แท็บเลต 1.7 ล้านเครื่อง ในงบประมาณ 1760 ล้านบาท

tablet ป.1 และ ม.1
tablet ป.1 และ ม.1

ตัวเลข 1.7 ล้านเครื่อง ถ้าราคาเครื่องละ 2,000 บาท
ก็น่าจะเกินงบไปมากกว่าเท่าตัว
งบแท็บเล็ตน้อยกว่ารถคันแรกเยอะเลย
เห็นยอดรถคันแรกน่าจะใช้งบหนึ่งแสนล้านบาท แต่งบแท็บเล็ตแต่หนึ่งพันกว่าล้านเอง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เปิดสเป็กจัดซื้อ “แท็บเลต” ลอตใหม่ 1.7 ล้านเครื่อง รวบแจก ป.1-ม.1 ตั้งราคากลาง “ป.1-2,720 บาท” เครื่องเด็ก ม.1 ที่ “2,920 บาท” พร้อมเตรียมเปิดขายซอง 3-5 เม.ย.56 เคาะราคา 29 เม.ย.56  แบ่งประมูล 4 รอบ จับคู่แยกรายภาค สารพัดแบรนด์รุมจีบทั้ง “จีน-อินเดีย-เยอรมนี” คาดแข่งเดือด ขณะที่ “ครู ป.2” โอละพ่อเด็กหิ้วเครื่องติดตัวมาจาก ป.1 แต่ไม่มีงบฯจัดซื้อเครื่องให้ครู

น.อ.สุรพล นะวะมวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแท็บเลตเพื่อการศึกษา (One Tablet per Child : OPTC) ว่า ขณะนี้ได้สรุปสเป็กของแท็บเลตที่ต้องจัดซื้อลอตใหม่ เพื่อแจกชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2556 พร้อมกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดซื้อแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นเจ้าภาพในการจัดซื้อด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)

สำหรับราคากลางในการจัดซื้อแท็บเลตเด็ก ป.1 อยู่ที่เครื่องละ 2,720 บาท ม.1 และเครื่องสำหรับครูอยู่ที่ 2,920 บาท รวมภาษีและค่าขนส่งถึงหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ โดยจัดซื้อรวมทั้งสิ้น 1.74 ล้านเครื่อง สพฐ.ได้รับมอบอำนาจในการจัดซื้อจากเจ้าของงบประมาณ 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักการศึกษาเมืองพัทยา และ สพฐ.เอง เพื่อจัดซื้อ

แท็บเลตให้โรงเรียนในสังกัดโดยสเป็กแท็บเลตลอตนี้หลัก ๆ เหมือนกันคือใช้หน่วยประมวลผล (CPU) ดูอัลคอร์ 1.5 GHz หน่วยความจำ (RAM) ขนาด 1 GB ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 ขึ้นไป หรือวินโดวส์ แบตเตอรี่ 3600 mAh ต่างกันที่เด็ก ป.1 มีหน้าจอ 7 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ 8 GB ส่วนเด็ก ม.1 และเครื่องคุณครู หน้าจอ 8 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ 16 GB ซึ่งเครื่องของครูมีฟังก์ชั่นเพิ่ม เช่น ช่อง HDMI มีปากกาสไตลัส พร้อม SD card ความจุ 8 GB เพิ่มให้ต่างหากซึ่งสเป็กที่สูงกว่าการจัดซื้อในปีที่แล้ว ที่เป็น CPU และเป็นแบบแกนเดียว ความเร็ว 1 GHz ความจุ RAM 512 MB ฮาร์ดดิสก์ 8 GB และหน้าจอ 7 นิ้ว ราคา 82 เหรียญสหรัฐ (รวมค่าขนส่งถึงสนามบินสุวรรณภูมิ)และจะเปิดขายซองข้อมูลสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมประมูลวันที่ 3-5 เม.ย. 2556 มีกำหนดชี้แจงข้อมูลระเบียบ และข้อกำหนดเทคนิค (ทีโออาร์) วันที่ 9 เม.ย. เปิดยื่นซองเทคนิควันที่ 17 เม.ย. และประกาศผลผู้ผ่านเกณฑ์วันที่ 27 เม.ย. ประมูลแบบ e-Auction วันที่ 29 เม.ย. และจัดพิธีลงนามในสัญญาจัดซื้อ 9 หรือ 10 พ.ค. ให้ผู้ชนะทยอยส่งแท็บเลตตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.จนครบใน 90 วันนับจากเซ็นสัญญา

“ปีนี้กระบวนการจัดซื้อแท็บเลตใช้ e-Auction ต่างกับปีที่แล้วที่ใช้การจัดหาแบบทำสัญญารัฐต่อรัฐ (G to G) เป็นการจัดหาคือสั่งผลิต ไม่ใช่จัดซื้อแบบครั้งนี้ที่ผู้เข้าประมูลทุกรายต้องนำแท็บเลตที่สมบูรณ์แล้ว 6 เครื่องมาให้ทดสอบก่อนว่าตรงตามสเป็กหรือไม่ ใช้งานกับซอฟต์แวร์และคอนเทนต์ของ สพฐ.ที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ ที่สำคัญคือเป็นการตัดสินกันที่ราคา สเป็กที่เหนือกว่าคู่แข่งไม่มีผลถ้าราคาแพงกว่า”

ส่วนการเคาะราคาประมูลในเบื้องต้นแบ่งเป็น 4 รอบตามสัญญาที่แยกเซ็น ได้แก่ สัญญาการจัดซื้อแท็บเลตสำหรับเด็ก ป.1 ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้จำนวน 431,775 เครื่อง สัญญาจัดซื้อสำหรับเด็ก ป.1 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 417,042 เครื่อง สัญญาที่ 3 สำหรับชั้น ม.1 ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ 416,440 เครื่อง และสัญญาจัดซื้อแท็บเลต ม.1 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 423,333 เครื่อง โดยผู้ชนะประมูลจะลงนามในสัญญาจัดซื้อโดยตรงกับหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ เนื่องจาก สพฐ.เป็นแค่ผู้รับมอบอำนาจในการจัดซื้อเพื่อให้มีปริมาณมากพอ

ขณะที่แท็บเลตสำหรับให้คุณครูจำนวน 54,000 เครื่อง ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าต้องเปิดประมูลและทำสัญญาแยกต่างหาก หรือรวมเข้าไปในการจัดซื้อแท็บเลตแต่ละสัญญาที่แยกตามพื้นที่ แต่มั่นใจว่าการจัดซื้อครั้งนี้จะได้ราคาต่ำกว่าราคากลางแน่นอน เพราะจัดประมูลแยกเป็นรอบ ๆ ไล่ทีละสัญญา เชื่อว่าในสัญญาที่ 4 รอบสุดท้ายยิ่งได้ราคาต่ำที่สุด ซึ่งอาจได้ผู้ชนะแยกเป็น 4 ราย หรือมีแค่บริษัทเดียวก็ได้ ที่สำคัญคือเป็นการประมูลที่เปิดกว้าง ใครที่คิดว่ามีศักยภาพก็เข้ามาประมูลได้

น.อ.สุรพล เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตแท็บเลตหลายรายสนใจเข้ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ อาทิ ทีซีแอล, ไฮเออร์, แชมเปี้ยนเอเชีย, สโคป, อินถัง, ออลอิน แบรนด์ซังเวิร์นของเอเซอร์ รวมถึงผู้ผลิตแท็บเลตของอินเดียและเยอรมนีด้วย ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยมา บริษัทจีนบางแห่งยอมขาดทุนเพื่อให้ได้โปรเจ็กต์นี้ และเพื่อใช้ชื่อประเทศไทยเพิ่มโปรไฟล์ให้ตนเอง เนื่องจากมีไม่กี่โครงการที่จัดซื้อพร้อมกันเป็นลอตใหญ่

และนอกเหนือจากการจัดส่งแท็บเลตที่ลงแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์ให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดแล้ว ผู้ชนะประมูลยังต้องเสนอแผนการตั้งศูนย์บริการให้ได้ครอบคลุมพื้นที่ตามสัญญาจัดซื้อ รวมถึงการรับประกันสินค้าเป็นเวลา 1 ปีด้วย

“การจัดซื้อครั้งนี้ได้นำบทเรียนจากครั้งก่อนมาปรับปรุง ตั้งแต่การเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาจัดซื้อให้ศึกษาทำความเข้าใจ และยอมรับเงื่อนไขก่อนเข้าประมูล การให้นำแท็บเลตมาทดลองลงแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์ต่าง ๆ ว่าทำงานได้สมบูรณ์ตั้งแต่ขั้นตอนทดสอบเทคนิค รวมถึงการใช้ e-Auction ให้การจัดซื้อโปร่งใส วัดกันที่ราคา จะได้ไม่เกิดข้อครหาทำให้ส่งมอบล่าช้า”

ข้อกังวลที่มีอยู่ คือ ไม่แน่ใจว่าทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะมอบอำนาจการจัดซื้อมาให้ สพฐ.ทันหรือไม่ เนื่องจากติดขัดเรื่องระเบียบการจัดซื้อ และยังมีปัญหาไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อแท็บเลตที่จะให้ครูชั้น ป.2 นำไปสอนเด็กนักเรียนที่ได้รับแจกแท็บเลตตั้งแต่ตอน ป.1

ขณะที่ความคืบหน้าในการนำแท็บเลตที่จัดซื้อในปีที่แล้วไปใช้งาน ล่าสุดกระทรวงไอซีทีลงนามในสัญญาเช่าใช้บริการวงจรสื่อสารข้อมูลพร้อมอุปกรณ์โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายไร้สาย (WiFi network) กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เพื่อให้ทั้ง 27,231 โรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีอินเทอร์เน็ต WiFi ความเร็ว 4-10 Mbps. ใช้ฟรี

งบประมาณ 1,760 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 300 วัน นับจากส่งมอบอุปกรณ์ให้โครงข่ายกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOENet จะทยอยเปิดให้บริการใน มิ.ย.เป็นต้นไป คาดว่าจะครบทั้งระบบภายใน ส.ค. โดยกระทรวงไอซีทีได้เตรียมเสนอของบประมาณปี 2557 ไว้ 4,250 ล้านบาทสำหรับวางโครงข่าย WiFi เพิ่มเติมให้โรงเรียนที่ได้รับแจกแท็บเลตในปีการศึกษา 2556 กว่า 43,258 แห่ง

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1363062897&grpid=&catid=06&subcatid=0603

รถคันแรกทะลัก 1.25 ล้านคันใช้งบแสนล้านบาท

รถคันแรก คนไทยใช้สิทธิ์ 1.25 ล้าน
รถคันแรก คนไทยใช้สิทธิ์ 1.25 ล้าน

ฟังเพลง “รอพี่ก่อน” ของ SHADE
.. บอกว่า อย่าพึ่งซื้อรถยนต์ หรือรถไฟเลย ตอนนี้ยังไม่มีตัง
น้องเสื้อดำคงยื่นคำขาดว่า “รอไม่ได้หรอกพี่
แต่คนไทยรอไม่ไหว .. ยอดจองรถคันแรก 1.25 ล้าน
ใช้งบ 100,000,000,000 (ไม่รู้ใส่ 0 ถูกรึเปล่า ขาดเกินขออภัยด้วย)
ก็ของมันจำเรื่องมันจำเป็น ทำไงได้ .. เรื่องนี้มีคนชวนคิดกันเยอะ
เพราะบ้านคันแรกก็จำเป็น รถคันแรกก็จำเป็น แท็บเล็ตเด็กก็จำเป็น เงินเดือนขึ้นก็จำเป็น


ข่าวคมชัดลึก
ปิดฉากรถยนต์คันแรกแห่ใช้สิทธิทะลัก 1.25 ล้านคัน ดันยอดคืนภาษีพุ่ง 9.1 หมื่นล้านบาท พบรถยนต์นั่งแชมป์ขอคืนสูงสุด 7.4 แสนคัน


นโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นั้น ส่งผลให้ประชาชนยังคงยื่นขอใช้สิทธิ์ในโครงการดังกล่าวกันอย่างคึกคัก โดยนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การยื่นขอใช้สิทธิคืนภาษีรถยนต์คันแรกในวันนี้ (31 ธ.ค.2555) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของโครงการ มีผู้ยื่นขอคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรกตลอดทั้งวันทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 2,000 คัน เทียบกับเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม มีการยื่นขอคืนภาษีรถยนต์คันแรกสูงถึง 5,000 คัน ส่งผลให้ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการจนถึงวันสุดท้ายที่รับยื่นขอคืนภาษีมียอดรวมทั้งสิ้น 1.255 ล้านคัน คิดเป็นเงินที่ต้องคืนภาษีรวม 9.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในช่วงแรก 3 หมื่นล้านบาทถึง 3 เท่าตัว

สำหรับการยื่นใช้สิทธิขอคืนภาษีรถคันแรกทั่วประเทศจำนวน 1.255 ล้านคันนั้น แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 7.40 แสนคัน รถกระบะ 2.58 แสนคัน รถยนต์นั่งที่มีกระบะ หรือดับเบิลแค็บ 2.57 แสนคัน ส่วนผู้ที่ได้รับสิทธิและได้รับเงินคืนไปแล้วมีทั้งสิ้น 47,018 ราย คิดเป็นเงิน 3,481 ล้านบาท และคาดว่าปีงบประมาณ  2556 จะต้องคืนภาษีรถยนต์คันแรกรวม 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ครั้งแรก 7,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 18,000 ล้านบาทแต่ก็ยังไม่เพียงพอจึงอาจต้องขอใช้งบกลางเพิ่มเติม ส่วนปีงบ 2557 คาดว่าจะใช้เงินคืนภาษีรถยนต์คันแรกประมาณ 3-3.5 หมื่นล้านบาท และใช้งบอีกบางส่วนในปี 2558 โดยผู้ที่ได้รับคืนเงินทางบัญชีเงินฝากนั้นจะต้องครอบครองรถยนต์ครบ  1  ปี

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า การให้บริการยื่นเอกสารขอคืนภาษีกรมสรรพสามิตวันสุดท้ายที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตและพื้นที่ต่างๆ เปิดรับยื่นเอกสารจนถึงเวลา 16.30 น. เฉพาะที่กรมสรรพสามิต ราชวัตร มีผู้มายื่นใช้สิทธิประมาณ 300 รายเท่านั้น ขณะที่กรมได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้รองรับอย่างเต็มที่ และส่วนใหญ่ที่มาก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเอกสารแต่อย่างใดจึงไม่น่าจะมีปัญหาในการขอคืนภาษี นอกจากจะมีการตรวจสอบกับกรมการขนส่งทางบกอีกครั้งและพบว่าไม่เข้าเงื่อนไขการเป็นเจ้าของรถคันแรกจริง

วันสุดท้ายมีผู้มายื่นใช้สิทธิน้อยกว่าที่คาดไว้ จึงน่าจะเป็นการเก็บตกผู้ใช้สิทธิ เท่าที่สอบถามผู้มายื่น 2-3 ราย ส่วนใหญ่ระบุว่าเพิ่งได้รับการอนุมัติจากทางบ้านให้ซื้อรถยนต์จึงรีบนำใบจองซื้อรถยนต์มาใช้สิทธิให้ทันในวันสุดท้าย โดยมองว่าไม่น่าจะมีผู้ตกหล่นหรือใช้สิทธิไม่ทัน เพราะก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องแล้ว” นายสมชายระบุ

กระนั้นก็ดี นายสมชาย กล่าวด้วยว่า แม้เจ้าหน้าที่จะปิดรับเรื่องแล้วแต่ยังสามารถยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ https://firstcar.excise.go.th/ ได้จนถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 31 ธันวาคม 2555 และเอกสารต้องพร้อมภายใน 15 วันนับจากวันที่ยื่นขอใช้สิทธิ แต่ส่วนนี้ก็ไม่น่าจะมีเพิ่มขึ้นมากนัก ไม่เกินร้อยราย ปิดยอดจริงๆ ก็น่าจะประมาณ 1.256 ล้านคัน อย่างไรก็ตามกรมสรรพสามิตไม่ได้มีการแยกว่าเป็นการยื่นขอใช้สิทธิคืนภาษีรถยนต์ยี่ห้อใดมากที่สุดเอาไว้ด้วย

สำหรับกรณีของรถโตโยต้า วีออสรุ่นใหม่ที่มีกรณีเรียกร้องให้ทบทวนการได้สิทธิเข้าโครงการรถยนต์คันแรก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้นำออกมาจำหน่ายในตลาดแต่มีการเปิดรับจองแล้วนั้น ทางกรมสรรพสามิตได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่โรงงานแล้วเห็นว่าทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้ขึ้นไลน์การผลิตแล้วจริง มีการผลิตรถยนต์และเสียภาษีสรรพสามิตไว้แล้วบางส่วน จึงถือว่าเข้าข่ายได้รับสิทธิโครงการรถยนต์คันแรก ผู้ที่จองซื้อรถยนต์รุ่นดังกล่าวจึงมีสิทธิได้รับเงินคืนเช่นเดียวกัน แต่คาดว่าจะมีไม่มากนักเพราะเพิ่งเปิดจองช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2555 เท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลเดิมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเข้าโครงการประมาณ 5 แสนคัน คิดเป็นเม็ดเงินต้องคืนราว 3.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่จากการผ่อนปรนเงื่อนไขให้จองได้ถึงเดือนธันวาคมจากเดิมเดือนกันยายน และให้ใช้เพียงใบจองซื้อรถยนต์มายื่นเข้าโครงการโดยเปิดกว้างให้ส่งมอบรถเมื่อไหร่ก็ได้ ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้มีผู้สนใจใช้สิทธิมากกว่าเดิมถึงเท่าตัว

http://www.komchadluek.net/detail/20130101/148456/ปิดฉาก!รถคันแรกทะลัก1.25ล้านคัน.html

เลื่อนแจกแท็บเล็ตปี 2556

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน

นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลงในปีการศึกษา 2555 อีกครั้ง เมื่อนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในประเทศไทยได้รับแจกแท็บเล็ตพีซีเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน แล้วปีการศึกษา 2556 เป็นปีที่ 2 ที่จะแจกให้กับนักเรียน 2 ระดับชั้น คือ เพิ่มชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งกระทรวงศึกษาออกมาให้ข่าวในต้นเดือนมี.ค.56 ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายละเอียดความต้องการ หากกำหนดการไม่เปลี่ยนก็จะมีการส่งในช่วงปลายพ.ค. ถึงก.ค.56 ซึ่งไม่ทันส่งมอบในวันเปิดเรียน คือ 16 พ.ค.56 เพราะมียอดรวมที่จะซื้อกว่า 1.8 ล้านเครื่อง ใช้งบหลายพันล้านบาท

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000027890

ไม่ทราบว่าทำไมในปี 2555 ถึงต้นปี 2556 ถึงมีข่าวการศึกษาเชิงลบออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลการจัดอันดับในเวทีโลกด้านการศึกษาที่มีแนวโน้มอยู่ในอันดับท้าย ข่าวสอบครูผู้ช่วยที่คาดว่า 1000 จาก 2000 คนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ข่าวทุจริตสอบตำรวจ ข่าวปิดสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภาคอีสาน และข่าวผลประเมินโรงเรียนโดยสมศ.ไม่ได้คุณภาพถึง 1 ใน 3 จากที่รับการประเมินคุณภาพ 7,985 แห่ง แต่มีผลไม่รับรอง 2,295 แห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นข่าวเชิงลบต่อการใช้เทคโนโลยีของเยาวชน แม้สถิติที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่ใช้เฟสบุ๊ค (Facebook) มากที่สุด หรือใช้แอพไลน์ (Line) ต่อเนื่องนานที่สุด ก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเกิดการพัฒนาการศึกษาควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่เด่นชัด แต่จะเป็นคำถามว่าแทนที่จะเอาเวลาไปอยู่ในเฟสบุ๊ค หรือใช้สื่อสารในหลายรูปแบบ น่าจะหันไปสนใจการศึกษา และตัวบ่งชี้ที่จะทำให้การศึกษาของไทยมีคุณภาพเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นำผลวิจัยมาแบ่งปันพบว่า ความเห็นของผู้ปกครองในภาพรวมมีความพอใจ และ ครูมีการใช้งานแท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 55 นาที และได้ใช้แท็บเล็ตในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลักมากที่สุด คือ วิชาภาษาไทย ร้อยละ 56.05  สังคมศึกษา ร้อยละ 44.5 คณิตศาสตร์ ร้อยละ 42.7 วิทยศาสตร์ ร้อยละ 38.1 และภาษาอังกฤษ ร้อยละ 35.5 ปัจจุบันแท็บเล็ตสำหรับเด็กมีราคาไม่ถึง 5,000 บาท ซึ่งเชื่อได้ว่าผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยซื้อหามาใช้ที่บ้าน แล้วใช้งานนานกว่าที่โรงเรียนโดยการดูแลใกล้ชิดจากผู้ปกครอง เป็นอีกกลไกหนึ่งที่สนับสนุนนโยบายการศึกษาของภาครัฐที่จะส่งเสริมให้เด็กรู้จักประยุกต์ใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด

http://www.thaiall.com/blogacla/admin/2392/

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000029487

ยอดพีซีอินเดียขึ้น 3% สวนกระแสทั่วโลกตก

olpc ในอินเดีย
olpc ในอินเดีย

3 มี.ค.56 เข้า zdnet.com อ่านข่าวไอที ซึ่งทั่วโลกทราบว่า อินเดียเก่งเรื่องไอทีด้วยหลายปัจจัย ข้อมูลมากมายก็สนับสนุนไปทางนั้น มาดูข่าวหนึ่งบอกว่า  “PCs enjoy revival in India as global sales dip” เข้าไปดูถึงรู้ว่าปัจจัยหนึ่งคือการแจก OLPC แก่เด็ก ๆ ในอินเดีย ต่างกับไทยที่แจก tabletpc แต่ก็มีโรงเรียนนำร่อง อย่างโรงเรียนบ้านสามขาที่ลำปาง ได้ OLPC ไปใช้มาหลายปีแล้ว เมื่อค้นข้อมูลเพิ่มเติมก็ไปพบรายละเอียดใน wikipedia ให้รายละเอียดไว้ดีมาก แต่ส่วนหัวของ wiki บอกว่า เว็บไซต์เขาติดอันดับ 5 ของโลก มีบุคลากร 150 บริการคน 450 ล้านคน แต่ตังไม่มี เพราะไม่ติดโฆษณา ไม่รับเงินรัฐบาลไหน รับบริจาคอย่างเดียว สรุปว่าขอรับความช่วยเหลือเป็นเงินบริจาค ผมว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจนะครับ แล้วนึกถึงเพลง “รอพี่ก่อน” ของ shade

http://en.wikipedia.org/wiki/One_laptop_per_child

http://www.zdnet.com/in/pcs-enjoy-revival-in-india-as-global-sales-dip-7000012011/

การประยุกต์ใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา

tabletpc for education
tabletpc for education

มีผู้รู้สรุปว่าการวิเคราะห์คือการแยก หากจะวิเคราะห์ประโยคที่ว่า “ประยุกต์ใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา” ก็จะพบว่ามีคำสำคัญทั้งหมด 3 คำ ได้แก่ การประยุกต์ใช้ (Application) แท็บเล็ต (Tablet PC) และการศึกษา (Education) คำที่เชื่อมโยงคำอื่นคือคำว่าการประยุกต์ใช้ ก็ต้องมาวิเคราะห์กันต่อว่าแท็บเล็ตนำมาประยุกต์ใช้อะไรได้บ้าง และการศึกษาจะสามารถใช้แท็บเล็ตให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร คำว่าการศึกษามีผู้เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน รัฐมนตรีฯ ผู้ปกครอง โรงเรียนกวดวิชา วัด และชุมชน ซึ่งทั้งหมดควรเข้าใจคำว่าแท็บเล็ต
แต่ละกลุ่มมีบทบาทเกี่ยวข้องที่ต่างกัน อาทิ เป้าหมาย กระบวนการ ความคาดหวัง ระบบ กลไก บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ ประสบการณ์ ค่านิยม วัฒนธรรม และทัศนคติ กรณีที่นักเรียน ป.1 ได้แท็บเล็ตล็อตแรกเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ ครูใหญ่ที่ต้องเข้าใจ วางแผน มอบหมาย กำกับ ติดตามให้คุณครูได้ใช้งานอุปกรณ์ตามแผนการจัดการเรียนการสอน และกำหนดแนวการประเมินให้คุณครูประจำชั้นไว้ถือปฏิบัติ และเข้าใจตรงกันทั้งชั้น ดูเหมือนในระดับโรงเรียนทุกอย่างเริ่มต้นที่ครูใหญ่ที่รับนโยบายจากกระทรวงฯ และครูใหญ่ก็ควรเข้าใจการประยุกต์ใช้แท็บเล็ต ถ้าครูใหญ่ใช้ไม่เป็นหรือไม่เข้าใจ แล้วจะกำกับสนับสนุนให้ครูน้อยได้ใช้เครื่องมือสุดวิเศษที่เปรียบเสมือนแก้วสารพัดนึกนี้ได้อย่างไร
เมื่อนโยบายพร้อมอุปกรณ์มาถึงครูน้อยที่สอนในชั้นป.1 ก็จำเป็นที่ผู้รับผิดชอบต้องร่วมกันวางแผนรับมือกับอุปกรณ์ ศึกษาใช้งานให้ชำนาญในระดับหนึ่ง  จึงจะสามารถควบคุมการใช้งานของนักเรียนในประเด็นว่าโดยใคร เมื่อไร ที่ไหน กับใคร อย่างไร เพราะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไฟฟ้า เปราะบาง ซับซ้อน มาใหม่ และมีมูลค่า หากวางแผน กำกับ ติดตาม พัฒนาได้ไม่ดีก็จะส่งผลให้การใช้ประโยชน์นั้นขาดประสิทธิภาพ แล้วผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งพุทธิพิสัย จิตพิสัย ทักษะพิสัย หรือ ตัวชี้วัด/มาตรฐานและจุดเน้นตามหน่วยการเรียนรู้ ก็จะไม่บรรลุตามที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายกับการศึกษาไทยในพ.ศ.นี้

http://www.thairath.co.th/content/edu/235477

tweet หนึ่งจากทวิตเตอร์ของ อ.อุดม ไพรเกษตร

5 มีนาคม 2555 อ่านทวิตเตอร์ของ อ.อุดม ไพรเกษตร พบเรื่อง “แจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1 ไม่ใช้สมองก็ต้องใช้สติ” มีลิงค์ที่ http://www.thairath.co.th/column/pol/thai_remark/242249 มีความตอนหนึ่งที่ คุณลม เปลี่ยนทิศ เขียนว่า

การแจกคอมพิวเตอร์ “แท็บเล็ต” ก็เป็นอีกตัวอย่างที่รัฐบาลพยายาม “ซื้อเร็วแจกเร็ว” ทั้งๆที่ยังไม่มีความพร้อมสักอย่าง ไม่ว่าระบบเครือข่ายไร้สาย ระบบไฟฟ้าในโรงเรียน “ครูผู้สอน” ที่ยังขาดทักษะความรู้ ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ จะต้องมีการอบรมให้เรียนรู้เสียก่อน รู้ว่าจะใช้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า
แม้แต่ “ตัวนักเรียน ป.1” เองก็ไม่มีความพร้อม “ขี้เยี่ยว” เด็กยังต้องให้ครูและพี่เลี้ยงดูแล เพราะเด็กยังช่วยตัวเองไม่ได้ แต่รัฐบาลกลับซื้อแท็บเล็ตแจกให้เด็ก 4–5 ขวบรับผิดชอบคนละ 1 เครื่อง และให้ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนเด็กต้องหอบหิ้วไปมาระหว่างบ้านกับ โรงเรียน ต้องคอยเสียบปลั๊กไฟชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งเด็กทำเองไม่ได้ต้องมีคนช่วย การแจกแท็บเล็ตเพื่อใช้เรียนใช้สอนเด็ก ป.1 จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ถูกเวลาในเวลานี้แน่นอน
ถ้าเป็น โรงเรียนที่ห่างไกล ไฟฟ้าไปไม่ถึง แท็บแล็ตก็เป็นเครื่องขยะใช้งานไม่ได้ เหมือนโครงการ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ของ กระทรวงศึกษาธิการ ในอดีต ที่ไปลงทุนสร้างห้องเรียนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนชนบท อ้างว่านักเรียนในชนบทจะได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต เพื่อท่องไปสู่โลกกว้าง สามารถเรียนรู้ทางไกลผ่านทางอินเตอร์เน็ตแต่คอมพิวเตอร์ทั้งห้องเปิดใช้งาน ไม่ได้ เพราะโรงเรียน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเตอร์เน็ต


ในวันที่ 5 มีนาคม 2555
เมื่ออ่านข้อความข้างต้นแล้ว .. ก็รู้สึกว่าโลกเรามีคนอยู่หลายแบบนะครับ
http://twitter.com/suthichai
http://twitter.com/udompk

http://www.youtube.com/watch?v=Mhyac_GNpFw

แจก Chinese tablets ไม่ใช่ samsung galaxy tab 10.1

One Tablet PC Per Child project
One Tablet PC Per Child project

16 ก.พ.2555 อ่านข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์ และ nation multimedia เรื่องแท็บเล็ตสำหรับนักเรียน .. ทำให้ทราบว่าเด็กไทยจะได้ chinese tablets ซึ่งทำให้กลายเป็นมาตรฐาน tablet ของเด็กไทยไปในทันที ส่วน samsung galaxy tab 10.1 หรือ ipad3 หรือ iphone4s ก็คงไม่ใช่ตัวเลือกของรัฐบาลที่จะนำมาแจกนักเรียนไทย .. ถ้าเพื่อนถามว่า 2 ตัวนี้ต่างกันอย่างไร ก็คงตอบได้ในเบื้องต้นว่าราคาต่างกันลิบเลย แต่เปิดเน็ตได้ทั้งคู่ .. (งานนี้เป็นตามนโยบาย ซึ่งนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้รับสิทธิ์ส่วนนี้) .. มีรายละเอียดตามข่าวดังนี้

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ (Anudith Nakornthap) รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการร่วมบริหารนโยบาย 1 แท็บเล็ต 1 นักเรียน (One Tablet PC Per Child project) ตามนโยบายรัฐบาล มีข้อสรุป 3 ประเด็น ที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 ก.พ.2555 อนุมัติในหลักการ คือ 1) ให้ไอซีทีเป็นผู้จัดซื้อแท็บเล็ตและโครงข่ายทั้งหมด 2) ให้ดำเนินการโครงการโดยทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือจีทูจี  (G-to-G : government-to-government) และ 3) ขอให้ไอซีทีเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณในการจัดซื้อแทนหน่วยงานที่เป็นเจ้า ของงบประมาณ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นที่มีการจัดการเรียนสอนชั้นประถมปีที่ 1 ส่วนงบประมาณที่ ครม.อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ 1,900 ล้านบาท เท่าที่ประเมินจะจัดซื้อแท็บเล็ตได้เพียง 560,000 เครื่อง ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่มีอยู่ราว 860,000 คน จึงต้องขอผูกพันงบประมาณปี 2556 ไว้ล่วงหน้า

สำหรับสเป๊กแท็บเล็ตใช้ของเดิมที่นายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธานกำหนดสเป๊ก เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการเจรจา เบื้องต้นราคาเฉลี่ยตัวเครื่อง ประมาณ 3,100 บาท อุปกรณ์เสริมอีกไม่เกิน 300 บาท และให้จัดซื้อแบบจีทูจี (G-to-G) เนื่องจากความร่วมมือด้านการศึกษาเป็น 1 ในบันทึกความเข้าใจที่ทำไว้กับประเทศจีนก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าของที่ส่งมอบจะเป็นไปตามสเป๊ก ราคาถูก คาดว่าจะส่งมอบได้ทันเปิดภาคการศึกษาที่ 1 ปี 2555 ส่วนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่จะใช้กับแท็บเล็ตนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้ ติดตั้งระบบเครือข่ายแล้ว 10,000 โรงเรียน ส่วนอีก 20,000 แห่งจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยคาดว่าจะให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้

http://www.techmoblog.com/ipad-3/

http://www.nationmultimedia.com/national/Cashbarter-for-Chinese-tablets-30175891.html

http://www.china-tablet-pc.com/
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1329384928&grpid=&catid=19&subcatid=1903

Tablet จากจีนคืออะไร, ดีหรือไม่?

Top 5 Android Tablet PC for China National Days
1. ZeniThink C91
2. Wopad i7
3. FlyTouch 5 EPad
4. Haipad M8
5. Apad A820

http://blog.wholesaleonepiece.com/top-5-android-tablet-pc-for-china-national-days/

android tablet 11
android tablet 11

ต่อเน็ตกับแท็บเล็ตพีซี (itinlife313)

iconia tab w501
iconia tab w501

24 ต.ค.54 แท็บเล็ตพีซี (Tablet PC) คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบพกพา สามารถรับคำสั่งจากผู้ใช้ผ่านการสัมผัสจอภาพ (Touch Screen) ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อที่ได้รับความนิยม อาทิ iPad,  Samsung Galaxy Tab หรือ Acer Iconia Tab ครั้งหนึ่งมีเพื่อนนำ Iconia Tab a500 มาให้ผู้เขียนทดสอบใช้ แล้วถามว่าทำไมต่ออินเทอร์เน็ตได้เฉพาะผ่าน  WiFi  ถ้าไปอยู่บนรถยนต์ รถเมย์ รถไฟก็ใช้งานไม่ได้ แล้วไปพบคำตอบในงานมหกรรมสินค้าไอที COM TECH ที่ลำปาง จากบูทแสดงสินค้าของ Acer ว่าการเปิดตัวของแต่ละผลิตภัณฑ์ออกมาไม่พร้อมกัน และของดีมักมาทีหลัง
ปัจจุบันแท็บเล็ตพีซีแต่ละยี่ห้อมีกลยุทธ์ในการผลิตสินค้าไม่ต่างกับเครื่องโน๊ตบุ๊คหรือพีซี คือ ออกมาหลายระดับ หลายราคา เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้แต่ละกลุ่ม ถ้ามีงบน้อยก็ซื้อรุ่นเล็ก มีงบมากก็ซื้อรุ่นที่ใหญ่ จากเอกสาร Acer Buyer’s Guide No.8 พบว่า IConia Tab มีออกมา 5 รุ่น แบ่งเป็นรุ่นที่รองรับระบบปฏิบัติการ Android จำนวน 3 รุ่น รองรับระบบปฏิบัติการ Windows 7 จำนวน 2 รุ่น สำหรับรุ่นต่ำสุดรองรับระบบปฏิบัติการ Android มีหน่วยความจำเก็บข้อมูลได้ 16 GB ส่วนอีก 4 รุ่นที่เหลือมี 32 GB ถ้าเป็นรุ่น Windows จะแถม Acer Fine Tip Keyboard ทำให้ใช้รับข้อมูลจากแป้นพิมพ์เพื่อพิมพ์งานเอกสารได้สะดวก หรือรับคำสั่งผ่านจอภาพก็ทำได้พร้อมกัน
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของ Iconia Tab รองรับ 3G GSM / GPRS / EDGE 850 / 900 / 1800 /1900 MHz มีเพียงรุ่นท็อป 2 รุ่นคือ A501 และ W501 ตัวอักษร A แทนด้วย Android และตัวอักษร W แทนด้วย Windows ส่วนรุ่นที่รองรับ Fast Ethernet on the dock มีเพียงรุ่นเดียวคือ W501 ดังนั้นการเลือกซื้อ Tablet PC แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมการใช้ว่า จะใช้บนรถเมย์ผ่าน 3G หรือผ่านเครือข่ายไร้สายในองค์กรเท่านั้น ส่วนผู้ที่เคยชินกับระบบปฏิบัติการ Windows ก็คงต้องเลือกรุ่นที่มีตัวอักษร W นำชื่อรุ่น ซึ่งการเลือกซื้อ Tablet PC จำเป็นต้องหาข้อมูลจากคนรอบข้างว่ามีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร จะสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในองค์กรได้หรือไม่ การเลือกซื้ออุปกรณ์ประเภทนี้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล และติดตามข่าวสารการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเลือกซื้อผิดก็อาจกลายเป็นเพียงขยะเทคโนโลยีชิ้นใหม่ในบ้านเพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้น

http://www.acer4u.in.th/

http://www.userguidemanual.com/acer-iconia-tab-w500-user-manual-quick-start-guide-tablet/