บทความใน ม.มหิดล โดย ดร.ภก.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล และ ภก.สุเมธ จงรุจิโรจน์ ภาควิชาจุลชีววิทยา ระบุว่า มีความเชื่อผิด ๆ ว่า ไม่พบพยาธิในปลาน้ำทะเลอย่างแน่นอน จะพบพยาธิเฉพาะปลาน้ำจืดเท่านั้น จึงรับประทานปลาดิบจากทะเลได้อย่างสบายใจ
ในความเป็นจริงปลาทะเลก็มีพยาธิได้ ดังข่าวเมื่อสิงหาคม 2554 ว่าพบพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งในปลาดิบที่ขายอยู่ตามร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป เจ้าพยาธิที่ว่านี้ มีชื่อ อะนิซาคิส (Anisakis simplex) ทำให้เกิดโรคเอนิซาคิเอซิส (Anisakiasis) ตรวจพบได้ในปลาหลายชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย ปลาลัง ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว พยาธิอาจจะชอนไชไปตามทางเดินอาหาร อยู่ในลำไส้ หรือในช่องท้อง
+ ระหว่างปี พ.ศ.2508 – 2530 มีรายงานว่าพบผู้ป่วยในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 4000 ราย ซึ่งพบการเกิดก้อนทูมในกระเพาะอาหารมากที่สุด ถ้าตัดก้อนทูมจะพบพยาธิอยู่ภายในก้อนทูม การรักษาทำได้โดยการผ่าตัด แล้วปี พ.ศ.2538 มีรายงานพบผู้ป่วยในญี่ปุ่นประมาณ 2000 ราย ในสหรัฐอเมริกามีรายงานการพบผู้ป่วยประมาณ 500 รายต่อปี ในยุโรปมีประมาณ 500 ราย สำหรับประเทศไทยก็มีรายงานการพบผู้ป่วยครั้งแรกจากพยาธิชนิดนี้ในชาวประมงทางภาคใต้ และยังมีรายงานว่าพบผู้ที่เกิดอาการแพ้ต่อพยาธิตัวนี้ทำให้เกิดผื่นลมพิษ ดังนั้นการรับประทานปลาดิบ อาหารอันเลื่องชื่อของแดนอาทิตย์อุทัย จึงต้องสังเกตเนื้อปลาว่ามีตัวอ่อนของพยาธิปะปนอยู่หรือไม่ เพื่อความปลอดภัย
+ http://health.kapook.com/view99882.html
+ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000114815
+ http://women.thaiza.com/