ข้อมูลจาก ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก และจะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าปี 2548-2558 จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งโดยไม่ได้รับการรักษาประมาณ 84 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 40 เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ ดังนั้น องค์การอนามัยโลก มีนโยบายให้ทุกประเทศทั่วโลกรณรงค์เรื่องการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตั้งแต่วัยเด็ก
รศ.พญ.เยาวลักษณ์ ชาญศิลป์ ภาควิชารังสีรักษา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ความเห็นว่า อันตรายของมะเร็งทุกชนิดคือการทำให้สูญเสียการทำงานของอวัยวะที่เกิดโรคหรือโรคแพร่กระจายไป ดังนั้นอันตรายของโรคมะเร็ง จึงขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกิดมะเร็งและอวัยวะที่แพร่กระจาย
สำหรับมะเร็งปากมดลูกนั้น แม้ว่ามดลูกจะไม่ใช่อวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ก้อนมะเร็งเฉพาะที่สามารถทำให้เกิดการเสียเลือดทั้งเรื้อรังและรุนแรงที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต และยังทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน ไปจนถึงการกดเบียดท่อไตทำให้ไตวายได้ และอันตรายนอกจากนี้ก็คือการล้มเหลวของอวัยวะที่โรคกระจายไป
สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งเกิดจากการที่เซลล์ถูกกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลานาน โดยสารก่อมะเร็งอาจเป็นเชื้อโรคโดยเฉพาะไวรัส สารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์ ซึ่งในมะเร็งปากมดลูกนั้นเชื้อไวรัส เอชพีวี (Human Papilloma Virus) เป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญที่สุด
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก มีความเกี่ยวเนื่องกับเพศสัมพันธ์ ผู้มีอัตราเสี่ยงต่อโรคนี้ คือผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยเฉพาะในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ผู้มีบุตรมาก ผู้มีเพศสัมพันธ์กับชายหลายคน ผู้มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่นอนหลายคน และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จะมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ 5-6 เท่า ส่วนในประเทศที่ผู้ชายได้รับการขริบปลายอวัยวะเพศ จะมีอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกลดลง
สำหรับผู้หญิงที่มีครอบครัวและมีสามีเดียวก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกสัมพันธ์กับการบาดเจ็บหรือการระคายเคืองเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้ามีบุตรมาก หรือสามีมีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือสามีมีคู่นอนหลายคน
อาการของมะเร็งปากมดลูก ตั้งแต่ขั้นต้นจนรุนแรง
นับเป็นโชคดีอย่างหนึ่งของผู้หญิง ที่มะเร็งปากมดลูกนี้สามารถตรวจได้ง่าย จึงตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนแสดงอาการ และยังสามารถตรวจพบภาวะผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกได้ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง ดังนั้น หากจะถามว่าอาการของมะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง
ไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจภายใน
การมีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งเพียงเล็กน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน การมีเลือดประจำเดือนมาก หรือนานกว่าปกติ
การมีของเหลวออกทางช่องคลอด หรือตกขาว ทั้งที่เป็นน้ำและข้น เป็นมูก เป็นหนอง มีเลือดปน มีเศษเนื้อปน แม้มีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นก็ตาม
ในรายที่โรคมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดการปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัด หรือถ่ายอุจจาระลำบาก หรือกดเบียดท่อไตทำให้ไตทำงานผิดปกติ จนอาจถึงไตวายได้
ในระยะแพร่กระจาย อาจกระจายตามระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง เกิดอาการปวดหลัง ปวดจุกลิ้นปี่ หรือแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า โดยเฉพาะข้างซ้าย และยังอาจกระจายตามกระแสเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมองด้วย
การรักษามะเร็งปากมดลูก
เนื่องจากมะเร็งปากมดลูก มีธรรมชาติของโรคเป็นการลุกลามเฉพาะที่มากกว่าการแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาเฉพาะที่ ซึ่งอาจเป็นการผ่าตัดหรือการฉายรังสี โดย การผ่าตัด จะใช้ในระยะ 0 และ 1 โดยระยะ 0 หมายถึงระยะที่โรคเริ่มเกิดที่ชั้นผิวเยื่อบุปากมดลูก ยังไม่ลุกลามลงสู่ชั้นใต้เยื่อบุ จึงอาจตัดออกเฉพาะปากมดลูกอย่างเดียวได้ แต่เมื่อโรคเป็นระยะที่ 1 คือลามลงชั้นใต้เยื่อบุมดลูก ต้องตัดมดลูกออกด้วย แต่การตัดมดลูกอย่างเดียวหรือเลาะต่อมน้ำเหลืองในช่องเชิงกรานออกด้วย ขึ้นอยู่กับความลึกของการลุกลามลงสู่ชั้นใต้เยื่อบุปากมดลูก
สำหรับการใช้รังสีรักษา ใช้ในการรักษาได้ทุกระยะ ตั้งแต่ 0 ถึง 4 (ระยะแพร่กระจาย) แต่ในระยะ 0 และ 1 จะนิยมใช้การผ่าตัดมากกว่า เพราะการผ่าตัดจะทำให้ได้ชิ้นเนื้อ รวมทั้งมดลูกหรือต่อมน้ำเหลืองมาตรวจ ทำให้ได้ข้อมูลของระยะโรคแม่นยำกว่าการรักษาด้วยรังสี แต่หากผู้ป่วยมีภาวะที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ การรักษาด้วยรังสีก็สามารถให้ผลการรักษาที่ดีไม่แพ้กัน
ส่วนเคมีบำบัด มีการใช้ในมะเร็งปากมดลูกที่ก้อนมีขนาดใหญ่หรือลุกลาม โดยให้ร่วมในช่วงการฉายรังสี โดยเคมีบำบัดจะช่วยให้ก้อนมะเร็งตอบสนองกับรังสีดีขึ้น นอกจากนี้ จะใช้ในกรณีที่มีการแพร่กระจายของโรค แต่ผลการรักษาไม่ดีนัก
ดังนั้น มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาได้ผลดีในระยะเริ่มต้น แต่แม้ในระยะลุกลามที่โรคยังไม่แพร่กระจายไป การใช้รังสีร่วมกับเคมีบำบัดก็ยังได้ผลค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับมะเร็งหลายชนิด
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
การป้องกันโรคมะเร็งชนิดใด ๆ ก็คือการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งของโรคนั้น ๆ ซึ่งสำหรับในมะเร็งปากมดลูกก็คือเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกลงกว่า 70% จึงน่าจะมีผลในการลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต และเพื่อช่วยให้การป้องกันมีประสิทธิภาพสูงสุด การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ควรทำร่วมกับการตรวจคัดกรองเป็นประจำ
โดยควรจะเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ เพราะในการเกิดมะเร็งปากมดลูก จะผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีเรื้อรัง และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะอักเสบเรื้อรังที่นำไปสู่มะเร็ง การตรวจคัดกรองจะทำให้สามารถรักษาภาวะผิดปกติต่าง ๆ ก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็ง หรือตรวจพบมะเร็งระยะแรกเริ่ม ที่รักษาให้หายขาดได้ เพื่อป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย
นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนแล้ว ควรมีชีวิตครอบครัวที่ถูกต้องและจะต้องเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ แม้จะมีอายุมากแล้วและไม่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือไม่มีประจำเดือนและไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังต้องตรวจคัดกรองตามระยะเวลาที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะช่วยให้หญิงไทยห่างไกลมะเร็งปากมดลูก