มองก้าวของระบบภูมิสารสนเทศ(243)

รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา

14 พ.ค.53  มีโอกาสร่วมประชุมที่สำนักงานจังหวัด โดยมี รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา จากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) มาเสนอขอบเขตของงาน การพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศ หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS = Geographic Information System) เพื่อการวางแผนพัฒนาจังหวัด ทำให้ได้ความรู้ว่าประเทศของเราพัฒนาไปแล้วหลายก้าว ผู้บริหารจังหวัดมีนโยบายใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารมาเชื่อมโยงกับระบบภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณแต่ละโครงการลงในแต่ละพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงสารสนเทศที่เชื่อมโยงกับตัวบ่งชี้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานจำนวน 42 ตัว
            ระบบภูมิสารสนเทศแตกต่างกับ Google Map หรือ Google Earth เพราะบริการของ google.com เป็นข้อมูลทั่วไปที่ไม่มีสารสนเทศที่ออกแบบมาเฉพาะกลุ่มบุคคล ไม่มีความเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถเชื่อถือในข้อมูลพิกัด ไม่อาจควบคุมพิกัดและชั้นความลับของแต่ละสถานที่ แต่ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจจำเป็นต้องมีข้อมูลพิกัดของสถานที่ที่เชื่อถือได้ ควบคุมชั้นความลับได้ สามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลโครงการ งบประมาณ ปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการร่วมกันกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
            ระบบแผนที่ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานกำหนดพิกัดของสถานที่ เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่บ้าน พื้นที่น้ำ พื้นที่ทำกินที่ยังมีการทับซ้อนอยู่ระดับหนึ่ง เนื่องจากแต่ละหน่วยมีระบบฐานข้อมูลของตนเอง เมื่อนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกันก็จะพบปัญหาทับซ้อน หากหน่วยงานใดต้องการนำข้อมูลพิกัดแผนที่มาใช้แบบบูรณาการก็จะพบประเด็นความไม่ตรงกันในรายละเอียด แม้พิกัดระดับประเทศ เช่น ปราสาทเขาพระวิหารก็ยังไม่สามารถสรุปผลได้ แต่เชื่อได้ว่าถ้าหน่วยงานที่ดูแลสารสนเทศมาเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและยินดีปรับข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็จะลดปัญหาความซ้ำซ้อนของข้อมูลได้ในอนาคตอย่างแน่นอน