อนิจจัง วัน เวลา ไม่เคยคอยใคร


นับวัน นับเดือน นับปี
นับนาที นับวินาที
สายน้ำไม่เคยหยุดไหล
เวลาไม่เคยหยุดเดิน
.
ชีวิตก็เหมือนสายน้ำ
ไหลไปไม่เคยหยุดนิ่ง
ไหลไปตามกาลเวลา
ชีวิตเสมือนเทียนไข
มีติด มีดับ
มีสั่นไหว เมื่อมีแรงลม
โบกสะบัดพัดไปมา
.
เราอาจเคยเห็น
เทียนไขของใครต่อใคร
ดับลงไปทีละดวงสองดวง
เห็นแล้วก็ใจหาย
ด้วยสุดรักสุดอาลัย
.
บางดวงใช้เวลาหรี่แสงลงจนกว่าจะดับไป
บางดวงดับลงด้วยลมสะบัดเพียงครั้งเดียว
บางดวงไส้เทียนหมดไปอย่างไม่คาดฝัน
.
แต่ไม่รู้เมื่อไร
แท่งเทียนของเราจะดับลง
เห็นเทียนดับมาเยอะ
แต่เมื่อถึงเวลาของตนเอง
คงไม่มีใครรู้หรือเห็น
ว่าเทียนของตนได้ดับลงอย่างไร
.
ผ่านเวลา ผ่านสายน้ำ
ผ่านร้อน ผ่านหนาว
ผ่านสุข ผ่านทุกข์
ผ่านกำแพง ผ่านสะพาน
ผ่านถนนแสนสวย
ผ่านปราสาทแสนงาม
ผ่านภูผายิ่งใหญ่
ผ่านอาหารรสเลิศ
เครื่องดื่มหอมหวาน
ก็ผ่านมาแล้ว นับครั้งไม่ถ้วน
.
ทุกอย่างคือสิ่งที่ผ่านไป
และไม่เคยหวนกลับคืนมา
เช่นเดียวกับเวลาและวารี
ที่ผ่านแล้ว ก็ผ่านไป
ไม่เคยหยุดนิ่ง

https://vt.tiktok.com/ZSFDyjWxS/

https://www.thaiall.com/dhamma/

ชีวิตเหมือนสายน้ำ
#เวลา
#สายน้ำ
#เทียนไข
#ธรรมชาติ
#อนิจจัง
#dhamma

จดหมายจากลูกถึงพ่อแม่ ฉบับที่ 4 ออกค่ายวัดถ้ำเขาวง

สวัสดีค่ะ พ่อเก๋ แม่ขวัญ

ไปได้ไหม” หนูเคยถามผ่านแชทไปว่า
รุ่นพี่ชมรมพุทธศาสน์ ชวนไปออกค่ายที่นครราชสีมา
แล้ว แม่ขวัญถามนู่นนี่ หลายอย่างเลย
หนูก็ไปถามรุ่นพี่ สุดท้ายพ่อเก๋ก็บอกว่า “ไปสิ

พอย้ายจากลำปาง มาอยู่หอในมหาวิทยาลัย
ก็ไม่เหงานะ มีเพื่อนชวนพูดชวนคุยเยอะเลย
รุ่นพี่ต้อนรับดีมาก ที่นี่มีพี่เยอะ เป็นตระกูลเลย
มีพี่คณะเค้าอยู่ชมรมพุทธศาสตร์
ชวนหนูไปสวดมนต์ ตอนเย็น ๆ ที่ห้องชมรมฯ

นั่งสมาธิ
นั่งสมาธิ

แล้ววันหนึ่ง
พี่เค้าก็ชวนว่า “ไปออกค่ายไหม” รูมเมทก็ไปค่ะ
วัดถ้ำเขาวง ที่นครราชสีมา
ไปไกลเลย ไปรถตู้ ไปนอนที่สถานปฏิบัติธรรม
เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันหลายมหาวิทยาลัย
ม.เรา ไป 1 คันรถ
ทั้ง ม.บูรพา ม.เกษตรศรีราชา มทร.บางพระ
ม.รังสิต มทร.ธัญบุรี มรภ.วไลอลงกรณ์ ม.หัวเฉียว
ก็หลายสิบคนเลยหละ ไปนอน 2 คืน

กิจกรรม
กิจกรรม

พระอาจารย์ท่านใจดี คุยสนุก
ตอนทานข้าว ท่านบอกทานเยอะ ๆ อย่าให้เหลือเสียดาย
เพราะมีศรัทธานำมาถวาย

พอทานเยอะ ๆ แล้วนั่งสมาธิก็ง่วงสิ
ตอนทำกิจกรรมสนุกมาก
รู้จักเพื่อนใหม่หลายคนเลย
มีกิจกรรมออกกำลังกายตอนเช้า
สวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิในถ้ำ
กิจกรรมสันทนาการ ได้รู้จักเพื่อนใหม่
และอีกมากมาย

สาธุ
สาธุ

หลังจบโครงการที่วัดแล้ว พวกเราก็แยกกันกลับ
เพื่อนที่ ม.บูรพา เป็นแม่งาน ทำคลิ๊ป แล้วก็แชร์มา
เป็นคลิ๊ปเล่าเรื่องราว ตอนอยู่ที่วัดค่ะ
หนูชอบมาก มีหนูอยู่ในคลิ๊ปด้วยนะ
หนูชอบนั่งกลาง ๆ ไม่ได้นั่งหน้าสุด หรือนั่งหลังสุด

เรียนในถ้ำ
เรียนในถ้ำ

ถ้าปีหน้า
เค้าจัดกิจกรรมกันอีก หนูก็อยากไปอีก ประทับใจมาก ๆ
แล้วไปปฏิบัติธรรมที่ไหน
หนูจะมาเล่าให้ฟังอีกนะค่ะ

Bye Bye จ้า .. รักทุกคนนะ จุ๊บ จุ๊บ
จาก พี่เอของน้อง ๆ และลูกที่น่ารักของพ่อเก๋ แม่ขวัญ
มีอะไรทักแชทได้เหมือนเดิมน้า

กายบริหาร
กายบริหาร

https://www.facebook.com/

แบนหนังอาบัติ

คุณสรยุทธ สัมภาษณ์ ผู้พิจารณาห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องอาบัติ
https://www.youtube.com/watch?v=9t0NtyeT-BI

คำถาม ทำไมภาพยนตร์เรื่อง อาบัติ ถูกห้ามฉาย
คำตอบ พบข้อความจาก http://movie.kapook.com/view131608.html
ว่า “มีการนำเสนอในแง่มุมของพระสงฆ์ที่ประพฤติผิดศีลในข้อ 3 (ประพฤติผิดในกาม)
พูดส่อชู้สาวต่อสาธารณชน นอกจากนี้ยังมีภาพของภาพสามเณรเสพของมึนเมา
ใช้ความรุนแรง ไม่เคารพพระพุทธรูป
ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้
ดังนั้น การนำเสนอภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์

ผลพิจารณาเหตุหลัก ๆ เชื่อกันว่านำมาซึ่ง
– เป็นความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาประจานกัน
– รายละเอียดหลายตอนลบหลู่พระสงฆ์
– เณรโอบกอดสีกา สูบบุหรี่ ไม่ศรัทธาศาสนา เป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้า มหาศาสดา Little Buddha

buddhist
buddhist

ดูภาพยนตร์เรื่อง พระพุทธเจ้า มหาศาสดา Little Buddha
ที่แสดงโดยคีนูรีฟ ซึ่งประวัติของพระพุทธเจ้าอาจมีคนเขียนหลายคน
แต่ก็คล้ายคลึงกัน ตามภาพยนตร์
มีความตอนหนึ่งในคลิ๊ป นาทีที่ 34 พบว่า
พระพุทธเจ้าพบว่าทางสายกลางคือทางที่ถูกต้อง
ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไปต่างหาก คือ วิธีที่จะทำให้บรรลุโสดาบัน
แล้วเดินไปอาบน้ำที่แม่น้ำ
มีหญิงสาวเลี้ยงแพะนำข้าวมธุปายาสมาถวาย
เพราะพระพุทธเจ้าน่าจะต้องการในขณะนั้น
มีคำหนึ่งที่ชาวพุทธสอนกันมาคือ “ตักบาตรอย่าถามพระ”
ปกติชาวพุทธจะถวายจตุปัจจัยเพราะเป็นสิ่งที่พระต้องการใช้ดำรงชีพ

ยุบศีลสงฆ์ 227 เหลือ 150 ข้อก็พอ

monkey king
monkey king

มหาเถรสมาคม จ่อสอบกรณี พระคึกฤทธิ์ เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง
ยุบศีลสงฆ์ 227 เหลือ 150 ข้อก็พอ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557
ฝ่ายพระคึกฤทธิ์ให้เหตุผล มีเฉพาะส่วนนี้ที่เป็นคำสอนแท้ ๆ ของพระพุทธเจ้า
ไม่นับส่วนคำสอนที่แต่งเติมใหม่
เคยมีแบบนี้มาแล้ว คือ กรณีของสำนักสันติอโศก
ซึ่งทางมหาเถรฯ ได้มีมติให้ตัดออกจากคณะสงฆ์ไทยไป

+ http://hilight.kapook.com/view/106711
+ http://www.komchadluek.net/detail/20140820/190522.html

พระธรรมคุณาภรณ์ (พิมพ์ ญาณวีโร) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ในฐานะรองคณะเจ้าภาค 7
กล่าวถึงกรณีคำสอนว่า พระพุทธเจ้าบัญญัติพระธรรมวินัยไว้ 227 ข้อ
ซึ่งหลังจากปรินิพพานแล้ว
ฝ่ายสาวกจะคงไว้ซึ่งของเดิมหรือทำการตัดแต่งก็ได้
แต่ในส่วนของเถรวาทนั้นได้ยึดตามเดิมทั้งหมดไม่มีการตัดออกไป
ซึ่งพระธรรมวินัยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. พุทธบัญญัติ ที่พระพุทธองค์ตั้งขึ้น 150 ข้อ
เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายและวางบทลงโทษแก่ภิกษุผู้ทำผิด
2. อภิสมาจาร เป็นขนบธรรมเนียมที่แต่งตั้งขึ้น 77 ข้อ
เพื่อเป็นแนวทางให้ภิกษุปฏิบัติตามเพื่อจริยวัตรที่ดีงาม
เมื่อรวมสองส่วนนี้เข้าด้วยกันจึงเรียกว่า พระธรรมวินัย
หากตัดส่วนไหนออกไปพระธรรมวินัยก็จะไม่สมบูรณ์
ฉะนั้นการตัดส่วนอภิสมาจารออกไปเหลือพุทธบัญญัติเพียง 150 ข้อ
จึงถือว่าไม่เหมาะสม ทำให้ปาฏิโมกข์ของสงฆ์
ซึ่งเป็นรากแก้วของพุทธศาสนาขาดความสมบูรณ์

ตามละครจีนเรื่องไซอิ๋ว มีเห้งเจีย หรือซึงหงอคง
เป็นศิษย์เอกของ พระถังซัมจั๋ง ร่วมกับตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋ง
พากันเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฏก ณ ชมพูทวีป
พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระโคตมพุทธเจ้า
ประกอบด้วย
1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระวินัยสิกขาบทต่าง ๆ ของภิกษุและภิกษุณี
2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก
3. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูง

งานประเพณีแห่เทียนพรรษา

ประเพณีแห่เทียนพรรษา buddhist candle
ประเพณีแห่เทียนพรรษา buddhist candle

ความเป็นมาของประเพณีแห่เทียนพรรษา
ในอดีต พระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อจุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา คือ ช่วงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด ถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงปลูกข้าวของชาวนา เมื่อชาวบ้านนำเทียนไปถวายมักจัดขบวนแห่กันอย่างสนุกสนาน และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่จัดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาทุกปี

ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าวัวเป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตายจะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมัน เพื่อจุดบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเคารพ  ส่วนชาวพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการนำรังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็น ศอกแล้วใช้จุดบูชาพระ เมื่อนำมามัดรวมกันก็จะเรียกว่าต้นเทียน หรือต้นเทียนพรรษา

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของ เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา

http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/st2545/5-5/no27/haer.html

ชาวพม่าไม่พอใจนิตยสาร time ลงรูปพระสงฆ์และข้อความ

buddhist
buddhist

26 มิ.ย.56 ข่าว และคลิ๊ปประกอบในทีวี
เรื่อง ภาพและข้อความในนิตยสาร TIME
เนื้อหาพอสรุปได้ว่าเป็นเรื่องของพระรูปหนึ่งกับศาสนาในพม่า

เพื่อนบ้านของไทย รู้สึกไม่พอใจสื่อตะวันตก
ขึ้นปกพระสงฆ์ (ซึ่งเป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบของศาสนาพุทธ)
โดยใช้ข้อความที่ชาวพุทธในพม่าไม่อาจรับได้
รู้สึกได้ว่าเพื่อนบ้านชาวพุทธของเรา
มีศรัทธาในศาสนาพุทธครบ 3 องค์ประกอบ

แล้วสื่อตะวันตกก็ไม่คำนึงถึงใจชาวพุทธ
ก็คงหวังให้เป้าหมายขององค์กรลุล่วงอย่างเดียว

ปล. ผมเป็นชาวพุทธ จึงสนใจเรื่องนี้
http://www.bangkokpost.com/news/asia/356671/myanmar-slams-time-magazine-buddhist-terror-cover

หลักคิดของทหารที่ไม่แตกทัพ

คำพระ ว่าด้วยเรื่องอริยสัจ 4
คำพระ ว่าด้วยเรื่องอริยสัจ 4

เคารพกติกา
ปกติการอยู่ในสังคม ก็ต้องดำเนินการไปตามกติกาที่มีในสังคมนั้น การศรัทธาในลำดับชั้นตามสายการบังคับบัญชา ทำให้การเคลื่อนทัพสามารถไปในทิศทางที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง ถ้ามีทหารแตกแถวจำนวนมาก ทัพนั้นก็มีแนวโน้มไปไม่ถึงวิสัยทัศน์ที่กำหนด ดังนั้นความผิดของทหารแตกแถว หรือบุคลากรในองค์กรที่ไม่เคารพกติกาของกลุ่ม จึงมีความผิดร้ายแรงเสมอ

ไม่เป็นทหารแตกทัพ
มีอยู่วันหนึ่ง คือ 4 กรกฎาคม 2555 ไปประชุมกับเพื่อนในเวทีต่างวัฒนธรรม มีท่านหนึ่งทักผมว่า ผมกล้าคิด negative ซึ่งการคิดแบบนั้น สำหรับผมแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะในใจผมจะเริ่มต้นด้วยคำถามจากทุกมุม คงเพราะเคยมีพระสอนเรื่องอริยสัจ 4 ที่เริ่มต้นด้วยคำว่าทุกข์คืออะไร เมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนก็ต้องมองหากาละเทศะก่อนเอ่ยคำใด แต่ถ้าพูดแล้วรู้สึกว่าตนเองเป็นทหารแตกทัพก็ต้องเปลี่ยนมุมใหม่ เพราะความคิดของเราอาจไม่ถูกเสมอไป แต่สิ่งที่ทำให้ทัพเป็นทัพอยู่ได้คือความสามัคคี ผมมีศรัทธาอยู่อย่างหนึ่งว่าความสามัคคีคือพลังและอาจนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นความคิดของเราจึงไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป เปลี่ยนตนเองไปตามกลุ่มซะ ทุกอย่างก็เรียบร้อย เพราะจุดยืนของตนคงไม่สำคัญเท่าของกลุ่ม

ปากไม่ตรงกับใจ
มีเพื่อนทักผมว่าปากไม่ตรงกับใจ เพราะท่านถามว่า “มีรถราคาดีคัน 10 ล้าน มาวางขายผมจะซื้อไหม ผมก็ตอบไปว่าซื้อแน่ เพราะคุ้ม” ที่ผมตอบว่าซื้อก็เพราะคนตั้งเขามีเหตุผลของเขา และเปลี่ยนไม่ได้ ผมว่ามนุษย์ที่มีการศึกษามาระดับหนึ่งแล้ว จะคิดก่อนพูด ตอนนั้นผมก็คิดว่าจะขัดไปทำไม ขัดไปก็คงไม่ลดราคาลง ทำให้หลายครั้งพูดแบบไม่ตรงกับความคิด ตัวอย่างเช่น มีผู้หญิงโปะแป้งมาซะขาว กระโปรงสั้นจู๋ สวมเสื้อเกาะอก เดินมา แล้วถามผมว่าสวยไหม ผมก็ต้องตอบไปว่า “สวย” อันที่จริงไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะการแต่งตัวแบบนั้น เลยเกณฑ์คำว่าสวยไปหลายขุมแล้ว แต่เพื่อให้เกียรติคนถาม ก็ต้องตอบไปตามที่ผู้ถามคาดหวัง

สำนวณ “ได้ครับพี่ – ดีครับนาย – สบายครับผม – เหมาะสมครับท่าน”
http://www.dhiravegin.com/detail.php?item_id=000091

มุมที่แตกต่างจากบทความเรื่อง
‘ประสาร’เขียนจ.ม.ถึง’อ.ป๋วย’เปิดเบื้องหลังโอนหนี้กองทุนฯ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20120706/460351/news.html

เช่นนั้นเอง ของพุทธทาส

เช่นนั้นเอง ของ พุทธทาส
เช่นนั้นเอง ของ พุทธทาส

ฟังวิทยุตอนเช้า เรื่อง “เช่นนั้นเอง ของพุทธทาส”
.. ทำให้ผมคิดว่าการเปลี่ยน เสื้อผ้า หน้า ผม ก็ไม่เห็นจะทำให้เกิดความแตกต่าง
เพราะความแตกต่างเกิดจาก ความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ รวมถึงจินตนาการที่ฟุ้งไป
.. ถ้าคำว่า “เช่นนั้นเอง” ถูกใช้เป็นฐานคิดว่า
การเปลี่ยนไปของ เสื้อผ้า หน้า ผม ไม่ทำให้มนุษย์เราต่างกัน
ก็ย่อมคิดได้ว่า ทรงผมไม่ทำให้คนเราเปลี่ยนไป
ที่เห็นก็ยังเหมือนเดิม เป็นคนเดิม เหมือนที่เราเคยพบเห็นทุกวัน
ถ้าคิดว่าไม่ใช่คนเดิม ก็คงเพราะการปล่อยความคิดให้ล่องลอย
.. ไปตามกระแสค่านิยมของสังคม ที่เห็นอะไรก็นำมาเป็นสาระไปหมด

ปัญหาใหญ่ คือ ผมเป็นพวกหลงไปตามกระแสค่านิยมของสังคม .. ซะด้วย

สวดมนต์ข้ามปี

31 ธ.ค. 54 สวดมนต์ข้ามปี
วัดป่าชัยมงคล ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ในวันส่งท้ายปีเก่า สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ตามที่ มหาเถรสมาคม(มส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ร่วมกับรัฐบาลจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ในวัดทั้งในและต่างประเทศ วัดนี้จัดกิจกรรมเดินจงกลม และปล่อยโคมลอย ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวภาคเหนือว่า การปล่อยโคมลอยจะเป็นการปล่อยเคราะห์ และจะประสบแต่โชคดีหลังปล่อยโคมลอยไปแล้ว ครอบครัวในหมู่บ้าน จะพากันนำบุตรหลานไปทำกิจกรรมร่วมกันที่วัด ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน

ตามข่าวจากส่วนกลางพบว่า นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีพุทธศาสนิกชนเข้าวัดสวดมนต์ข้ามปี ทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ย 1 จังหวัด 20 วัดมีประชาชนไปสวดมนต์วัดละ 10,000 คน แค่เพียงที่วัดสระเกศ ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่ำกว่า 30,000 คนแล้ว