ยาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งยาแต่ละชนิดก็มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ยาทา ยาฉีด ยากิน เป็นต้น หากเราใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้โดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนและทำให้เกิดอันตรายได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา ทั้งในเรื่องของการใช้ยาที่ถูกต้อง รู้จักวิธีการเก็บรักษายาไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว และรู้จักสังเกตว่ายานั้นเสื่อมสภาพหรือยัง ดังนี้
1. ใช้ให้ถูกโรค คือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น เราไม่ควรซื้อยาหรือใช้ยาตามคำบอกเล่าของคนอื่น หรือหลงเชื่อคำโฆษณา ควรจะให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นคนจัดให้ เพราะหากใช้ยาไม่ถูกกับโรคอาจทำให้ได้รับอันตรายจากยานั้นได้ หรือไม่ได้ผลในการรักษา และยังอาจเกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่โรคที่เป็นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย ซึ่งทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ในภายหลัง
2. ใช้ยาให้ถูกกับคน คือ ต้องดูให้ละเอียดก่อนใช้ว่า ยาชนิดใดใช้กับใคร เพศใด และ อายุเท่าใด เพราะอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของคนแต่ละเพศ แต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เช่น ในเด็กการตอบสนองต่อยาจะเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก ในสตรีมีครรภ์ยาหลายชนิดมีผลทำให้ทารกพิการได้ ในสตรีที่ให้นมบุตรก็ต้องระวังเพราะยาอาจถูกขับทางน้ำนมซึ่งจะส่งผลให้ทารกได้ ในผู้สูงอายุการทำลายยาโดยตับและไตจะช้ากว่าคนหนุ่มสาว
3. ใช้ยาให้ถูกเวลา ควรปฏิบัติดังนี้
– การรับประทานยาก่อนอาหาร ต้องรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ถ้าลืมกินยาในช่วงดังกล่าวก็ให้รับประทานเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดี
– การรับประทานยาหลังอาหาร โดยทั่วไปจะให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15 – 30 นาที
– การรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือพร้อมอาหาร ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่รับประทานอาหารก็ได้ เพราะยาประเภทนี้จะระคายเคืองต่อกระเพาะมาก หากรับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง อาจทำให้กระเพาะเป็นแผลได้
– การรับประทานยาก่อนนอน ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที
– การรับประทานยาเมื่อมีอาการ ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ และยาลดไข้ แก้ปวด
4. ใช้ยาให้ถูกขนาด ควรรับประทานให้ถูกขนาดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ จึงจะให้ผลดีในการรักษา และควรใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยาไม่ใช้ช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง แต่หากต้อง สามารถเปรียบเทียบหน่วยมาตรฐานดังนี้
1 ช้อนชา (มาตรฐาน) = 5 มิลลิลิตร = 2 ช้อนกาแฟ (ในครัว) = 1 ช้อนกินข้าว
1 ช้อนโต๊ะ (มาตรฐาน) =15 มิลลิลิตร = 6 ช้อนกาแฟ (ในครัว) = 3 ช้อนกินข้าว
5. ใช้ยาให้ถูกวิธี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ยาที่ใช้ภายนอก ได้แก่ ขี้ผึ้ง ครีม ยาผง ยาเหน็บ ยาหยอด มีข้อดีคือมีผลเฉพาะบริเวณที่ให้ยาเท่านั้นและมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงไม่ค่อยมีผลอื่นต่อระบบในร่างกาย ข้อเสียคือ ใช้ได้ดีกับโรคที่เกิดบริเวณพื้นผิวร่างกายเท่านั้น และฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นาน โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
– ยาใช้ทา ให้ทาเพียงบางๆ เฉพาะบริเวณที่เป็นหรือบริเวณที่มีอาการ ระวังอย่าให้ถูกน้ำล้างออกหรือถูกเสื้อผ้าเช็ดออก
– ยาใช้ถูนวด ก็ให้ทาและถูบริเวณที่มีอาการเบาๆ
– ยาใช้โรย ก่อนที่จะโรยยาควรทำความสะอาดแผล และเช็ดบริเวณที่จะโรยให้แห้งเสียก่อน ไม่ควรโรยยาที่แผลสด หรือแผลมีน้ำเหลือง เพราะผงยาจะเกาะกันแข็งและปิดแผล อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคภายใน แผลได้
– ยาใช้หยอด จะมีทั้งยาหยอดตา หยอดหู หยอดจมูก หรือพ่นจมูก
ยาที่ใช้ภายใน ได้แก่ ยาเม็ดยาผง ยาน้ำ ข้อดี คือ สะดวก ปลอดภัย และใช้ได้กับยาส่วนใหญ่ แต่มีข้อเสียคือ ออกฤทธิ์ได้ช้าและปริมาณยาที่เข้าสู่กระแสเลือดอาจแตกต่างกันตามสภาพการดูดซึม โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
– ยาเม็ดที่ให้เคี้ยวก่อนรับประทาน ได้แก่ ยาลดกรดและยาขับลมชนิดเม็ดทั้งนี้เพื่อให้เม็ดยาแตกเป็นชิ้นเล็ก จะได้มีผิวสัมผัสกับกรดหรือฟองอากาศในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
– ยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย ได้แก่ ยาชนิดที่เคลือบน้ำตาล และชนิดที่เคลือบฟิล์มบาง ๆ จับดูจะรู้สึกลื่น ยาดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน ต้องการให้ยาเม็ดค่อยๆละลายทีละน้อย
– ยาแคปซูล เป็นยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย ข้อดีคือรับประทานง่าย เพราะกลบรสและกลิ่นของยาได้ดี
– ยาผง มีอยู่หลายชนิด และใช้แตกต่างกัน เช่น ตวงใส่ช้อนรับประทานแล้วดื่มน้ำตาม หรือชนิดตวงมาละลายน้ำก่อน และยาผงที่ต้องละลายน้ำในขวดให้ได้ปริมาตรที่กำหนดไว้ก่อนที่จะใช้รับประทาน เช่นยาปฏิชีวนะชนิดผงสำหรับเด็ก โดยน้ำที่นำมาผสมต้องเป็น น้ำดื่มที่ต้มสุกและทิ้งให้เย็น ต้องเก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็งและหากใช้ไม่หมดใน 7 วันหลังจากที่ผสมน้ำแล้วให้ทิ้งเสีย
– ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) เช่น ยาลดกรดต้องเขย่าขวดให้ ผงยาที่ตกตะกอนกระจายเป็นเนื้อเดียวกัน จึงรินยารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วตะกอนยังไม่กระจายตัว แสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
– ยาน้ำใส เช่น ยาน้ำเชื่อม ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ถ้าเกิดผลึกขึ้น หรือเขย่าแล้วไม่ละลาย ไม่ควรนำมารับประทาน
– ยาน้ำแขวนละออง (Emulsion) เช่น น้ำมันตับปลา ยาอาจจะแยกออกให้เห็นเป็นของเหลว 2 ชั้น เวลาจะใช้ให้เขย่าจนของเหลวเป็นชั้นเดียวกันก่อน จึงรินมารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วยาไม่รวมตัวกันแสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
สรุปข้อแนะนำการใช้ยา
1. ยาก่อนอาหาร กินก่อนอาหารครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ยกเว้นยาบางชนิดที่มีข้อแนะนำพิเศษ
2. ยาหลังอาหาร กินหลังอาหารสิบห้านาทีถึงครึ่งชั่วโมง
3. ยาหลังอาหารทันที ให้กินหลังอาหารทันที เช่น ยาลดการอักเสบปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ
4. ยาพร้อมอาหาร กินพร้อมอาหาร ในมื้อนั้นๆ
5. ยาผงผสมน้ำกินฆ่าเชื้อสำหรับเด็ก หลังจากผสมน้ำแล้วไม่ควรใช้เกิน 7 วัน ขณะที่ไม่ใช้ยา ควรเก็บยาในตู้เย็นชั้นใต้ช่องแข็งลงมา ห้ามเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง
6. ยาหยอดตา หลังเปิดใช้แล้ว จะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน โดยทั่วไปจะเก็บในตู้เย็นชั้นใต้ช่องแข็งลงมา ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
7. ยาป้ายตา หลังเปิดใช้แล้วจะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน ในอุณหภูมิห้องปกติ
8. ยาเก็บในตู้เย็น เก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หรือชั้นใต้ช่องแข็งลงมา ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
9. การเก็บรักษายาทั่วไป ควรเก็บไว้ในที่แห้ง และพ้นจากแสงแดด
10. อาการแพ้ยา หากกินยาแล้ว มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีผื่นคันตามตัว มีจ้ำที่ผิวหนัง หน้ามืด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือใจสั่น ให้หยุดยา และมาปรึกษาแพทย์ทันที