28 ก.ค.52 ได้รับมอบหมายจาก อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ ให้อ่านรายงานการประชุมผู้บริหาร ตั้งแต่ครั้งที่ 16/2551 ถึง 42/2551 ระหว่าง 6 พ.ค.51 ถึง 30 ธ.ค. 2551 เพื่อสรุปว่าการประชุมวาระใดเกี่ยวข้องกับทั้ง 39 ตัวบ่งชี้ใน 9 องค์ประกอบ ของสกอ.บ้าง จากการอ่านที่ไม่ละเอียดมากนัก พบ 74 วาระจากทั้ง 27 รายงานการประชุม ซึ่งสามารถนำรายงานดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานในการประกันคุณภาพการศึกษา เหตุที่ผมไม่นำวาระออกมาทุกวาระ เพราะบางองค์ประกอบมีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง เช่น ศิลปวัฒนธรรมมีถึง 8 ครั้ง การบริหารความเสี่ยงมีถึง 9 ครั้ง ทำให้ในช่วงหลังจะไม่ทุกวาระทั้งหมดมาเป็นหลักฐาน เพราะเห็นว่ามีการนำมาพิจารณาต่อเนื่อง สำหรับเอกสารที่ได้มาเป็นเพียงของครึ่งปีการศึกษาแรก หากจะให้วิเคราะห์ต่อไปจะต้องใช้จากแฟ้มเอกสารดิจิทอลที่ได้รับมาผ่านอีเมลแต่ละสัปดาห์ หากการตรวจสอบ เอกสารที่ผ่านมามีครบตัวบ่งชี้แล้ว ก็น่าจะหยุดสำหรับการวิเคราะห์เอกสารดิจิทอลที่เหลือ ซึ่งผลการวิเคราะห์นำเสนอไว้ในแฟ้ม excel โดยใช้ pivot table ช่วยในการทำ cross tab ซึ่งได้ผลดังตัวอย่างที่นำเสนอนี้
Tag: report
รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 4/2552
3 ก.ค.52 1)นำเสนองานวิจัยงานศพฯ กทม. ที่ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ชวนไปนำเสนอในเวทีนำเสนองานวิจัย ของกศน.2009 ให้กับผู้บริหารกศน.จากทุกภาคได้ร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 180 ท่าน เพราะท่านได้ฟัง อ.ราตรี ดวงไชย ทีมวิจัยของผมนำเสนอในเวทียุทธศาสตร์การศึกษาของสกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่บ้านเสานัก (ครั้งนั้นผมไปนำเสนองานวิจัยฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่ มจพ.) ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม แบบ PAR = Participatory Action Research หรือ CBR=Community-Based Research แล้วผมได้มีโอกาสพบกับผอ.ของมหาสารคาม ซึ่งท่านนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยใช้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านในลำปาง แล้วผมได้คัดลอกรายงานทั้งเล่มให้กับ อ.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ อ.วันชาติ นภาศรี อ.ชินพันธ์ และน้องออย ผมว่ารายงานฉบับนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้ผมนึกถึงจุดแข็งที่ กศน.มีในบทบาทที่ใกล้ชิดชุมชนและมีเครื่องมือในการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขอย่างชัดเจน นี่เป็น output จากการที่อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ อนุญาตให้ผมได้ไปนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ 2) งานแข่งฟ้อนเล็บเป็นส่วนหนึ่งของงานแห่เทียนปีนี้ ผมร่วมเป็นกำลังใจในฐานะคณะวิทย์ใน งานประกวดฟ้อนเล็บของนักศึกษามหาวิทยาลัยของเรา ที่สวนเขลางค์ในเย็นวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.ค.52 ซึ่งทีมของเราพลาดรางวัลด้านการฟ้อนเล็บไปอย่างน่าเสียดาย ข้อสังเกตที่พบคือ 2.1) ช่างฟ้อนมีมากกว่าคนดูอย่างเห็นได้ชัด แต่ละกลุ่มที่ส่งช่างฟ้อนเข้าประกวดมีกำลังใจตามมาด้วย ไม่มาก อย่างของมหาวิทยาลัยเรามีเพียงผมกับน้องเอ็มและพี่บุญมีเท่านั้น และไม่ต่างกับทีมอื่น 2.2)ส่วนผู้จัดงาน คือเทศบาลนครลำปางก็จะมีกรรมการ 2.3)ผู้ที่มาออกกำลังกายมากมายใน สวนก็ให้ความสนใจกับการรำครั้งนี้น้อยมาก สังเกตุได้จากจำนวนคนดูที่รายล้อมแทบไม่มี 2.4)ช่างฟ้อนที่มาแข่งก็มิได้สนใจการร่ายรำของคู่แข่ง ถ้าไม่ไปซ้อมของตนเอง ก็นั่งรอเวลา ส่วนกลุ่มที่รำเสร็จก่อนก็จะกลับกันก่อนหลังแข่งเสร็จเป็นส่วนใหญ่ 2.5)ความเห็นเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมคงพูดได้แต่คำว่าน่าเป็นห่วง และอยู่ในวิกฤตขาลงอย่างชัดเจน ในสังคมวัตถุนิยม 3)งานแห่เทียนเริ่มตั้งแต่ 7.00น. อ.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ติดต่อรถขนทหารจากค่ายสุรศักดิ์มนตรีเป็นการด่วนเมื่อวาน แล้วผมก็เซ็นบันทึกออกของคณะวิทย์ฯ ขออนุมัติท่านอธิการเมื่อวานเย็นในฐานะผู้ดูแลการเดินทางของนักศึกษา ว่าขออนุมัติวงเงินค่าน้ำมันกับค่าเบี้ยในกรอบ 700 บาท ก็เกือบมีปัญหาเรื่องการเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้าง เพราะคุณเปรมจิตติดต่อเช่ารถบัสไม่ทันด้วยเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนั้น สรุปว่าเช้ามาก็จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงกับค่าน้ำมันรวม 500 บาท ให้กับทหารท่านไป จากเดิมตั้งงบเช้ารถปรับอากาศ 2000 บาท ล้อหมุน 7.15น. มีทั้งหมด 43 คนในนั้นเป็นบุคลากร 10 คน นายกเทศบาลนครลำปางกล่าวรายงาน 8.00น. แล้วผู้ว่าก็กล่าวเปิด ขบวนเลื่อน 9.00น. ถึงวัดบุญวาทย์ 10.00น. ไปทำบุญถวายเทียนวัดพระบาทผู้บริหารไปกันหลายท่าน อาทิ คณบดีคณะสังคมฯ คณบดีคณะบริหาร ผช.ฝ่ายกิจการนักศึกษา เสร็จพิธีประมาณ 11.00น. ทุกอย่างเรียบร้อยดียกเว้นตัวผมดูโทรมไปนิด เพราะเดินไปกับรถขบวนเหมือนนักศึกษาและเพื่อนร่วมงานที่ไปด้วยกันท่ามกลางแดดร้อน
รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 2/2552
8 มิ.ย.52 1)จากการประชุมคณะครั้งแรกของปีการศึกษา 2552 ในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจกรรมโครงการหลายเรื่อง ก็มีนักศึกษาขอแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ต้องทำ เช่น รับน้องคณะก็ได้รับความสนใจจากนักศึกษา ส่วนรับน้องมหาวิทยาลัยในกลุ่มพี่ปี 4 ที่จัดขึ้นวันเสาร์ 20 มิ.ย52 มีพี่หลายคนไม่สะดวก สำหรับคนที่สะดวกก็จะส่งชื่อแจ้งให้สำนักพัฒฯทราบ เพราะเขาขอมา การถวายผ้าจำนำพรรษามีนักศึกษาเสนอวัดและประเภทของวัดที่ต่างไปจากวัดเกาะ ที่ได้นำเสนอให้นักศึกษาทราบ แต่น.ศ.เสนอวัดที่น่าสนใจคือวัดคีรีบรรพตก็มอบให้หารือกับ อ.ทนงศักดิ์ ว่าถ้าถกกันในรายละเอียดด้วยเหตุด้วยผลของผู้มีข้อมูลก็จะได้ข้อสรุปจากการบูรณาการ ดังที่คณบดีให้นโยบายไว้ ผลเป็นอย่างไรจะได้นำเรียนต่อไป การศึกษาดูงานมีประเด็นถกกันกับนักศึกษาอยู่นาน เรื่องสถานที่ ค่าใช้จ่าย และหัวข้อดูงาน แนวโน้มที่ได้หารือคือเชียงใหม่ไปดู motion capture ถ้าไม่ของ sipa เชียงใหม่ ก็จะเป็นของ “วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://www.camt.cmu.ac.th มีอีกหลายที่ยังไม่ได้เสนอ เช่น โครงข่ายบริการสื่อสารข้อมูล มูลนิธิโครงการหลวงที่เชื่อมโยงข้อมูลการผลิตและขนส่งรวม 58 พื้นที่โครงการในภาคเหนือ ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ณ แปลงไร่นาสาธิตแม่เหียะ จ.เชียงใหม่
หรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ บมจ.ทีโอที เป็นผู้ดำเนินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 และ 19 กุมภาพันธ์ 2552 กทช. อนุญาตให้สิทธิการบริหารคลื่นความถี่ 3G ให้ ทีโอที โดยกระทรวงการคลัง และ MICT สนับสนุนทุน และนโยบาย หรือไปดูระบบบริหารจัดการ Logistic ของยักค้าปลีก เป็นต้น 2)เขียนสรุปรายงานการพัฒนาตนเองประจำปีการศึกษา 2551 ว่าไปฝึกอบรม ฟังบรรยายพิเศษ เป็นวิทยากรที่ใดมาบ้าง รวมหมดทั้งวิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และที่ส่งผลต่อการเรียนการสอน แต่ผมก็ยังไม่ได้เขียนเป็นรูปเล่ม ก็มีความกังวลเช่นเดียวกับ อ.อติชาต ที่ว่าจะใช้ฟอร์มแบบใด เพราะของแผนกทรัพยากรบุคคลก็มีฟอร์มที่ละเอียดมากและไม่รวมประเด็น ส่วนที่เคยเสนอ portfolio ในคณะช่วงมกราคม 2551 ก็ละเอียดและใช้เพื่อประเมินชัดเจนเกินไป http://www.thaiall.com/me/portfolio0.doc ตามนโยบายก็คงอยากให้ทุกคนได้เขียนแบบไม่ต้องเกร็ง ก็จะเขียนดูส่งเลขาฯ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เรื่องการรับรองคุณภาพเป็นสำคัญ 3)งานดูแลสทส.ที่ผมได้รับมอบหมาย ก็มีกิจกรรมที่สัมพันธ์กับงานของคณะ เช่น การถ่ายรูปบุคลากรที่กำหนดนโยบายโดยสปส. มีข้อสรุปว่าจะต้องเป็นพื้นขาวและมีชีวิตชีวาก็จะเลือกภาพยืนเอียง ส่วนภาพบุคลากรทั้งหมดก็จะเขียนลง CD มอบให้คณะ ในกรณีต้องการทำฐานข้อมูลคณะหรือใช้ประยุกต์ในการเรียนการสอน ส่วนการอบรม retouch ภาพก็มีแผนจะจัดให้บุคลากรของคณะและทั้งมหาวิทยาลัยในศุกร์ที่ 19 และ 26 มิ.ย.52 4)ไปรับการอบรมในชุมชน เพราะผมร่วมโครงการอยู่ดีมีสุขของมหาวิทยาลัย และพระครูบ้านไหล่หิน เชิญไปร่วมเวที มีการบรรยาย 2 เรื่องโดยวิทยากรจาก ธกส. และพมจ. โดยสรุปคือเรื่อง วิธีการทำบัญชีครัวเรือน และกลุ่มกองทุนออมเงินวันละบาท ซึ่งผมเขียนบันทึก 2 เรื่องนี้ไว้นอกรายงานฉบับนี้ใน blog จัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยอีกแหล่งหนึ่ง http://www.thaiall.com/blog/burin/304/
http://www.thaiall.com/blog/burin/299/
5)ส่วนงานวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนของทีม ซึ่งรักษาการคณบดีร่วมเป็นทีมงานวิจัยนั้น ได้พิจารณาไปที่คะแนนที่แต่ละคณะประเมินตนเองมีความแตกต่างจากของผู้ประเมิน ในปีการศึกษา 2551 กับข้อมูลปีการศึกษา 2550 มีความคลาดเคลื่อนชัดในหลายตัวบ่งชี้ ขณะนี้ อ.วันชาติ นภาศรี รับไปอภิปรายผลจากข้อมูลที่แยกตามคณะ ตามตัวบ่งชี้ และมหาวิทยาลัย จะเสร็จใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสร้างความตระหนัก และหวังลดความคลาดเคลื่อนจาก การประเมินตนเองที่แตกต่างไปจากของผู้ประเมินที่จะเกิดกับข้อมูลที่ทุกคณะกำลังจัดเตรียม และประเมินตนเองไปในทิศทางที่สมเหตุสมผลที่สุด