรังสิต 4)ผศ.ดร.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5)ผศ.ดร.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี 6)รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
จากงานประชุมวิชาการ “หนทางสู่ความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์” ณ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2552 มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนาหลายท่าน อาทิ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเสนอประสบการณ์การเปิดหลักสูตรออนไลน์ที่เห็นพ้องต้องกันกับ ผศ.สุพรรณี สมบุญธรรม ผอ.โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (thaicyberu.go.th) ว่า การเปิดหลักสูตรออนไลน์ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ และแนวโน้มของหลักสูตรที่มีค่าลงทะเบียนต่ำมักมีอัตราการพ้นสภาพของนักศึกษาสูง แล้วหลักสูตรประเภท “เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่” มักไม่ยั่งยืน
การบรรยายผ่านโปรแกรม Skype โดย Prof.Dr.Zoraini Wati Abas จากมหาวิทยาลัยเปิดมาเลเซีย (OUM = Open University Malaysia) ท่านนำเสนอเครื่องมือสนับสนุนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า การเรียนรู้ผสม (Blended Learning) ซึ่งรวมการเรียนแบบพบปะหรือเข้ากลุ่ม (Face-to-Face) การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ (Online Learning) และการเรียนแบบจัดการด้วยตนเอง (Self-Manage Learning) ซึ่งเครื่องมือที่ใช้เสริมการเรียนมีทั้งการส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เรียน การจัดทำบทเรียนที่เปิดเรียนได้จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ การใช้สื่อผสม และสถานีวิทยุออนไลน์ โครงการของท่านเริ่มต้นเดือนมกราคม 2552 พบว่าอัตราการพ้นสภาพสูงถึง 25% ต่อภาคเรียน จากการคาดการณ์พบว่าจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาของหลักสูตรน่าจะประมาณ 20% เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยมีหลายหลักสูตรที่เปิดสอนหลังจาก กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2548 อนุญาตให้สถาบันการศึกษาในไทยสามารถเปิดสอนแบบอีเลิร์นนิ่งได้ ซึ่งวิทยากรทุกท่านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณภาพเทียบเท่าหรืออาจสูงกว่าการเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติ
มีการคาดการณ์ว่าในอนาคต มูลค่าของการเรียนการสอนออนไลน์จะเทียบเท่ากับภาคปกติ และจะมีมูลค่านำธุรกิจประเภทอื่นทั้งอีคอมเมิร์ส และอีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มีสิ่งสนับสนุนไปในทางเช่นนั้นทั้งจากการมีเครื่องมือสนับสนุนในอินเทอร์เน็ตมากมายอาทิ เครือข่ายสังคม ชีวิตที่สอง (เช่น SecondLife.com) ระบบรับส่งข้อความ และการยอมรับผู้สำเร็จการศึกษาผ่านระบบอีเลินนิ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
แหล่งอ้างอิง
+ http://itsc.cmu.ac.th
+ http://www.itsc.cmu.ac.th/itsc2008/nelearningday/index.php
+ http://www.charm.au.edu/SCPaper/SCPaper.htm
โครงการค่ายเรียนรู้คุณธรรมนำชีวิตพอเพียง 2552
7 ก.ย.52 วันนี้ 18.00 -20.00 น. ณ ห้อง 1203 และวันเสาร์ที่หมู่บ้าน ตัวแทนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วม โครงการค่ายเรียนรู้คุณธรรมนำชีวิตพอเพียง ปี 2552 โดยบูรณาการร่วมกับ โครงการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขตามแนวทางของมหาวิทยาลัยโยนก (จากมติของคณะกรรมการโครงการฯ มีผลให้ตัดสินใจเลือกหมู่บ้านท่ากลาง-ท่าใต้ ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่เป้าหมาย ตามรายงานการประชุมการลงพื้นที่หมู่บ้านโครงการพัฒนาหมู่บ้านฯ ครั้งที่ 3/2552)
ตามที่ได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์นิเทศกรอบการเรียนรู้ที่ 1 คือ วัฒนธรรมหรือแบบแผนการใช้ชีวิต จากทั้งหมด 7 กรอบได้แก่ 1)วัฒนธรรมหรือแบบแผนการใช้ชีวิต 2)เศรษฐกิจชุมชนอย่างพึ่งตนเอง 3)การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชน 4)วิถีประชาธิปไตยในชุมชน 5)การสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน 6)การสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชน 7)ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน ก็ด้วยการแนะนำ ควบคุมดูแลกิจกรรมอย่างเป็นระบบ โดย อ.ธวัชชัย แสนชมพู และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน ทำให้ผมมีโอกาสทำงานนี้ และลงพื้นที่ในวันและเวลาดังกล่าว
การให้คำแนะนำนักศึกษา มีโอกาสใช้หลักการจากเวทีฯ ที่ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ จัดเวทีให้มีการวิพากษ์รายงานการประเมินตนเองระดับมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 1-2 ก.ย.52 โดยมีผู้นำวิพากษ์คือ ผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ ซึ่งท่านแสดงทัศนะด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานบนความเข้าใจ ใช้หลักการวิพากษ์ที่ตั้งบนความสมเหตุสมผล ตามหลักฐาน ถูกต้องตามหลักวิชา และชี้แจงให้เห็นประเด็นได้อย่างกระจ่างชัดยิ่ง ผมจึงนำหลักการวิพากษ์ไปใช้กับนักศึกษาโครงการดังกล่าว .. เป็นครั้งแรกของผม
อุปสรรคของการพัฒนาคณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
3 ก.ย.52 นางขนิษฐา ทรงจักรแก้ว ส่งแบบสอบถามชุดที่ 1 เรื่อง แนวความคิดต่อสาเหตุที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนา คณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ท่านเป็นนิสิตดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอุดมศึกษา ภาควิชา นโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแบบสอบถามชุดนี้ถามถึง แนวคิด ทัศนะ หรือมโนทัศน์เกี่ยวกับ สาเหตุที่เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคณาจารย์ ที่เกิดจากตัวอาจารย์ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ผมก็ให้ทัศนะตามคำถามนำเรื่องอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคณาจารย์ ไปว่า 1)ค่านิยมที่ไม่มีความทะเยอทะยานของมนุษย์ในการไม่วางแผน บั้นปลายของชีวิตให้ชัดเจน ยังกิน ยังดื่ม ยังเสพ อย่างไม่สมเหตุ สมผล 2)ค่านิยมที่ต้องการสิ่งจูงใจสูงมากกว่าการกระทำ ด้วยพื้นฐานของ กิเลสที่เรียกว่าความโลภ และความไม่รู้จักพอประมาณ ทำให้มนุษย์ มองประโยชน์ส่วนตนมาก่อนประโยชน์ส่วนรวม 3)ค่านิยมขาดอุดมการณ์ในสายอาชีพ หรือขาดศรัทธาในการทำดีตามสายอาชีพอย่างมุ่งมั่น 4)สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องหาเลี้ยงตนเอง ไม่มีเงินอุดหนุนรายหัว จึงต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ตามแผน และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 5)สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลตามบริบทของการเป็นเอกชน
เอกสารแนบของท่านให้คำนิยามศัพท์มา 6 คำ คือ 1)การพัฒนาคณาจารย์ หมายถึง การดำเนินการหรือการสนับสนุน ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในด้านการกำหนดเป้าหมาย แผนงาน นโยบาย ระบบและกลไกการบริหารจัดการ การบริหารทรัพยากร บุคคล การพัฒนาสภาพแวดล้อมอุดมศึกษา หรือกิจกรรมใด ๆ ทั้งที่ เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่จะเอื้ออำนวยหรือสร้างเสริมให้ คณาจารย์มีการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิด ค่านิยม พฤติกรรม ใน การพัฒนาศักยภาพตนเอง การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาผลผลิตบัณฑิต การพัฒนาผลผลิตงานวิจัย และการพัฒนาผลผลิตงานวิชาการ ให้ไปสู่ความมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศในระบบการประกันคุณภาพทางการศึกษา 2)การพัฒนาศักยภาพตนเองของคณาจารย์ หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบัน ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์มีความประสงค์ และมุ่งหน้าดำเนินการศึกษาต่อในระดับคุณวุฒิที่สูงขึ้น รวมทั้งการสร้างผลงานทางวิชาการที่สามารถทำให้คณาจารย์ได้รับตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นเป็นลำดับ 3)การพัฒนาการเรียนการสอน หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจของผู้เรียน โดยใช้เทคนิคการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และอุปกรณ์การสอนหลากหลายมีการประเมินผลการเรียนการสอนตามสภาพจริง และใช้ผลการประเมินในการพัฒนาผู้เรียน 4)การพัฒนาผลผลิตบัณฑิต หมายถึง ผลการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีทักษะและภูมิปัญญาในงานอาชีพ มีจิตสำนึก และภูมิธรรมในฐานะพลเมืองดีของสังคมไทย และสังคมโลก 5)การพัฒนาผลงานวิจัย หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตงาน วิจัย และงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสูง ได้รับทุนวิจัย สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ หรือนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ 6)การพัฒนาผลงานบริการวิชาการ หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตงานบริการวิชาการและวิชาชีพที่เป็นประโยชน์เป็นที่พึ่งและเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการและวิชาชีพ เสริมสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งของสังคม ชุมชน ประเทศชาติ และนานาชาติ
+ เป็นเรื่องดี ๆ ที่ผ่านมาในชีวิต จึงบันทึกไว้ครับ
การแข่งขันสารานุกรมไทย
31 ส.ค.52 เพื่อนในมหาวิทยาลัย ร่วมจัดสอบ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับ เยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ สโมสรไลออนส์สากล ภาค 310-เอ 1 ประเทศไทย ดำเนินการร่วม กับหลายหน่วยงาน เป็นการจัดให้มีการแข่งขันตอบคำถาม ในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 15 กลุ่มภาคเหนือ ลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร มีคำถาม 100 ข้อ ให้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ในวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2552 โดยมีหัวเรือใหญ่ของโครงการ คือ ไลออนเบญจมาศ พาณิชพันธ์ ประธานการแข่งขันสารานุกรมไทยฯ ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร
เพื่อน ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานและควบคุมเวลาการแข่ง ขัน ประกอบด้วย อ.ใหญ่ อ.แหม่ม อ.แนน อ.กิ๊ก อ.สันติ อ.บอย อ.โก อ.เอก อ.วราภรณ์(แนน) อ.อ้อม และ อ.วันชาติ
+ kanchanapisek.or.th
ประเมินคุณภาพ กับระบบและกลไก
28 ส.ค.52 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับการประเมินคุณภาพการศึกษา การดำเนินงานในปีการศึกษา 2551 เมื่อวัน 19 และ 20 สิงหาคม 2552 กรรมการประเมินนำโดย รศ.ปราโมทย์ ทิพย์ดวงตา อ.คนึงสุข นันทชมภู และ คุณอังคณา เนตรรัศมี มีข้อเสนอแนะมากมาย โดยเฉพาะเรื่องระบบและกลไก ที่กรรมการให้ข้อเสนอแนะว่าต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องมีแผน ความหมายของ ระบบ คือ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการ ส่วนกลไก คือ สิ่งที่ทำให้ระบบมีการขับเคลื่อน หรือดำเนินอยู่ได้ โดยมีการจัดสรรทรัพยากร มีการจัดองค์กร หน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลให้เป็นผู้ดำเนินงาน สรุปผลการประเมินในปีนี้ต่างกับปี 2551 ที่เกิดการจัดกการความรู้ในการนำเสนอผลการประเมินอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีท่านอธิการเป็นประธานรับฟังผลการประเมินร่วมกับคณะ และมีหลายคณะวิชาเข้าร่วมรับฟัง เพื่อให้เกิดบทเรียนในการทำงาน และนำไปสู่การพัฒนาเป็นลำดับต่อไป
ขอเล่าประสบการณ์ ก่อนรับการประเมิน เรื่องระบบและกลไก ที่ผมมีโอกาสประชุมกับทีมพัฒนาหลักสูตร เมื่อวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2552 เป็นหลักสูตรร่วมของโยนกกับ Kington Business School, Pattaya โดยตัวแทนของ KBS คือ ดร.นิมิตร ใคร้วานิช ก่อนการประชุม ผมได้รับมอบหมายให้เขียน ระบบการลงทะเบียนออนไลน์ โดยมีโจทย์ว่า “นักเรียนต้องผ่าน KBS เรียบร้อยแล้ว จึงจะลงทะเบียนออนไลน์ได้” แม้จะขัดกับความรู้สึกและทฤษฏี แต่ผมก็ยกร่างระบบหรือกระบวนการไว้ดังนี้ 1)นักเรียนสมัครเรียนกับ KBS แล้วได้เอกสาร ข้อมูลจนครบ 2)นักเรียนเปิดเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยโยนกแล้วกรอกข้อมูล 3)นักเรียนได้ข้อมูลจากเว็บไซต์ เกี่ยวกับวิชา ตารางเรียน ยอดเงิน วิธีการชำระเงิน และขั้นตอนอีกครั้ง 4)นักเรียนไปชำระเงิน อาจเป็นตู้เอทีเอ็ม หรือโอนเงินผ่านธนาคาร หรือวิธีอื่นใด 5)นำหลักฐานการโอนเงินมาส่งข้อมูลเข้าอินเทอร์เน็ตให้สถาบันรับทราบ 6)สถาบันส่งข้อมูลกลับไปให้นักเรียนทางอีเมล หรือนักเรียนกลับมาตรวจสอบสถานะอีกครั้ง 7)นักเรียนเข้าเรียนตามวิชาที่กำหนดในตารางเรียน
เมื่อมีการประชุมพิจารณายกร่างระบบดังกล่าว คุณเรณู อินทะวงศ์ ได้ชวนแลกเปลี่ยนว่า ในศูนย์ต่าง ๆ ของเราใช้ระบบ one stop service คือ มีระบบที่จบภายในศูนย์ สะดวก รวดเร็ว ควบคุมได้ ผ่านกลไกของผู้ดูแล และระบบเอกสารที่มีขั้นตอนชัดเจนตรวจสอบได้ ซึ่ง ดร.นิมิตร ก็เห็นด้วย และเลือกแบบ one stop service แทนการเพิ่มไอทีมาเป็นภาระแก่นักศึกษา เมื่อผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนและชำระเงินเรียบร้อยก็ส่งเอกสาร และโอนเงินเข้าสถาบัน เพื่อตรวจสอบตามระบบและกลไกที่มีในสำนักทะเบียน สำนักวิชาการ และสำนักการเงิน ในการดำเนินการ .. ต่อจากนี้ก็คาดว่า จะมีคนยกร่างระบบและกลไกที่เหมาะสมเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หากจะให้ผมช่วยยกร่างให้ก็ยินดี เพียงแต่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องกำหนดให้ผมว่าอะไรเป็นอะไรในรายละเอียดทั้งหมดเท่านั้นเอง