คอร์ปอเรท ยูนิเวอร์ซิตี้ ทางออกการศึกษาไทย

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

โดย กมลทิพย์ ใบเงิน

คนคุณภาพ” กำลังกลายเป็น “วิกฤติ” ในภาคการผลิตแทบทุกองค์กร รวมถึงภาคราชการ แน่นอนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หนีไม่พ้นข้อครหาเหล่านี้ ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐรับผิดชอบการจัดการศึกษาภาพใหญ่ของประเทศถึงร้อยละ 90 นับเป็น “ตัวป้อนคน” เข้าสู่ภาคแรงงานทั้งรัฐและเอกชนมากที่สุด แต่ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นักคิด นักเขียน นักบริหารมือทองระดับมันสมองของไทย ชี้ทางออกของการศึกษาไทยที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว
เผอิญเราเป็นเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่สัมผัสกับคนเยอะมาก ในหนึ่งวันเรามีลูกค้าเข้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น 8 ล้านคน ตกเดือนละ 20 ล้านคน บางคนไม่ซ้ำหน้า เราเลยสัมผัสกับคนเยอะของสังคมไทย ผมค่อนข้างจะใกล้ชิดกับการมองภาพรวมของสังคมไทย มองสังคมและมองประเทศไทย ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ผมห่วงสังคม ห่วงประเทศ ห่วงคุณภาพของเด็กไทย เราก็ห่วงของเราไปอย่างนี้มาตลอดคงไม่ได้แล้ว ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้สังคมไทยดีขึ้นในรุ่นลูกรุ่นหลานก่อศักดิ์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
ในโลกอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า พลังหนุ่มสาวจะกลายเป็นเจ้าของประเทศไทย แต่ถามว่าวันนี้ “ผู้ใหญ่” ในบ้านเมืองเราได้เตรียมคนหนุ่มสาวให้พร้อมเพื่อจะมารับ “ไม้ผลัด” ในการดูแลบ้านเมืองจากรุ่นพ่อแม่กันหรือยัง
ด้วยสภาพความเป็นจริงการจัดการศึกษาในปัจจุบัน ไม่สามารถฝากอนาคตประเทศเอาไว้ได้ ด้วยระบบการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา เต็มไปด้วยปัญหาด้าน “คุณภาพการศึกษา” ที่ด้อยลงทุกวัน ไม่ว่าจะวัดคุณภาพในรูปแบบใดก็ตาม ทั้งที่ในสถาบันการศึกษามีจำนวน “ศาสตราจารย์” และ “ดอกเตอร์”  มากกว่าในอดีต
“ปัจจุบันภาคธุรกิจบ่นคุณภาพปริญญาตรีไม่น่าพอใจ  ส่วนสถาบันอุดมศึกษาก็แก้ตัวว่าเมื่อรับขยะเข้ามาเรียน จบออกไปก็ยังเป็นขยะ ตรงนี้เป็นปัญหา แต่จะให้เรามาแก้การจัดการศึกษาตลอด 16 ปีนั้นคงไม่ไหว เอาแค่ 4 ปีที่ทุกวันนี้ ภาพรวมเด็กจบ ม.ปลายก็มาเดินเล่นในรั้วมหาวิทยาลัย เดินจากตึกโน้นไปตึกนี้ เพื่อเรียนสะสมหน่วยกิต ขณะเดียวกันก็ทำกิจกรรมแบบเด็กๆ ไปด้วย
ดังนั้นเวลา 4 ปีในสถาบันอุดมศึกษา เด็กของเราไม่ได้ถูกฝึกให้เรียนจบแล้วเพื่อมาทำงานได้  มีแต่เรียนๆ เล่นๆ จ่ายเงินครบก็จบแล้ว แต่จบมาแล้วตกงาน แม้จะมีสหกิจศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เด็กได้ฝึกปฏิบัติแค่เทอมเดียวย่อมไม่เพียงพอ ต่อการเข้าสู่โลกของการทำงานจริงเมื่อสำเร็จการศึกษา”
ก่อศักดิ์” ฟันธงว่าการจัดการศึกษาที่สูญเปล่าแบบนี้ ย่อมไม่เกิดผลดีต่อเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประเทศชาติอย่างแน่นอนในอนาคต ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการ “อาสา” รับใช้บ้านเมืองด้วยการจัดตั้ง “สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (Panyapiwat Institute of Management) หรือ PIM เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนทุนในการจัดตั้งจาก “บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)” นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาแรกๆ ในประเทศไทยที่เป็น Corporate University หรือสถาบันการศึกษาที่เชื่อมโยงกับธุรกิจ
“วันนี้เราได้เปิดหลายสาขาวิชาแล้ว ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างคนเพื่อเรา เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ไม่จำเป็นต้องทำงานที่เราอย่างเดียว ไปทำที่ไหนก็ได้ สาขาการจัดการอาคารและทรัพยากรกายภาพ (Building and Facilities Management) จบแล้วก็สามารถไปทำงานในวงการอสังหาริมทรัพย์ ดูแลอาคารสูง และต้องไปฝึกงานกับสถานประกอบการจริง และถูกจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบอยู่ อย่างนี้ก็ไม่ได้ผลิตเพื่อเรา และที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ Luxury Product Management ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้มีสินค้าลักชัวรี่เลย คนที่จบมาเราก็ให้วงการลักชัวรี่ไป สาขาภาษาจีนธุรกิจก็ได้ไปฝึกงานกับองค์กรจีน เช่น ทีซีแอล, คิงเพาเวอร์, พารากอน ซึ่งสามารถได้เรียนและฝึกภาษากับเจ้าของภาษาหลายสำเนียง ไม่ได้เรียนรู้จากซาวนด์แล็บเพียงอย่างเดียว ที่น่ายินดีปีนี้เด็กมาสมัครเข้าเรียนจำนวนถึง 2,300 คน แต่เรารับได้เพียง 1,900 คน”
ก้าวย่างที่สำคัญของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ “ก่อศักดิ์”  กล่าวว่า พีไอเอ็มมีโครงการจัดตั้ง “คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร” (Innovative Agricultural Management) เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จะมีพิธีลงนามความร่วมมือในวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2555 โดยจะร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตรทั้งหมด ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อพี่น้องเกษตรกรไทยโดยเฉพาะชาวนา
“อาจจะเกิดการรวมพื้นที่ทำนาข้าวจากคนในชุมชน ชุมชนละ 20 ไร่ รวมเป็น 2,000 ไร่ นำระบบการบริหารจัดการ เทคนิคพิเศษต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็ลดจำนวนชาวนาลงเพื่อยกระดับให้มาทำอาชีพอย่างอื่น อย่างจีนพลเมืองที่ทำนามีร้อยละ 60 ขณะที่สหรัฐอเมริกามีร้อยละ 6 ของประชากรในประเทศ แต่ปัจจุบันชาวนาสหรัฐอเมริกาลดเหลือเพียงร้อยละ 1 แต่สามารถทำนาเลี้ยงคนทั้งประเทศได้”
โครงการจัดตั้ง “คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร” เริ่มจากการที่พีไอเอ็มส่งนักศึกษาไปเรียนร่วมกับนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในบางรายวิชา  ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญสูง รวมถึงการใช้ห้องปฏิบัติการด้วย ส่วนวิชาที่เกี่ยวกับศาสตร์การบริหารจัดการ ทางพีไอเอ็มจะเป็นผู้สอนเอง ในอนาคตมีโครงการขยายกรอบความร่วมมือไปถึงขั้นการร่างหลักสูตรใหม่ร่วมกัน รวมถึงการให้ปริญญาร่วม 2 สถาบัน (Double Degree) คุณลักษณะของบัณฑิตที่จบจากพีไอเอ็มจะเป็นคน “เรียนเป็น คิดเป็น ทำงานเป็น เข้าใจวัฒนธรรม รักความถูกต้อง”
“ผมเชื่อมั่นว่าการจัดการศึกษาแบบ คอร์ปอเรท ยูนิเวอร์ซิตี้ (Corporate University) จะเป็นทางออกของการศึกษาไทย และผมอยากเชิญชวนให้ภาคธุรกิจเครือข่ายใหญ่ของไทย 30-40 บริษัทมาช่วยกันเปิดมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง เรียนจริงปฏิบัติจริง จบแล้วมีสัดส่วนของการได้ทำงานจริง เพราะการให้ทุนการศึกษาจำนวน 1 หมื่นทุน แม้ช่วยการศึกษาชาติได้ก็จริง แต่ไม่ใช่การช่วยจัดการศึกษาชาติได้แบบยั่งยืนครับ”
“ก่อศักดิ์” กล่าวอีกว่า อุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนไทยในการจัดการศึกษา มาจากค่านิยมของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่คลั่งใบปริญญา ไม่คำนึงถึงการเรียนจบแล้วทำงานได้จริง แตกต่างจากประเทศเยอรมนีที่ถือการทำงาน หรือความสำเร็จในการทำงานเป็นหลัก ใบปริญญาเป็นรอง คอร์ปอเรท ยูนิเวอร์ซิตี้ คือทางออกของการศึกษาไทยอย่างที่ซีพีทำอยู่แล้ว เราอยากให้เครืออื่นทำตาม แม้ปัจจุบันมีสหกิจศึกษาซึ่งเป็นความคิดที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอต่อการฝึกงานเพียงแค่เทอมเดียว

http://www.komchadluek.net/detail/20120926/140877/ชูคอร์ปอเรทยูนิเวอร์ซิตี้.html
โดย…กมลทิพย์  ใบเงิน