ไปอ่านพบเรื่อง ข้อเสนอแนะทางออกการศึกษาไทย
โดย นายอรรถพล จันทร์ชีวะ ผู้จัดการเคมบริดจ์ เอ็ดยูเคชั่น
ที่ http://www.grandassess.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&No=1551926
อ่านดูแล้ว ผมว่าคุณอรรถพล สนับสนุนให้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่มีแผนอยู่แล้ว แต่เราไม่ทำตามแผน ทิศทางการพัฒนาก็เลยรวนอย่างทุกวันนี้ .. เห็นว่าน่าสนใจ จึงคัดลอกเก็บไว้ โดยมีเนื้อหาดังนี้
—
เรียน ท่านผู้จัดการหน่วยประเมินแกรนด์ แอสเซสเมนท์ ที่เคารพ
ผมนายอรรถพล จันทร์ชีวะ ผู้จัดการเคมบริดจ์ เอ็ดยูเคชั่น ขอรบกวนใช้กระดานสนทนาของท่าน ในการแสดงความคิดเห็นด้านการศึกษาไทยสักนิดนะครับ
สืบเนื่องจากผลการจัดอันดับการศึกษาไทยจาก WEF ระบุว่าไทยอยู่ อันดับ 8 (สุดท้าย) แย่กว่าเขมรและเวียดนาม ทำให้ผมมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงอยากให้ข้อเสนอแนะไว้สักหน่อย ดังนี้
๑. ผมเคยเสนอแนะในเวปไซต์เคมบริดจ์ฯ ไว้ว่า ถ้าเอาการเมืองออกจากการศึกษาไทยได้ ก็น่าจะทำให้การศึกษาไทยมีความชัดเจน ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกิดจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาให้สับสนกันบ่อย ๆ ซึ่งในความเป็นจริงผมว่าประเด็นนี้ เป็นไปได้ยากไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ฉะนั้นผมจึงไม่อยากให้นักการศึกษาไทย คิดวนไปวนมาเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เสียเวลา แต่ผมพบว่าจริง ๆ แล้ว สมศ. รู้ดีว่า ทางออกของการศึกษาไทยในประเทศนี้ คือ การใช้แนวทางการปฏิรูปการศึกษานั่นเอง เรียนว่า เรามีการประกาศปฏิรูปการศึกษาไทยมา ๒ ครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีใครให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งนั่นแหล่ะครับ จะมีใครทราบสักกี่ท่าน ว่านี่คือทางออกของความก้าวหน้าในการศึกษาไทยที่ดีขึ้นได้
ด้วยปัจจัยสำคัญที่กว่าจะได้ประเด็นข้อสรุปจากการปฏิรูปการศึกษาไทย จะปฏิรูปต้องใช้ข้อมูลและผลวิจัย รวมทั้งประเด็นที่ได้จากการจัดเวทีระดมความคิดเห็นกันมากกมาย ฉะนั้น ข้อสรุปที่เป็นประเด็นในการปฏิรูป ในรอบที่สองนี้แหล่ะคือ ทางออกที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าการศึกษาไทยอย่างถูกทิศทาง
โดยสังเกตกันดี ๆ ว่า สมศ. ชี้ประเด็นให้คนในวงการศึกษาไทยรับรู้ว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยสำคัญและมีคุณค่ามาก ๆ โดยบรรจุไว้ในตัวบ่งชี้ที่ 12 ในการประเมินรอบที่สามนี้ใช่ไหมครับ
๒. สิ่งที่เราควรทำในตอนนี้ ไม่ใช่การเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบการศึกษาไทย หรือ เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ หากแต่เราควร รณรงค์ให้การปฏิรูปการศึกษามีความศักดิ์สิทธิ์และนำประเด็นทั้ง 4 แนวทางที่ได้จากการสรุปประเด็นการปฏิรูปนี้ กล่าวคือ
1. การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่
2. การพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่
3. การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่
4. การพัฒนาคุณภาพการบริหารใหม่
ซึ่งมีรายละเอียดเป็นแนวทางเพิ่มเติมในแต่ละข้อนี้ให้ท่านพิจารณาได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก โดยผมคิดว่า เค้าทำมาดีมีแนวทางที่ดีและอิงผลการวิจัย ใช้งบประมาณมากมายไปแล้ว เราจึงควรเชื่อมั่นและยึดถือ รวมทั้งหากรัฐมนตรีคนใดมารับหน้าที่ ต้องมีหน้าที่หลักคือการผลักดันให้กระบวนการปฏิรูปเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะออกกฎ จะเปลี่ยนแปลง หรือ สร้างนโยบายใด ๆ ใหม่ ๆ ควรจะสอดคล้องหรืออาจเปลี่ยนเเปลงเชิงยุทธวิธีมากกว่า ออกนโยบายมาให้ซ้ำซ้อนหรือสร้างความสับสน หรือ ทำเพียงเพื่อล้มล้างสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้ ซึ่งผมเห็นด้วยกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนล่าสุด ที่เน้นการสร้างนโยบายตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบที่สอง เพียงแต่ผมว่า ท่านควรศึกษารายละเอียดประเด็นการปฏิรูปให้ดีอีกนิด จะได้ไม่เกิดการตกหล่น เป็นต้น
๓. ผมฝากประเด็นสุดท้าย คือ เราควรทบทวนการมีสถานศึกษาจำนวนมาก แต่ครูไม่ครบห้องครบชั้น ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยแห่งความล้มเหลวที่สุด ที่ประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และอื่น ๆ เค้าให้ความสำคัญและกำลังแก้ไข มีกฎเหล็กว่าคุณภาพการจัดการศึกษาต้องเน้นครูครบชั้น นำคนคุณภาพมาเป็นครู ซึ่งปัญหานี้บ้านเรายังคงเป็นอยู่ ซึ่งบางโรงเรียน มีครู ๑ คนแต่ต้องสอนทั้ง ๓ หรือ ๔ ชั้นเรียน ซึ่งควรเลิกคิดกันได้แล้วว่า สัดส่วนจำนวนครูกับเด็กก็เหมาะสมแล้ว ผมว่าอย่างนี้ก็ไปไม่ถึงไหน ธรรมชาติของคนเป็นครูไม่ได้เก่งหรือรอบรู้ทุกเรื่อง ฉะนั้นเมื่อครูต้องสอนในสิ่งที่ตนไม่รู้ ยังไงก็สู้เขมรไม่ได้ เพราะเค้าเน้นครูต้องตรงวิชาเอก โท ถ้าไม่มีก็ยุบไปเรียนรวมกัน เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ เป็นต้น
ผมเรียนว่า ระบบการศึกษาไทยเรามีปัญหาหลายอย่าง แต่เราก็พยายามแก้ไขกันมาหลายอย่างแล้ว ทางที่ดีคือ เราควรทบทวนและพิจารณาจากสิ่งที่เรา ทำมาแล้วว่าใช้ประโยชน์มันอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง ไม่ควรมองแต่ว่า เราจะหานวัตกรรมใหม่ ๆ อะไรมาเสริมเพียงเท่านั้น และควรเคารพผู้ทรงคุณวุฒิที่พยายามร่างเเนวทางการปฏิรูปและยึดถือร่วมกัน เมื่อพัฒนาการึกษาไทยให้ก้าวหน้า แก้วิกฤตนี้ให้สำเร็จร่วมกันนะครับ
ผู้ตั้งกระทู้ ผจก.เคมบริดจ์ฯ :: วันที่ลงประกาศ 2013-09-08 14:14:12
—
ข้อมูลเพิ่มเติม
– สมศ. = สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน)
– ตัวบ่งชี้ที่ 12 ผลการส่งเสริมพัฒนาสถานศึกษาเพื่อยกระดับมาตรฐาน รักษามาตรฐาน และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา