การเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมีสิ่งที่ผู้สืบค้นต้องพบเป็นสิ่งแรกก่อนเนื้อหาข้อมูล คือ รูปแบบ และสีที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้สื่อสารระหว่างซอฟท์แวร์กับผู้ใช้ ในยุคเว็บสองจุดศูนย์ (Web 2.0) ได้มีนักคิดนำเสนอการออกแบบให้มีการใช้สีไล่ระดับ (Gradient) และการยกพื้น (Rich surface) ซึ่งมีผลให้สามารถนำเสนอประเด็นสำคัญได้ชัดเจน และทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกสนใจจากการใช้สีต่างระดับ แต่เราอยู่ในยุคของการพัฒนาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กฎที่มีอยู่ก็อาจถูกเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าผู้ผลิตอุปกรณ์ หรือซอฟท์แวร์ไม่เปลี่ยนแปลงให้ทันกับกระแสเทคโนโลยี ก็อาจตกขบวนเหมือนบริษัทไอที หรือบริษัทข่าวที่ไม่อาจอยู่ได้ในโลกของการแข่งขันนำเสนอสินค้า และข้อมูลที่รุนแรงในปัจจุบัน
บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปลี่ยนโลโก้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม และใช้สีระดับเดียว แล้วต่อมายาฮูดอทคอม (Yahoo.com) ก็เปลี่ยนโลโก้ที่ใช้สีเพียงสีเดียว และแบนราบไปกับพื้น สำหรับรูปแบบของระบบปฏิบัติการวินโดว์ 8 ก็ใช้การออกแบบที่ดูเรียบง่ายด้วยทรงสี่เหลี่ยม แล้วมีผลถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ ก็จะใช้รูปแบบที่เรียบง่าย รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มปรับรูปแบบให้แบนราบไปกับพื้น ส่วนเครือข่ายสังคมยอดนิยมก็ออกแบบที่ไม่เน้นการยกนูน คือ เฟสบุ๊ค (facebook) และกูเกิ้ลพลัส (google+) ที่ทุกอย่างแบนราบไปกับพื้น แล้วอนาคตของการออกแบบซอฟท์แวร์ก็อาจจะนำไปสู่รูปแบบที่เรียบง่าย ไม่ต้องยกพื้นอีกต่อไป
บริษัทแอพเปิ้ล (Apple) เปิดตัว iOS7 ได้ย้ำกระแสออกแบบที่เรียบง่าย เน้นอินเทอเฟส (Interface) ที่แบนราบ สำหรับผู้ใช้ที่ชอบความหรูหลา ชอบเว้านูนก็อาจจะไม่คุ้นชิน แต่ประโยชน์คือความรวดเร็วจากการตอบสนอง (Response time) ที่ระบบปฏิบัติการจะต้องทำงานน้อยลงกับเรื่องเหล่านี้ แล้วความสดใหม่ของการดีไซน์ที่มีผู้ใช้เป็นผู้เลือกก็จะเป็นตัวขับกระแสแฟชั่นได้เป็นอย่างดี เชื่อว่ากระแสความเรียบแบนจะขายได้ไปอีกหลายปี แล้ววันหนึ่งในอนาคตก็จะมีบริษัทหนึ่งออกมาบอกว่าถึงเวลาต้องยกพื้น และไล่ระดับ เรื่องแบนราบก็คงจะหายไปอีกครั้งตามค่านิยมที่เปลี่ยนไป