23 พ.ค.53 ตามที่มีเกณฑ์ของ สกอ. ออกใหม่ปี 2553 ใน ตบช 7.5 ที่ระบุว่ามหาวิทยาลัยและคณะวิชาต้องมีแผนระบบสารสนเทศ จากการวิพากษ์ระบบฐานข้อมูลในเดือนที่ผ่านมา จึงจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ และดำเนินการยกร่างแผนระบบสารสนเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำฟอร์มกรอกข้อมูลแผนในรายละเอียดที่สื่อให้เข้าใจตรงกัน สอดรับกับการทำงานสามด้านของระบบสารสนเทศ คือ การนำข้อมูลเข้า การประมวลผล และการนำไปใช้ แต่สารสนเทศมีรายละเอียดมาก จึงให้ความสำคัญกับสารสนเทศที่เกี่ยวกับ 4 มิติ คือ 1) องค์กรภายนอก 2) แผนกลยุทธ์ 3 ) การประกันคุณภาพ 4) การบริหารจัดการที่สำคัญ
กระบวนการที่ใช้ในการจัดทำแผนระบบสารสนเทศคือ 1) วิพากษ์ระบบฐานข้อมูล 2) แต่งตั้งกรรมการ ร่วมกันยกร่างแผน ให้ข้อมูลเรื่องแผนแก่บุคลากร และรับข้อเสนอแผนจากบุคลากร 3) ประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกันจัดทำแผน 4) เสนอขออนุมัติแผนต่อมหาวิทยาลัย 5) ดำเนินการตามแผน 6) ติดตาม และประเมินกิจกรรม 6) สรุปผล
.. เล่าสู่กันฟังครับ เพราะขณะนี้อยู่ขั้นตอนการยกร่างแผน
Tag: กระบวนการ
กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจากเวที CBPUS
21 ก.พ.53 อาจารย์วิเชพ ใจบุญ รักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยโยนก ร่วม “เวทีสรุปบทเรียนการขยายผลกระบวนการใช้งานวิจัย ชุดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (CBPUS) พื้นที่จังหวัดลำปาง” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอาลัมพางค์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยมีนักศึกษาของคณะฯ จำนวน 2 คนนำเสนอรายงานการวิจัยโครงการ “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง” ที่รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) ซึ่งผลการวิจัยได้วีดีทัศน์ในรูปซีดีภาพยนต์ 2 เรื่องคือ 1) รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และ 2) กระบวนการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพ ซึ่งนักศึกษาได้จัดทำซีดีเผยแพร่ให้กับผู้ร่วมเวทีในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ กระบวนการและบทเรียนจากการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในบทบาทของนักศึกษา
+ http://www.youtube.com/watch?v=0FE19fyfrk4 วีดีโอ 9 นาที
+ http://www.thaiall.com/researchenlarge หน้าที่ 6 ล่าสุด
กรกับปรางนำเสนองานวิจัยที่อาคารอาลัมพางค์
21 ก.พ.53 น.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม และ นายกร ศิริพันธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยโยนก นำเสนอรายงานผลโครงการวิจัยในเวทีสรุปบทเรียนการขยายผลกระบวนการใช้งานวิจัย ชุดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (CBPUS) พื้นที่จังหวัดลำปาง ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารอาลัมพางค์ มรภ.ลำปาง โดยมีเพื่อนนักวิจัยทุน CBPUS จาก มรภ.ลำปาง มทร.ล้านนา และมจร.ห้องเรียนวัดบุญวาทย์ ที่สำคัญงานนี้มี อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศริน อินเพลา ในฐานะอาจารย์ผู้อบรมสั่งสอนนักศึกษา และกรรมการสอบโครงงานฯ เข้าร่วมในเวทีนี้ เพราะการสำเร็จการศึกษาหรือไม่ มีโครงงานนี้เป็นเดิมพัน และผู้พิจารณาก็มาร่วมเวทีนี้หลายท่าน .. ต้องขอบคุณ น.ส.ภัทรา มาน้อย จากสถาบันนวัตกรรมกระบวนการเรียนรู้ชุมชน และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ รศ.ดร.จิราพร ตยุติวุฒิกุล (อ.ฉิ่ง) ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ช่วยหนุนจนนักศึกษาและอาจารย์ทุกคนมีวันนี้ร่วมกัน .. วันที่งดงามและมีความสุข
บทคัดย่อ (Abstract) ปรับปรุง 21 ก.พ.2553
โครงการวิจัย “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง” เป็นงานวิจัยเชิงปฎิบัติการมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการหาประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 2) เพื่อจัดทำสื่อวีดีโอเผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 3) เพื่อศึกษาทิศทาง หรือแนวโน้มในการขยายผลการนำสื่อวีดีโอที่จัดทำไปใช้ในกลุ่มเป้าหมาย
กระบวนการวิจัยมีขั้นตอนดังนี้ รวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เรียนรู้ท้องถิ่น สัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน ศึกษาการจัดงานศพในหมู่บ้าน วิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำโครงเรื่อง บันทึกวีดีโอของคนในชุมชนแล้วตัดต่อลงสื่อวีดีทัศน์ แล้วนำไปขยายผลในชุมชนและโรงเรียนเป้าหมาย จากการทำงานวิจัยในท้องถิ่น พบว่า ผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อชุมชนชัดเจน เชื่อมโยงผู้คนหลากหลายบทบาท ได้มีประสบการณ์เชิงบวกร่วมกันเชิงบูรณาการ
ผลการวิจัยพบว่า จากการขยายผลผ่านสื่อวีดีทัศน์ลงไปยังกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ ในชุมชน โรงเรียนบ้านไหล่หิน และโรงเรียนไหล่หินวิทยา มีผลการประเมินความพึงพอใจจากการรับชมวีดีทัศน์ด้วยแบบสอบถามในภาพรวมระดับมากที่สุด (X=4.37, S.D.=0.62) มีผลประเมินความพึงพอใจของตัวแทนชุมชนจากกลุ่มตัวอย่าง 13 คนอยู่ระดับมากที่สุด (X=4.31, S.D.=0.64) มีผลประเมินความพึงพอใจของนักเรียนโรงเรียนบ้านไหล่หินจากกลุ่มตัวอย่าง 25 คนอยู่ระดับมากที่สุด (X=4.35, S.D.=0.64) และมีผลประเมินความพึงพอใจของนักเรียนโรงเรียนไหล่หินวิทยาจากกลุ่มตัวอย่าง 31 คนอยู่ระดับมากที่สุด (X=4.42, S.D.=0.59)
คำสำคัญ วีดีทัศน์ วีดีโอ งานศพ กระบวนการ บ้านไหล่หิน
+ http://www.youtube.com/watch?v=0FE19fyfrk4 ชุดเล็ก9นาที
+ http://www.facebook.com/video/ ชุดเต็ม 11.50 นาที
+ http://www.facebook.com/album.php?aid=150012 อาจารย์ในเวที
+ http://www.thaiall.com/research/abstract_vdo_v1.doc บทคัดย่อ
กระบวนการจัดการความรู้
14 พ.ย.52 การจัดการความรู้หรือเคเอ็ม (KM = Knowledge Management) คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสารมาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด โดย นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ระบุว่าการจัดการความรู้สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ 1) บรรลุเป้าหมายของงาน 2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน 3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ 4) บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน
การจัดการความรู้เป็นเรื่องใหม่ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ อาจฝืนธรรมชาติของมนุษย์บางท่าน แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะสนับสนุนให้มนุษย์มีความเอื้ออาทรเพิ่มขึ้นในจิตใจ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และเห็นเป้าหมายขององค์กรเป็นที่ตั้ง ซึ่งมี กระบวนการที่ยอมรับทั่วไป 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การบ่งชี้ความรู้ คือ การระบุประเด็นความรู้ รูปแบบ และผู้รู้ที่สอดรับกับนโยบาย ขอบเขตและเป้าหมายขององค์กร 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ คือ การรวบรวมความรู้ใหม่ รักษาความรู้เดิม และกรองความรู้ที่ไม่ใช้ออกจากแหล่งรวบรวม 3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ คือ การวิเคราะห์และคัดแยกความรู้เป็นกลุ่มประเด็นให้ง่ายต่อการเข้าถึงอย่างมีขั้นตอน 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ คือ การปรับปรุงให้ความรู้มีรูปแบบมาตรฐาน ไม่ซ้ำซ้อน มีความสมบูรณ์ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ 5) การเข้าถึงความรู้ คือ การสร้างแหล่งเผยแพร่ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
หลังเผยแพร่ความรู้ที่รวบรวมได้ก็เข้าสู่ขั้นตอนที่ 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ คือ การนำความรู้เข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนที่มีฐานความรู้หรือฐานข้อมูลรองรับให้ง่ายต่อการเข้าถึงและสืบค้น 7) การเรียนรู้ คือ การใช้ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นวงจรความรู้ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ การจัดการความรู้เป็นงานบูรณาการที่จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้ากันได้ของขอบเขต เป้าหมาย เครื่องมือ ผู้รู้ ผู้เรียนรู้ และผู้บริหารที่เห็นชอบร่วมกันทั้งองค์กร
+ http://www.thaiall.com/km/handbook_2549.doc