ร่วมเวทีวิจัยที่ศูนย์ประสานงานกับ อ.อัศนีย์ ณ น่าน

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 9.00 – 16.00 น.
                     ร่วมแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัย “กระบวนการสร้างการเรียนรู้ตำนานมูลศาสนาฉบับวัดบ้านเอื้อม ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง” นำเสนอโดยทีมวิจัย 3 ท่าน คือ พระอธิการสวัสดิ์ โสตฺถิโก เจ้าอาวาสวัดบ้านเอื้อม พระสุริยา วัดยางอ้อยเหนือ และ อาจารย์เกษวรี  สว่างวงศ์ ซึ่งทุกท่านนำเสนอที่มา กิจกรรม บทเรียน ปัญหา และการขยับต่อในช่วงต่อไปได้อย่างชัดเจน ตำนานมูลศาสนาของวัดบ้านเอื้อมที่เลือกมาแปลครั้งนี้ มีต้นฉบับขนาด 48 หน้าปั๊ปสา โดยมีแผนแปลออกมา 4 รุ่นคือ 1) ภาษาล้านนา 2) ภาษาปริวรรต 3) ภาษาคำเมือง 4) ภาษาไทย ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องการจัดทำหรือการนำพจนานุกรมภาษาล้านนามาใช้ในโครงการ นอกเหนือจากที่โครงการได้จัดทำแบบฝึกหัดที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของอาจารย์อัศนีย์ ณ น่าน ว่าน่าจะนำวรรณกรรมอ้างอิงในพื้นที่อื่นมาใช้ประโยชน์ หลังเสร็จการประชุมคุณภัทรา มาน้อย เฉลยว่าทีมนี้ได้มีการใช้ Social Mapping ทำให้สามารถนำเสนอได้อย่างเป็นลำดับเริ่มจากนำเสนอเรื่องคนและความรู้ (Social) ข้อมูล (Map) และกิจกรรม (Ing)
                      ร่วมแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอโครงการใหม่ของเยาวชนโรงเรียนพัฒนาสังคม คุณกมลธสรณ์ ยอดกำลัง นำเยาวชนของอำเภอห้างฉัตรมานำเสนอ เยาวชนอธิบายได้ชัดเจนกันทุกคน ผมมีโอกาสนำเสนอว่าน่าจะหาชื่อโครงการมาเป็นธง วัตถุประสงค์ สรรหาคนที่เข้ามามีบทบาท ประเด็น และกิจกรรม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือการหาชื่อโครงการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ทีมเยาวชนที่มานำเสนอมีความเข้าใจกิจกรรมที่ทำอยู่ในโรงเรียนพอสมควร จึงเสนอชื่อโครงการว่า “รูปแบบโรงเรียนต้นแบบเชิงบูรณาการบ้าน วัด โรงเรียน” แต่หลังจากแลกเปลี่ยนร่วมกันในเวที ได้มีข้อสังเกตว่าเยาวชนอายุประมาณ 10 – 15 ปี น่าจะมีขอบเขตไม่กว้างหรือลึกเกินไปนัก จึงเสนอชื่อโครงการใหม่ว่า “แนวทางการพัฒนาเยาวชนโรงเรียนพัฒนาสังคม” เพราะที่มากันครั้งนี้เนื่องจากเกาะกลุ่มจากการใช้โรงเรียนพัฒนาสังคมเป็นฐาน และที่เสนอไปก็เพื่อให้มีการนำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ใหม่ ก่อนที่จะกลับมานำเสนอในเวที เพื่อทบทวนและร่วมให้ความเห็นกันอีกครั้ง

วันวุ่นในวันแรงงาน 2552 (8)

เช้ามาก็ลืมตาในโรงพยาบาล เพราะไม่นอนเฝ้าคุณแม่ที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ห้อง 508 ตึกเมตตา ท่านต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนตาจากอาการต้อกระจก ไม่ทันส่งท่านเข้าห้องผ่าตัดก็ต้องรีบออกไปรับลูก ๆ ไปโรงเรียน เพื่อไปรับเงินช่วยเหลือการศึกษาของลูกที่รัฐอุดหนุนคนละ 550 บาท รับแล้วก็ซื้อสมุด ก็ถึงกับอึ้งเพราะสมุดอย่างเดียวก็คนละ 500 เศษแล้ว ยังไม่ทันซื้อชุด หรือหนังสือเลย กลับมาโรงพยาบาลคุณแม่ก็ยังไม่ออกจากห้องผ่าตัด ก็มีโทรศัพท์แจ้งปัญหา mail server เต็ม ก็ไปหาร้านเน็ตข้างโรงพยาบาล เพื่อ connect ผ่าน putty เข้าไปลบ Trash ของสมาชิก ที่ไม่เคยลบ mail หรือล้างถังขยะ ก็ปกติของระบบที่ไม่จำกัดจำนวนอีเมลของสมาชิก ย่อมเต็มอยู่เนือง ๆ กลับมาห้องผู้ป่วยก็พบคุณแม่กลับมาแล้ว อาการท่านไม่น่าเป็นห่วง กินได้ พูดได้ มีความสุขดี เพราะนี่ข้างที่สอง แต่ช่วงบ่ายท้องผมเสียเล็กน้อย เพราะดื่มกาแฟที่เข้มข้นจากร้านสะดวกซื้อในโรงพยาบาล  พอ 18.30 ก็ไปขึ้นรถที่มหาวิทยาลัย ไปประชุมโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขที่บูรณาการร่วมกัน ลุงล้วนในฐานะสารวัตรกำนัน เสียค่าโทรศัพท์ติดต่อผมเข้ามาตั้งหลายครั้ง ก็เกรงใจท่านมาก  เพราะประสานเรื่องผู้เข้าประชุม เรื่องฝนตกหนัก และขอรายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อทีมของมหาวิทยาลัย เข้าไปก็แลกเปลี่ยนกันเรียบร้อยด้วยดี กำนันกิจชนะชัย ปะละ กับผู้ใหญ่เพิ่มศักดิ์ จินะการ ให้การต้อนรับด้วยดี พระครูก็ร่วมประชุมด้วยท่านอธิบายเรื่อง SWOT โดยละเอียดครับ เลิกประชุมกว่า 22.00 น. ก่อนกลับบ้านแวะ 7-Eleven ซื้อขนมปังแก้หิว แล้วไปนั่งหน้าเครื่องคอมฯ ยกร่างบทความที่ 189 และ 190 พร้อมค้นข้อมูลข่าวก็ไปพบข่าว ดาราสาวเกาหลีผูกคอตาย น้อยใจหลุดแคสติ้ง เธอชื่อ เซียง-ยอน ดาราสาวชาวเกาหลีใต้ วัย 26 ปี อีกเรื่องที่คาใจคือ วันนี้มิใช่วันหยุดของมหาวิทยาลัย ถ้าที่ทำงานเปิดเมื่อไรก็จะไปเขียนใบลาย้อนหลังตามระเบียบครับ .. แล้วพบกันใหม่วันแรงงานปีหน้า
http://www.thiswomen.com/News1/id3568.aspx

การจัดการแฟ้มดิจิทอลในองค์กรขนาดเล็ก (2)

File Management
File Management

ระบบนี้พัฒนาด้วยภาษา PHP เป็นแฟ้มเพียงแฟ้มเดียวแต่ช่วยในการจัดการแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นความสามารถเล็ก ๆ แต่ช่วยประสานกลไกการจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร (ในกรณีที่ยังไม่มีระบบใดดีกว่านี้) โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อให้การสร้างงานเขียนเพียงครั้งเดียว แต่ถูกนำไปใช้ได้หลายครั้ง 2) เพื่อให้งานที่เขียนขึ้นถูกนำไปใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ เช่น KM, SAR, SRR 3) เพื่อสร้างระบบสำรองข้อมูลผ่านเครือข่ายการเผยแพร่ข้อมูล 4) เพื่อให้ใช้แฟ้มงานได้อย่างปลอดภัย สำหรับรายละเอียดการใช้งานระบบมีเงื่อนไขสนับสนุนดังนี้  1) เข้าจัดการแฟ้ม ต้องมี กุญแจ A  2) เข้าเปิดดูข้อมูล ดูรายชื่อแฟ้มต้องมี กุญแจ U 3 ) สามารถติดกุญแจเฉพาะแฟ้มที่สำคัญ ต้องมี กุญแจ Z  4) เผยแพร่แฟ้มออกไปได้ง่าย ในแหล่งที่ต้องการ อย่างเป็นสากล
http://www.thaiall.com/ppt/file_manage_01.ppt
http://www.yonok.ac.th/doc/burin/file_manage_01.ppt
http://www.thaiall.com/perlphpasp/source.pl?9102

ชาวตำบลไหล่หินประกาศยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงคุมคชจ.งานศพ (7)

      ชาวตำบลไหล่หิน 6 หมู่บ้าน ประกาศเจตนารมณ์ลดเหล้าในงานศพ พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ออก 18 มาตรการ ควบคุมค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อลดภาระเจ้าภาพ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือเมื่อครอบครัวใดมีคนตาย จะต้องจัดการงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าภาพไม่ได้มีการตระเตรียมสำรองเงินไว้ล่วงหน้าเหมือนงานบุญ หรืองานมงคล โดยจากการศึกษาข้อมูลระหว่างปี 2533-2550 พบว่าชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 6 เสียชีวิตเฉลี่ย 19 คน/ปี และค่าใช้จ่ายในงานศพอยู่ที่ 13,000-17,000 บาท/วัน ดังนั้นถ้าเก็บศพไว้ 5-7 วัน จะมีค่าใช้จ่ายร่วม 100,000 บาท
       ซึ่งเมื่อศึกษารูปแบบงานศพในอดีต ก็พบว่าประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา เมื่อบ้านไหนมีผู้เสียชีวิตจะห่อผ้ามัดด้วยเชือกเงื่อนตอกงูลืน แล้วนำใส่แคร่ไม้ไผ่ไปทำพิธีเผาหรือฝังอย่างเร็วที่สุด ไม่มีการเก็บศพข้ามคืนข้ามวันรอคนมาร่วมพิธีอย่างในปัจจุบัน และถ้าไม่ใช่ขุนนาง จะไม่ใช้ล้อเข็นศพไปทำพิธีที่สุสาน ปราสาทก็มีเฉพาะชนชั้นเจ้านายเท่านั้น แต่ค่านิยมที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้น มีการสร้างปราสาทให้กับญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับ เพราะเชื่อว่าปราสาทเหล่านี้จะเป็นที่อยู่ของผู้ล่วงลับหลังความตาย ทั้งยังเชื่อว่างานศพที่ใหญ่โตแสดงถึงหน้าตาของเจ้าภาพ
ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์

        ด้านนายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภา อบต.ไหล่หิน ในฐานะรองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงวิธีการจัดการว่าหลังจากทราบข้อมูลแล้ว มีการทำประชาคมหมู่บ้าน ดึงทุกภาคส่วน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนหน่วยงาน องค์กรที่อยู่ในพื้นที่เข้าร่วม และได้ประชามติเป็นประเด็นการจัดการงานศพทั้งหมด 16 ประเด็น แยกเป็นด้านการจัดการ 9 ข้อ และด้านความเชื่อ 7 ข้อ ตามลำดับ ได้แก่ 1.การควบคุมไม่ให้อาหารรั่วไหล ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาอาหารมีปริมาณไม่เพียงพอกับแขก เพราะมีบางคนแอบตักออกไป ในลักษณะจิ้นลอดฮั้ว ชุมชนจึงเห็นพ้องว่าต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนั้นต่อไป 2.ใช้เครื่องปรุงพอประมาณ เนื่องจาการซื้อเครื่องปรุงแบบไม่วางแผนล่วงหน้า ทำให้มีปัญหาทั้งขาดและเหลืออยู่เสมอ 3.ลดน้ำอัดลมเป็นน้ำเปล่า ตามหลักความสมเหตุสมผลว่าน้ำหวานเจือสีอัดแก๊ซ มีผลเสียต่อสุขภาพ 4.ลดอาหารว่าง เช่น เม็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ขนมปังปี๊บ ข้าวต้ม กระเพาะปลา หรือกาแฟรอบดึก ซึ่งล้วนเป็นภาระของเจ้าภาพที่ต้องจัดหาตามแบบอย่างค่านิยมในเมือง 5.เตรียมเมี่ยงอย่างพอประมาณ เพราะความนิยมในการอมเมี่ยงลดลง แต่ผู้สูงอายุยังช่วยกันห่อเมี่ยงในงานศพตามปกติ ทำให้เหลือทิ้งอยู่เสมอ 6.ลดสุรา จากที่เคยตั้งโต๊ะทุกวัน เหลือเพียงบางวัน เช่น วันเก็บเต้นท์เก็บครัว เพื่อแทนคำขอบคุณผู้มาช่วยลงแรง 7.งดเล่นการพนัน 8.งดจ้างวงดนตรีสากล หรือวงลูกทุ่ง โดยส่งเสริมให้ใช้เทปหรือซีดีแทน 9.ใช้ดอกไม้แห้งในหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในชุมชน 10.ใช้โครงปราสาทถาวร ไม่ต้องซื้อปราสาทใหม่ทั้งหลังแล้วนำไปเผา เพียงแต่หากระดาษสีสวยงามติดตามโครงปราสาทที่มีอยู่ หรืออาจซื้อผ้าเต้นท์ไปขึงเป็นยอดปราสาท แล้วบริจาคให้เป็นสาธารณประโยชน์ดีกว่านำปราสาทไปเผาทิ้ง 11.ยืมโลงทองที่สวยงาม มาครอบโลงจริง 12.เก็บศพประมาณ 4-5 คืน ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนได้ร่วมกันหารือ จนมีมติลดจำนวนวันที่ไม่สมควรทำพิธีเผาศพให้เหลือเพียง 2 วัน คือวัน 9 ค่ำ และวันศุกร์ที่ตรงกับ 15 ค่ำ ส่วนเจ้าภาพที่ไม่เชื่อเรื่องวันเสีย จะเผาศพวันใดก็สามารถทำได้ 13.จัดผ้าบังสุกุลอย่างพอประมาณ 14.งดการจุดพลุและบั้งไฟ 15.ควรเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน จากธรรมเนียมปฏิบัติที่เพื่อนบ้านนำสำรับหรือสังฆทานไปร่วมทำบุญถวายแด่พระสงฆ์ แต่จำนวนสำรับมักมากกว่าจำนวนพระสงฆ์หลายเท่า ซ้ำปัจจัยที่บรรจุในสำรับไม่สดใหม่ หากเปลี่ยนจากสำรับเป็นเงิน ก็จะทำให้เจ้าภาพมีเงินเหลือไว้ทำบุญและง่ายต่อการจัดการ 16.ควรให้เงินสดแทนพวงหรีด เพราะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าภาพมากกว่า
         “ปรากฏว่าเมื่อนำมาทดลองใช้ใน 2 หมู่บ้าน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงมีการขยายผลไปสู่อีก 4 หมู่บ้านที่เหลือ และเกิดประเด็นเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1.งดชิงโชคจากโปรยทานด้วยลูกอมหรือเงินเหรียญ 2.ควรเผาศพในเมรุ 3.งดจุดธูปในบ้าน เพราะควันจากธูปก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การจุดในที่โล่ง หรือจุดแต่น้อย จึงเป็นข้อเสนอที่นำมาให้เจ้าภาพพิจารณา” รองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
        และเป็นที่มาของการรวมตัวกันในระดับตำบล ทั้ง 6 หมู่บ้าน ที่ศาลาวัดไหล่หินหลวง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หิน ไว้เป็นหลักฐาน
        ด้านนายชนะเกียรติ เจริญราช นายอำเภอเกาะคา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว ย้ำว่า การประกาศเจตนารมณ์ของชาว ต.ไหล่หิน ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับเจ้าภาพได้อย่างชัดเจน จึงขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ และในอนาคตอันใกล้ จะพยายามนำรูปแบบและวิธีการไปขยายผล เพื่อขับเคลื่อนสู่ระดับอำเภอต่อไป
หัวข้อเดิม ชาวตำบลไหล่หิน ประกาศยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ควบคุมค่าใช้จ่ายในงานศพ
จาก http://talk.mthai.com/topic/55481 (saichol)

บ้านสามขา (6)

นักวิจัยบ้านไหล่หินไปดูงานบ้านสามขา
นักวิจัยบ้านไหล่หินไปดูงานบ้านสามขา

ถอดบทเรียนเพื่อใช้อ้างอิงเกี่ยวกับบ้านสามขา
      ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ได้นำเสนอการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ผู้นำชุมชนและเยาวชนร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนตลอดหลายปีที่ผ่านมาและมีความต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้ เรื่องราวทั้งหมดถูกเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “บ้านสามขาชุมชนแห่งการเรียนรู้” ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร บันทึกการพัฒนาชุมชนครั้งนี้เริ่มต้นในปีพ.ศ.2544 โดยเริ่มต้นจากการฝึกอบรมครูของชุมชนในการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) แล้วตามด้วยการจัดค่ายอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนและผู้ปกครองของหมู่บ้าน
        ปีพ.ศ.2544 มูลนิธิศึกษาพัฒน์บริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ และมูลนิธิไทยคมได้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมให้ที่โรงเรียนบ้านสามขา เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชนบ้านสามขาที่ดูแลโดยเยาวชนในหมู่บ้าน จัดกิจกรรมอบรมการใช้ การซ่อมบำรุง การพัฒนาเว็บไซต์ การสืบค้นข้อมูล และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชน จากการนำทฤษฏีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญาไปใช้ในชุมชนร่วมกับใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือได้นำไปสู่ “ความรู้และปัญญา” ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาหลายประการระหว่างปีพ.ศ.2544 – 2546 ได้แก่ 1) วิเคราะห์ปัญหาหนี้สิน และแก้ไขด้วยการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย 2) พัฒนาทักษะของเยาวชนด้วยการจัดค่ายการบ้าน ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายคอมพิวเตอร์ 3) สืบสานภาษาท้องถิ่นด้วยการจัดค่ายภาษาล้านนาที่สอนโดยผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ที่นำไปสู่การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นภาษาล้านนาในโรงเรียน และศึกษาเรื่องสมุนไพรจนพัฒนาไปเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 4) จัดตั้งธนาคารสมองเพื่อให้ผู้ที่ทำประโยชน์ต่อชุมชนกู้เงินไปลงทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 5) ค่ายวิปัสสนาที่เน้นการฝึกสมาธิให้มีสติและรู้จักตนเองให้ดีขึ้น 6) โครงการพัฒนากิจการร้านค้าชุมชน 7) เรียนรู้การบริหารจัดการที่พักในชุมชน และโครงการที่พักแรมระยะยาว (Long Stay) 8) เรียนรู้การจัดการแหล่งน้ำ 9) โครงการจัดการข้อมูลข่าวสาร และโครงการพัฒนาวิทยุชุมชนโดยเยาวชน
      องค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จคือความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนของชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งบทเรียนของการพัฒนาที่ท่านเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญ คือ อาจารย์ศรีนวล วงศ์ตระกูล เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงองค์กรภายนอกเข้ากับโรงเรียนและเยาวชนจนสามารถมีศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชนบ้านสามขา คุณนารี อินทร์มาปัน (น้าติ๋ม) คือตัวอย่างผู้เรียนรู้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบริหารจัดการร้านค้าชุมชน ผู้ใหญ่จำนงค์ จันทร์จอม เป็นผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ทันสมัยว่า “เด็กรุ่นใหม่จะต้องทำนาได้และใช้คอมพิวเตอร์เป็น” และสนับสนุนให้มีบริการอินเทอร์เน็ตในหมู่บ้าน จ.ส.อ.ชัย วงศ์ตระกูล ดูแลการก่อสร้างอาคารติ๊บปาละเป็นลองสเตย์บ้านสามขาเพื่อบริการนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงาน พ่อหนานทองสุข  วงศ์ษากัน อดีตเจ้าอาวาสวัดสามขาและเชี่ยวชาญภาษาล้านนา ยินดีสอนภาษาล้านนาให้เยาวชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คุณชาญ  อุทธิยะ นำชาวบ้านแก้ปัญหาหนี้สินโดยใช้กระบวนการวิจัยเรื่องรูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของทั้งชุมชน และเป็นแกนนำจัดตั้งสถาบันแสนผญาในเวลาต่อมา
http://www.ru.ac.th/tambon/mooban/bansamka01.htm
http://www.thaienergynews.com/ArticleShowDetail.asp?ObjectID=6
http://www.thaiall.com/itinlife/article.php?id=207&title=samkha

แนวคิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (5)

      หลายปีที่ผ่านมางานวิจัยในประเทศไทยมักถูกตั้งโจทย์โดยนักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ เพียงเพื่อทดสอบทฤษฎีบางอย่างหรือต้องการหาคำตอบบางอย่าง ที่กลุ่มคนเหล่านั้นสนใจหรือเข้าไปทำวิจัยในท้องถิ่น เพื่อการวางแผน กำหนดนโยบายบางอย่าง เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ แต่ก็ยังเป็นที่กังขาว่า ผลงานวิจัย ได้ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ กับคนส่วนใหญ่หรือไม่ สามารถตอบคำถาม ในชุมชน และนำไปแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพราะหลายๆ ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข และในบางปัญหา กลับดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจาก ขาดการคำนึงถึงว่า ชุมชนต้องการจะคลี่คลาย ในสิ่งที่กลุ่มคนภายนอกเข้าไปศึกษาหรือไม่ กล่าวคือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง มักจะไม่ได้นำงานวิจัยไปใช้ หรือไม่ตอบสนองกับปัญหาของชุมชนนั่นเอง
     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงพยายามสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ในการสนับสนุนงานวิจัย คือ “ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ที่จะทำวิจัย โจทย์ควรมาจากชุมชนท้องถิ่น ทำแล้วก่อให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ทำให้คนในชุมชน ได้เรียนรู้และเก่งขึ้น” บนฐานคิดตามความหมาย การวิจัยของศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ที่ได้กล่าวไว้ว่า “วิจัยที่แท้จริงนั้น จะต้องเป็นการวิจัย ที่หมายความถึงการแสวงคำตอบที่เป็นระบบเปิด และเรื่องของการพัฒนา จะต้องตั้งโจทย์ที่เป็นระบบเปิด เพราะฉะนั้น นอกจากเข้าใจปัญหา และมองแนวทางในการแก้ปัญหา  เราก็มีโจทย์ ในการวิจัยนั้น ซึ่งได้ชี้ช่องทางให้เราเห็นถึง แนวทางการพัฒนา หมายความว่า เป็นการพัฒนาต่อไป เป็นการกำหนดแนวทาง การพัฒนาที่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของท้องถิ่นโดยเฉพาะ การทำงานวิจัยในรูปนี้ เราจะต้องมองเงื่อนไข ศักยภาพ เพื่อที่จะให้ท้องถิ่น สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้” ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อมีงานวิจัย มีข้อมูลและประสบการณ์จากหลายๆ พื้นที่ หลายๆ ชุมชนทั่วประเทศเพียงพอ ก็คาดว่า จะสามารถนำไปสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ เพื่อผลักดัน สู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ในระดับภาค ระดับประเทศ ทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคลี่คลายในที่สุด
     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นองค์กร นอกระบบราชการ บริหารงานโดยอิสระ ภายใต้การกำกับ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2536 เพื่อให้การสนับสนุนการวิจัย ด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และงานวิชาการด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมีการแบ่งเป็นฝ่ายงานต่างๆ ได้แก่ฝ่าย นโยบายชาติ และความสัมพันธ์ข้ามชาติ ฝ่าย 2 เกษตร ฝ่าย 3 สวัสดิภาพสาธารณะ ฝ่าย 4 ชุมชน ฝ่าย 5 อุตสาหกรรม และฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2541 เพื่อให้ดำเนินการ ในฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดใหม่ เน้นการสร้างกระบวนการ “ติดอาวุธทางปัญญา” (Empowerment) แก่ชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งเน้นให้ชุมชน ได้ใช้ประโยชน์จากกระบวนการวิจัย หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นกลไกหนึ่ง ในการสร้างบรรยากาศ “การเรียนรู้ของทุกคน ทุกคนเรียนรู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่” ตามเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
     ที่สำคัญคือ สกว.ภาค จะต้องเน้นการจัดการ และประสานให้เกิดความเชื่อมโยง ระหว่าง “ปัญญา” (นักวิจัย) และ “พัฒนา” (นักพัฒนา) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ ที่ดำเนินงานแบบแยกส่วน ต่างคน ต่างทำอยู่ ในปัจจุบัน ดังคำขวัญ “สร้างสรรค์ปัญญา พัฒนาท้องถิ่น” เพื่อให้ “สังคมไทย ได้ใช้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ในการแก้ไขปัญหา และตัดสินใจ แทนการใช้ความรู้สึก หรืออารมณ์” นำไปสู่ความสามารถ ในการแก้ปัญหา พัฒนาตนเอง และพึ่งตนเองได้ในชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจน การพัฒนาประเทศชาติ ที่ยั่งยืนในที่สุด 

เปรียบเทียบแนวคิด
เปรียบเทียบแนวคิด

ระบบการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
     ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวถึงระบบการวิจัยเพื่อท้องถิ่นไว้ว่า จะต้องมีส่วนประกอบสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ระบบทรัพยากร
ต้องมีระบบทรัพยากรที่มาจากส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น
2. หน่วยงานจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ต้องมีหน่วยงานจัดการ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาศาสตร์และศิลป์ ในการจัดการ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่เชื่อมโยง กับการจัดงานวิจัย ในภาพรวมของประเทศ ซึ่งหน่วยจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนี้ อาจมีหน่วยงานเดียว ดูแลทั้งประเทศ หรืออาจแยกเป็น 2 – 3 หน่วยงาน บางพื้นที่กันดูแลตามความเหมาะสม
3. นักบริหารวิจัยเพื่อท้องถิ่น
เนื่องจากการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในประเทศไทยเป็นเรื่องใหม่ นักวิจัยเองยังไม่สันทัด ไม่คุ้นเคย และคนในท้องถิ่นเอง ก็ยังไม่คุ้นเคย จึงต้องการนักบริหารงานวิจัย เข้าไปจัดกระบวนการ แปรความต้องการ ของชาวบ้านให้เป็นโจทย์วิจัย จัดกระบวนการ เพื่อกำหนดกระบวนการ หรือวิธีวิจัย และแปลผลการวิจัย ตลอดจนนำผลการวิจัย ไปใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น ซึ่งนักบริหารงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จะต้องมีทักษะจำเพาะหลายด้าน ที่แตกต่าง ไปจากนักบริหารงานวิจัยโดยทั่วไป
4. สถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ต้องมีการจัดตั้ง และส่งเสริมความเข้มแข็ง ขององค์กรทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรวิจัย และเทคโนโลยี เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นกลไก ในการรับใช้ชุมชนท้องถิ่น ในการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้างฐานความรู้เพื่อท้องถิ่น
5. นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ควรประกอบด้วย นักวิจัยจากหลายหลายสาขาวิชา หลายพื้นฐานประสบการณ์ แต่มีส่วนที่เหมือนกัน หรือมีเจตนารมณ์ร่วมกันคือ ต้องการเข้ามาอำนวยความสะดวก ให้ชาวบ้านสร้างความรู้ เพื่อใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของตน
6. นักวิจัยเชิงทฤษฎี
นักวิจัยเชิงทฤษฎีจะต้องเข้ามาจับภาพรวม ภาพใหญ่ พัฒนาเป็นทฤษฎีที่สร้างขึ้นเองภายในประเทศ จากข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งในขณะนี้แทบจะไม่มีทฤษฎีทางสังคมที่สร้างขึ้นเองภายในประเทศจากข้อมูลท้องถิ่นเลย
7. ระบบข้อมูลเพื่อการวิจัยท้องถิ่น
ข้อมูลส่วนหนึ่ง (ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนใหญ่ที่ต้องการ) คือ ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั่วประเทศ ประเด็นที่สำคัญ คือ ความแม่นยำและทันสมัยของข้อมูล จะต้องมีการจัดเก็บและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และมีการประมวลและใช้ข้อมูลในแต่ละท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์
     ระบบการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในประเทศไทย ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังต้องการการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารจัดการ จึงควรเป็นระบบเปิด ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เป็นการนำไปสร้างความรู้ เท่ากับว่าผู้ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันพัฒนาระบบนี้ โดยมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ คือ “สังคมไทย มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนฐานความรู้ และการสร้างความรู้ในทุกส่วนของสังคม”
ข้อมูลจาก http://www.geocities.com/db2545/book1/03.html
http://www.vijai.org/Tool_vijai/05/01.asp

แถลงข่าวประกาศใช้ข้อตกลงในการจัดการงานศพฯ (4)

งานแถลงข่าว
งานแถลงข่าว

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 นายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หิน ร่วมกับผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยโยนกร่วมกับนักวิจัยในพื้นที่ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จัดงานแถลงข่าวการประกาศใช้รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตำบลไหล่หิน โดยได้รับเกียตรติจากนายชนะเกียรติ เจริญหล้า นายอำเภอเกาะคา เป็นประธานในพิธีมอบป้ายไวนิล ป้ายประชาสัมพันธ์ประเด็นข้อตกลง และเอกสารประกาศข้อตกลง แก่ตัวแทนผู้นำทั้ง 6 หมู่บ้านที่ทำงานร่วมกันมากว่า 2 ปี ณ ศาลาเอนกประสงค์วัดไหล่หินหลวง โดยมีผู้สูงอายุ นักวิจัยในตำบล หัวหน้าส่วนราชการ และนักวิจัยที่สังกัดศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปาง เข้าไปร่วมเป็นเกียรติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีวิทยาของโครงการวิจัยครั้งนี้ หลังเสร็จพิธีนางสาวภัทรา มาน้อย พี่เลี้ยงโครงการวิจัยพื้นที่จังหวัดลำปาง ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หินจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในตำบล นักวิจัยอวุโส ปลัดอาวุโส และนายอำเภอเกาะคา (news_announce.zip 15 MB)
ลงข่าวในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือหน้า 19 ฉบับวันที่ 20-26 เมษายน 2552

ร่วมทีมอาจารย์โยนก CBR ไปประชุม CBMAG เพื่อตั้ง sub node ที่ลำปาง (3)

ทุกมุมโลกในขณะนี้น่าจะมีการประชุมเพื่อพัฒนา เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ผมก็มีโอกาสไปประชุมร่วมกับอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ ม.ราชภัฏลำาปง ม.ราชมงคลลำปาง  โดยเฉพาะ ม.โยนก มีอาจารย์ที่รับทุน CBR ไปประชุมรวมผมด้วยก็ 4 ท่าน คือ อ.อดิศักดิ์ เสมอพิทักษ์ อ.ศิรดา ไชยบุตร อ.อัศนีย์ ณ น่าน ในหัวข้อเรื่อง แนวทางความร่วมมือการสนับสนุนศักยภาพ นักศึกษาปริญญาโทกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีน้องหนึ่ง เป็นเลขาที่ประชุม และนำประชุมในครั้งนี้ ทำให้เข้าใจว่าศักยภาพของคนไม่ขึ้นอยู่กับอายุ ตำแหน่ง แต่ขึ้นกับประสบการณ์ และบุคลิกส่วนตัว คำว่า CBMAG (Community-Based Master Research Grant) ที่ไปร่วมกันผนึกกำลัง เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาป.โทเข้าขอทุนไปพัฒนาบ้านเมืองของเรา มาจากภาษาไทยว่า ทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการทำวิทยานิพนธ์/ค้นคว้าอิสระของนักศึกษาปริญญาโท ดร.ดวงจันทร์ เดี่ยววิไล กล่าวเปิดเวทีการประชุมในฐานะกลไกตรงที่รับผิดชอบงานวิจัย แล้ว รศ.ดร.อาวรณ์  โอภาสพัฒนกิจ เล่าที่มาของฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และการมาสร้างกลไก ในการขับเคลื่อน ทำให้ผมเข้าใจความหมายของกลไกได้ชัดขึ้น และน่าจะทำยากกว่าคำว่าระบบ เพราะระบบนั้นแค่เขียนขั้นตอนแล้วประกาศให้ทราบทั่วกันก็ถือว่ามี แต่กลไก คือทุกอย่างที่ เป็นรูปธรรมอันจะขับเคลื่อนตัวระบบให้ดำเนินไปตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการ

การประชุมครั้งนี้มีทุนวิจัยอยู่ปีละประมาณ 15 – 20 ทุน แม้จะดูน้อย แต่ปัญหา คือ นักศึกษาที่ขอทุนเข้าไปมีน้อยกว่าทุนที่ให้ เพราะปัญหาเรื่องของช่วงเวลาเรียน  กับช่วงเวลาทำวิจัยไม่สัมพันธ์กัน ประกอบกับเงื่อนไขการทำงานเชิงพื้นที่ ซึ่งองค์ประกอบ ของความสำเร็จต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งผมก็เสนอเข้าไปว่าบทบาทของพี่เลี้ยงต้อง ทำงานหนักมาก อย่างพี่เลี้ยงของผม คุณภัทรา มาน้อย ต้องคอยโอบอุ้ม หนุ่นเสริม จนทำให้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยคนไม่มีประสบการณ์อย่างผมสามารถสำเร็จลงได้ ดร.ไกรสร คำมา ก็เสริมว่าการทำงานเพียงไม่กี่เดือนนั้น ไม่เพียงพอกับการทำงานกับชาวบ้าน  ผมเองก็เคยพบมาแล้ว เพราะติดเลือกตั้งบ้าง ติดทำนา ติดงานบุญ อันนี้ก็ต้องเข้าใจบริบทของชุมชน ส่วนอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ก็นำเสนอปัญหาว่า สาขาทางสัตวศาสตร์ล่ะ พืชไร่ล่ะ คอมล่ะ ในเวทีก็เสนอว่าคงต้องใช้วิธีการประยุกต์ และพบกันครึ่งทาง จะ pure science  กับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคงไม่ได้

ประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามจัดตั้ง sub node ของลำปาง การตั้งนั้นไม่ยาก แต่การทำให้คงอยู่ยั่งยืนสิยากกว่า การประชุมครั้งนี้ราบรื่นดีแม้ รศ.ศุภศักดิ์ ลิมปิติ ผู้ประสานงานชุดโครงการ CBMAG จะไม่ได้มาด้วย เพราะเจ็บเข่ากระทันหัน ต่อจากนี้มีแผนจะอบรมนักศึกษาปริญญาโทที่สนใจขอทุน ก็จะอบรมให้เห็นกระบวนการ เขียนข้อเสนอ และเข้าใจการเข้าไปทำงานกับชุมชน ก่อนการอบรมมีนัดหมายอีกครั้ง ในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยมีแผนว่าควรเปลี่ยนสถานที่ประชุมไปเป็นมหาวิทยาลัยโยนก และสันจรไปที่อื่นหมุนเวียนเปลี่ยนไป เมื่อกลับมาถึงมหาวิทยาลัยโยนก ก็รวบรวมกำลังใจ แต่รวบรวมคนไม่สำเร็จ ไปเล่าอะไรอะไรอย่างไม่เป็นทางการให้ ดร.ศรีศุกร์ นิลกรรณ ฟัง เพราะท่านเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัย ของมหาวิทยาลัย (ถ้ามีโอกาสจะย่อยข้อเสนอโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วให้ได้ศึกษาเรียนรู้ เพราะในเวทีแจกมาเป็นเล่มครับ)

http://www.cbmag.org/

อาจารย์ 3 ท่าน 3 บทบาทกับมหกรรม 10 ปีวิจัยเพื่อท้องถิ่น (2)

20 – 21 มีนาคม 2552 ท่านอธิการสันติ บางอ้อ ได้มอบหมายให้อาจารย์
ของมหาวิทยาลัยโยนก 3 คนไปร่วมงานมหกรรม 10 ปีวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ห้อง Grand Diamon Ballroom เมืองทองธานี
ได้แก่ อ.ศิรดาไชยบุตร อ.อัศณีย์ ณ น่าน และผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์
ทั้ง 3 ท่านไปในบทบาทที่แตกต่างกัน 1) อ.ศิรดาไชยบุตรไปจัดนิทรรศการนำเสนอผลการวิจัย จากโครงการวิจัยกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาฐานข้อมูล
ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน 2) อ.อัศนีย์ ณ น่าน นำทีมวิจัยโครงการวิจัยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของวิสาหกิจชุมชน น้ำดื่ม อสม. ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ไปร่วมสัมมนา
3) ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ ขึ้นเวทีร่วมเสวนาวันที่ 21 มี.ค.52 ช่วง 9.00- 9.40
เป็น session แรกของช่วงเช้าในห้องย่อย1 หัวข้อ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับสถาบันการศึกษา
ในฐานะตัวแทนสาขาวิทย์คอม แล้วทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น และนำทีมวิจัย
โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ไปร่วมเสวนาในครั้งนี้นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ร่วมเสวนาในงานมหกรรม 10 ปีวิจัยเพื่อท้องถิ่น (1)

dsc07935

ผมมีโอกาสไปร่วมเสวนาวันที่ 21 มี.ค.52 ช่วง 9.00- 9.40
เป็น session แรกของช่วงเช้าในห้องย่อย1
คือ 
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับสถาบันการศึกษา
ในฐานะตัวแทนสาขาวิทย์คอม แล้วทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น
 บนเวทีมี คุณประพจน์ ภู่ทองคำ ดร.มยุรี ถาวรพัฒน์ อ.ไพจิตร ศรีธนานุวัฒน์ ผศ.เยี่ยมลักษณ์ อุดาการ และผม
ความเป็นมา 
สกว.ริเริ่มสนับสนุน “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2541 โดยมีการจัดตั้งสำนักงานภาค ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ เน้นการมุ่งเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ “คน” ในชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ด้วยการเข้าร่วมกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชนเพื่อกำหนดโจทย์/คำถามวิจัย การทบทวนทุนเดิมในพื้นที่ การออกแบบการวิจัย และการวางแผนผฏิบัติการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การทดลองปฏิบัติจริงเพื่อสร้างรูปธรรมในการตอบโจทย์วิจัยหรือแก้ปัญหาในพื้นที่วิจัย การประเมินและสรุปบทเรียน เน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยชาวบ้าน คนในชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ ข้าราชการ นักพัฒนาและผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้และกลไกการจัดการปัญหา เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนในพื้นที่การวิจัยสกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้มุ่งเน้นยุทธศาสตร์สำคัญในการเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ “คน” ในชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การทำงานที่ยึดมั่นมาเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี คุณูปการจากการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ปัจจุบันขยายงานออกไปทั่วประเทศ ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ขยายงานวิจัยท้องถิ่นในหลายพื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ตาก แพร่น่าน กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ในพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก มีการขยายงานสู่ 18 จังหวัด คือ กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบ ราชบุรี สมุทรสงคราม นครปฐม ปทุมธานี อยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด ในขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีการขยายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่หลายพื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี มหาสารคาม ชัยภูมิ หนองบัวลำภู เลย ร้อยเอ็ด ยโสธร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และในพื้นที่ภาคใต้ ได้เกิดการขยายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในหลายจังหวัด เช่น ยะลา สงขลา นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล พังงา โดยการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่างๆ นั้นจะอาศัยกลไกของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Node) และพี่เลี้ยงนักวิจัย ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Node) กว่า 30 แห่งทั่วประเทศ เกิดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจำนวนประมาณ 1,000 โครงการ (ตุลาคม 2541 – พฤษภาคม 2551) และยิ่งไปกว่านี้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาคน ให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาให้เกิดวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ และทำให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาและค้นหาทางออกจากปัญหาได้ด้วยตัวเอง10 ปีที่กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ หรือทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของชุมชนท้องถิ่นเอง ดอกผลจากการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้ปรากฎให้เห็นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อาทิ เกิดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ชาวบ้านเป็นผู้ทำวิจัยด้วยตัวเองกว่า 1,000 โครงการ เกิดนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นมากกว่า 7,000 คนและขยายฐานงานจากงานวิจัยชาวบ้านสู่กลุ่มคนทั้งในหน่วยงานและสถาบันต่างๆ นอกจากนี้ พลังคนวิจัยได้นำสู่การสร้างสรรค์งานวิจัยในประเด็นต่างๆ มากมาย ได้แก่ ประเด็นการท่องเที่ยว เกษตรกรรมยั่งยืน สุขภาพ หมอเมือง และสมุนไพร ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน การบริหารจัดการท้องถิ่น เด็กและเยาวชน การศึกษากับชุมชน ชุมชนกับการจัดการทรัพยากร เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชุมชนท้องถิ่น นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ และความสุขของคนทำวิจัย ที่ ณ วันนี้ ชาวบ้านได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ชาวบ้านทำวิจัยได้” จึงอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้นำมาซึ่ง “คุณค่า พลังและความสุขของชุมชนท้องถิ่น”ด้วยจังหวะเวลาที่เหมาะสม และดอกผลจากการทำงานที่เริ่มก่อเกิด สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ร่วมกับเครือข่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น/พี่เลี้ยงนักวิจัย) และภาคีพันธมิตร ต่างเห็นร่วมกันว่าช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแก่การทบทวนการทำงานสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ตลอดจนเป็นโอกาสที่จะนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่สาธารณะ และค้นหาทิศทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้กำหนดการจัดงาน “มหกรรม 10 ปี วิจัยเพื่อท้องถิ่น” ซึ่งมีแนวคิดร่วมของงานอยู่ที่การสื่อให้เห็นถึง “ความสุข คุณค่า และพลังงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ในวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2551 ณ อิมแพ็คเมืองทองธานีวัตถุประสงค์ :
1) นำเสนอผลงานจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้เป็นที่ประจักษ์
2) นำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน หน่วยงานที่เกิดจากการทำงานวิจัย
3) นำเอาประสบการณ์ต่างๆ มาพิจารณาดูว่าเหมาะสมกับสังคมไทยแค่ไหน
4) ระดมความคิดเห็นของนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มต่างๆ ต่องานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
5) นำเอาข้อมูลต่างๆ มาดูทิศทางในการขับเคลื่อนงานต่อไป
คุณค่า
คุณค่าในการสร้างและพัฒนาคนบนฐานปัญญา
คุณค่าในการรื้อฟื้นและพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่น
คุณค่าในการสร้างและพัฒนาชุมชนและสังคม
พลัง
พลังต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนและชุมชน
ความสุข
ความสุขทางจิตวิญญาณ/ปัญญา

http://www.vijai.org/newsTRF_detail.asp?topicid=737
http://www.10year-cbr.org/about_us.php