ขยายข่าว: แฟชั่น ศิลปะ หรือ อนาจาร

14 มี.ค.55 มาถึงหน้าร้อนทีไร สาวมั่นทั้งหลาย ได้เวลาท้าลมร้อนด้วยแฟชั่นหลากหลาย ที่โชว์ผิวพรรณสัดส่วน ที่อุตส่าห์ดูแลทะนุถนอมจนเปล่งปลั่ง ขาว นุ่ม เนียน
ส่วนหนุ่มๆ เอง ก็เข้าช่วงเทศกาลลุ้น ภาพเด็ดๆ บนแผงหนังสือว่าสาวคนไหนจะได้ถ่ายแบบ ชุดทูพีซ ขึ้นปก อวดเรือนร่างให้ได้มองเป็นสีสรรของชีวิตกันบ้าง
ฟังๆ ดูก็ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกของสังคม เพราะการถ่ายภาพในลักษณะนี้มีมานานแล้ว และทำกันทั่วโลก ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะออกแบบชุด และสีสรรได้สดใส โชว์เรือนร่าง หรือเน้นสรีระ จุดชวนมองของสาวๆ ได้มากกว่ากัน
ไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะนี่เป็นงานที่รวมเอาธุรกิจย่อยๆ ไว้ด้วยกันอย่างแยกไม่ออก อย่างแรกก็คือ นางแบบมีชื่อเสียง เสื้อผ้าขายออก ช่างภาพโด่งดังเป็นพลุแตก แถมหนังสือยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ฟังแล้วดูเหมือนจะดีไปหมด แต่เดี๋ยวก่อน เมื่อโลกก้าวล้ำมากๆ เทคโนโลยี ก็เปลี่ยน อุปกรณ์ถ่ายภาพทันสมัยขึ้น และยังมีระบบตกแต่งภาพมาเป็นเครื่องมือในการทำให้ภาพดูหวือหวามากขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของภาพที่ออกจะเซ็กซี่เกินงาม นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ว่านี่คือศิลปะ หรืออนาจารกันแน่
ภาพออกมาสวย แต่ถ้าในสายตาคนส่วนใหญ่ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไปใหญ่โต ย่อมสะท้อนถึงความตั้งใจของช่างภาพ
คำถามที่เจอเสมอก็คือ ภาพออกมาหวือหวา หรือโป๊เปลือยไปหรือไม่ถ้าเป็นช่างภาพหรือนางแบบเอง ส่วนใหญ่ให้เหตุผลแทบจะเหมือนกัน ว่าขึ้นอยู่กับคนมองเพราะถ้าสำหรับช่างภาพ นี่คือ การอวดฝีไม้ลายมือการถ่ายภาพ ให้โลกได้จดจำ
ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ภาพถ่ายทูพีซ คือศิลปะหรืออนาจารแต่ก็มีนักต่อต้านกลุ่มหนึ่ง มองว่า มันคือการอาศัยคำว่าศิลปะ มาบังหน้าและคิดเข้าข้างงานของตัวเอง โดยไม่แบ่งเส้นความเหมาะสม หรือรับความเห็นต่าง
เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะภาพเขียน หรือภาพถ่าย ล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์แตกต่างกัน ศิลปินวาดภาพดังๆ ในบ้านเรา เคยสะท้อนมุมมองไว้น่าสนใจ ว่า ศิลปะไม่ใช่แค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาแค่เพื่อความสวยงามและความพอใจแต่เป็นการแสดงออกถึงความงอกงามทางสติปัญญา ยึดโยงกับความดี คุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งสามารถผันแปรไปตามพื้นฐานของจิตใจที่คิดฝันและแสดงออกอย่างอิสระ นี่จึงเป็นช่องว่าง ทำให้ผู้ที่เห็นแก่ผลประโยชน์นำไปดีความเข้าข้างตัวเอง
ขณะที่ผู้คนในสังคม ที่เป็นเสมือนผู้บริโภคสื่อเหล่านี้ ก็ต่างสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย
มีทั้งเชิงสร้างสรรค์และอคติ มุมสร้างสรรค์ ต่างเห็นว่าแฟชั่นทูพีซถ้าอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม สถานที่เหมาะสม อายุคนอ่านเหมาะสม และไม่เกินเลยวัฒนธรรม ก็ไม่น่าจะใช่สิ่งต้องห้าม
ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า กิริยาและการแสดงออกของนางแบบคือตัวบ่งบอก ว่านี่คืออนาจารหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดท่าทาง การให้แสงหรือองค์ประกอบร่วมอย่างคู่ถ่ายแบบ รวมทั้งสถานที่ถ่ายทำ
มีการสำรวจแผงหนังสือในช่วงหลายปีที่มานี้ ปรากฎออกมาว่า วงการแฟชั่นเปลี่ยนแปลงเร็ว มีการแบ่งกลุ่มคนอ่านไว้ชัดเจน ทั้งในเรื่องเพศ อายุไปจนถึงความชอบส่วนบุคคล
ฉะนั้นภาพที่ต้องการสื่อ ก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันด้วย เช่น ถ่ายกับทะเล กับธรรมชาติ ต้นไม้ ขุนเขา แต่ถ้าออกแนวเฉพาะกลุ่ม ก็จะเป็นอะไรที่ต่างออกไป เช่น คู่ถ่ายเป็นชาย ถ่ายบนเตียงนอน มีการจัดท่วงท่าที่ไม่เหมาะสมกับคนอ่านอย่างกลุ่มเยาวชน เหล่านี้คือเส้นแบ่ง ที่ขึ้นอยู่กับคนอ่านจะเลือกเอง
ชัดเจนว่า ว่า ไม่ว่าจะช่างภาพ นางแบบ หรือผู้ออกแบบเสื้อผ้า จนออกมาเป็นแฟชั่นหน้าร้อน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจตนา และการแบ่งกลุ่มที่ชัดเจน
คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมแล้วละค่ะ ว่าจะควบคุมกาลเทศะที่เหมาะสมกับช่วงวัย ได้แค่ไหน ในเมื่อสิทธิของการซื้อหนังสือ ไม่ได้ถูกจำกัดอายุเหมือนการซื้อสิ่งเสพติด
ดังนั้นภาพ และเนื้อหาที่ปรากฎในหนังสือ จะเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชน
เรื่องนี้ผู้ใหญ่ก็มักจะพลาดเสมอ หากมุ่งเป้าไปซื้อหาอ่านส่วนตัวแต่จูงลูกจูงหลานไปด้วย เพราะในที่สุดผู้ใหญ่นั่นแหล่ะค่ะ ที่อาจเป็นคนปลูกฝังนิสัยและความนิยมในหนังสือประเภทนี้ให้กับลูกหลานไปโดยไม่รู้ตัว

http://www.ch7.com/news/news_thailand_detail.aspx?c=2&p=376&d=181006

http://news.mthai.com/world-news/104189.html

ฮือฮา!! สาวไต้หวัน ไม่สวมกางเกง ขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน

Leave a Reply