ยกร่างรายงานผลการวิจัย sar52

17 ก.ย.53 วันนี้เปิดงานการเขียนรายงานการวิจัย(สถาบัน)แล้ว เริ่มเขียนส่วนที่ง่ายที่สุดคือ กิติกรรมประกาศ หาอีเมลของแต่ละคน และสรุปรายชื่อผู้ร่วมวิจัย ซึ่งงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง สำหรับปีการศึกษา 2552 กรณีศึกษามหาวิทยาลัยโยนก” มีเพื่อนร่วมวิจัย 8 ท่านประกอบด้วย อ.วันชาติ  นภาศรี อ.อัศนีย์  ณ น่าน อ.คนึงสุข  นันทชมภู อ.ทันฉลอง  รุ่งวิทู อ.อดิศักดิ์  จำปาทอง อ.ศิรินธร อุทิศชลานนท์ อ.ศศิวิมล  แรงสิงห์ ซึ่งการดำเนินการที่สำคัญมี 3 ส่วนคือ พัฒนาโปรแกรม อบรมระดับบุคคล และประเมินความพึงพอใจ สำหรับการหาอีเมลเนื่องจากโครงการนี้มีเป้าหมายจะเขียนบทความจากงานวิจัย
เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติกลางปีหน้า การส่งบทความ และรายชื่อเพื่อนทุกคนต้องใช้อีเมลในการอ้างอิง .. นั่นเป็นเรื่องอนาคตที่ผมยังทำไม่เสร็จ

กิติกรรมประกาศ เขียนไว้ 4 ย่อหน้า ดังนี้
+ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงด้วยดี ด้วยการสนับสนุนทุนในการทำวิจัยจาก มหาวิทยาลัยโยนก และความร่วมมือจากผู้ร่วมวิจัย ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะวิชา และหน่วยงาน
+ ขอขอบพระคุณ ทีมผู้ประเมินระดับคณะวิชา เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานประกันคุณภาพทั้งในระดับคณะวิชา และหน่วยงานที่ให้ข้อเสนอแนะ และข้อมูลจนกระทั่งดำเนินงานพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประกันคุณภาพจนมีความพร้อมใช้งาน
+ ขอขอบพระคุณ นายอนุชิต ยอดใจยา นายอรรถชัย เตชะสาย และนายธรณินทร์  สุรินทร์ปันยศ ที่ร่วมเป็นวิทยากรอบรมการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง จัดตั้งและดูแลเครื่องบริการระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง อำนวยความสะดวกให้ทุกหน่วยงานเข้าใช้งานได้โดยสะดวก
+ สุดท้ายขอขอบพระคุณท่านอธิการบดีที่มีนโยบายสนับสนุนงานวิจัย การพัฒนาคุณภาพการศึกษา จัดสรรทรัพยากร งบประมาณ และบุคลากร จนทำให้งานวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

ใช้แนวการเขียนจาก http://www.scc.ac.th/research/method/method01.asp
ที่ผมใช้เป็นแนวการเขียนรายงานการวิจัยตั้งแต่ ก.ย. 2553

ทั้งหมดนี้ก็เพียงเล่าสู่กันฟัง

ยกร่าง การอภิปรายผล รายงานวิจัย sar51

sar518 ธ.ค.52 ยกร่าง การอภิปรายผล ซึ่งยังขาดผลประเมินคณะ ปีการศึกษา 2551 เพื่อใช้วิเคราะห์ความเบี่ยงเบนเปรียบเทียบปี 50 และ 51 ในขั้นตอนที่เหลือ และยังไม่เสนอให้ทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วย อ.วันชาติ  นภาศรี อ.ศศิวิมล  แรงสิงห์ อ.อาภาพร ยกโต อ.อัศนีย์  ณ น่าน อ.คนึงสุข  นันทชมภู อ.สุรพงษ์  วงค์เหลือง นางเจนจิรา เชิงดี และ นางสาวเพชรี  สุวรรณเลิศ
     จากผลการวิจัยมีประเด็นที่น่าสนใจนำมาอภิปายผล ดังนี้ 1) ผลสำรวจความพึงพอใจต่อการอบรมการใช้งานโปรแกรมตั้งแต่ครั้งแรกไปถึงครั้งที่สี่มีแนวโน้มค่าเฉลี่ยความพึงพอใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ลดเพียงเล็กน้อยสำหรับครั้งที่สี่ คือ 3.86, 3.93 4.18 และ 4.10 โดยทั้ง 4 ครั้งมีระดับความพึงพอใจเท่ากันคือระดับมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นตัวแทนจากคณะวิชามีความพึงพอใจ ยอมรับ และเข้าใจการใช้งานระบบนี้ 2) หน่วยงานระดับคณะวิชายังใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองเพียง 80% และมีคณะที่ส่งมอบรหัสผ่านให้กับผู้ประเมินเพียง 60% แต่ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (X = 3.71 , S.D = 1.16) ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าทั้งระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง และกลไกที่สนับสนุนให้คณะวิชาใช้งานระบบยังต้องมีการปรับปรุง 3) ผู้ประเมินได้ใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองทุกคน แต่ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ประเมินโดยรวมอยู่ระดับปานกลาง (X = 3.24 , S.D = 1.11) ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าหน่วยงานระดับคณะวิชาส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองยังไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้ผู้ประเมินเข้าตรวจสอบหลักฐานเอกสารผ่านระบบออนไลน์แล้วไม่พบหลักฐานดังกล่าว จึงทำให้ผลการประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง
     ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา คือ 1) ผู้บริหาร และสำนักประกันคุณภาพควรผลักดันให้หน่วยงานระดับคณะวิชาใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง และมีกลไกในการกำกับดูแลการใช้งานระบบดังกล่าวที่ชัดเจน 2) การใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองควรเปิดให้อาจารย์ได้เข้าไปใช้งาน และเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับคณะวิชา แล้วรวมเป็นข้อมูลของมหาวิทยาลัยในที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ทุกคนได้มีส่วนร่วมในกลไกการประกันคุณภาพแบบบูรณาการอย่างแท้จริง
     ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป คือ 1) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองในมหาวิทยาลัยควรรองรับการใช้งานตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับคณะวิชา และระดับมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการเชื่อมโยงแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ทั้งกับระบบฐานข้อมูลภายใน และภายนอก 2) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองควรมีฟังก์ชันเผยแพร่รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ผ่านการประเมินโดยผู้ประเมินแล้ว สู่สาธารณชนผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย
+ http://www.yonok.ac.th/sar