ช่วยควบคุมการนำเสนอจากล่างเวที (itinlife295)

remote assistance
remote assistance

26 มิ.ย.54 มีคำถามจากเพื่อนว่า ถ้าผู้นำเสนอที่ยืนอยู่บนเวทีมีทักษะในการควบคุมการนำเสนอด้วยโปรแกรมพาวเวอร์พอยท์ไม่ชำนาญ แต่ผู้นำเสนอเป็นผู้ที่เหมาะสมกับเนื้อหาในสถานการณ์นั้นที่สุด ทางเลือกคือหาวิธีควบคุมโปรแกรมนำเสนอไปพร้อมกับการนำเสนอของผู้นำเสนอ โดยมีผู้ช่วยที่อยู่ล่างเวทีเป็นผู้ใช้โปรแกรมนำเสนออีกคนหนึ่ง ซึ่งกิจกรรมแบบนี้มิใช่เรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น แต่ในบางสถานการณ์จะปล่อยให้เกิดความผิดพลาดโดยไม่มีแผนการควบคุมไม่ได้

ทางออกมีหลายทาง ถ้าเป็นวิธีที่สมบูรณ์ คือ การควบคุมคอมพิวเตอร์ของผู้นำเสนอจากระยะไกล (Remote Control) เช่น การใช้โปรแกรม LAN School หรือ NetOp School ดังที่ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ต์หรือโรงเรียนใช้ในการควบคุมติดตามเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการ หรือใช้โปรแกรม Remote Assistance ที่มีมากับระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์วินโดว์ช่วยควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้นำเสนอไปพร้อมกัน แต่วิธีที่ง่ายกว่า คือ ใช้ Keyboard หรือ Mouse ไร้สายช่วยควบคุมการกดปุ่มของผู้นำเสนอ อาทิ ปัญหาการเลื่อนสไลด์เกินกว่าที่ผู้นำเสนอพูดก็จะได้ถอยกลับไปยังสไลด์ที่กำลังกล่าวถึงทันที

อีกวิธี คือ การต่อจอภาพเพิ่มออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ล่างเวที โดยบนเวทีจะมีเฉพาะจอภาพให้ผู้นำเสนอได้เห็น ส่วนผู้ช่วยจะควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ล่างเวที แต่ผู้นำเสนอยังมีเลเซอร์พอยท์เตอร์ใช้ควบคุมการเลื่อนสไลด์บนเวทีเหมือนเดิม ในกรณีเกิดข้อผิดพลาดก็จะแก้ไขโดยผู้ช่วยได้ทันที  การควบคุมในที่นี้เป็นเพียงแผนการควบคุมทางเทคนิค ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้นำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่สาระสำคัญ คือ คำพูด เนื้อหาในสไลด์ กิจกรรม และอวจนภาษาของผู้ส่งสารยังเป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นเดิม การใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม จะสนับสนุนให้การนำเสนอมีความสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้

เด็กสมัยนี้ต้องทำโครงงาน

โครงงาน ประถม
โครงงาน ประถม

21 พ.ย.53 ยังพอจำได้ว่าสมัยประถม 5 ตัวผมนั้นยังไม่เป็นโล้เป็นพาย .. เด็กสมัยนี้ (2553) ถูกสอนให้เขียน mindmap กันเป็นว่าเล่น ยัดกระบวนการวิจัย/โครงงาน 5 บทเข้าไปในหัวแล้ว พิสูจน์แนวคิดที่มีอยู่ ทดสอบแนวคิดใหม่ แล้วลงมือปฏิบัติ แล้วเขียนรายงานสรุปผล พร้อมให้ข้อเสนอแนะ นำเสนอผ่านบอร์ด .. ถ้าส่งแล้วข้อมูลไม่ครบ ก็ให้กลับมาแก้ไขจนสมบูรณ์ เรียกว่าผ่านกระบวนการวิพากษ์ งานบางงานใช้กิจกรรมกลุ่ม (Group Discussion) เช่น แต่งกาพย์ยานีแล้วคัดเลือก the best ให้เพื่อนในห้องร่วม vote ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานของกันและกัน .. ในภาพมีโครงงานเปลือกไข่ทำให้ผ้าขาว ดินน้ำมันทำเอง หรือน้ำยาล้างจานจากมะกรูด .. สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากกระแสการแข่งขันในการพัฒนาการศึกษา ที่มาแรงแซงโค้งการพัฒนาทางจิตใจไปหลายก้าว .. ดีนะครับที่ผมเป็นเด็กโบราณ ไม่ต้องเครียดแย่เลย

แผนที่ความคิด หรือมายแม็บเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา

การดำเนินการของสถาบันการศึกษา
การดำเนินการของสถาบันการศึกษา

4 มิ.ย.53 มีโอกาสพูดคุยกับพระนิสิต และได้นำเสนอการเขียนร่างมายด์แม็ป (mindmap) ซึ่งเป็นแผนที่ความคิดเรื่องการดำเนินการของสถาบันการศึกษา ซึ่งสอดคล้องไปกับหลักสูตรการบริหารการศึกษา (M.Ed.) เพื่อให้พระทุกรูปได้กลับไปเขียนแผนที่ความคิด เป็นรายสัปดาห์ชิ้นหนึ่งที่ต้องเกิดจากความคิดของแต่ละรูป แต่มอบหมายให้เขียนด้วยมือแทนการใช้โปรแกรม Freemind หรือ Mindmanager แล้วใช้กล้องดิจิทอลถ่ายมาเป็นแฟ้มภาพ จากนั้นให้อัพโหลด (upload) ไปแบ่งปันใน facebook.com ซึ่งภาพในเว็บเพจนี้เป็นตัวอย่าง หรือร่างที่ได้นำเสนอให้เกิดการแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนก่อนแยกกันไปทำงานเดี่ยว 
      ในอนาคตหวังว่า พระนิสิตจะใช้แผนที่ความคิดเป็นเครื่องมือในการรวบยอดความคิด หรือเป็นเครื่องมือนำเสนอความคิดในการประชุมกับชุมชน หรือการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการในที่ใดใดต่อไป
+ http://www.thaiall.com/freemind