ลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ระหว่างบุคคล

6 มี.ค.53 ซอฟท์แวร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นส่วนหนึ่งมีลิขสิทธิ์ชัดเจน ผู้นำไปใช้ต้องเสียค่าใช้จ่ายก่อน ไม่มีแชร์แวร์หรือรุ่นทดสอบ (Demo) ให้นำไปทดลองใช้งานก่อนแล้วตัดสินใจภายหลัง ถ้าใช้ก็ต้องเสียเงินก่อนจะได้ซอฟท์แวร์ไปติดตั้ง สำหรับค่าลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์มีหลายรูปแบบ เช่น ใช้คนเดียว ใช้ได้ทั้งองค์การ หรือนำไปพัฒนาให้กับลูกค้า ซอฟท์แวร์บางตัวเป็นแบบต่อยอดจากตัวหลัก เช่น wordpress.org เป็นตัวหลักที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรี แต่ถ้าจะใช้ theme สวยของ solostream.com ที่ออกแบบให้ทำหน้าที่เป็นหน้ากากครอบซอฟท์แวร์ตัวหลักที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้พัฒนาอิสระแล้วจำหน่ายแยกออกจากซอฟท์แวร์ตัวหลักที่แจกฟรีก็เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
            ปัญหาลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น ผู้เขียนพัฒนาซอฟท์แวร์ตัวหนึ่งและเปิดให้คนไทยดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีแบบโอเพนท์ซอร์ท ต่อมามีผู้พัฒนาชาวไทยนำไปพัฒนาต่อยอดแล้วขายต่อให้กับลูกค้า ต่อจากนั้นผู้พัฒนาท่านนั้นได้ทิ้งงานไปแล้วลูกค้าก็โทรมาสอบถามผู้เขียน เพราะคิดว่าซอฟท์แวร์ที่เขาใช้อยู่ได้จ่ายให้ผู้เขียนส่วนหนึ่ง เมื่ออธิบายเรื่องลิขสิทธิ์แล้วลูกค้าท่านนั้นก็เข้าใจ อีกตัวอย่างหนึ่งคือชาวต่างชาติพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อขายแล้วคนไทยได้คัดลอกมาใช้อย่างไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขของลิขสิทธิ์ แต่นำซอฟท์แวร์ดังกล่าวไปขายต่อให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้าไม่น้อยไม่เข้าใจในประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ก็ยินดีจ่ายด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
            ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจแต่ละเรื่องต้องใช้วิจารณญาณอย่างมาก เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งไปกับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลเสียย้อนกลับมา การพัฒนาเว็บไซต์ที่ใช้ระบบจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ (CMS) เหมาะกับเว็บไซต์ที่เนื้อหามากและแบ่งหมวดหมู่ได้ชัดเจน เมื่อเลือกใช้ระบบจากค่ายใดก็ต้องติดตามการอัพเกรดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันเทคโนโลยีและปลอดภัยต่อการบุกรุก หากเปลี่ยนระบบ อัพเกรด หรือยกเลิกระบบซีเอ็มเอสอาจทำให้นำข้อมูลกลับมาใช้ต่อไม่ได้ ทำให้ที่อยู่เว็บไซต์ที่เคยถูกอ้างอิงไปทั่วโลกเปลี่ยนแปลง นั่นหมายถึงเนื้อหาที่เคยถูกเชื่อมโยงจากภายนอกจะหายไปทั้งหมด นี่เป็นตัวอย่างประกอบการตัดสินใจจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ที่ต้องพิจารณารอบด้านบนความเข้าใจและให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นที่ตั้ง