7 ก.ย.52 วันนี้ 18.00 -20.00 น. ณ ห้อง 1203 และวันเสาร์ที่หมู่บ้าน ตัวแทนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วม โครงการค่ายเรียนรู้คุณธรรมนำชีวิตพอเพียง ปี 2552 โดยบูรณาการร่วมกับ โครงการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขตามแนวทางของมหาวิทยาลัยโยนก (จากมติของคณะกรรมการโครงการฯ มีผลให้ตัดสินใจเลือกหมู่บ้านท่ากลาง-ท่าใต้ ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่เป้าหมาย ตามรายงานการประชุมการลงพื้นที่หมู่บ้านโครงการพัฒนาหมู่บ้านฯ ครั้งที่ 3/2552)
ตามที่ได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์นิเทศกรอบการเรียนรู้ที่ 1 คือ วัฒนธรรมหรือแบบแผนการใช้ชีวิต จากทั้งหมด 7 กรอบได้แก่ 1)วัฒนธรรมหรือแบบแผนการใช้ชีวิต 2)เศรษฐกิจชุมชนอย่างพึ่งตนเอง 3)การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชน 4)วิถีประชาธิปไตยในชุมชน 5)การสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน 6)การสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชน 7)ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน ก็ด้วยการแนะนำ ควบคุมดูแลกิจกรรมอย่างเป็นระบบ โดย อ.ธวัชชัย แสนชมพู และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน ทำให้ผมมีโอกาสทำงานนี้ และลงพื้นที่ในวันและเวลาดังกล่าว
การให้คำแนะนำนักศึกษา มีโอกาสใช้หลักการจากเวทีฯ ที่ อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ จัดเวทีให้มีการวิพากษ์รายงานการประเมินตนเองระดับมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 1-2 ก.ย.52 โดยมีผู้นำวิพากษ์คือ ผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ ซึ่งท่านแสดงทัศนะด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานบนความเข้าใจ ใช้หลักการวิพากษ์ที่ตั้งบนความสมเหตุสมผล ตามหลักฐาน ถูกต้องตามหลักวิชา และชี้แจงให้เห็นประเด็นได้อย่างกระจ่างชัดยิ่ง ผมจึงนำหลักการวิพากษ์ไปใช้กับนักศึกษาโครงการดังกล่าว .. เป็นครั้งแรกของผม
Category: งานวิจัย
วิจัย คือ การตั้งคำถาม แล้วดำเนินการ เพื่อหาคำตอบ หรือ กระบวนการคิด แล้วทำอย่างเป็นระบบ เพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่
อุปสรรคของการพัฒนาคณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
3 ก.ย.52 นางขนิษฐา ทรงจักรแก้ว ส่งแบบสอบถามชุดที่ 1 เรื่อง แนวความคิดต่อสาเหตุที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนา คณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ท่านเป็นนิสิตดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอุดมศึกษา ภาควิชา นโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแบบสอบถามชุดนี้ถามถึง แนวคิด ทัศนะ หรือมโนทัศน์เกี่ยวกับ สาเหตุที่เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคณาจารย์ ที่เกิดจากตัวอาจารย์ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ผมก็ให้ทัศนะตามคำถามนำเรื่องอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคณาจารย์ ไปว่า 1)ค่านิยมที่ไม่มีความทะเยอทะยานของมนุษย์ในการไม่วางแผน บั้นปลายของชีวิตให้ชัดเจน ยังกิน ยังดื่ม ยังเสพ อย่างไม่สมเหตุ สมผล 2)ค่านิยมที่ต้องการสิ่งจูงใจสูงมากกว่าการกระทำ ด้วยพื้นฐานของ กิเลสที่เรียกว่าความโลภ และความไม่รู้จักพอประมาณ ทำให้มนุษย์ มองประโยชน์ส่วนตนมาก่อนประโยชน์ส่วนรวม 3)ค่านิยมขาดอุดมการณ์ในสายอาชีพ หรือขาดศรัทธาในการทำดีตามสายอาชีพอย่างมุ่งมั่น 4)สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องหาเลี้ยงตนเอง ไม่มีเงินอุดหนุนรายหัว จึงต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ตามแผน และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 5)สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลตามบริบทของการเป็นเอกชน
เอกสารแนบของท่านให้คำนิยามศัพท์มา 6 คำ คือ 1)การพัฒนาคณาจารย์ หมายถึง การดำเนินการหรือการสนับสนุน ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในด้านการกำหนดเป้าหมาย แผนงาน นโยบาย ระบบและกลไกการบริหารจัดการ การบริหารทรัพยากร บุคคล การพัฒนาสภาพแวดล้อมอุดมศึกษา หรือกิจกรรมใด ๆ ทั้งที่ เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่จะเอื้ออำนวยหรือสร้างเสริมให้ คณาจารย์มีการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิด ค่านิยม พฤติกรรม ใน การพัฒนาศักยภาพตนเอง การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาผลผลิตบัณฑิต การพัฒนาผลผลิตงานวิจัย และการพัฒนาผลผลิตงานวิชาการ ให้ไปสู่ความมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศในระบบการประกันคุณภาพทางการศึกษา 2)การพัฒนาศักยภาพตนเองของคณาจารย์ หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบัน ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์มีความประสงค์ และมุ่งหน้าดำเนินการศึกษาต่อในระดับคุณวุฒิที่สูงขึ้น รวมทั้งการสร้างผลงานทางวิชาการที่สามารถทำให้คณาจารย์ได้รับตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นเป็นลำดับ 3)การพัฒนาการเรียนการสอน หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจของผู้เรียน โดยใช้เทคนิคการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และอุปกรณ์การสอนหลากหลายมีการประเมินผลการเรียนการสอนตามสภาพจริง และใช้ผลการประเมินในการพัฒนาผู้เรียน 4)การพัฒนาผลผลิตบัณฑิต หมายถึง ผลการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีทักษะและภูมิปัญญาในงานอาชีพ มีจิตสำนึก และภูมิธรรมในฐานะพลเมืองดีของสังคมไทย และสังคมโลก 5)การพัฒนาผลงานวิจัย หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตงาน วิจัย และงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสูง ได้รับทุนวิจัย สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ หรือนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ 6)การพัฒนาผลงานบริการวิชาการ หมายถึง ผลของการพัฒนาคณาจารย์ของสถาบันฯ ซึ่งส่งผลให้คณาจารย์พัฒนาความสามารถในการผลิตงานบริการวิชาการและวิชาชีพที่เป็นประโยชน์เป็นที่พึ่งและเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการและวิชาชีพ เสริมสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งของสังคม ชุมชน ประเทศชาติ และนานาชาติ
+ เป็นเรื่องดี ๆ ที่ผ่านมาในชีวิต จึงบันทึกไว้ครับ
นำเสนองานวิจัยในเวทีของ กศน.
ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโยนก นำเสนอโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ในงานการประชุมสัมนางานวิจัย “โครงการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปีงบประมาณ 2552” ณ โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ยิ่ง กีรติบูรณะ และ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ เป็นผู้วิพากษ์การนำเสนอโครงการวิจัย ระหว่าง 29-30 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา
ภาพ ผอ.อวิรุทธิ์ ภักดีสุวรรณ (มุมล่างซ้าย) จากจังหวัดมหาสารคาม ท่านเป็นผู้นำเสนอโครงการ “รูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข บ้านเหล่าน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม” ท่านกรุณาสลับกับผมถ่ายภาพในฐานะผู้นำเสนอ และผมได้รับความอนุเคราะห์แฟ้มรายงานโครงการจากท่าน มาเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการวางแผน และดำเนินการจัดทำโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขในลำปาง ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้คัดลอกให้กับผู้เกี่ยวข้องไป 4 ท่านแล้ว คือ อ.ชิน อ.วันชาติ อ.ศรีศุกร์ และอ.ออย เท่าที่ได้ฟังการนำเสนอก็พบว่า กศน.มีจุดแข็งในการทำหัวข้อนี้ชัดเจนจากการเข้าไปคลุกคลี และได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
อบรมการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง
18 มิ.ย.52 มีการจัดอบรมการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ครั้งที่ 1 / 2552 รอบที่ 1 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 มหาวิทยาลัยโยนก โดยมีเจ้าหน้าที่ อาจารย์ และหัวหน้าสำนักงาน เข้ารับการอบรม 13 ท่าน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 11.00 – 12.00น. ซึ่งเป็นไปแผนงานใน โครงการวิจัย “พัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองของหน่วยงาน”
หัวข้อบรรยายดังนี้ 1) แจกคู่มือ ลงชื่อเข้าอบรม และแจกรหัสผ่านใหม่ 2) ชี้แจงวัตถุประสงค์ และประเด็น 2.1) ปรับคำอธิบาย และเงื่อนไขในเกณฑ์ ตามที่คุณเพชรี สุวรรณเลิศ นำเสนอในที่ประชุมผู้บริหาร ที่ สกอ. แก้ไขมีเอกสารประกอบ 36 หน้า 2.2) เพิ่มการเลือกปี เพื่อตรวจข้อมูลย้อนหลัง 2.3) แสดงผลวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อน 2.4) แก้ไขรหัสผู้ใช้เป็นภาษาอังกฤษ 2.5) เพิ่มการเชื่อม CDS เข้าองค์ประกอบในส่วนตรวจเอกสาร 3) ทบทวนการใช้งานโปรแกรม 3.1) การนำเข้าข้อมูลพื้นฐานด้วย excel หรือแก้เป็นรายการ 3.2) การกรอกข้อมูลเป้าหมาย ผลดำเนินงาน และผลประเมิน การนำไปทำรายงาน 4 ส และการนำเสนอร่วมกับข้อมูลพื้นฐาน 3.3) ใส่รายการหลักฐานได้ทั้งแบบทำเอกสารจนแล้วเสร็จ หรือทำงานบูรณาการโดยใช้เว็บเก็บข้อมูลเพื่อเข้าไปจัดทำร่วมกัน 4) ประเมินการอบรม และอื่น ๆ ( http://www.yonok.ac.th/sar )
อบรมการวาดรูปเพื่อการสื่อสาร
30 พ.ค.52 ศูนย์ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ โดยคุณภัทรา มาน้อย (จิ๋ม) คุณรัตติกร บุญมี (จิ๊บ) และคุณอัญมณี แสงแก้ว (โบว์) ได้เชิญคุณกฤษดา เขียวสนุก (พี่บอย) มาเป็นวิทยากรที่ห้องประชุมของห้องสมุดเทศบาลนครลำปาง ในโครงการอบรมครั้งที่ 3 หัวข้อ การวาดเพื่อการสื่อสาร จากแผนงาน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 2) การเป็นวิทยากรกระบวนการ 3) การวาดเพื่อการสื่อสาร 4) การเขียน Social Mapping 5) การคิดแบบวิจัย มีตอนหนึ่งใน powerpoint เรื่อง วิธีเติมสารอาหารให้จินตนาการ มี 5 หัวข้อคือ 1) มองสภาพแวดล้อม 2) ขยับร่างกาย 3) ดูผลงานในปัจจุบัน 4) กล้าคิดแตกต่างอย่างท้าทาย 5) ช่างสังเกต
การอบรมครั้งนี้เน้นการวาดเพื่อการสื่อสาร มิใช่วาดเพื่อความสวยงามหลาย ๆ คนวาดได้สวยงามมาก แต่เป้าหมายของการวาดในงานวิจัย คือการนำเสนอให้ชุมชนได้เข้าใจในสิ่งที่นักวิจัยต้องการสื่อ แล้วจิ๋มก็ได้อธิบายว่า การวาดมี 2 แบบ หากแบ่งตามแผนการวาด คือ 1)แบบไม่มีแผน เพราะฟังคนในเวทีพูดแล้ววาดทันที 2) แบบมีแผน เพราะวางแผนไว้ในหัวแล้ววางโครงแบบเพื่อสื่อให้เห็นอย่างเป็นระบบ ช่วงเช้าวิทยากรจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม บรรยายทฤษฎีการวาดรู้ และการใช้จินตนาการ นำเสนอภาพจาก http://www.funpic.hu พอ 11.30 น. ก็สอนวาดภาพแสดงความรู้สึกของคน โดยใช้วงกลมกับเส้น 3 เส้นเป็นหลัก ช่วงบ่ายก็สอนวาดมุมของหน้า ตัวคน สถานที่ และการใช้ลูกศร บ่ายแก่หน่อยก็แบ่งกลุ่มให้วาดตามโครงการของตนเอง ทีมของผมมีลูกสาว 3 คน คือ รีม พีพี และมาหยา ช่วยลงสีในแผนภาพที่นำเสนอขั้นตอนในภาพรวมของโครงการวิจัยงานศพฯ
การวาดภาพครั้งนี้ ก็ต้องเลือกว่านำเสนอในกรอบใด ใช้ไดอะแกรมแบบใด และมีขอบเขตเพียงใด เพราะกรอบที่จะเขียนมีตัวเลือกในหัวของผมประกอบด้วย 1) ขั้นตอนในภาพรวม 2) ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนและบทบาทของคน 3) ประเด็นและบทบาทของคน 4) กระบวนการและบทบาทของคน 5) การพัฒนาสื่อและบทบาทของคน 6) วิเคราะห์ตาม Social Map 7) วิเคราะห์ตาม Mind Map
สรุปว่าภาพที่วาดออกมาแสดงถึงขั้นตอนในภาพรวม แบ่งตามช่วงเวลา ขอบเขตที่นำเสนอคือ บทบาทของกลุ่มคน สถานที่ในแบบตามลำดับ และสื่อที่ใช้ ส่วนลำดับในแผนภาพควบคุมการไหลแบบตามลำดับ (Sequence) เพราะสื่อให้เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพมุมกว้างไม่ละเอียดนัก แต่จำนวนประเด็นที่อยู่ในภาพมีมากเกินเวลาที่มีอยู่ การอธิบายให้เข้าใจสิ่งที่ต้องการนำเสนอจึงทำได้จำกัด เมื่อเทียบกับจำนวนกลุ่มที่ต้องออกมานำเสนอ ประกอบกับการอบรมครั้งนี้เป็นเพียงการฝึกวาดรูปเพื่อการสื่อสาร และวิทยากรก็บอกว่า “ได้เท่าใดเท่านั้น” ทำให้ผมไม่นำเสนอขั้นตอนการทำงานในระยะที่ 3 เพราะแค่ 2 ระยะที่เขียนไปก็คงต้องอธิบายกันยาวอยู่แล้ว
มีคุณหมอจากเมืองปานมาเป็นตัวแทนโครงการวิจัยน้ำดื่มฯ ของเมืองปาน ที่อ.อดิศักดิ์ เสมอพิทักษ์ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน เป็นทีมวิจัย เหตุที่ทั้ง 2 ท่านไม่ได้มาร่วมด้วยเพราะไปจัดงานมุทิตาจิตของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม ได้พบ รศ.ดร.บุญฑวรรณ วิงวอน ในงานกลางคืน แต่งานอบรมตอนกลางวันผมได้พบ ผศ.ดร.ดวงจันทร์ เดี่ยววิไล ก็เป็นอีกวันหนึ่งของผมที่ได้พบผู้คนมากมายอีกครั้ง
ความเปลี่ยนแปลง
“การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชุมชนนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลา แล้วใครจะทำ และทำเพื่อใคร” เป็นประโยคที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นก่อนทำการวิจัยในพื้นที่ เกิดอะไรบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ก่อนงานวิจัยจะเริ่ม คำถาม คำนินทา คำเตือน คำบอกเล่า ล้วนเป็นคำที่มีความหมายและมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของชุมชนและเป็นคำที่เกิดขึ้นก่อนงานวิจัยจะเริ่ม
“ทำไปทำไม ของมันดีอยู่แล้ว”
“เป็นใครมาจากไหน ถึงได้กล้าทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน”
“อย่าทำเลย เดี๋ยวมันจะขึด”
“เมื่อทำไปแล้ว ได้อะไรขึ้นมา ชาวบ้านได้อะไร”
“สูทำไปทำไม ไผเป็นคนบอกให้สูทำ”
คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีข่าวการทำวิจัยเรื่องงานศพในบ้านไหล่หิน การทำงานเริ่มระมัดระวังมากขึ้น เริ่มหันมาพูดคุยกันในกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านถี่ขึ้น นักวิจัยต่างคนต่างให้ข้อคิดเห็นต่างกันออกไป เป็นกระจกซึ่งกันและกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างการทำงาน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในตัวนักวิจัย เริ่มมีการไตร่ตรองความคิดของตนเองและเพื่อนร่วมงานอย่างละเอียด ประเด็นนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากตัวนักวิจัยต้องการที่จะให้งานที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของชุมชน เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่างในชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักวิจัยท้องถิ่นที่มีต่อชุมชนและรูปแบบงานวิจัยนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปตามรูปแบบที่เกิดขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่ชุมชนจะกล่าวว่านักวิจัยของบ้านไหล่หินเป็นผู้นำทางความคิด หรือ “เป๋นเก๊าตางกำกึด” และนี่เป็นสิ่งที่นักวิจัยท้องถิ่นต้องยอมรับ
หากกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในงานวิจัยท้องถิ่นโดยนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หิน หมู่ 2 ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง แล้วนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลนั่นคือ นักวิจัย และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากชุมชน และที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนโดยรอบ ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและสามารถสัมผัสได้ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า นักวิจัยของบ้านไหล่หินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด เปลี่ยนแปลงการทำงาน ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดการยอมรับนักวิจัยในชุมชนขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการทำงานของนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หินทำงานกันเป็นทีม ทำให้การยอมรับกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ชาวบ้านเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างจากนักวิจัยท้องถิ่นบ้าง แต่ความคิดของชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นการแตกแยกในกลุ่มของชาวบ้านกันเอง แต่กลับเป็นผลดีต่อกระบวนการงานวิจัยที่กำลังลงมือกันอยู่ เป็นกระจกส่องการทำงานโดยคนในชุมชน เกิดสัมพันธภาพที่ดีในกลุ่มนักวิจัยและชาวบ้านที่เข้าร่วมเวที เสียงหัวเราะเริ่มเสียงดังขึ้น การแสดงความคิดเห็นในเวทีเริ่มมีสีสัน ข้อเสนอแนะมีมากขึ้น
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านมีความเข้าใจในกระบวนการงานวิจัยมากขึ้น กอปรกับชุมชนไหล่หินเป็นชุมชนที่มีการทำวิจัยในชุมชนค่อนข้างมาก ทำให้การดำเนินกิจกรรมระหว่างงานวิจัยนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวทีงานวิจัยแล้วผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในช่วงเวลาปกติ และในช่วงที่มีงานศพในหมู่บ้าน ขั้นตอนและกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนไหล่หินนั้นเป็นกระบวนการที่มีทั้งการขับเคลื่อนโดยนักวิจัยและการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชน ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในบางครั้งของห้วงเวลาที่ดำเนินงานวิจัย บางเรื่องเป็นเรื่องที่นักวิจัยไม่สามารถถามต่อชุมชนได้ เนื่องจากว่าบางสิ่งบางอย่างในงานวิจัยเป็นเรื่องของจารีตประเพณี เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมานาน เพราะฉะนั้นประเด็นนี้คนที่ขับเคลื่อนเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทำให้ประเด็นคำถามที่ทีมนักวิจัยต้องการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเวทีประชาคม เป็นการพูดคุยผ่านกระบวนการประชาคมในหมู่บ้านและการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในงานศพที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเริ่มมีการพูดคุยในงานศพก็นำมาพูดคุยให้ข้อเสนอแนะในเวที โดยเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีการพูดคุยกันมานานก่อนงานวิจัยจะเริ่มขึ้นและเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัย ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีการบ่มมานาน การพูดคุย การเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เคยปิดกั้นทางความคิดของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับจารีตถูกเปิดเผย ถูกพูดถึง ทำให้จารีตประเพณีหรือฮีตถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพูดคุย ปัดฝุ่นกันอีกครั้งว่า เป็นฮีตเดิมฮีตเก่าฮีตแก่หรือไม่อย่างไร ใช้เหตุและผลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการชำระฮีตในชุมชน ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นทิศทางของความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในชุมชน จนนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นตามการชำระฮีต โดยยังยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของบรรพบุรุษในชุมชน ทั้งนี้เป็นการเดินทางสายกลางทางความคิดระหว่างนักวิจัยในหมู่บ้าน ผู้สูงอายุ เยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดขึ้นท่ามกลางมวลชนหลายหมู่เหล่าที่เห็นพ้องในแนวทางการดำเนินงานโครงการวิจัยการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านไหล่หิน หมู่ 2 และ หมู่ 6 ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและสัมพันธภาพในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เกิดการยอมรับทางความคิด และการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น
จากความเปลี่ยนแปลงในทั้งสองหมู่บ้านทำให้ชุมชนรอบข้างเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกระบวนการงานวิจัยที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านดำเนินการกันอยู่ มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงไม่สนับสนุน เหมือนลักษณะในครั้งแรกที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หิน แต่กระนั้นก็ตามการกล่าวขานก็เป็นเพียงการกล่าวขานเล่าเรื่องราวเท่านั้น ความกระจ่างชัดในวัตถุประสงค์ของงงานวิจัยยังไม่แผ่คลุมในระดับตำบลหรือชุมชนรอบข้างแต่อย่างใด
“หมู่บ้านท่านทำแบบใด ผมอยากมีแนวทาง
เหมือนบ้านท่านบ้าง หากมีเวลาผมขอเชิญมา
พูดคุยกับชาวบ้านตอนประชุมหมู่บ้านด้วยนะ”
เสียงของผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนึ่งบอกกล่าวแบบเชิญชวนหนึ่งในทีมวิจัยของเราเข้าไปพูดคุยในประเด็นที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังดำเนินการและปฏิบัติกันอยู่ ตรงนี้เป็นการชั่งคิดของชุมชนรอบข้างถึงแนวทางที่เกิดขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนรอบข้างที่ตอบรับกระบวนการงานวิจัยที่เกิดขึ้น เป็นการส่งไม้ต่อที่ไม่ต้องออกแรงกันมากนัก เกิดแนวร่วมแบบไม่เป็นทางการเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน เกิดแรงสนับสนุนจากภายนอกชุมชนเข้ามาเป็นระยะ ๆ จนในที่สุดกระบวนการและขั้นตอนที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หินก็สามารถหยิบยกในรูปแบบการดำเนินงานไปใช้กับชุมชนรอบข้างในตำบลไหล่หินได้เป็นอย่างดี จะแตกต่างตรงที่แนวทางและรูปแบบของแต่ละหมู่บ้านที่ไม่เหมือนกัน แต่กระบวนการที่นำไปใช้เป็นการถอดบทเรียนที่ชาวบ้านสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนทางความคิด บทเรียนทางการปฏิบัติ ทำให้เห็นว่าในเมื่อสิ่งที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังทำอยู่นั้น เกิดผลดี ผลสัมฤทธิ์ที่มีคุณค่า หมู่บ้านหรือชุมชนรอบข้างเกิดความต้องการที่จะใช้กระบวนการของงานวิจัยเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชนของตน
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวบุคคลไปถึงระดับหมู่บ้านจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับตำบลนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดที่อยู่ภายใต้กระบวนการงานวิจัยท้องถิ่นของชาวบ้านไหล่หินที่กล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงชุมชนจนนำไปสู่รูปแบบการจัดงานศพที่เกิดขึ้นจากเวทีประชาคม เกิดจากบทเรียนที่ถอดด้ามมาจากชุมชนรอบข้าง ทั้งนี้ผู้เขียนที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยชาวบ้าน เห็นว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกระบวนการงานวิจัยที่สอนให้ชาวบ้านได้รู้จักระบบการคิดที่มีเหตุผลและเป็นขั้นตอนอย่างยั่งยืนบนฐานความคิดของตนเองและชุมชน
สรุปกระบวนการที่สำคัญในฐานะครูนักวิจัยชุมชน
หลังจากร่วมงานกับทีมวิจัยชุมชน แล้วได้เห็นกระบวนการทำงานที่ให้คนในชุมชนค่อย ๆ ซึมซับ ตระหนึกถึงคำว่า “พอเพียง” และมีความเข้าใจในการที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ตามวิถีของคนในชุมชน ที่คนในชุมชนเห็นร่วมกันว่าปัจจุบันเป็นไปอย่างไม่ประหยัด ไม่พอดีพองาม คือ การจัดงานศพ ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับงานวิจัยครั้งนี้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม จึงนำเสนอบทสรุปกระบวนการจากการร่วมงานโครงการวิจัย มีประเด็นที่สำคัญดังนี้
1. การประชุมที่เน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้แสดงความคิดเห็น ร่วมสรุปและวิเคราะห์ร่วมกันในหลายรูปแบบ หลายระดับ อาทิ ประชุมนักวิจัย ประชุมนักวิจัยร่วม ประชุมผู้แทนชาวบ้าน และประชุมชาวบ้านทั้งหมดทีละหมู่บ้าน การประชุมแต่ละครั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็น และสรุปประเด็นต่าง ๆ เมื่อเป็นความคิดเห็นที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ทำให้แน่ใจได้ว่าจะเป็นมติที่ยอมรับร่วมกัน และไม่เกิดความขัดแย้งตามมาในภายหลัง การประชุมมีปฏิทินการทำงานของแต่ละเวทีชัดเจนก่อนนำไปสู่เวทีสรุปผลในที่สุด
2. การเชิญภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือผู้สูงอายุมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ให้ข้อคิดเห็นเป็นวิธีที่ทำให้เวทีแสดงความคิดเห็นมีความเข้าใจตรงกัน เกิดการยอมรับ คล้อยตาม เช่นการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเล่าวิวัฒนาการเรื่องการจัดการงานศพที่มีแนวโน้มไปในทางที่จะฟุ่มเฟือยมากขึ้น เมื่อร่วมกันวิพากษ์ พินิจพิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลและประสบการณ์การจัดการงานศพในอดีตมาแลกเปลี่ยนในเวที จึงเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
3. การศึกษาดูงานทำให้ผู้แทน หรือผู้นำในชุมชนได้ไปแลกเปลี่ยน ได้เห็นบทเรียนของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง เข้าใจเหตุของการเปลี่ยนแปลงค่านิคม ความเชื่อ พิธีกรรม ทำให้มีความกล้าในการรื้อสาง และ เปลี่ยนแปลงกิจกรรมบางอย่างที่มุ่งยกระดับครัวเรือนและชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
4. การมีส่วนร่วมเป็นวิธีที่นักวิจัยหลัก และนักวิจัยร่วมใช้หลักประชาธิปไตย การทำงานทุกขั้นตอนได้นำชุมชนเข้ามาให้ข้อเสนอแนะ และร่วมวางแผน เปิดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมเริ่มจากกลุ่มเล็ก ขยายไปทั้งหมู่บ้าน และขยายไปทั้งตำบล เป็นการทำงานที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากระดับผู้นำชุมชนไปถึงระดับครัวเรือนอย่างชัดเจน
5. การประชาสัมพันธ์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างการทำงาน ไปถึงเวทีสรุปผล ที่นำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นการงด การลดหรือการปรับเปลี่ยน เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และนำไปใช้ในหมู่บ้านอื่น พื้นที่อื่น ในขอบเขตของโครงการที่ทีมวิจัยหลักได้วางแผนนั้น ได้ขยายพื้นที่ครอบครุมไปทั้งตำบล และการประชาสัมพันธ์จะไปไกลกว่าด้วยสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อเอกสาร ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อวิทยุชุมชน
ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมในการดำเนินการ ได้เห็น ได้มีส่วนร่วมและอยู่ในขั้นตอนการทำงานที่เป็นกระบวนการที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับการบริหารงานโรงเรียนไหล่หินวิทยาได้ และคิดว่าผลของการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญ เรียนรู้วิธีการ และนำประเด็นไปปฏิบัติสืบต่ออย่างยั่งยืน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป
โดย อ.ราตรี ดวงไชย รองผู้อำนวยการโรงเรียนไหล่หินวิทยา
http://www.thaiall.com/lovelampang/laihin_ratee.htm
กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดในชุมชน
ชุมชนได้อะไรจากโครงการวิจัย ในเชิงวิชาการชุมชนได้ความรู้พื้นฐาน กับคำว่าวิจัย โดยพื้นฐานทางการศึกษาแล้ว ชุมชนมีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีกลุ่มคนจำนวนน้อยในชุมชนที่ผ่านระบบการศึกษาที่รู้จักคำว่าวิจัย มีจำนวนมากที่ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยิน และมีจำนวนหนึ่งที่เคยได้ยิน ได้อ่านแต่ไม่รู้ความหมายหรือรู้แต่ไม่ชัดเจน โครงการวิจัยจึงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้และเกิดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน จึงทำให้ทุกคนในชุมชนหรือส่วนใหญ่ได้รู้จักคำว่าวิจัย คืออะไร อีกคำหนึ่ง คือคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นคำที่ทุกคนได้ยิน ได้ฟัง ได้คุ้นเคยผ่านทางสื่อต่างๆ แต่การที่จะรู้ความหมายอย่างถ่องแท้เพื่อนำไปสู่การปฎิบัตินั้นมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่คิดเพียงเรื่องเศรษฐกิจ การกิน การใช้ และการคิดถึงอาชีพที่เป็นภาคการเกษตรเท่านั้น มองว่าเป็นเรื่องของส่วนตัวและครอบครัวเท่านั้น ซึ่งที่แท้จริง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินวิถีชีวิตของทุกกลุ่มอาชีพ โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง ครอบครัว หน่วยงาน องค์กร ชุมชนและสังคม โครงการวิจัยจึงทำให้เกิดความชัดเจนในองค์ความรู้ กับคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับชุมชน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ ไปปฏิบัติที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม
ชุมชนได้เกิดกระบวนการอย่างน้อย 2 กระบวนการ คือ
1. กระบวนการมีส่วนร่วม การจัดการในงานศพมิใช่มีคนเพียง 2 –3 คน ที่จะดำเนินการได้และตัดสินใจให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองได้ทุกอย่าง บางอย่าง บางประเด็น เป็นเงื่อนไข เป็นกติกา เป็นประเพณี ของสังคมที่ต้องปฏิบัติ โครงการวิจัย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการใช้กระบวนการของเดรมมิ่ง ( P D C A ) โดยการคิดวางแผนร่วมกันเพื่อให้ได้ประเด็นปัญหาไปสู่การปฏิบัติจริง มีการสำรวจตรวจสอบประเด็นปัญหาใดที่ไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ และนำผลนั้นมาประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป การได้ประเด็นปัญหาของการจัดการงานศพที่มีอยู่มากมายที่มีผลกระทบต่อเจ้าภาพและชุมชนมาบริหารจัดการอย่างได้ผลจึงเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
2. กระบวนการประชาธิปไตย การจัดการงานศพเป็นรูปแบบที่จัดสืบต่อกันมาและมีปัญหามากมายที่ไม่มีใครมองหรือมีคนมองแต่มิได้นำเสนอสู่การแก้ไข โครงการวิจัยทำให้ทุกคนมองถึงปัญหาและนำปัญหานั้นมาคิดพร้อมกับนำเสนออย่างมีเหตุผล มีความขัดแย้งในเชิงเหตุผลของแต่ละบุคคล ท้ายสุดเกิดการยอมรับในเหตุผลซึ่งกันและกันและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างลงตัว ทุกคนจึงเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามในกิจกรรมเดียวกัน
รูปแบบการจัดงานศพ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นองค์ความรู้ของชุมชน การจัดการงานศพบางเรื่องเป็นความละเอียดอ่อน เป็นกิจกรรมที่ไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารและจัดการแบบเร่งด่วนและฉับพลัน ซึ่งมีหลักหรือประเด็นที่เป็นกิจกรรมในการบริหารจัดการที่พอจะแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆอยู่ 3 ประเด็น คือ พิธีกรรม ความเชื่อ และค่านิยม
1. พิธีกรรม หรือพิธีการ เป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 พิธีใหญ่ คือ พิธีทางศาสนา และพิธีทางสังคม
พิธีทางศาสนา เช่น การการนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ สวด การจัดสำรับปัจจัย
พิธีทางสังคม เช่น การเชิญแขกมาร่วมงาน การบริการต้อนรับ การจัดอาหารเลี้ยงดู การจัดสถานที่ที่พักอาศัย การให้เกียรติผู้ร่วมงานเป็นตัวแทนในการวางผ้าบังสุกุลหรือถวายสำรับปัจจัยแด่พระสงฆ์ เป็นต้น
2. ความเชื่อ เป็นนามธรรมที่สามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรม ความเชื่อเป็นกิจกรรมหรือวิธีการปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา เช่น ความเชื่อเรื่องของวันดี วันเสีย เป็นความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากคนรุ่นก่อน ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนอย่างมีเหตุมีผลว่า ดีอย่างไร เสียอย่างไร เพียงแต่เชื่อและปฏิบัติต่อกันมาและเชื่อว่าหากฝืนปฏิบัติแล้วจะเกิดความไม่เป็นมงคล ความวิบัติ ต่อครอบครัวหรือชุมชน ตัวอย่างหรือสถิติของการไม่ปฏิบัติตามความเชื่อนั้นแล้วทำให้บังเกิดสิ่งที่ไม่ดีงามเกิดขึ้นต่อชุมชนและครอบครัว ก็ไม่มีความชัดเจน ความเชื่อจึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามรุ่นต่อรุ่นมากกว่า ผลกระทบของประเด็นนี้คือ การที่ต้องจัดเก็บศพไว้นานหลายวันด้วยข้อจำกัดของคำว่า วันดี วันเสีย
3. ค่านิยม เป็นกิจกรรมที่ได้ประยุกต์หรือบูรณาการตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงมีใครได้คิดและทำเป็นแบบอย่างครั้งหนึ่งก็เกิดการปฏิบัติตามกัน ซึ่งในอดีตไม่เคยมี เช่น การจัดงานเลี้ยงแบบงานรื่นเริงหรืองานมงคล มีดนตรี มีการจัดตั้งโต๊ะเลี้ยงสุราอาหาร การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ การจัดให้มีปราสาทสวยงามราคาแพง เป็นต้น ค่านิยมได้ก่อรูปแบบให้สังคมได้ชี้ถึงความเด่น ความด้อย ความมีศักยภาพหรือฐานะของเจ้าภาพ
โครงการวิจัย รูปแบบการจัดการงานศพฯ ได้อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนมาร่วมคิดและแก้ไขปัญหาที่ซ่อนบ่มอยู่ในการบริหารจัดการ โดยการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการประยุกต์ใช้ ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน โครงการได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง รูปแบบ และพฤติกรรมสังคม สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
รูปแบบการจัดงานศพเป็นองค์ความรู้ในชุมชนที่มีกระบวนการ เป็นองค์ความรู้ที่มีความยั่งยืน และจะมีพัฒนาการไปอย่างไม่จบสิ้น เป็นไปตามสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การจัดรูปแบบงานศพโดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน การนำประเด็นปัญหาที่เป็นผลกระทบมาสู่การแก้ไขและนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นรูปแบบใหม่ในชุมชนที่ต้องปฏิบัติสืบไป
ชุมชนได้นำประเด็นปัญหาที่มีทั้งความง่าย แลความยากในทางปฏิบัติมาจัดการได้อย่างลงตัวถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่ยิ่งของโครงการ ประเด็นปัญหาที่มีความง่าย เช่น การเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน เพียงชี้แจงเหตุผล ความเป็นมาให้กับชุมชนเข้าใจก็สามารถปฏิบัติได้ ประเด็นปัญหาที่มีความยาก เช่น เรื่องของวันดี วันเสีย ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมานานเป็นนามธรรมที่มีความละเอียดอ่อน โดยนำเอาความหายนะ ภัยวิบัติ ความไม่เป็นมงคล มากำหนดหากไม่ปฏิบัติตาม ความยากอยู่ที่การเปลี่ยนความเชื่อโดยการหาเหตุผลมาหักล้าง ที่ทำให้ทุกคนยอมรับและพึงพอใจ
การดำเนินงานตามโครงการวิจัยถือว่ามีความสำเร็จ บรรลุตามวัตถุประสงค์ ชุมชนได้อะไรมากมายจากการมีส่วนร่วมในโครงการนี้ โดยเฉพาะการได้มีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นวิถีชีวิตชุมชนแบบยั่งยืน การได้สร้างพื้นฐานการเป็นนักวิจัยของคนในชุมชน การสร้างความพร้อมให้ชุมชนที่จะมองปัญหาอื่นที่มีอยู่ในชุมชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชนที่โครงการได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยท้องถิ่นดีเด่นระดับประเทศ ความภาคภูมิใจของชาวบ้านไหล่หินอีกประการหนึ่งคือ การที่ได้มีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวแบบในการจัดงานศพที่สามารถขยายผลไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียงได้ปฏิบัติตาม ต้องขอขอบคุณ สกว.ที่มอบโอกาสให้เกิดกระบวนการสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชน
อีกโอกาสหนึ่งในระบบการศึกษาในสถานศึกษาที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ คือการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในการจัดงานศพ มาจัดทำเป็นสาระหลักสูตรท้องถิ่น ให้บุตรหลานได้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการได้เห็นการปฏิบัติจริงของชุมชน ซึ่งมีเกือบทุกสาระอยู่ในองค์ความรู้นั้น
ท้องถิ่น ชุมชน มีปัญหาซ่อนบ่มอยู่มากมาย ที่รอรับการแก้ไขและพัฒนา เพื่อสร้างความสงบสุขให้ชุมชน เพียงแต่ว่าจะมีใครเสียสละเวลาและกล้าเป็นผู้นำในการมองปัญหานั้น ๆ แล้วสืบค้นเพื่อแก้ไข โดยการอาศัยการสนับสนุน จาก สกว.ท้องถิ่น ที่พร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งถือว่า สกว. มีส่วนช่วยสร้างและขัดเกลาสังคม นำชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา นำความสุข ความสงบสู่ชุมชนท้องถิ่นได้ตามสถานการณ์
โดย อ.สุวรรณ เกษณา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือ
http://www.thaiall.com/lovelampang/laihin_suwan.htm
แผนที่สังคม (Social Mapping)
แผนที่สังคม (Social Mapping) คือ เครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยรูปแบบที่นำเสนอนี้ นำมาจากต้นแบบที่ออกแบบโดยคุณภัทรา มาน้อย ปกติแผนที่สังคมถูกใช้ทำแผนที่หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด อาจใช้ทำแผนที่แสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของความรู้หรือทุนในชุมชน หรือใช้แจกแจงรายละเอียดตำแหน่งในชุมชนที่ต้องการใช้ประโยชน์ หรือประกอบการตัดสินใจ หรือเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน
ซึ่งแผนภาพนี้เขียนจากการประยุกต์ข้อมูลตามโครงวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพ บ้านไหล่หินฯ เพื่อนำเสนอด้วยแผนภูมิที่พี่เลี้ยงโครงการได้แนะนำให้ใช้แสดง ความสัมพันธ์ของ คน ความรู้ สารสนเทศ และการเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
http://www.thaiall.com/research/method_cbr.ppt
http://www.thaiall.com/research/manoi.htm
การพัฒนาชุมชนผ่านบทบาทพระสงษ์
เปิดประชุม 2 ทุ่มตรงในอังคารที่ 12 พ.ค.52 พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ เชิญชวน ผู้นำจากบ้านหมู่ 2 และหมู่ 6 ตำบลไหล่หิน ทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอสม. กลุ่มผู้สูงอายุ ครูจาก 2 โรงเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และอาจารย์มหาวิทยาลัย อาทิ อ.ธวัชชัย แสนชมพู อ.อัศนีย์ ณ น่าน มีผู้ร่วมประชุมมากกว่า 50 คน มารับนโยบาย หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ รับทราบแผนการดำเนินงานโครงการ และกำหนดการ เพราะโครงการจะได้รับอนุมัติ 1มิ.ย.52 – 31พ.ค.53 ได้ชมวีดีโอบทเรียนการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ โครงการนี้ได้รับอนุมัติจาก สสส. มีชื่อโครงการคือ “โครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานที่ยั่งยืน” ผ่าน “กลุ่มธรรมะสว่างใจบ้านไหล่หิน” ที่พระครูเป็นประธานกลุ่ม ที่ทำการตั้งอยู่ที่วัดชัยมงคลธรรมวราราม โครงการที่มีการนำเสนอว่าจะดำเนินการโดยสรุปมี 8 โครงการคือ 1) ลดรายจ่าย อาทิ ปลูกผักปลอดสาร และบัญชีครัวเรือน 2) แยกขยะ 3) อบรมคุณธรรม 4) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ 5) ครอบครัวอบอุ่นกิจกรรมวันอาทิตย์ 6) ออกกำลัง และกินเพื่อสุขภาพ 7) ปลูกจิตสำนักรักบ้านเกิด 8) พัฒนากลุ่มอาชีพ ซึ่งทุกโครงการเกิดจากการที่ท่านวิเคราะห์ SWOT ของวัด และชุมชน โดยสอดรับกับข้อสรุปวัตถุประสงค์ 3 ข้อของโครงการ คือ 1) สร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเอง 2) มีคุณธรรม ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด 3) มีครอบครัวอบอุ่น มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ใช้เวลาประชุมตั้งแต่ 20.00น. ถึง 22.15น. กว่าผมจะขับรถถึงบ้านก็ 23.00น. พอดี
http://www.thaihealth.or.th/node/7061