ประชุมตั้งมหาวิทยาลัยลำปางที่กศน

มหาวิทยาลัยลำปาง
มหาวิทยาลัยลำปาง

20 ก.ย.53 ในเวทีหารือการทำงานร่วมกันของสถาบันการศึกษาจังหวัดลำปาง และทิศทางการเคลื่อนงานมหาวิทยาลัยลำปาง ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นแกะดำในกลุ่มครูกบฎ เพราะพระครูปลัดอนันต์ ญาณสวโร ปล่อยมุขว่าถ้าพวกเราทำสำเร็จก็จะเรียกว่าผู้ก่อการดี แต่ถ้าล้มเหลวก็แสดงว่าเป็นกบฎ แล้วผมก็ย้ำไปว่าที่มาประชุมกันนี้ ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจหรือไม่ ในวาระที่นำชื่อมหาวิทยาลัยมารวมกัน เพื่อหารือการจัดตั้งมหาวิทยาลัยลำปาง ซึ่งเป้าหมายของมหาวิทยาลัยลำปางคือ “บูรณาการระบบการศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพ” แล้ว ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ก็แสดงทัศนะที่เห็นต่างไปจากรายงานสรุป (ในสรุปมี 2 รูปแบบคือ มองยุทธศาสตร์จังหวัด และแยกกันทำ หรือรวมเป็นพื้นที่) ว่าการมีขึ้นของมหาวิทยาลัยลำปาง น่าจะเป็นการคิดใหม่แบบล่างขึ้นบน มิใช่บนลงล่างแบบเดิม ซึ่งเสนอว่าต้องเริ่มจากการเข้าเรียนรู้ ศึกษาปัญหาของชุมชน ว่าชุมชนต้องการอะไรอย่างแท้จริง ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือนำในการแก้ปัญหา แล้วนำบทเรียนมาปรับการเรียนการสอน ให้ได้นักศึกษาที่ตรงกับความต้องการของชุมชน .. แล้วผมก็ได้พบนักคิด 2 ท่านจาก มทร.คือ ผศ.ดร.สาวิทตร มีจุ้ย และ ผศ.สันติ  ช่างเจรจา ซึ่งช่วงท้าย ๆ มีการหารือกันอื้ออึง เกี่ยวกับประเด็นมหาวิทยาลัยลำปาง ของชาวลำปาง เพื่อชาวลำปาง โดยชาวลำปาง และเกิดผลในลำปาง อย่างเอาจริงเอาจังเกิดขึ้น

แล้วงานที่ผมรับปากไปในเวที ในบทบาทของอาจารย์โยนก คือการขยับงานปี 2554 โดยเสนอประเด็นที่สนใจคือ “การสร้างครูนักจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในสถาบัน และการขยายผล” และมี อ.กฤตภาส เสมอพิทักษ์ คอยให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง .. โดยมี คุณภัทรา มาน้อย เป็นพี่เลี้ยงผู้ใจดี เพราะถ้าใจร้ายผมคงหนีตะเหริดเปิดเปิงไปแล้ว จากภาระงานปกติที่รุมเร้าอยู่ทุกวัน

วัตถุประสงค์การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยลำปาง

1 ก.ค.53 ผมได้รับอีเมลจาก คุณภัทรา มาน้อย เห็นว่าน่าสนใจ และเป็นบทเรียนที่ดี  โดยผู้สนใจได้ร่วมกลุ่มพูดคุยกันที่ กศน.ภาคเหนือ ในวันที่ 28 มิ.ย.53 ที่ผ่านมา จึงประเด็นวัตถุประสงค์มาเผยแพร่ซึ่งมีใจความดังนี้
     ตามที่ทางศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปางร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการศึกษาในจังหวัดลำปาง เพื่อหารือแนวทางการเคลื่อนงาน”มหาวิทยาลัยลำปาง”โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อมี ดังนี้
     1) ค้นหารูปแบบของการทำงานร่วมกันเชิงการบูรณาการศาสตร์ของการศึกษาจังหวัดลำปางโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (ใช้แนวคิดหลักสูตรบูรณาการระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาการเกษตรเป็นตุ๊กตาของการชวนคุย) ในเบื้องต้นการพูดคุยเพื่อค้นหารูปแบบการทำงานร่วมกันมีผู้เข้าร่วมที่มาจากสถาบันการศึกษาทั้ง ม.โยนก มรภ. มทร. กศน. มจร.และ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมฯ เข้าร่วมเสนอแนวคิดและแลกเปลี่ยนประเด็นรวมถึงการตั้งข้อสังเกตของการดำเนินงานร่วมกันมากมายซึ่งทางศูนย์ประสานงานฯจะจัดทำสรุปเพื่อจัดส่งให้เครือข่ายต่อไป
     2) สร้างรูปธรรมของแนวคิดงาน “มหาวิทยาลัยลำปาง”  ให้เกิดเป็นแนวทางการบูรณาการการใช้ฐานของความรู้ในแต่ละระดับเพื่อส่งเสริมให้เกิดแนวทางของการศึกษาที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง ในเบื้องต้นจากการประชุมมีแนวทางของรูปธรรมการดำเนิน 3 แนวทางคือ 1)แนวทางในการทำงานร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งมีเป้าหมายในการให้เครือข่ายทำงานในลักษณะของการนำไปสู่การสร้างวิธีปฏิบัติร่วมที่ชัดเจนและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น หลักสูตร วิธีการสอน ความร่วมมือระหว่างสถาบัน เพื่อนำเอาสิ่งที่ได้นำเสนอต่อในเชิงนโยบาย 2) แนวทางของสกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ใช้ฐานคนเป็นตัวตั้งเพื่อตอบสถานการณ์ปัญหาทางการศึกษาที่เป็นความต้องการของคนลำปางหรือตัวแทนของสถาบันร่วมกันตั้งคำถาม (Model ดร.สมคิด) ซึ่งอาจใช้ประเด็นเป็นตัวขับเคลื่อน เช่นประเด็นเกษตร หรืออื่นๆ  โดยศูนย์ประสานงานฯเสนอให้เป็นการขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดลำปาง โดยเน้นพื้นที่เป็นตัวตั้ง 3) ใช้กรอบModel ของดร.สาวิตรเพื่อขับเคลื่อนผ่านงาน ABC (งานวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่ของสกว.กลาง) ซึ่งทั้ง 3 แนวทางจะนำไปสู่การพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุปเชิงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
     3) ช่องทางของการเคลื่อนงานของเครือข่ายการศึกษาจังหวัดลำปางร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง  เบื้องต้นศูนย์ประสานงานวิจัยฯ รับเป็นตัวกลางในการประสานการประชุมในครั้งต่อไป และเตรียมข้อมูลพื้นที่วิจัยที่จะใช้เป็นแนวทางของการดำเนินงานต่อไป
+ งานนี้มี ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ร่วมขับเคลื่อนด้วยอีกแรง