การพัฒนาระบบตรวจเยี่ยมสำหรับการประเมินตนเอง
โดยใช้โมเดลเซกิ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น จังหวัดลำปาง
มีโอกาสนำเสนอบทความจากการวิจัยเรื่อง
การพัฒนาระบบตรวจเยี่ยมสำหรับการประเมินตนเอง
โดยใช้โมเดลเซกิ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น จังหวัดลำปาง
A Development of Peer Visit System for Self Assessment
by SECI Model : A Case Study of Nation University
ในงาน NCCIT 2014 เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557
http://www.slideshare.net/thaiall/nccit2014-11
และ proceeding ฉบับเต็มที่
http://www.scribd.com/doc/223300399/Proceedings-of-NCCIT2014
แล้วได้อ่านวารสารเทคโนโลยีสารสนเทศ
ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ซึ่งเราสามารถ download บทความได้
ที่ http://202.44.34.134/journal/index2.htm
ซึ่งเป็นอีกเวทีที่แตกต่างจากเวทีประชุมวิชาการระดับชาติ .. ผมว่าน่าสนใจ
สำหรับบทความที่ไปนำเสนอใน NCCIT 2014 มีเนื้อหาในบทความดังนี้
บทคัดย่อ
งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบบันทึกผลการตรวจเยี่ยมคุณภาพการศึกษา ตามเกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาของ สกอ. และสมศ. เพื่อพัฒนาระบบรายงานผลการตรวจเยี่ยมของกรรมการตรวจเยี่ยมในระดับคณะวิชา เป็นกรณีศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น มีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิธีเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 5 กลุ่ม ประกอบด้วยผู้บริหาร และหน่วยงานที่รับผิดชอบการประกันคุณภาพการศึกษา ผู้รับผิดชอบองค์ประกอบคุณภาพระดับมหาวิทยาลัย บุคลากรในคณะวิชาที่รับผิดชอบองค์ประกอบ หน่วยงานที่รับผิดชอบตัวบ่งชี้ และผู้ประเมินภายใน เครื่องมือที่ใช้พัฒนาระบบคือ เครื่องบริการอาปาเช่ ตัวแปลภาษาพีเอชพี เอแจ็กซ์ และระบบฐานข้อมูลมายเอสคิวแอล แล้วดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลโดยใช้การจัดการความรู้ตามโมเดลเซกิ (SECI Model) ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Socialization) การสกัดความรู้ออกจากตัวคน (Externalization) การควบรวมความรู้ (Combination) และ การผนึกฝังความรู้ (Internalization) แล้วใช้แบบประเมินความพึงพอใจต่อการอบรมการใช้งานโปรแกรมต้นแบบ และภายหลังการใช้งานระบบโดยผู้ตรวจเยี่ยม งานที่พัฒนาขึ้นใช้กับการตรวจเยี่ยมระดับคณะวิชาตามร่างรายงานการประกันคุณภาพการศึกษาปีการศึกษา 2555 โดยลักษณะคำตอบเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ พบว่า ผลประเมินความพึงพอใจต่ออบรมการใช้งานระบบฐานข้อมูลการตรวจเยี่ยมโดยรวมอยู่ระดับมาก (xˉ =3.94, S.D.=0.46) และผลการประเมินความพึงพอใจต่อการใช้งานระบบ อยู่ระดับมาก (xˉ =3.65, S.D.=0.64) ซึ่งสรุปได้ว่าระบบที่พัฒนาขึ้นตอบสนองความพึงพอใจของผู้ตรวจเยี่ยมได้
คำสำคัญ: การตรวจเยี่ยม ผู้ตรวจเยี่ยม การประกันคุณภาพ เกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา
Abstract
The objective of this operational research is to develop the peer visit system for the quality assessment system that is supported the internal and external indicators. It will help the inspector to generate the suggestion report. The system will be used as the case study of Nation University. The data sampling is divided into 5 groups, consisting of administrator, assessors, faculties, key performance indicator owner and peer visit committee. The system development tools are Apache Server, PHP Interpreter, AJAX and MySQL Database. Another tool for knowledge management process is SECI model that consist 4 sub-processes of socialization, externalization, combination and internalization. 5-scale rating questionnaire is collected to evaluate system performance in 2 times. This system was served for peer visit inspector in all faculties in 2012. The evaluation result of training’s satisfaction is high with a mean of 3.94 and standard deviation of 0.46. The evaluation result of system’s satisfaction is high with a mean of 3.65 and standard deviation of 0.64. It is concluded that the system performance can satisfy the peer visit inspectors.
Keyword: Peer visit, Inspector, Quality Assurance, Quality Indicator
1. บทนำ
สถาบันการศึกษาในประเทศไทยต้องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นไปตาม
ตัวบ่งชี้ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยผลการประเมินสะท้อนถึงคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น
มหาวิทยาลัยเนชั่นได้จัดทำรายงานการประเมินตนเองเพื่อรับการประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีการศึกษา 2549 จากรายงานการประเมินคุณภาพภายนอก [1] ได้มีข้อเสนอแนะและทิศทางการพัฒนาเร่งด่วนของสถาบัน ว่ามหาวิทยาลัยควรพัฒนาฐานข้อมูล เกณฑ์ และเป้าหมาย เพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาตามตัวบ่งชี้
ผลการประเมินในปีต่อมาถึงปัจจุบันยังต้องมีการพัฒนาให้สูงขึ้น การเพิ่มระบบและกลไกในการควบคุมคุณภาพจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกระดับเชิงบูรณาการ การเพิ่มระบบตรวจเยี่ยมก่อนที่คณะวิชาจะจัดทำรายงานการประเมินตนเองฉบับสมบูรณ์ เป็นกลไกที่ทำให้เกิดการพัฒนาและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งที่จะทำให้การไหลวนเป็นวงจรของข้อเสนอแนะและสารสนเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบตรวจเยี่ยมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบันทึกผลการตรวจเยี่ยมคุณภาพการศึกษา ตามเกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาของ สกอ. และสมศ. เพื่อพัฒนาระบบรายงานผลการตรวจเยี่ยมของกรรมการตรวจเยี่ยมในระดับคณะวิชา ซึ่งจะได้ระบบตรวจเยี่ยมที่สนับสนุนการจัดทำรายงานการประเมินตนเองฉบับสมบูรณ์อย่างเป็นระบบ
2. วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
2.1 การประกันคุณภาพ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นคุณภาพและมาตรฐาน โดยกำหนดรายละเอียดไว้ในหมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย “ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน” และ “ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก” เพื่อใช้เป็นกลไกในการผดุงรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสถาบันอุดมศึกษา [2]
การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน เป็นการสร้างระบบและกลไกในการควบคุม ตรวจสอบและประเมินการดำเนินงานของสถานศึกษาให้เป็นไปตามนโยบาย เป้าหมายและระดับคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด โดยหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษากำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายในเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด และเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและรองรับการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก
การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน หมายถึง การดำเนินการตามระบบประเมินคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดโดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเกณฑ์มุ่งเน้นการสะท้อนคุณภาพด้านระบบและกลไก และกระบวนการจัดการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย 9 องค์ประกอบคุณภาพ
การประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก [3] หมายถึง การดำเนินการตามระบบประเมินคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดโดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
(สมศ.) ซึ่งเกณฑ์ต่าง ๆ มุ่งเน้นการสะท้อนคุณภาพด้านผลลัพธ์จากระบบการจัดการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย 18 มาตรฐาน และในปีการศึกษา 2555 ได้ถูกปรับให้มีการรายงานร่วมกับเกณฑ์ของ สกอ. ภายใต้กระบวนการที่ต้องดำเนินการประจำปี
2.2 โมเดล และเครื่องมือ
โมเดลเซกิ (SECI Model) [4] คือ แผนภาพแสดงความสัมพันธ์การหลอมรวมความรู้ในองค์กรระหว่างความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) กับความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ใน 4 กระบวนการ เพื่อยกระดับความรู้ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นวัฎจักร เริ่มจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Socialization) การสกัดความรู้ออกจากตัวคน (Externalization) การควบรวมความรู้ (Combination) และการผนึกฝังความรู้ (Internalization) และวนกลับมาเริ่มต้นทำซ้ำที่กระบวนการแรก เพื่อพัฒนาการจัดการความรู้ให้เป็นงานประจำที่ยั่งยืน
ภาษาพีเอชพี (PHP Language) [5] คือ ภาษาคอมพิวเตอร์ประเภทโอเพนท์ซอร์ท (Open Source Computer Language) สำหรับพัฒนาเว็บเพจแบบไดนามิก (Dynamic Webpage) เมื่อเครื่องบริการได้รับคำร้องจากผู้ใช้ก็จะส่งให้กับตัวแปลภาษาทำหน้าที่ประมวลผลและส่งข้อมูลกลับไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ที่ร้องขอ ในรูปของภาษาเอชทีเอ็มแอล ภาพ หรือแฟ้มอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ลักษณะของภาษามีรากฐานมาจากภาษาซีเป็นภาษาที่สามารถพัฒนาให้ใช้งานแบบโต้ตอบกับผู้ใช้ได้
2.3 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
อัจฉรา แก้วละเอียด และผุสดี บุญรอด [6] ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง การจัดการองค์ความรู้เชิงความหมายโดยใช้โมเดลเอสอีซีไอสำหรับตรวจสอบบัญชีคอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาระบบการจัดการความรู้สำหรับตรวจสอบบัญชีคอมพิวเตอร์ กรณีศึกษา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสร้างฐานความรู้ออนโทโลยีในรูปแบบโดเมนออนโทโลยี แล้วแปลงไปเป็นภาษาเอ็กซ์เอ็มแอลรองรับการค้นคืนเชิงความหมาย ใช้เครื่องมือคือ โปรแกรมโฮโซ ออนโทโลยี อีดิเตอร์ (Hozo-Ontology editor) มีวิธีการดำเนินงานวิจัย 3 ขั้นตอนคือ 1) การวิเคราะห์และออกแบบระบบจัดการองค์ความรู้โดยใช้โมเดลเอสอีซีไอ 2) การพัฒนาฐานความรู้และระบบการจัดการองค์ความรู้
3) การทดสอบระบบ โดยประเมินคุณภาพด้วยวิธีการแบบแบล็คบ็อกซ์ (Black box testing) มีผลประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญในระดับดี ค่าเฉลี่ย 4.16 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.63 มี
ผลประเมินโดยผู้ใช้ในระดับดี ค่าเฉลี่ย 4.12 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.64 ซึ่งสรุปได้ว่าฐานความรู้ออนโทโลยีและระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นสามารถจัดการองค์ความรู้ได้อย่างเหมาะสม
ณัฐพล สมบูรณ์ และนลินภัสร์ ปรวัฒน์ปรียกร [7] ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ระบบการจัดการความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรณีศึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อพัฒนาระบบถามตอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านเว็บแอพพลิเคชั่น โดยใช้เทคนิคการจัดการความรู้ด้วยโมเดลปลาทู (Tuna Model) ที่มี 3 ส่วนคือ 1) การรวบรวมและจัดเก็บความรู้ แยกหมวดหมู่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (KV=Knowledge Vision) 2) การกระจายความรู้ (KS=Knowledge Sharing)
3) การเก็บเข้าคลังความรู้ (KA=Knowledge Assets) มีวิธีการดำเนินงานวิจัย 2 ขั้นตอนคือ 1) การวิเคราะห์และออกแบบระบบ 2) การพัฒนาระบบ มีผลประเมินความพึงพอใจโดยผู้เชี่ยวชาญในระดับดี ค่าเฉลี่ย 4.46 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.23 มีผลประเมินโดยผู้ใช้ในระดับดี ค่าเฉลี่ย 3.89 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.86 ซึ่งสรุปได้ว่าระบบสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงและช่วยในการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กิตติยา สีอ่อน [8] ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโมเดลเชิงสาเหตุประสิทธิผลการประกันคุณภาพภายในสำหรับกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยสังเคราะห์งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของการประกันคุณภาพการศึกษา ได้แก่ คุณลักษณะของบุคลากรด้านความตระหนักถึงความสำคัญและการมีทัศนคติที่ดีต่อการประกันคุณภาพภายใน การทำงานเป็นทีม การฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร ความพร้อมด้านทรัพยากรทั้งด้านจำนวนบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างองค์กรและการกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานประกันคุณภาพ วัฒนธรรมคุณภาพ ภาวะผู้นำของผู้บริหาร และขนาดขององค์กร ส่วนประสิทธิผลการประกันคุณภาพการศึกษามี 2 ส่วนคือ ประสิทธิผลระหว่างทาง ได้แก่ การบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การปฏิบัติงานแบบวงจรคุณภาพ และความพึงพอใจในงานของบุคลากร สำหรับประสิทธิผลสุดท้าย ได้แก่ การบรรลุพันธกิจของสถาบัน
เมื่อศึกษาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จึงได้เพิ่มกลไกการตรวจเยี่ยมและใช้โมเดลเซกิขับเคลื่อนกระบวนการในการพัฒนาระบบ เพื่อให้เกิดการจัดการความรู้ไปสนับสนุนการจัดทำรายงานการประเมินตนเองที่สมบูรณ์
3. วิธีการดำเนินการวิจัย
3.1 ศึกษาข้อมูลเบื้องต้น
3.1.1 รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทั้งทีมวิจัยและผู้มีบทบาทสำคัญต่องานประกันคุณภาพการศึกษา ทำความเข้าใจต่อกิจกรรม ข้อมูลและประเด็นปัญหา โดยมีเอกสารสำคัญคือ คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษา และรายงานการประเมินตนเองที่ผ่านมา [1]
3.1.2 ประชากร คือ อาจารย์และเจ้าหน้าที่จำนวน 88 คน มีกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้บริหาร และหน่วยงานที่รับผิดชอบการประกันคุณภาพการศึกษาจำนวน 7 คน ผู้รับผิดชอบองค์ประกอบคุณภาพระดับมหาวิทยาลัยจำนวน 8 คน บุคลากรในคณะวิชาที่รับผิดชอบองค์ประกอบจำนวน 10 คน หน่วยงานที่รับผิดชอบตัวบ่งชี้จำนวน 5 คน และผู้ประเมินภายใน 5 คน
3.2 กระบวนการจัดการความรู้
การพัฒนาระบบใช้กระบวนการจัดการความรู้ตามโมเดลเซกิ (SECI Model) ครอบคลุมวงจรการพัฒนาระบบ (SDLC) โดยเริ่มจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นำไปสู่การสร้างโปรแกรมต้นแบบ (Prototype) แล้วจัดเวทีอบรมให้ทดลองใช้ นำผลการใช้และข้อเสนอแนะไปปรับปรุงระบบ หลังมีการใช้งานระบบแล้ว คณะวิชาก็จะนำข้อมูลในระบบไปพัฒนาความรู้ภายในคณะวิชา และรับการประเมินจากผู้ประเมิน แล้วนำข้อเสนอแนะกลับไปจัดเวทีเรียนรู้ภายในคณะวิชาต่อไป
3.3 วิเคราะห์และออกแบบระบบงานใหม่
การวิเคราะห์ระบบใช้วิธีศึกษาจากคู่มือการประกันคุณภาพภายในและภายนอก โดยออกแบบตามทฤษฎีระบบฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ เก็บข้อมูลในมายเอสคิวแอล พัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาพีเอชพี และเทคนิคเอแจ็กซ์ ทำการพัฒนาโปรแกรม นำเสนอต่อผู้ตรวจเยี่ยม คณะวิชา และผู้เกี่ยวข้อง
3.4 เก็บข้อมูลความพึงพอใจต่อการใช้งานโปรแกรม
เข้าเก็บข้อมูลจากคณะวิชา และผู้ประเมิน หลังผ่านช่วงเวลาของการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับคณะวิชา และระดับมหาวิทยาลัย มีจำนวน 8 คน
3.4.1 ใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานแสดงระดับความพึงพอใจ โดยแบบสอบถามใช้มาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) แบบวัดเจตคติตามเทคนิคของลิเคิร์ท [9] 5 ระดับ คือ ดีมาก ดี พอใช้ น้อย และน้อยมาก
3.4.2 การแปลผลคะแนนสามารถสรุปเป็นระดับของความพึงพอใจ โดยนำระดับสูงสุดลบระดับต่ำสุดแล้วหารด้วยจำนวนช่วงที่ตั้งไว้ จึงได้เกณฑ์การแปลผลคะแนนดังนี้ มากที่สุดมีคะแนนเฉลี่ย 4.21–5.00 มากมีคะแนนเฉลี่ย 3.41–4.20
ปานกลางมีคะแนนเฉลี่ย 2.61–3.40 น้อยมีคะแนนเฉลี่ย 1.81–2.60 และน้อยที่สุดมีคะแนนเฉลี่ย 1.00–1.80
4. ผลการดำเนินงาน
4.1 การวิเคราะห์สถานการณ์ระบบฐานข้อมูล พบว่า มหาวิทยาลัยควรมีระบบที่จะประกันได้ว่าเมื่อเข้ากระบวนการประเมินตนเองจะมีผลประเมินอยู่ในระดับที่สูงขึ้น จึงจัดให้มีการตรวจเยี่ยมก่อนจัดทำรายงานที่สมบูรณ์ เพื่อให้มีกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปรับปรุงก่อนรับการประเมินจริงอย่างเป็นระบบ จึงได้มีการพัฒนาระบบบันทึกผลการตรวจเยี่ยมคุณภาพการศึกษา ตามเกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาของ สกอ. และสมศ. และพัฒนาระบบรายงานผลการตรวจเยี่ยมของกรรมการตรวจเยี่ยมระดับคณะวิชา โดยดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่บูรณาการกับการจัดการความรู้โดยใช้โมเดลเซกิ
4.2 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Socialization) เป็นการจัดเวทีระหว่างผู้รู้ที่มีความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่เป็นผู้บริหารและผู้ทำงานด้านประกันคุณภาพมาร่วมแลกเปลี่ยนถึงบทเรียนจากการประเมินตนเองที่ผ่านมาและกำหนดประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไข ได้ข้อสรุปเป็นการพัฒนาระบบตรวจเยี่ยม (Peer Visit) ที่จะยกระดับความสมบูรณ์ในการประเมินตนเอง
4.3 การสกัดความรู้ออกจากตัวคน (Externalization) เป็นการกำหนดบทบาท กลุ่มเป้าหมาย ทำความเข้าใจกิจกรรมกับผู้รู้ที่มีความรู้ฝังลึกที่อยู่กับข้อมูลโดยตรง เพื่อให้สามารถสกัด และผ่องถ่ายออกเป็นความรู้ชัดแจ้ง โดยมีกิจกรรมอบรม เพื่อศึกษาความต้องการเพิ่มเติม กำหนดรูปแบบการพัฒนา ผ่านโปรแกรมต้นแบบที่นำเสนอในการอบรม พบว่า มีผลประเมินความพึงพอใจในระดับมาก (xˉ=3.94, S.D.=0.40)
4.4 การควบรวมความรู้ (Combination) เป็นการระบุความรู้ชัดแจ้งที่เกิดจากการเข้าตรวจเยี่ยมของผู้รู้ และส่งข้อเสนอแนะเข้าไปในระบบให้คณะวิชาได้เข้าถึง แล้วนำผลในรูปความรู้ใหม่ไปแบ่งปัน วิพากษ์ แลกเปลี่ยนภายในคณะวิชาและผู้ตรวจเยี่ยมภายใน เกิดเป็นความเข้าใจร่วมเป็นความรู้ชัดแจ้งใหม่ นำไปสู่การจัดทำรายงานการประเมินตนเองที่สมบูรณ์ พบว่า มีผลประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้งานระบบตรวจเยี่ยมอยู่ในระดับมาก (xˉ=3.65, S.D.=0.64)
4.5 การผนึกฝังความรู้ (Internalization) เป็นการเลือกนำเสนอสารสนเทศในรูปของรายงานสมบูรณ์แก่ผู้ประเมินคุณภาพภายนอกในบทบาทของผู้รู้ที่ตรวจประเมินความรู้ชัดแจ้ง ผ่านระบบฐานข้อมูลภายนอก (CheQA) ที่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะ แล้วให้ข้อเสนอแนะกลับแก่ผู้ถูกประเมิน ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นความรู้ฝังลึกทั้งในคณะวิชา และมหาวิทยาลัย ส่งผลให้นำความรู้ไปพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเป็นวัฎจักร
5. สรุป
การใช้โมเดลเซกิเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาระบบตรวจเยี่ยมการประเมินตนเองสามารถใช้งานได้จริง ผลประเมินความพึงพอใจทั้งสองครั้งพบว่าอยู่ระดับมาก โดยครั้งแรกเป็นการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนระหว่างผู้รู้ด้านการประกันคุณภาพ และผู้รู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่สองเป็นการประเมินความพึงพอใจของผู้ตรวจเยี่ยมหลังสรุปผลการตรวจเยี่ยม ด้วยแบบสอบถาม
แต่ผลประเมินความพึงพอใจครั้งแรกสูงกว่าครั้งที่สอง ซึ่งเกิดจากความไม่พร้อมของคณะวิชาในการรับการตรวจเยี่ยมตามร่างรายงานการประเมินตนเอง เมื่อผู้ประเมินเข้าตรวจเยี่ยมและได้รับข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ความพึงพอใจต่อระบบตรวจเยี่ยมลดลง เนื่องจากผู้ใช้มีความต้องการที่หลากหลาย และคาดหวังความสมบูรณ์ต่อข้อมูลที่คณะวิชาส่งเข้าไปในระบบ อนึ่งระบบนี้เป็นระบบที่ใช้งานจริงและมีนโยบายที่จะใช้งานอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถนำข้อเสนอแนะหลังการใช้งาน มาปรับปรุงระบบให้พร้อมใช้งานสำหรับปีการศึกษาต่อไป เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษา
ข้อเสนอแนะ คือ ควรเพิ่มกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากต่างคณะวิชา และภายในคณะวิชาเดียวกัน โดยบริการระบบฐานข้อมูลตรวจเยี่ยมที่เชื่อมกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ และเร่งการจัดทำร่างรายงานการประเมินตนเองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนจัดให้มีการตรวจเยี่ยมอย่างเป็นระบบ และมีนโยบายกำกับให้คณะวิชาดำเนินการตามแผนที่สามารถปฏิบัติได้จริง
เอกสารอ้างอิง
[1] บุญรักษา สุนทรธรรม, รายงานการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยโยนก, สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, กรุงเทพฯ, 2550.
[2] สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพฯ, 2553.
[3] สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน), คู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ระดับอุดมศึกษา, สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน), กรุงเทพฯ, 2555.
[4] Nonaka, I. and H. Takeuchi, The Knowledge Creating Company, Oxford University Press, New York, 1995.
[5] พร้อมเลิศ หล่อวิจิตร, คู่มือเรียน PHP และ MYSQL สำหรับผู้เริ่มต้น, บริษัทโปรวิชัน จำกัด., กรุงเทพฯ, 2549.
[6] อัจฉรา แก้วละเอียด และผุสดี บุญรอด, “การจัดการองค์ความรู้เชิงความหมายโดยใช้โมเดลเอสอีซีไอสำหรับตรวจสอบบัญชีคอมพิวเตอร์,” the 9th National Conference on Computing and Information Technology (NCIT2013), กรุงเทพ, ประเทศไทย, 9-10 พ.ค.2556 หน้า 873-878.
[7] ณัฐพล สมบูรณ์ และนลินภัสร์ ปรวัฒน์ปรียกร, “ระบบการจัดการความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรณีศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง,” the 9th National Conference on Computing and Information Technology (NCIT2013), กรุงเทพ, ประเทศไทย, 9-10 พ.ค.2556 หน้า 234-239.
[8] กิตติยา สีอ่อน, โมเดลเชิงสาเหตุประสิทธิผลการประกันคุณภาพภายในสำหรับกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ, 2547.
[9] L.W. Anderson, Likert Scales, Education Research Methodology and Measurement : An International Handbook, John, D. Keeves, eds, Victoria : Pergamon pp.427-428, 1988.