คุณวุฒิ คุณภาพ คุณธรรม

คุณวุฒิ  คุณภาพ  คุณธรรม : คำทั้ง ๓ คำนี้   เชื่อว่าผู้อ่านคงคุ้นเคยอยู่      และคงเป็นคำที่ทุก ๆ คนปรารถนาจะให้เกิดขึ้นกับตัวเอง   และกับบุคคลข้างเคียง    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   อยากจะให้เกิดกับคนในองค์กรเดียวกัน   ตั้งแต่ระดับหัวหน้าสูงสุดลงไปเลย  ก็เพราะอานุภาพของความหมายของคำทั้งสามคำนั่นเอง

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิเษก  จันทร์เอี่ยม

“คุณวุฒิ” เป็นสิ่งที่คนในแวดวงวิชาการอย่างพวกเราจะแสวงหามาใส่ตัวเสมอ     หากมีมาก ๆ จนเป็นที่เชื่อถือได้   ก็จะได้รับการยกย่องหรือขนานนามให้ว่า  เป็น   “ผู้ทรงคุณวุฒิ”

สิ่งที่เรียกว่า  “คุณวุฒิ” นั้นได้มาจากไหน      หนทางหนึ่งได้มาจากการเป็นผู้ที่ร่ำเรียนในหลักสูตร สาขาวิชาใดวิชาหนึ่งจนถึงขั้นสูงหรือสูงสุดเท่าที่จะมีให้เรียน       เมื่อได้รับ “คุณวุฒิ” ทางการศึกษามา      ก็จะกลายเป็นผู้รอบรู้      เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขานั้น  ๆ          อีกทางหนึ่งก็ได้จากการที่บุคคลผู้นั้นได้พยายามคิดสร้างผลงานทางวิชาการจนเป็นที่เชื่อถือได้ว่า             ผลงานนั้นสมควรได้รับการยอมรับ  ได้รับเกียรติ   ได้รับการยกย่องจากผู้ทรงคุณวุฒิกว่านั้น      จึงทำให้ได้รับอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น   อันเป็นผลมาจากการทุ่มเทกำลังกาย  กำลังปัญญา     เพื่อให้ตนเองมีความรู้  มีความเชี่ยวชาญ  ในศาสตร์แขนงนั้น ๆ เช่นกัน

การที่บุคคลมีคุณวุฒิหรือได้รับคุณวุฒิสูงขึ้น    นั่นหมายถึงบุคคลคนนั้นจะสามารถคิด  อ่าน   กระทำการใด ๆ  ได้หลากหลาย  ซับซ้อนมากกว่าคนอื่น    บุคคลรอบข้างก็จะคาดหวังผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิไว้ในระดับสูงทีเดียว

ความเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิ”   จึงทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นคนที่  จะคิด  จะพูด  จะกระทำการใด ๆ ก็ตาม    ผู้อื่นย่อมหมายเอาว่า  สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำวาจา   หรือพฤติกรรม    ย่อมเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้   เพราะได้กลั่นกรองมาจากสติปัญญาของผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว

ดังนั้น   เมื่อบุคคลใดมีคุณวุฒิ     หรือได้รับคุณวุฒิสูงขึ้น           ย่อมต้องพึงระมัดระวังพฤติกรรมที่แสดงออกทั้ง  การคิด  การพูด  การกระทำต้องให้สมกับความเป็นผู้มีคุณวุฒิหรือที่เรียกกันว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิ”นั่นเอง

“คุณภาพ” เป็นคำที่เราจะได้ยินได้ฟังบ่อยที่สุดในยุคปัจจุบัน   เพราะเป็นยุคที่โหยหาสิ่งที่เรียกว่า “คุณภาพ”  ในทุก ๆ วงการ         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการศึกษา   ทั้งในเชิงคุณภาพของบุคลากรในวงการศึกษา    และคุณภาพของการศึกษา    รวมถึงคุณภาพของสถานศึกษาด้วย   จะเห็นว่า  ในปัจจุบันนี้มีองค์กรที่ทำหน้าที่รับประกันคุณภาพหรือรับรองคุณภาพการศึกษาอยู่มากมาย

แท้จริงแล้ว  การประกันคุณภาพหรือการรับรองคุณภาพนั้นเป็นตัวแปรผล    ซึ่งไม่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก    สิ่งที่เราควรใส่ใจให้มากคือตัวแปรเหตุ   ที่จะนำมาซึ่ง   “คุณภาพ” ของสิ่งที่เราต้องการ    นั่นคือ  “การจัดการคุณภาพ”             เพราะหากไม่จัดการให้คุณภาพเกิดขึ้นเสียก่อน    ก็ป่วยการที่จะประกันหรือรับรองคุณภาพ   เพราะคงหาคุณภาพไม่พบ

ดังนั้น   ก่อนดำเนินการเรื่องใด ๆ   ที่หวังว่าจะทำได้อย่างมีคุณภาพ        จึงควรกำหนดวิธีการจัดการงานนั้นให้แสดงถึงความมีคุณภาพก่อน    แล้วกำกับให้งานดำเนินไปตามแผนที่วางไว้  นั่นคือ    ต้องมีการกำหนดเกณฑ์ (criteria)  และมาตรฐาน (standard)   ของงานหรือการดำเนินงานนั้น ๆ ก่อน     อาจจะต้องมีการกำหนดการเทียบเคียงสมรรถนะ  (benchmark) กับผู้อื่น  หรือองค์กรอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันด้วย            เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของตนเองให้ใกล้เคียงกับหน่วยงานอื่น ๆ    ในระหว่างการปฏิบัติงาน   บุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงหลักแห่งคุณภาพเสมอ   และหมั่นตรวจวัดคุณภาพด้วยเครื่องมือต่าง ๆ  ที่เตรียมไว้     และต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของการทำงานเป็นระยะ ๆ ตามแผนที่กำหนดด้วย

หากกระทำดั่งนี้แล้ว   เมื่อมีการประกันคุณภาพ  หรือการรับรองคุณภาพ   ไม่ว่าจะด้วยวิธีการของหน่วยงานใด ๆ ก็ตาม    ย่อมประกันหรือรับรองคุณภาพได้อย่างไม่ยากแน่ ๆ

ในด้านคุณภาพของตัวบุคคลก็เช่นเดียวกัน   ควรคำนึงถึงหลักแห่งคุณภาพด้วยเช่นกัน    และสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  การคำนึงถึงคุณภาพเฉพาะตัวบุคคล      และคุณภาพในการปฏิบัติงานของบุคคลนั้นด้วย    โดยจะมีการกำหนดเกณฑ์  มาตรฐาน   การเทียบเคียงสมรรถนะ        ตลอดจนเครื่องมือวัดคุณภาพต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม   คำว่า “คุณภาพ”   จะยังคงเป็นคำสำคัญที่ทุก ๆคน  ทุก ๆ องค์กร  หวังจะให้เกิดขึ้นกับตนเอง    และก็หวังว่า  คนอื่น ๆ และองค์กรอื่น ๆ  ก็คำนึงถึงเรื่องนี้เช่นกัน


“คุณธรรม”
เป็นอีกคำหนึ่งที่จะยังคงเรียกร้องและโหยหาเพื่อให้มีอยู่ในตัวคนทุกคน  ทั้งนี้    เพราะเชื่อว่า  “คุณธรรม”  จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้บุคคล   ไม่คิด   ไม่พูด    ไม่แสดงออกในทางที่ไม่พึงประสงค์     เพราะจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนทั้งแก่ตัวบุคคลนั้น  และบุคคลข้างเคียงหรือคนในสังคมโดยทั่วไป    ความสงบสุขในสังคมก็จะพลอยสูญเสียไปด้วย

ทั้งนี้เพราะ “คุณธรรม”   หมายถึง ธรรมชาติฝ่ายที่เป็นคุณ          หรือที่เรียกว่า “กุศลธรรม”  ตรงกันข้ามกับ  “อกุศลธรรม”   ซึ่งเป็นธรรมชาติฝ่ายเป็นโทษ     ธรรมชาติทั้งสองส่วนนี้มีอยู่ทั้งในตัวคน  และรอบ ๆ ตัวคน    ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติในส่วนที่เป็น “กุศลธรรม”  ก็จะสร้างสันติสุขให้กับตนเองและคนข้างเคียงได้              และถ้าทุก ๆ คนในสังคมยึดมั่นอยู่ในความมี “คุณธรรม”   สังคมนั้นก็จะมีแต่สันติสุข        เพราะ “คุณธรรม”  จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งไม่ให้คนประพฤติชั่ว   หรือกระทำในสิ่งที่จะนำความเสียหายหรือเดือดร้อนมาสู่ตนเองหรือสังคมรอบข้าง

ธรรมชาติฝ่ายเป็นคุณ  หรือ “คุณธรรม”  ที่พึงประสงค์มีมากมายหลายเรื่องตั้งแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม     เช่น  ความขยัน  ความซื่อสัตย์  ความมีเมตตา  กรุณา  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ความเห็นใจผู้อื่น  ความเสียสละ  ความมานะอดทน   เป็นต้น      หากทุกคนในสังคม  หรือในองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว     และประพฤติปฏิบัติ “คุณธรรม”ก็เชื่อว่า   บุคคล   องค์กร  และสังคมจะมีสันติสุขยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในทุก ๆ วันนี้

แต่ทั้งนี้   การประพฤติปฏิบัติอย่างมี “คุณธรรม”  นั้น      ไม่มีกฎหมาย  หรือข้อบังคับใด ๆ ที่จะเอาผิดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางของคุณธรรมได้        จึงเป็นสิ่งที่บุคคลต้องอาศัยความกล้าหาญที่จะประพฤติปฏิบัติคุณธรรมด้วยความสมัครใจ              และกล้าหาญที่จะละเว้นสิ่งที่เป็น “อกุศลธรรม”  แม้ว่าบางครั้งสิ่งเหล่านั้นจะเอื้อประโยชน์ให้ตนมากกว่าก็ตาม          ดังนั้น  เมื่อพูดถึง “คุณธรรม”  แล้ว  จึงมักตามด้วย  “จริยธรรม” เสมอ        เพราะ “จริยะ”  คือการกระทำ  หรือการปฏิบัติ  ในสิ่งที่  เป็น “ธรรม”  นั่นเอง

การปฏิบัติสิ่งที่เป็น “จริยธรรม”    ก็อาศัยความกล้าหาญด้วยเช่นกัน       คือกล้าที่จะประพฤติปฏิบัติ “จริยธรรม”    แม้ไม่มีบทบัญญัติโทษไว้ชัดเจนก็ตาม    แม้จะไม่ได้ผลประโยชน์ตามมาก็ตาม    หากสิ่งนั้นพึงเป็นสิ่งกระทำ  หรือเป็นสิ่งพึงเว้นกระทำ   ก็กล้าที่จะลงมือทำหรือละเว้นการกระทำ   เพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้น           ความมี “คุณธรรม” และ “จริยธรรม”  จึงมักจะไปด้วยกันเสมอ

หากในตัวบุคคลใด    มี “คุณ”  ทั้งสามประการนี้   คือ     “คุณวุฒิ      คุณภาพ      และ คุณธรรม”   ย่อมเชื่อได้ว่า   บุคคลนั้นเป็นผู้ทรงอานุภาพแห่งความดี   ความงาม  ที่พร้อมจะบันดาลให้ตนเองประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงานต่าง ๆ ได้อย่างดี   และสร้างสันติสุข   คือ  “สุขตน”  และ “สุขท่าน”  ได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นคนโดยแท้จริง        และหากองค์กรใด   มีบุคลากรที่เพียบพร้อมด้วย “คุณ”  ทั้งสามประการนี้   องค์กรนั้นก็ย่อมมั่นคงและรุ่งเรือง   เป็นองค์กรที่มีแต่ “สันติสุข”  เช่นกัน

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.  ภิเษก  จันทร์เอี่ยม
http://www.watjrb.net/index.php?mo=3&art=350276

http://www.kasettak.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=75&Itemid=56