#เล่าสู่กันฟัง 63-009 มีสติก่อนทำสมาธิ #ดั่งดอกไม้บาน ผ่านลมหายใจ

การเรียนหนังสือ
หากมีสติ มีสมาธิ มีเป้าหมายชัดเจน
ก็จะทำให้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
การฟังเพลง และแสดงท่าประกอบ
จะช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างมีสติ

หวังให้เรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมกันทุกคน

ชวนฟังเพลง #ดั่งดอกไม้บาน

ลมหายใจเข้า
ลมหายใจออก
ดั่งดอกไม้บาน
ภูผาใหญ่กว้าง
ดั่งสายน้ำฉ่ำเย็น
ดั่งนภาอากาศ
อันบางเบา

https://www.youtube.com/watch?v=fTTDrSiLX0Y&app=desktop

นิทานสอนจริยธรรม เรื่อง เรือที่ไม่ได้เรื่อง

เรือ 2 ลำ กับเรือที่ไม่ได้เรื่อง
เรือ 2 ลำ กับเรือที่ไม่ได้เรื่อง

หลังอ่านนิทานของ อ.ชีวิน สุนสะธรรม
เรื่อง “เรือที่ไม่ได้เรื่อง” ทำให้นึกถึง
TQF = กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ
ที่กำหนดว่าทุกหลักสูตรต้องสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม

โดยแทรก คุณธรรม จริยธรรม (Morality and Ethics) เข้าไปในทุกรายวิชา (มคอ.3)

1) ตระหนักในคุณค่าและคุณธรรม จริยธรรม เสียสละ และซื่อสัตย์สุจริต
2) มีวินัย ตรงต่อเวลา และความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
3) มีภาวะความเป็นผู้นำและผู้ตาม สามารถทำงานเป็นทีมและสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งและลำดับความสำคัญ
4) เคารพสิทธิและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมทั้งเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
5) เคารพกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ขององค์กรและสังคม
6) สามารถวิเคราะห์ผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์ต่อบุคคลองค์กรและสังคม
7) มีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ

จากนิทานด้านล่าง ทำให้นึกถึงสุภาษิตคำพังเพยว่า
ถ่มน้ำลายรดฟ้า” และ
ความผิดคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดของเราเท่าเส้นผม

เรื่อง เรือที่ไม่ได้เรื่อง โดย ชีวิน สุนสะธรรม
https://www.facebook.com/cheevin.soonsatham

กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีชายขับเรือคนหนึ่ง
ได้ประกอบเรือขึ้นมา 1 ลำ มันไม่ใหญ่อะไรมาก
แต่หวังว่าจะสามารถส่งผู้โดยสารให้ไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้
และใครที่จะไปขึ้นอีกฝั่งนึงได้
จะต้องมีปลามากมายที่จะต้องตกให้ได้ระหว่างทาง

ชายขับเรือมองเห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งที่มีความสามารถในการตกปลา
จึงเดินไปบอกกับเขาว่า
ไอ้หนุ่ม .. มาขึ้นเรือของฉันไหม
ฉันจะให้เธอขึ้นฟรีฟรีเลย
เพราะฉันเห็นว่าเธอจะตกปลาได้มากมาย
และพอไปถึงฝั่งนู้น เรือของฉันจะได้เป็นที่รู้จัก

หนุ่มคนนั้นก็เลยยอมที่จะขึ้นเรือลำเล็ก ๆ
และไปพร้อมกับชายขับเรือ

ระหว่างทาง หนุ่มตกปลาได้รับการสอนเทคนิค
ในการตกปลา เพื่อให้จับปลาให้ได้มากขึ้นจากชายขับเรือ
แต่ยังไงก็ตาม หนุ่มตกปลาก็เฝ้ามองแต่เรือลำใหญ่ที่อยู่ข้าง ๆ
และชื่นชมเรือลำใหญ่นั้นว่าสะดวกสบาย

ชายขับเรือเห็นเช่นนั้น
จึงพยายามทำทุกอย่างที่จะทำได้
ให้เหมือนกับเรือลำใหญ่
ไม่ว่าจะพาชายหนุ่มตกปลาในที่ปลาชุกชุม
เพื่อให้ตกปลาได้มากขึ้น
และพยายามเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดอย่างเต็มกำลัง
ให้ได้มากกว่าบรรดาผู้โดยสารในเรือลำใหญ่จะได้รับเสียด้วยซ้ำ

แต่ถึงพยายามเพียงใดก็ตาม ด้วยความเป็นเรือใหม่
จึงมีข้อบกพร่องต่าง ๆ บ้าง
แต่ชายหนุ่มก็ไม่เห็นถึงความพยายาม
ทำดีที่สุดของคนขับเรือเพื่อให้ชายหนุ่มตกปลา
ได้ปลาเยอะที่สุดก่อนที่จะถึงฝั่ง

ชายหนุ่มตกปลาไม่สนใจว่าตัวเองได้ปลามามากแค่ไหน
และไม่สนใจว่าคนขับเรือจะดูแลเอาใจใส่มากน้อยเพียงใด
แต่ก็ยังรู้สึกหงุดหงิดที่เรือลำนี้มันไม่สบาย “มันไม่ได้เรื่อง

เมื่อถึงฝั่ง ชายหนุ่มตกปลาเดินขึ้นฝั่งพร้อมปลามากมาย
และประกาศให้ทุกคนรับทราบว่า “เรือลำนี้ไม่ได้เรื่อง
แต่ก็มีผู้คนถามมาว่า
ถ้าเรือลำนี้ไม่ได้เรื่องแล้ว เจ้าได้ปลามาจากไหนมากมาย

ชายหนุ่มบอกว่า “มันเป็นความสามารถของข้าเอง แต่เรือมันไม่ได้เรื่อง
และก็มีคนถามว่า “แล้วคนขับเรือล่ะ ดีไหม
ชายหนุ่มก็ตอบว่า “คนขับเรือก็ดี แต่ช่างเถอะ เรือมันไม่ได้เรื่อง

ทุกคนจึงรับทราบและจดจำกันไปว่า
เรือของชายหนุ่มคนนี้นั่งมา “มันไม่ได้เรื่อง
หลังจากนั้น ไม่ว่าชายหนุ่มคนนี้เอาปลาไปขายที่ไหน
ทุกคนก็จะรู้ว่า เป็นชายหนุ่มคนที่นั่งมากับเรือที่ไม่ได้เรื่อง

ในที่สุด
ชายหนุ่มมีเงินมากมายจากการขายปลาที่ตัวเองตกมาได้
และพยายามไม่บอกใคร ว่าตัวเองนั่งเรืออะไรมาจนถึงฝั่ง
เพราะยังไง “เรือมันก็ไม่ได้เรื่อง

คำถามท้ายนิทาน
“นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า .. อะไร”

 

ล่องแพเหนือเขื่อนกิ่วลม 2559 เล่าด้วย 4 ภาพ

 

สังคมต้องการคนดี (We want the good man)

เก็บขยะที่คนอื่นทิ้ง เป็นคนดี
เก็บขยะที่คนอื่นทิ้ง เป็นคนดี

คำว่า “สังคมต้องการคนดี
เป็นวลีที่เข้าใจง่าย และเข้าใจได้
พบว่า สื่อมักแชร์ข่าวสารว่าผู้คนในโลกโซเชียล
พากัน แห่ ลุม ระดม ฮือ อึ้ง เพียบ มึน สุด
เพราะ ผมเอง หรือผู้คนในโลกโซเชียลต้องการคนดี
ในสถานการณ์ปกติแล้ว ทุกคน คือ คนธรรมดา
ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง หรือในโลกโซเชียล
จึงมักมีความคาดหวัง ความต้องการว่าจะมี “คนดี” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเฉพาะดารา นักแสดง ราชการ นักการเมือง
คนรวย คนดัง หรือบุตรหลานคนเหล่านั้น
ก็เป็นที่คาดหวังมากกว่าปกติ ว่าพวกเขาจะเป็น “คนดี”

อาทิ
ตำรวจ ต้องไม่เป็นผู้ร้าย
ดารา ต้องไม่ใช้กำลังทำร้ายใคร
นักแสดง ต้องไม่เห็นค่าของวัตถุมากกว่าค่าของคน
นักการเมือง ต้องรักสัตว์
ครู ต้องไม่ลอกข้อสอบ
นักเรียน ต้องไม่โดดเรียน
พระ ต้องไม่คิดเรื่องผู้หญิงยิงเรือ

 

ล่าสุด
มีหนุ่มทำคลิ๊ป นำเสนอว่าเห็นคนทิ้งขยะต่อหน้า
แล้วมีใครบ้างเก็บขยะจากคนที่พึ่งทิ้งไปหยก ๆ
ถ้าเก็บก็แสดงว่ามีจิตสำนึก เป็น “คนดี”
และ มีอีกคลิ๊ปที่ฮือฮาเช่นกัน
คลิ๊ปถามคำถามเป็นภาษาอังกฤษ
แล้วเด็กเยาวชนไทยตอบไม่ได้
ก็นำมาออกรายการ เค้าชี้ปัญหาระบบการศึกษา
แล้วมีคนในโซเชียลถามว่า “จะใช่หรือ”

https://www.youtube.com/watch?v=jR0ZJEHyhyk

 

ถังน้ำ 2 ใบ

ข้อคิดจากถังน้ำ 2 ใบ
ข้อคิดจากถังน้ำ 2 ใบ
ชายจีนคนหนึ่งแบกถังน้ำสองใบไว้บนบ่า เพื่อไปตักน้ำที่ริมลำธาร
ถังน้ำใบหนึ่งมีรอยแตก ในขณะที่อีกใบหนึ่งไร้รอยตำหนิ และสามารถบรรจุน้ำกลับมาได้เต็มถัง
แต่ด้วยระยะทางอันยาวไกลจากลำธารกลับสู่บ้าน จึงทำให้น้ำที่อยู่ในถังใบที่มีรอยแตกเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ดำเนินมาเป็นเวลาสองปีเต็มที่คนตักน้ำสามารถตักน้ำ กลับมาบ้านได้หนึ่งถังครึ่ง
ซึ่งแน่นอนว่าถังน้ำใบที่ไม่มีตำหนิจะรู้สึกภาคภูมิใจ ในผลงานเป็นอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกันถังน้ำที่มีรอยแตกก็รู้สึกอับอายต่อความบกพร่องของตัวเอง
มันรู้สึกโศกเศร้ากับการที่มันสามารถทำหน้าที่ได้เพียงครึ่งเดียวของจุดประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมา
หลังจากเวลาสองปีที่ถังน้ำที่มีรอยแตกมองว่าเป็นความล้มเหลวอันขมขื่น
วันหนึ่งที่ข้างลำธาร มันได้พูดกับคนตักน้ำว่า
ข้ารู้สึกอับอายตัวเองเป็นเพราะรอยแตกที่ด้านข้างของตัวข้าที่ทำให้น้ำที่อยู่ข้างใน
ไหลออกมาตลอดเส้นทางที่กลับไปยังบ้านของท่าน
คนตักน้ำตอบว่า “เจ้าเคยสังเกตหรือไม่ว่ามีดอกไม้เบ่งบานอยู่ตลอดเส้นทางในด้านของเจ้า
แต่กลับไม่มีดอกไม้อยู่เลยในอีกด้านหนึ่ง เพราะข้ารู้ว่าเจ้ามีรอยแตกอยู่
ข้าจึงได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลงข้างทางเดินด้านของเจ้า และทุกวันที่เราเดินกลับ
เจ้าก็เป็นผู้รดน้ำให้กับเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น เป็นเวลาสองปีที่ข้าสามารถที่จะเก็บดอกไม้สวย ๆ เหล่านั้น
กลับมาแต่งโต๊ะกินข้าว ถ้าปราศจากเจ้าที่เป็นเจ้าแบบนี้แล้ว
เราก็คงไม่อาจได้รับความสวยงามแบบนี้ได้ คนเราแต่ละคนย่อมมีข้อบกพร่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
แต่รอยตำหนิและข้อบกพร่องที่เราแต่ละคนมีนั้น อาจช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันของเราน่าสนใจ
และกลายเป็นบำเหน็จ รางวัลของชีวิตได้
สิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่ยอมรับคนแต่ละคนในแบบที่เขาเป็น และมองหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้นเอง
.. มองแง่บวกเข้าไว้

คุณวุฒิ คุณภาพ คุณธรรม

คุณวุฒิ  คุณภาพ  คุณธรรม : คำทั้ง ๓ คำนี้   เชื่อว่าผู้อ่านคงคุ้นเคยอยู่      และคงเป็นคำที่ทุก ๆ คนปรารถนาจะให้เกิดขึ้นกับตัวเอง   และกับบุคคลข้างเคียง    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   อยากจะให้เกิดกับคนในองค์กรเดียวกัน   ตั้งแต่ระดับหัวหน้าสูงสุดลงไปเลย  ก็เพราะอานุภาพของความหมายของคำทั้งสามคำนั่นเอง

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิเษก  จันทร์เอี่ยม

“คุณวุฒิ” เป็นสิ่งที่คนในแวดวงวิชาการอย่างพวกเราจะแสวงหามาใส่ตัวเสมอ     หากมีมาก ๆ จนเป็นที่เชื่อถือได้   ก็จะได้รับการยกย่องหรือขนานนามให้ว่า  เป็น   “ผู้ทรงคุณวุฒิ”

สิ่งที่เรียกว่า  “คุณวุฒิ” นั้นได้มาจากไหน      หนทางหนึ่งได้มาจากการเป็นผู้ที่ร่ำเรียนในหลักสูตร สาขาวิชาใดวิชาหนึ่งจนถึงขั้นสูงหรือสูงสุดเท่าที่จะมีให้เรียน       เมื่อได้รับ “คุณวุฒิ” ทางการศึกษามา      ก็จะกลายเป็นผู้รอบรู้      เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขานั้น  ๆ          อีกทางหนึ่งก็ได้จากการที่บุคคลผู้นั้นได้พยายามคิดสร้างผลงานทางวิชาการจนเป็นที่เชื่อถือได้ว่า             ผลงานนั้นสมควรได้รับการยอมรับ  ได้รับเกียรติ   ได้รับการยกย่องจากผู้ทรงคุณวุฒิกว่านั้น      จึงทำให้ได้รับอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น   อันเป็นผลมาจากการทุ่มเทกำลังกาย  กำลังปัญญา     เพื่อให้ตนเองมีความรู้  มีความเชี่ยวชาญ  ในศาสตร์แขนงนั้น ๆ เช่นกัน

การที่บุคคลมีคุณวุฒิหรือได้รับคุณวุฒิสูงขึ้น    นั่นหมายถึงบุคคลคนนั้นจะสามารถคิด  อ่าน   กระทำการใด ๆ  ได้หลากหลาย  ซับซ้อนมากกว่าคนอื่น    บุคคลรอบข้างก็จะคาดหวังผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในระดับสูงทีเดียว

ความเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิ”   จึงทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นคนที่  จะคิด  จะพูด  จะกระทำการใด ๆ ก็ตาม    ผู้อื่นย่อมหมายเอาว่า  สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำวาจา   หรือพฤติกรรม    ย่อมเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้   เพราะได้กลั่นกรองมาจากสติปัญญาของผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว

ดังนั้น   เมื่อบุคคลใดมีคุณวุฒิ     หรือได้รับคุณวุฒิสูงขึ้น           ย่อมต้องพึงระมัดระวังพฤติกรรมที่แสดงออกทั้ง  การคิด  การพูด  การกระทำต้องให้สมกับความเป็นผู้มีคุณวุฒิหรือที่เรียกกันว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิ”นั่นเอง

“คุณภาพ” เป็นคำที่เราจะได้ยินได้ฟังบ่อยที่สุดในยุคปัจจุบัน   เพราะเป็นยุคที่โหยหาสิ่งที่เรียกว่า “คุณภาพ”  ในทุก ๆ วงการ         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการศึกษา   ทั้งในเชิงคุณภาพของบุคลากรในวงการศึกษา    และคุณภาพของการศึกษา    รวมถึงคุณภาพของสถานศึกษาด้วย   จะเห็นว่า  ในปัจจุบันนี้มีองค์กรที่ทำหน้าที่รับประกันคุณภาพหรือรับรองคุณภาพการศึกษาอยู่มากมาย

แท้จริงแล้ว  การประกันคุณภาพหรือการรับรองคุณภาพนั้นเป็นตัวแปรผล    ซึ่งไม่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก    สิ่งที่เราควรใส่ใจให้มากคือตัวแปรเหตุ   ที่จะนำมาซึ่ง   “คุณภาพ” ของสิ่งที่เราต้องการ    นั่นคือ  “การจัดการคุณภาพ”             เพราะหากไม่จัดการให้คุณภาพเกิดขึ้นเสียก่อน    ก็ป่วยการที่จะประกันหรือรับรองคุณภาพ   เพราะคงหาคุณภาพไม่พบ

ดังนั้น   ก่อนดำเนินการเรื่องใด ๆ   ที่หวังว่าจะทำได้อย่างมีคุณภาพ        จึงควรกำหนดวิธีการจัดการงานนั้นให้แสดงถึงความมีคุณภาพก่อน    แล้วกำกับให้งานดำเนินไปตามแผนที่วางไว้  นั่นคือ    ต้องมีการกำหนดเกณฑ์ (criteria)  และมาตรฐาน (standard)   ของงานหรือการดำเนินงานนั้น ๆ ก่อน     อาจจะต้องมีการกำหนดการเทียบเคียงสมรรถนะ  (benchmark) กับผู้อื่น  หรือองค์กรอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันด้วย            เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของตนเองให้ใกล้เคียงกับหน่วยงานอื่น ๆ    ในระหว่างการปฏิบัติงาน   บุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงหลักแห่งคุณภาพเสมอ   และหมั่นตรวจวัดคุณภาพด้วยเครื่องมือต่าง ๆ  ที่เตรียมไว้     และต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของการทำงานเป็นระยะ ๆ ตามแผนที่กำหนดด้วย

หากกระทำดั่งนี้แล้ว   เมื่อมีการประกันคุณภาพ  หรือการรับรองคุณภาพ   ไม่ว่าจะด้วยวิธีการของหน่วยงานใด ๆ ก็ตาม    ย่อมประกันหรือรับรองคุณภาพได้อย่างไม่ยากแน่ ๆ

ในด้านคุณภาพของตัวบุคคลก็เช่นเดียวกัน   ควรคำนึงถึงหลักแห่งคุณภาพด้วยเช่นกัน    และสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  การคำนึงถึงคุณภาพเฉพาะตัวบุคคล      และคุณภาพในการปฏิบัติงานของบุคคลนั้นด้วย    โดยจะมีการกำหนดเกณฑ์  มาตรฐาน   การเทียบเคียงสมรรถนะ        ตลอดจนเครื่องมือวัดคุณภาพต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม   คำว่า “คุณภาพ”   จะยังคงเป็นคำสำคัญที่ทุก ๆคน  ทุก ๆ องค์กร  หวังจะให้เกิดขึ้นกับตนเอง    และก็หวังว่า  คนอื่น ๆ และองค์กรอื่น ๆ  ก็คำนึงถึงเรื่องนี้เช่นกัน


“คุณธรรม”
เป็นอีกคำหนึ่งที่จะยังคงเรียกร้องและโหยหาเพื่อให้มีอยู่ในตัวคนทุกคน  ทั้งนี้    เพราะเชื่อว่า  “คุณธรรม”  จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้บุคคล   ไม่คิด   ไม่พูด    ไม่แสดงออกในทางที่ไม่พึงประสงค์     เพราะจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนทั้งแก่ตัวบุคคลนั้น  และบุคคลข้างเคียงหรือคนในสังคมโดยทั่วไป    ความสงบสุขในสังคมก็จะพลอยสูญเสียไปด้วย

ทั้งนี้เพราะ “คุณธรรม”   หมายถึง ธรรมชาติฝ่ายที่เป็นคุณ          หรือที่เรียกว่า “กุศลธรรม”  ตรงกันข้ามกับ  “อกุศลธรรม”   ซึ่งเป็นธรรมชาติฝ่ายเป็นโทษ     ธรรมชาติทั้งสองส่วนนี้มีอยู่ทั้งในตัวคน  และรอบ ๆ ตัวคน    ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติในส่วนที่เป็น “กุศลธรรม”  ก็จะสร้างสันติสุขให้กับตนเองและคนข้างเคียงได้              และถ้าทุก ๆ คนในสังคมยึดมั่นอยู่ในความมี “คุณธรรม”   สังคมนั้นก็จะมีแต่สันติสุข        เพราะ “คุณธรรม”  จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งไม่ให้คนประพฤติชั่ว   หรือกระทำในสิ่งที่จะนำความเสียหายหรือเดือดร้อนมาสู่ตนเองหรือสังคมรอบข้าง

ธรรมชาติฝ่ายเป็นคุณ  หรือ “คุณธรรม”  ที่พึงประสงค์มีมากมายหลายเรื่องตั้งแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม     เช่น  ความขยัน  ความซื่อสัตย์  ความมีเมตตา  กรุณา  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ความเห็นใจผู้อื่น  ความเสียสละ  ความมานะอดทน   เป็นต้น      หากทุกคนในสังคม  หรือในองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว     และประพฤติปฏิบัติ “คุณธรรม”ก็เชื่อว่า   บุคคล   องค์กร  และสังคมจะมีสันติสุขยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในทุก ๆ วันนี้

แต่ทั้งนี้   การประพฤติปฏิบัติอย่างมี “คุณธรรม”  นั้น      ไม่มีกฎหมาย  หรือข้อบังคับใด ๆ ที่จะเอาผิดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางของคุณธรรมได้        จึงเป็นสิ่งที่บุคคลต้องอาศัยความกล้าหาญที่จะประพฤติปฏิบัติคุณธรรมด้วยความสมัครใจ              และกล้าหาญที่จะละเว้นสิ่งที่เป็น “อกุศลธรรม”  แม้ว่าบางครั้งสิ่งเหล่านั้นจะเอื้อประโยชน์ให้ตนมากกว่าก็ตาม          ดังนั้น  เมื่อพูดถึง “คุณธรรม”  แล้ว  จึงมักตามด้วย  “จริยธรรม” เสมอ        เพราะ “จริยะ”  คือการกระทำ  หรือการปฏิบัติ  ในสิ่งที่  เป็น “ธรรม”  นั่นเอง

การปฏิบัติสิ่งที่เป็น “จริยธรรม”    ก็อาศัยความกล้าหาญด้วยเช่นกัน       คือกล้าที่จะประพฤติปฏิบัติ “จริยธรรม”    แม้ไม่มีบทบัญญัติโทษไว้ชัดเจนก็ตาม    แม้จะไม่ได้ผลประโยชน์ตามมาก็ตาม    หากสิ่งนั้นพึงเป็นสิ่งกระทำ  หรือเป็นสิ่งพึงเว้นกระทำ   ก็กล้าที่จะลงมือทำหรือละเว้นการกระทำ   เพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้น           ความมี “คุณธรรม” และ “จริยธรรม”  จึงมักจะไปด้วยกันเสมอ

หากในตัวบุคคลใด    มี “คุณ”  ทั้งสามประการนี้   คือ     “คุณวุฒิ      คุณภาพ      และ คุณธรรม”   ย่อมเชื่อได้ว่า   บุคคลนั้นเป็นผู้ทรงอานุภาพแห่งความดี   ความงาม  ที่พร้อมจะบันดาลให้ตนเองประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงานต่าง ๆ ได้อย่างดี   และสร้างสันติสุข   คือ  “สุขตน”  และ “สุขท่าน”  ได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นคนโดยแท้จริง        และหากองค์กรใด   มีบุคลากรที่เพียบพร้อมด้วย “คุณ”  ทั้งสามประการนี้   องค์กรนั้นก็ย่อมมั่นคงและรุ่งเรือง   เป็นองค์กรที่มีแต่ “สันติสุข”  เช่นกัน

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.  ภิเษก  จันทร์เอี่ยม
http://www.watjrb.net/index.php?mo=3&art=350276

http://www.kasettak.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=75&Itemid=56