ชีวิตที่ต้องเปรียบเทียบตลอดเวลา (itinlife388)

spec tab ป.1 ม.1 2556
spec tab ป.1 ม.1 2556

สุดสัปดาห์ก็จะนั่งดูรายการ take me out เป็นรายการที่เอาผู้หญิงกับผู้ชายมายืนเลือกกัน รู้สึกว่าการหาคู่ชีวิตคือการเปรียบเทียบคุณสมบัติของเพศตรงข้ามที่ไม่ซับซ้อนเหมือนชีวิตจริง  อีกรายการคือ 12 ราศี ที่ต้องทำนายทายทักตามดวงดาวต้องเปรียบเทียบว่าแต่ละสัปดาห์จะไปในทิศทางใดกระทบโชคชะตาของเราอย่างไรตามโจทย์ที่รายการกำหนดขึ้น ส่วนเวทีประกวดร้องเพลง the star ก็จะมีคนหนุ่มสาวมายืนร้องเพลง แล้วให้เราส่ง sms ไปเชียร์ ก่อนส่งก็ต้องเปรียบเทียบว่าผู้เข้าแข่งขันคนใดที่เราเลือกลงทุนลงแรงเชียร์ ล่าสุดก็เลือกตั้งผู้ว่ากทม. เพราะรายการทีวีทุกช่องนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง คนต่างจังหวัดก็ร่วมลุ้นเชียร์การชิงชัยครั้งนี้ไปด้วย มีข้อมูลให้เปรียบเทียบทุกวัน เปลี่ยนใจได้ทุกเวลาตามกระแสข้อมูลที่เข้ามา แล้วสุดท้ายผลการเลือกตั้งก็พลิกไม่เป็นตามผลโพลล์

เดือนมีนาคม 2556 มีกระแสเรื่องแท็บเล็ต ป.1 และการเตรียมงบประมาณสำหรับติดตั้ง wi-fi สนับสนุนการใช้แท็บเล็ต จะทำให้นักเรียนระดับประถม และมัธยมมีอุปกรณ์ใช้รวมกันเป็น 1 ใน 4 ของนักเรียนทั้งหมดในประเทศไทย หากดูสถิติจะพบว่าปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมี 25 ล้านคน จากข้อมูลของ truehits.net และเข้าถึงเฟซบุ๊ค 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 หากไม่นับผู้คนในชนบท ผู้ใหญ่ใกล้เกษียณ และเด็ก ก็อาจประเมินได้ว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะเข้าถึงเฟซบุ๊คด้วยเช่นกัน แล้วมาเปรียบเทียบว่าการใช้เฟซบุ๊คกับไม่ใช้เฟซบุ๊ค ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไปหรือไม่ แต่เคยฟังคุณโน๊ตในเดี่ยว 9 พูดถึง social media พบว่าวิธีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป

ชีวิตมักขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบ พบเห็นได้ในเฟซบุ๊ค อาจเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองหรือกับคนอื่น ว่าอดีต ปัจจุบัน อนาคตเป็นอย่างไร แต่ในชีวิตจริงเรานำผลการเปรียบเทียบมาปรับวิถีชีวิตมากน้อยเพียงใดก็ยังเป็นคำถาม จากการติดตามข่าวเรื่องแท็บเล็ต ป.1 ที่ใช้มาแล้ว 1 ปีก็มีเรื่องให้เปรียบเทียบว่าใช้แล้วมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณภาพการศึกษา ความสามารถในการแข่งขันของเยาวชนดีขึ้นหรือไม่ ส่วนผู้ที่ดูแลนโยบายด้านการศึกษาก็มีกันหลายมุมมอง บางท่านก็บอกว่าปรับหลักสูตร 6 เดือนเสร็จ บางท่านก็บอกว่าปฏิรูปครูก่อน บางท่านก็บอกว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จใช้เวลานับสิบปี ประเทศไทยมีอะไรให้ติดตามและเปรียบเทียบกันอยู่ตลอดเวลา ที่ต้องตามกันต่อไป

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=30719&Key=hotnews

บริการเรียนรู้ทางไกลจากไมโครซอฟท์ (itinlife381)

microsoft office 365 on chula university
microsoft office 365 on chula university

เครื่องมือที่นำมาใช้สนับสนุนการเรียนรู้ทางไกล (Distance-learning) หรืออีเลินนิ่ง (E-learning) มีทั้งแบบโอเพนท์ซอร์ท (Open source) แบบจำหน่าย และแบบคราว (Cloud) ซึ่งบริการแบบคลาวด์เหมาะกับผู้ใช้ หรือผู้ให้บริการที่ไม่ต้องดูแลเครื่องบริการเอง ไม่ต้องพะวงเรื่องซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ บุคลากร เครือข่าย หรือความปลอดภัย ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่ง Microsoft Office 365 สามารถให้บริการโปรแกรมสำนักงานแบบออนไลน์เช่นเดียวกับ Google Apps แต่มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือนตามประเภทการใช้งาน

การจัดการเรียนการสอนบนคลาวด์เหมาะสำหรับหลักสูตรที่ผู้เรียนมีความรับผิดชอบสูง และพร้อมใช้เทคโนโลยี ซึ่งบริการของ Microsoft Office 365 for education อยู่ในคลาวด์มาพร้อม Exchange Online ที่เปิดให้องค์กรมีเครื่องบริการอีเมล และ SharePoint Online ที่เปิดให้สถานศึกษามีไซต์ของตนเองที่สมาชิกสามารถร่วมกันจัดทำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบริการจัดการเนื้อหาได้ และ  Lync Online ที่เปิดให้มีการติดต่อสื่อสารแบบวีดีโอคอนเฟอเรนท์ ซึ่งทั้งหมดรวมกันเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ

ในประเทศไทยมีคณะเภสัชศาสตร์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนำร่องจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านบริการของ Office 365 แล้ว ซึ่งบริการของไมโครซอฟท์ข้างต้นประกอบด้วยระบบสร้างเอกสาร Word, Excel, Powerpoint และ Access แล้วรับส่งระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน การใช้ระบบอีเมลของสถาบัน ้ของดและตารางนัดหมาย ถูกจำกัดและบริการในกลุ่มองค์กรเดียวกันได้อย่างไร้รอยต่อ การสร้างชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบถามตอบ หรือสร้างเนื้อหาเพื่อการแบ่งปัน การสื่อสารผ่านมัลติวีดีโอคอนเฟอเรนท์ หรือประชุมทางไกลที่เชื่อมโยงเอกสารข้างต้นพร้อมบันทึกเก็บไว้ เพื่อทบทวนย้อนหลังได้จากทุกที่ทุกเวลา ทั้งหมดไม่ใช่ก้าวแรกหรือก้าวสุดท้ายของการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนทางการศึกษา แล้วมาติดตามว่าโลกของเราจะมีอะไรมาให้ได้เรียนรู้กันต่อไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

+ http://www.thairath.co.th/content/edu/322771

+ http://www.nationmultimedia.com/technology/Distance-learning-made-easy-30198870.html

กระแสไลค์ในเฟซบุ๊ค (itinlife378)

facebook in cities
facebook in cities

http://www.socialbakers.com/facebook-statistics/cities/

12 ม.ค.56 ปี 2555 ที่ผ่านมาเป็นอีกปีหนึ่งที่กระแสการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมทวีความรุนแรงขึ้น จากข้อมูลใน zocialrank.com ที่ให้ข้อมูลว่าเฟซบุ๊คเพจ (Facebook Page) เมื่อต้นปี 2555 มีคนกดถูกใจ (Like) ถึงล้านคนเพียง 2 เพจ แต่ผ่านไปได้ไม่ถึงปีพบปริมาณการกดไลค์เพจเพิ่มขึ้นเกินคาด  ข้อมูลต้นปี 2556 พบว่ามีเพจที่ถึง 2 ล้านจำนวน 3 เพจ และยอดเกินล้านมีถึง 35 เพจ เกือบทั้งหมดเป็นเพจด้านความบันเทิง แต่ไม่มีเพจใดมีเนื้อหาหลักด้านการศึกษา มีเพียงเพจของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ที่เน้นด้านการศึกษาทางธรรม มียอดคนกดไลค์เกินล้าน

ผู้สื่อข่าวทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อย ใช้ข้อมูลที่อยู่ในเฟซบุ๊ค นำมาพูด บอกต่อ ตีความ ขยายความ แสดงความเห็นทั้งเชิงบวก เชิงลบ จนทำให้เกิดการรับรู้ พูดถึงเรื่องราวที่มาจากเฟซบุ๊ค ออกไปสู่สังคมภายนอกได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่การกดไลค์ต่อเพจมิใช่เครื่องแสดงถึงประสิทธิภาพของการสื่อสารในเพจ แต่เป็นจำนวนคนเข้ามามีส่วนร่วม (Engage) ที่วัดด้วยค่า “ถูกพูดถึง (Talking about this)”  ที่มาจากจำนวนกดไลค์ในแต่ละข้อความ (Post like) จำนวนการแบ่งปัน (Share) จำนวนความคิดเห็น (Comment) และกิจกรรมอื่น ๆ

สถิติการกดไลค์และการถูกพูดถึงมักเกิดกับเฟซบุ๊คเพจด้านความบันเทิง ที่ผู้ดูแลนิยมโพสต์ภาพ หรือข้อความเกี่ยวกับความรัก ทั้งสมหวัง ผิดหวัง ประชด ตัดพ้อ หรือคำพูดที่น่าประทับใจที่อ้างอิงว่ากล่าวโดยพระสงฆ์ หรือปราชญ์ อาทิ ดร.เทียม โชควัฒนา หรือขงจื้อ ข้อมูลทางสถิติเมื่อต้นเดือนมกราคม 2556 จาก socialbakers.com เปรียบเทียบในระดับเมืองพบว่า มีผู้ใช้ในกรุงเทพฯ เป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ 12,797,500 เฉือนจากาต้าของอินโดนีเซียไม่มากนัก ส่วนระดับประเทศข้อมูลของประเทศไทยคือ 18,335,420 ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจสถานภาพความสุขและมุมมองการใช้ชีวิตของชาวโลก พบว่าชาวไทยติดอันดับ 5 ของโลก ก็อาจเป็นเพราะเรามีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล โดยเมืองหลวงของไทยมีประชากรเข้าถึงมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกย่อมจะมีความสุขในอันดับต้น ๆ เช่นกัน แต่ระบบการศึกษาของไทยไปอยู่ท้ายของรายการก็อาจเป็นเพราะเรามีความสุขแบบไม่ยึดทางสายกลาง

http://www.oknation.net/blog/roisaii/2012/12/23/entry-1

http://www.pawoot.com/like-and-who-talking-about

http://www.thaiall.com/blogacla/admin/2335/

เกมออนไลน์บนกระป๋องเครื่องดื่ม (#itinlife 377)

sponsor c9
sponsor c9

แวะร้าน 7-eleven แล้วไปที่ตู้เครื่องดื่มพบกระป๋องเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อหนึ่งมีลวดลายสวยงาม มีภาพผู้หญิงถืออาวุธน่าเกรงขาม แต่แต่งตัวไม่สมเป็นกุลสตรีแม้แต่น้อย เพราะเปิดเผยในส่วนที่ควรปิด และปิดในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องปิด อ่านรายละเอียดพบว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าเครื่องดื่มเกลือแร่กระป๋องนี้มีรหัสสำหรับรับ item ของเกมฟรี ซึ่งใช้ในการเล่นเกมระดับโลก ชื่อ C9 (Continent of the ninth) มีชื่อเป็นไทยว่า “ทวีปที่ 9” ปัจจุบันมนุษย์แบ่งโลกออกเป็นทวีปไว้หลายแบบ แบบละเอียดจะแบ่งได้ 7 ทวีป คือ แอฟริกา แอนตาร์กติกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้

เกม C9 เป็นเกมต่อสู้แบบจำลองให้ผู้เล่นมีบทบาทเป็นนักรบ เพราะขายนักสู้ผู้หญิงที่ถือง้าวเป็นอาวุธไว้ข้างกระป๋อง เพราะในโลกของเรามีเกมหลายประเภท เช่น เกมหมากรุก เกมสแคบเบิ้ล เกมซูโดกุ เกมนกโกรธ เกมสร้างเมือง ที่มีเป้าหมายแตกต่างกันไป ซึ่งเกมที่เซียนเกมมักติดใจ อยู่ในกลุ่มเกมสมมติบทบาทว่าเป็นตัวละครในเกม เช่น pangya ที่ให้เป็นนักกอล์ฟขั้นเทพ หรือ ragnarok ที่ให้เป็นนักล่าอสูรสุดเท่ห์ หรือ starcraft ที่ให้เป็นผู้สร้างอนาจักรของตน หรือ facebook ที่มีเกมปลูกผักกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม หากไม่หมั่นรดน้ำพรวนดิน ก็จะมีเพื่อนแอบเข้าไปขโมยพืชผลได้

ถ้าเยาวชนได้กระป๋องนี้ไปก็มีแนวโน้มว่าจะไปหาดาวน์โหลดเกมเล่น และใช้รหัสใต้กระป๋องขอรับ item ฟรี ซึ่งปัจจุบันมีเกมมากมายที่เปิดให้เล่นฟรี ส่วนเกมออนไลน์ที่มีการแสดงผลสวยงาม และเชื่อมต่อกับเครื่องบริการ (Server) ก็มักต้องใช้เงินจริงซื้อเวลา หรือคุกกี้ (cookie) สำหรับใช้ซื้อไอเท็ม ราคาคุกกี้ เริ่มจาก 49 บาทได้ 5,000 คุกกี้ ไปถึง 1499 บาทได้ 240,000 คุกกี้ โดยเกมส่วนใหญ่มีเพื่อให้ความบันเทิง ซึ่งกลุ่มคนที่ต้องการแสวงหาความสุขจากโลกเสมือนจริง หรือฝากเป้าหมายของชีวิตไว้กับเกม ก็จะมีเกมเป็นเครื่องเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตแบบชั่วคราว โดยกลุ่มผู้อายุที่เล่มเกมสูงสุดก็จะเป็นเยาวชนที่มีเวลาแสวงหาความสุขจากเกมยามว่าง ต่างกับผู้ใหญ่ที่มีภาระหน้าที่ มีความสัมพันธ์ถาวรกับคนรอบข้างทั้งที่ทำงาน ในสังคม และครอบครัวที่เป็นบุคคลมีตัวตนจริงสัมผัสได้ มิใช่บุคคลที่หล่อสวยแบบดาราแต่อยู่ในจินตนาการที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งภาครัฐในไทยมิได้เห็นการติดเกมของเยาวชนเป็นปัญหาที่ชัดเจน

c9 : continent of the ninth
c9 : continent of the ninth

http://www.suansanook.com/wp-content/uploads/2012/10/0001-wallpaperstop1280_800.jpg

อาจารย์กูคือใคร

คำค้น นักศึกษา
คำค้น นักศึกษา

อาจารย์กูคือใคร (itinlife376)

คำว่า ครู อาจารย์ หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ผู้สอนให้ศิษย์เห็นแจ้ง แนะนำศิษย์ให้พ้นจากปัญหา ผู้เชี่ยวชาญทางปรัชญา ผู้มีความรู้สูง ผู้ให้ความรู้ให้คำแนะนำ เป็นที่พึ่งของผู้ไม่รู้ได้ เมื่อเทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลได้ถูกพัฒนาและเป็นที่ยอมรับว่าเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ตรงประเด็น และตอบคำถามได้ จึงมีศัพท์คำว่าอาจารย์กู หรืออาจารย์กู๋เกิดขึ้น หมายถึง เว็บไซต์กูเกิ้ล (google.com) ที่ให้บริการสืบค้นข้อมูล เมื่อมีคำถามแล้วใช้คำค้นที่เหมาะสมก็จะได้คำตอบที่ต้องการเป็นส่วนใหญ่ เปรียบเสมือนผู้ช่วยแก้ปัญหา ตอบคำถาม และช่วยเหลือผู้ไม่รู้ได้เสมอ

ปัจจุบันร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการทำธุรกิจ เพราะผู้คนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง ดูทีวีน้อยลง ฟังวิทยุน้อยลง แต่เข้าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ดูคลิ๊ปจาก youtube.com เพิ่มขึ้น ทำให้คนพันธุ์ใหม่เริ่มลดการซื้อหนังสือ แต่หาข้อมูล หาคำตอบจากกูเกิ้ลแทน และใช้ชีวิตในเครือข่ายสังคม หรือเกมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาอยากทราบว่านักศึกษาควรประพฤติตัวอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร จึงใช้คำว่านักศึกษาไปค้นในกูเกิ้ล โดยหวังว่าจะได้รับข้อมูลเชิงแนะนำจากอาจารย์กู

ผลการสืบค้นคำว่านักศึกษา จาก google.com ไม่เป็นไปดังที่คาดไว้ เพราะพบคลิ๊ปรุนแรง ภาพติดเรท และเว็บผู้ใหญ่ในช่วงต้นของรายการ ซึ่งเป็นเรื่อง sex และ violence  จึงเป็นที่มาของคำถามว่าเราหวังฝากผีฝากไข้ได้มากน้อยเพียงใดกับข้อมูลที่ได้จากอาจารย์กู ในขณะที่โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคคลิ๊ก หรือยุคจิ้มเขี่ย เด็กประถม 1 เข้าถึงอาจารย์กูตามนโยบายของรัฐบาล เด็กมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยต่างรู้จักอาจารย์กู แล้วครู อาจารย์ก็มักมอบหมายให้ไปสืบค้น แทนการพึ่งพาหนังสือที่ฉายภาพว่าทันสมัยรู้จักใช้เทคโนโลยี แม้อาจารย์กูจะตอบคำถามมากมายได้ถูกต้อง แต่ก็มีข้อมูลเชิงลบมากมายคละเคล้ากับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ก็เพียงแต่หวังว่าเด็กประถมจะมีวิจารณญาณในการเลือกรับสื่อ รู้จักผิดชอบชั่วดีผ่านการแนะนำจากครูประจำชั้น หากจะหวังให้กูเกิ้ลเลือกเฉพาะสารสนเทศที่ดีเชิงบวกอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะกระแสวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ต่อไปก็คงหวังพึ่งได้แต่คำว่าวิจารณญาณของผู้รับสารเท่านั้น

ผลจัดอันดับตามสื่อช่วงสิ้นปี (itinlife375)

facebook ranking
facebook ranking

30 ธ.ค.55 หนึ่งปีมี 365 วัน ซึ่งเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ถูกรวบรวมเป็นข้อมูล เมื่อนำมาประมวลหรือวิเคราะห์แล้วนำมาจัดอันดับ รายงานสรุปและเผยแพร่ ทุกองค์กรมีหน้าที่ทำรายงานประจำปี หน่วยงานอิสระ เอกชน หรือภาครัฐหลายแห่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูล เสนอประเด็นตามบทบาท หรือความเชี่ยวชาญของตน หน่วยงานทางการศึกษามีการรายงานข้อมูลว่าสถาบันใดมีคุณภาพ โดยให้คะแนนตามเกณฑ์ หน่วยงานด้านความบันเทิงก็จะจัดอันดับเพลง ภาพยนตร์ หรือนักแสดง หน่วยงานด้านความปลอดภัยก็จะเก็บสถิติ 7 วันอันตรายและเผยแพร่แบบวันต่อวันให้ประชาชนได้ตระหนักรู้และใช้สารสนเทศอย่างรู้เท่าทัน

ผลการจัดอันดับมีประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่ได้คะแนนสูง และได้คะแนนต่ำ เพราะผู้ที่มีคะแนนดีก็จะนำผลจัดอันดับไปประชาสัมพันธ์องค์กร ถือเป็นความสำเร็จที่จะต้องส่งต่อให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มยอดขายและยอดลูกค้า ส่วนผู้ที่ได้คะแนไม่ดีก็จะศึกษาเกณฑ์การให้คะแนน ทบทวนจุดแข็งจุดอ่อนในอดีตว่าสอดรับกับเกณฑ์ที่ผู้จัดอันดับใช้พิจารณาหรือไม่ แล้วเพิ่มทรัพยากร วางแผนพัฒนา จัดให้มีกลไกรองรับสำหรับปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้มีการดำเนินการจนผ่านเกณฑ์ได้ชัดเจน และนำองค์กรสู่สนามการแข่งขันต่อไป แต่หากไม่สนใจแล้วรอโชคชะตาบันดาลให้ก็จะทำให้องค์กรหลุดจากวงจรการแข่งขันในกลุ่มนั้น ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผลการจัดอันดับหลั่งไหลออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงสิ้นปี ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง เกิดผลดีต่อผู้บริโภคที่ใช้ข้อมูลชัดเจน แต่ผลเสียต่อผู้ผลิตที่อยู่ท้ายตารางมักเป็นผลกระทบใหญ่หลวงนัก หลายองค์กรต้องยุบรวม ปิดกิจการ หรือเลิกจ้างบุคลากรนับหมื่นคน ในทางกลับกันผู้ที่ประสบความสำเร็จก็จะยิ่งทะยานไปข้างหน้า เพราะมีทรัพยากรที่พร้อม แต่ผู้ที่อยู่ส่วนท้ายของรายงานมักมียอดขายตกลง ส่งผลให้มีงบประมาณน้อยลง ประชาสัมพันธ์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้น้อยลง ย้อนกลับไปกระทบยอดขายให้ลดลงอีกรอบ ส่งผลโดยตรงต่อความอยู่รอดขององค์กร เหตุการณ์ข้างต้นเป็นกระแสวัฒนธรรมการบริโภคที่อำนาจการตัดสินใจเป็นของผู้บริโภคที่จะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ แล้วการแข่งขันแบบนี้ก็จะพบได้ตลอดเวลาในสังคมบริโภคนิยม ที่เสพสื่อมาประกอบการตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการ

http://www.thairath.co.th/content/oversea/260523

http://www.2poto.com/201011291879/2010-11-29-09-36-47-1879.html

ปลดพนักงานไม่ถูกปกปิดอีกต่อไป (itinlife372)

ความผิดของผู้เหลือรอด
ความผิดของผู้เหลือรอด

8 ธ.ค.55 ในอดีตข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านสื่อในทุกประเภทยังไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย  ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี และการคมนาคมที่ไม่สะดวก ทำให้ผู้คนไม่อาจรับรู้ถึงข้อมูล หรือไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารที่หลั่งไหลออกมาจากแหล่งข่าวได้ ทำให้เรื่องราวมากมายเป็นเหมือนเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น จนกลายเป็นเรื่องลี้ลับโดยปริยาย ถ้าผู้ส่งสารไม่สื่อออกไปอย่างเหมาะสม ผู้ทำสื่อไม่เผยแพร่ หรือผู้รับปฏิเสธข่าวสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างเหมาะสมก็จะไม่เกิดขึ้น เดิมชาวโลกมีระบบการสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ อาทิ ข่าวที่องค์กรขนาดใหญ่มีแผนปลดพนักงาน หรือปิดกิจการมักเผยแพร่ไม่ทั่วถึง ผู้เขียนเริ่มคุ้นเคยคำว่าข้อมูลข่าวสารในช่วงฟองสบู่แตกปี 2540 แล้วมีผลพวงเป็นข่าวปลดพนักงานคราวละหลายพันคน ข้อดีของข่าวปลดพนักงานทำให้องค์กรมากมายตระหนัก เริ่มเรียนรู้ทั้งรู้เขา รู้เรา นำไปสู่การหามาตรการป้องกัน หรือจัดการความเสี่ยง

ปี 2555 มีข่าวปลดพนักงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และปลดครั้งละหลายพันคน ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ล่าสุด CITIGroup ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขายความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นองค์กรทางการเงินที่ส่วนหนึ่งบริการเกี่ยวกับการรับฝากถอน และปล่อยกู้ ได้ให้ข่าวว่ามีแผนปลดพนักงานหนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน จากก่อนหน้านี้ก็มีข่าวปลดพนักงานระดับหมื่นคนในหลายองค์กรมาแล้ว จึงเป็นเรื่องน่าศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น และทำอย่างไรไม่ให้เกิดแบบนั้นในองค์กรของเรา

สำหรับบริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแหล่งที่ก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยนวัตกรรม ก็พบปัญหาพ่ายแพ้ต่อนวัตกรรมของบริษัทอื่นในตลาดที่ผู้บริโภคเปลี่ยนใจง่าย  สินค้ารูปแบบเดิมไม่อาจตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  ประกอบกับกำลังซื้อมีจำกัด เพราะคนหนึ่งจะซื้อทุกอย่างในโลกไม่ได้ หากมีบริษัทที่เป็นเบอร์ 1 ก็ย่อมมีบริษัทที่เป็นเบอร์สุดท้าย แล้วผลคือบริษัทที่ยอดขายต่ำต้องปรับเปลี่ยนไปในแนวกระทบความมั่นคงในอาชีพ และสวัสดิการของบุคลากรในองค์กร การจัดการความเสี่ยง การจัดการความรู้ การจัดการลูกค้า และตอบสนองเร็วต่อปัจจัยภายนอก จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้บริหารองค์กรในปัจจุบัน ดังนั้นการบริหารองค์กรให้อยู่รอดย่อมส่งผลถึง ความเป็นความตายในอาชีพของพนักงานนับหมื่นคนในองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีบทเรียนขององค์กรที่ไปไม่รอดให้เรียนรู้มาแล้วมากมาย และหาอ่านได้ไม่ยากนัก

http://www.usatoday.com/story/money/2012/12/05/citi-cuts-11k-jobs/1747897/

http://video.cnbc.com/gallery/?video=3000133496&__source=yahoo|headline|quote|video|&par=yahoo

4G โฟร์จี หรือสี่จี .. ในวันนี้

โฟร์จี หรือสี่จี (4G = Fourth Generation)
โฟร์จี หรือสี่จี (4G = Fourth Generation)

11 พ.ย.55 ก่อนไปถึงโฟร์จี (4G) คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้จักคำว่าการประมูลสามจี หรือทรีจี (3G) ที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่ออย่างต่อเนื่อง แล้วต้นเดือนพฤศจิกายน 2555 ได้มีมติของผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการออกใบอนุญาต 3G แล้วตรวจสอบว่าการประมูล 3G มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ปัจจุบันคนไทยบางส่วนได้ใช้บริการ 3G ซึ่งแตกต่างกันไปในผู้บริการแต่ละราย ได้แก่ TOT ใช้ความถี่ 2100 MHz มีความเร็วสูงสุด 42 Mbps ส่วน True Move และ True Move H ใช้ความถี่ 850 MHz ส่วน AIS ใช้ความถี่ 900 MHz ส่วน DTAC ใช้ความถี่ 850 MHz

โฟร์จี หรือสี่จี (4G = Fourth Generation) คือ มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่พัฒนาต่อจาก 3G และ 2G โดยมีความเร็วตามทฤษฎีสูงถึง 100 Mbps เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้วดาวน์โหลดข้อมูลได้เร็วกว่าเดิม สามารถทำ Video Call ได้แบบไม่สะดุด สำหรับระบบที่เข้ากับ 4G ได้แก่ WiMAX, Flash-OFDM และ LTE เป็นต้น หากวันนี้มีบริการ 4G ให้ใช้ ผู้ใช้ก็ต้องหาอุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่นที่รองรับเทคโนโลยีนี้ เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่ยังรองรับ 3G หรือ 2G เท่านั้น แต่ถ้าเป็น iPhone 5 ในไทยเปิดตัวเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555 รองรับระบบนี้แล้ว  ในประเทศลาวแถลงข่าวให้บริการระบบ 4G เป็นประเทศที่สองของเอเชียต่อจากประเทศสิงค์โปร์  เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งใช้มาตรฐาน LTE (Long Term Evolution หรือ LTE)

การประมูล 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ได้ถูกประมูลเมื่อ 16 ตุลาคม 2555 นั้น มีบริษัทเข้าร่วมประมูล 3 บริษัท ได้แก่ DTAC, True Move และ AIS สำหรับ TOT นั้นได้สัมปทานอยู่แล้ว  ส่วน 4G นั้นอาจมีการนำคลื่น 1800 MHz หรือ 2300 MHz ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในส่วนนี้ เพราะประเทศไทยต้องหาข้อสรุปเรื่อง 3G ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถนำเรื่อง 4G มาเป็นบันไดขั้นต่อไปของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของประเทศ

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000136900

http://th.wikipedia.org/wiki/4G

http://www.club4g.com/

http://www.thairath.co.th/content/tech/302760

http://www.ais.co.th/4g/

ผลการจัดอันดับในสื่อ (itinlife 367)

ดัชนีศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษ
ดัชนีศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษ

3 พ.ย.55 คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบผลการแข่งขันในสื่ออินเทอร์เน็ต เมื่อมีผู้ที่ชนะก็ย่อมมีผู้ไม่ชนะ องค์ประกอบของการแข่งขันมีมากมาย อาทิ กรรมการตัดสิน กองเชียร์ ผู้ร่วมเกม เกณฑ์ประเมิน ช่วงเวลา รายงานผล และผลกระทบที่ตามมา ซึ่งการแข่งขันที่ใกล้ตัวก็เห็นจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งผลจากการเลือกตั้งจะส่งผลถึงความเป็นอยู่ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนผ่านการบริหารของผู้ที่เราเลือกเข้าไป ส่วนผลการจัดอันดับที่ไกลตัวคือ การแข่งขันฟุตบอลในต่างประเทศ ที่ถึงแม้จะไกลตัว แต่เวลาฟังเพื่อนคุยเรื่องนี้ทีไรมักรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดระแวกบ้านทุกที

การจัดอันดับในประเทศไทย ย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้ไม่ชนะ ซึ่งเกณฑ์ก็มักจะสร้างขึ้นกันเอง และผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ก็มักได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง ปัจจุบันสถาบันการศึกษาทั้งระดับขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาต่างก็ตกอยู่ในภาวะที่ต้องแข่งขัน สถาบันที่ไม่ได้มาตรฐานหรือล้มเหลวในการดำเนินงานก็ต้องปิดตัว เด็กนักเรียนก็ต้องแข่งขันกันพัฒนาตนเองด้วยการเรียนพิเศษเพิ่มเติม ทั้งหลังเลิกเรียนและในวันสุดสัปดาห์ โรงเรียนกวดวิชาก็จะประชาสัมพันธ์ด้วยการนำเสนออันดับผลสอบของศิษย์ และจำนวนนักเรียนที่สอบติดในสถาบันที่เป็นที่ยอมรับ

มีผลการจัดอันดับประเทศไทย ที่รู้แล้วก็ต้องบอกว่าอึ้งไปชั่วขณะ คือ ผลการจัดอันดับศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษของประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก ในชื่อ EF English Proficiency Index เมื่อปี 2554 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 42 จากทั้งหมด 44 ประเทศ และปี 2555 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 53 จากทั้งหมด 54 ประเทศ โดยเราชนะประเทศลิเบียประเทศเดียว ส่วนในเอเชียเราอยู่อันดับสุดท้าย และเป็นเพียงประเทศเดียวของเอเซียที่อยู่ในระดับ Very Low Proficiency มีค่า EF EPI เท่ากับ 44.36 ซึ่งทั้งโลกมีสถานะในระดับต่ำมากจำนวน 16 ประเทศ หากต้องการหนีคำว่าสุดท้ายของเอเชีย เราต้องชนะจีน ซึ่งปี 2012 จีนอยู่อันดับที่ 36

http://www.newsenglishlessons.com/1210/121028-esl_speakers.html

http://www.ef.com/__/~/media/efcom/epi/2012/full_reports/EF%20EPI%202012%20Report_MASTER_LR.pdf

http://www.thelocal.se/44062/20121026

โหนกระแส 3G สร้างนิยามใหม่ (itinlife366)

3g
3g

27 ต.ค.55 ข่าว 3G ที่เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ประเทศเพื่อนบ้านใช้มาหลายปี แต่เรายังไปไม่ถึงนั้น ระยะนี้มีข่าวออกมาค่อนข้างบ่อย และส่อไปในแนวว่าการประมูลที่จัดโดย กสทช. อาจถูกยกเลิกด้วยเหตุผลนานาประการ บริษัทที่ได้ไปประกอบด้วย เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เรามารู้จัก 3G ในแบบของผมดีกว่า โดยเกาะกระแสคำว่า KM (Knowledge Management) คือการจัดการความรู้ ซึ่ง 3G ในที่นี้มาจากอักษรนำ 3 ตัวที่ขึ้นต้นด้วยตัว G ประกอบด้วย Gallery, Garbage และ Gross ซึ่งรวมกันให้ความหมายในเชิงให้คำแนะนำถึงประเด็นสำคัญในรูปของกระบวนการที่คอยย้ำเตือนว่าอย่าลืมสิ่งสำคัญเหล่านี้ หากลืมไปก็อาจมีความเสียหายตามมาได้

คำแรก Gallery คือ การสะสม เพราะมนุษย์เราทุกคนเกิดมาต้องมีการสะสม ร้อยละ 99 ก็จะสะสมเงินทอง ในอดีตเราจะสะสมอาหาร คนมีฐานะก็สะสมเสื้อผ้า รองเท้า เพชร งานศิลปะ เครื่องลายคราม หรือวัตถุโบราณ นักเรียนสะสมความรู้ นักศึกษาสะสมประสบการณ์ก่อนออกไปทำงาน คนทำงานก็จะสมผลงาน ในรูปของพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) การมีของสะสมมากมักถูกมองว่าเป็นคนมีฐานะ เพราะมองเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่ามีอะไรให้ชม อาทิ สะสมรถยุโรป สะสมภาพเขียน สะสมของโบราณ ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ก็จะสะสมความรู้ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งตัดสินใจอะไรได้ดี ถูกต้อง และมีคุณภาพ แล้วคนเหล่านี้ก็มักถูกบริษัทขนาดใหญ่ซื้อตัว แย่งชิงผู้บริหารไปบริหารบริษัทของตน อาทิ Steve Jobs หรือ John Sculley เป็นต้น

คำที่สอง Garbage คือ ขยะ เพราะหลังสะสมไประยะหนึ่ง ก็ต้องมีการจัดหมวดหมู่ วิเคราะห์ คัดกรอง แยกประเภท นำไปใช้ แล้วก็จะพบกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ แล้วก็ต้องจำหน่ายขยะเหล่านั้นออกไป หากเข้าใจเรื่องนี้เหมือนร้านรับซื้อของเก่า ก็อาจทำธุรกิจใหม่ หรือสร้างมูลค่าจากขยะขึ้นมาได้ อาทิ การแปลงขี้ช้างไปเป็นกระดาษขี้ช้างเป็นต้น เรียกว่าเห็นขยะมีมูลค่าขึ้นมา คำที่สาม Gross คือ การสรุปผล หรือหาผลรวม ที่ต้องเข้าใจจังหวะเวลา รอบคอบ และความเหมาะสม เพราะมีคำเตือนจากสุภาษิตว่า สงครามยังไม่จบอย่าพึ่งนับศพ หรือ เกมยังไม่จบ อย่าพึ่งนับเงิน หมายถึง การปิดกิจกรรม/โครงการอย่างรอบคอบรัดกุม และประเมินผลทั้งหมดรอบด้านแล้ว ถ้าทำกิจกรรมใดแล้วห่วงหน้าพะวงหลัง คอยประเมินผลตลอดเวลาโดยใช้ข้อมูลไม่ครบ ก็อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี