meditation of time magazine
13 ม.ค.55 สำลักสื่อคนไทยติดเฟซบุ๊ควันละ 2.3 หมื่น
รายงานโดย ผกามาศ ใจฉลาด
ครึ่งชีวิตยามตื่นของเด็กผูกติดอยู่กับสื่อ และมีนักวิชาการฟันธง “ไม่มีวันปราบสื่อร้าย” ได้ ที่สถาบันรามจิตติ เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดเสวนาในโครงการ “เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม 2” โดยการสนับสนุนของสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้หัวข้อ “สื่อและวัฒนธรรมการเรียนรู้ของเด็กไทย” ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ได้เสนอนำภาพรวมเกี่ยวกับสภาวการณ์ “สื่อและวัฒนธรรมการเรียนรู้ของเด็กไทย” โดยสรุปว่า ปัจจุบันเด็กไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “สื่อครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันของเด็ก” คือ 1 ใน 3 ของชีวิตใช้เวลาหมดไปกับสื่อทุกรูปแบบ
เห็นได้จากสถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยมลดลง แต่หนังสือดารา “อ้า” ล้นแผง แฝงโลกีย์กลับขายดี ผลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงปี 2551 เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่อ่านหนังสือซึ่งไม่ใช่ตำราเรียนมีเพียงร้อยละ 36 ของเด็กทั้งหมด ส่วนผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป พบว่า ใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเหนือจากตำราเรียนและงานเฉลี่ยเพียง 39 นาทีต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงมีแนวโน้มของการสื่อสารที่ขาดสติและเหตุผลได้ง่าย
ส่วนสื่อโทรทัศน์และวิทยุยังได้รับความนิยม (เด็กและเยาวชนแชมป์รายการบันเทิง) พร้อมๆ กับเปิดรับสื่อใหม่ (New Media) ในยุคเว็บขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการสำรวจในช่วงปี 2552 พบว่า เด็กวัยมัธยมศึกษา-อุดมศึกษา มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้ถึงประมาณร้อยละ 45 และมีโทรศัพท์มือถือใช้ถึงร้อยละ 85 ใช้เวลาคุยโทรศัพท์ถึงวันละประมาณ 92 นาที เล่นอินเทอร์เน็ตประมาณ 134 นาที หากรวมสื่อโทรทัศน์ที่เด็กไทยให้เวลาอีกเกือบ 3 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากับว่าเด็กไทยใช้เวลากับสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ไปถึง 6-7 ชั่วโมงต่อวัน
ทุกวันนี้มีคนใช้ชีวิตอยู่กับสังคมออนไลน์มากขึ้นทุกวัน และมีการใช้โซเชียลมีเดีย สื่อสาร หรือเขียนเล่า เนื้อหา เรื่องราว ประสบการณ์ บทความ รูปภาพ และวิดีโอที่ผู้ใช้เขียนขึ้นเอง ทำขึ้นเองหรือพบเจอจากสื่ออื่นๆ แล้วนำมาแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายของตน ผ่านทางเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network Website) ที่ให้บริการบนออนไลน์ ดังนั้นปรากฏการณ์เด็กยุคใหม่กับสื่อและเทคโนโลยีเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลของโครงการไชลด์วอทช์ (Child Watch) พบแนวโน้มที่ชัดเจนของการที่สื่อต่างๆ เข้ามาครอบครองพื้นที่ในชีวิตเด็กไทยมากขึ้น
เด็กและเยาวชนในปัจจุบันได้รับเอาสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ขณะที่เว็บไซต์เฟซบุ๊กมาแรงที่สุด สถิติของคนใช้ทั่วโลกพบว่า ไทยมีคนใช้งานมากเป็นอันดับที่ 21 ปี 2551 มีคนไทยใช้เฟซบุ๊ก 1.6 แสนราย ปี 2552 มีคนไทยใช้เฟซบุ๊ก 1.9 ล้านราย ในปี 2553 มีคนไทยใช้เฟซบุ๊ก 6.7 ล้านราย มีสถิติคนสมัครใช้บริการประมาณ 2.3 หมื่นต่อวัน ช่วงอายุของผู้ใช้งานสูงสุดคือ 18-24 ปี (ร้อยละ 36.3) รองลงมาคือ 25-34ปี (ร้อยละ 31.7)
สัญญาณอันตรายชีวิตยุคไฮสปีดเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงในการเล่นพนันออนไลน์เป็นธุรกิจที่มีความเติบโตอย่างรวดเร็วมากทั่วโลก ในช่วงปี 2549 มีเว็บไซต์เกิดขึ้น 2,300-2,500 เว็บไซต์ และพบอัตราการเติบโตร้อยละ 20 ต่อปี รายได้ของธุรกิจทั่วโลกมีการประมาณไว้อยู่ระหว่างกว่า 31,750 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 15.8 ล้านล้านบาท ในปี 2558 เด็กติดเกม มั่วสุมร้านเกม ปี 2550-2551 เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 9-15 ปี จำนวน 2,452 คน ใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ราชบุรี สุรินทร์ และสุราษฎร์ธานี พบว่าร้อยละ 13.3 เป็นกลุ่มที่กำลังติดเกมมีอายุเฉลี่ย 11 ปี และมีภาวะติดเกมมากขึ้น โดยเกมที่นิยมเล่นมากที่สุดคือ เกมบู๊ล้างผลาญ เกมเกี่ยวกับเพศ (Dojin) นุ่งน้อยห่มน้อย โดยเฉพาะเกม SF หรือ Special force ยังเป็นที่นิยม
ยังไม่รวมผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ค่านิยมและพฤติกรรมทางเพศ การเรียนรู้ทางเพศแบบผิดๆ ผ่านคลิปโป๊ ปัญหาเพศสัมพันธ์เสรี แม่วัยรุ่น ทำแท้งเถื่อน ปัญหาการเบี่ยงเบนทางเพศ ปัจจุบันเด็กมัธยมระบุว่า ในชั้นเรียนของตนเฉลี่ยมีกลุ่มรักเพศเดียวกันประมาณ 3 คน และตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับอาชีวะและอุดมศึกษา เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบดารา ค่านิยมสวยไม่ผ่าน อย. “อกฟู รูฟิต, ขาวอมชมพู, ผอมเพรียวภายใน 1 สัปดาห์ สวยใสสไตล์ เกาหลี”
อย่างไรก็ตาม การที่เด็กชอบใช้ชีวิตแบบสังคมออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก มีทั้งผลดีอยู่บ้าง เช่น การเกิดเครือข่ายจิตอาสาของเยาวชน ดังนั้นภาพรวมความเคลื่อนไหวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างมีนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ “สื่อสร้างสรรค์” ที่หลากหลาย รวมถึงมาตรการจัดระเบียบและควบคุมสื่อบางประเภท นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้มีโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียในมิติดีๆ อาทิ Cyber Parents โครงการรักไอที รักษ์โลก (IT Green Project) เครือข่ายพลเมืองจิตอาสา อาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย
นานาทัศนะ
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล “การแก้ไขเร่งด่วนคือ ระบบ rating รายการโทรทัศน์ ที่ยังขาดเรื่องการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังเสนอให้มียุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาและผลิตสื่อ เพื่อสร้างองค์ความรู้ของการใช้สื่อเพื่อสังคม ทั้งการลงทุนกับการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาสื่อ สร้างฐานงานวิชาการด้านสื่อเพื่อเด็กที่เข้มแข็ง”
อิทธิพล ปรีดีประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล “การสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อ ICT เพื่อการพัฒนาเด็ก ที่สำคัญคือการใช้ยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่ให้เด็กสร้างสื่อด้วยตนเอง เช่น การสร้างและใช้ประโยชน์อี-เลิร์นนิ่ง การเข้าพัฒนาสร้างซอฟต์แวร์ ส่งเสริมการเรียนรู้กันเอง การสร้างเครือข่ายจิตอาสาและขับเคลื่อนสังคมอย่างเครือข่ายนักข่าวเยาวชน เป็นต้น ตลอดจนการเข้ามาริเริ่มธุรกิจค้าขายสินค้าทำเองของเยาวชนจำนวนมากผ่านเว็บต่างๆ ทำให้เห็นมุมบวกของสื่อไอซีที ที่น่าสนับสนุนให้ขยายตัวไปถึงเยาวชนจำนวนมากขึ้น
ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า หากบังคับการใช้สื่อกับเด็กไม่ได้การแก้ไข คือ “การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก มุ่งขยาย Good Practice แล้วหนุนการทำงานเป็นเครือข่าย” ปัจจุบันไม่ต้องรอพื้นที่รอคนให้โอกาส ทำสื่อเองหาพื้นที่เอง หาช่องทางการนำเสนอสื่อเอง สิ่งสำคัญของมุมมองด้านสื่อ คือ การให้ความสำคัญด้านกระบวนการศึกษาของดีที่ทำมาแล้ว และมองหาโอกาสใหม่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้เกิด “สื่อทางเลือกใหม่ๆ” ให้มากยิ่งขึ้น
หมายเหตุ :
ข้อมูลจากสถาบันรามจิตติและสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
http://www.komchadluek.net/detail/20110727/104052/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94FB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B02.3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99.html