คิดมากจนไม่ได้ทำ กับ ทำมากจนไม่ได้คิด
คิดมากจนไม่ได้ทำ โดย ดร.บวร ปภัสราทร
งานจะสำเร็จได้นั้นว่ากันว่าต้องมีการวางแผนที่ดีเป็นเบื้องต้น แต่มีแผนที่ดีไม่ได้หมายความว่างานทุกงานจะประสบความสำเร็จ
งานจะสำเร็จได้ ต้องมีคนลงมือทำงานนั้น ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ก็ต้องลงมือทำเสียก่อนงานจึงจะเสร็จได้ หลายงานที่ว่ากันว่ามีการวางแผนมาเป็นอย่างดีนั้นกลายเป็นวิมานในอากาศคือมีแต่แผนสวยหรู แต่งานจริงไม่เกิดขึ้น ยิ่งในยามที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะทำอะไรสักอย่างก็ต้องมีขั้นตอนการวางแผนที่พิสดารเกินกว่าที่บ้านอื่นเมืองอื่นเขาทำกัน เกาหลีมีแผนไอทีไม่กี่หน้ากระดาษ แต่สร้างงานจริงได้อย่างมหาศาลจนเปลี่ยนให้เกาหลีเป็นเจ้าตลาดผลิตภัณฑ์ไอทีหลากหลายชนิดได้อย่างน่ามหัศจรรย์ บ้านเรามีแผนไอทีสองสามแผน แต่ละฉบับหนานับร้อยหน้า แผนก็ดีจริงๆ ด้วย แต่วันนี้บ้านเราก็ยังห่างไกลจากเกาหลีอย่างมากมาย แผนไอทีไม่กี่หน้าเอาชนะแผนไอทีหนานับร้อยหน้าได้อย่างสบายเพราะเกาหลีมีแผนแล้วมีคนลงมือทำตามแผนอย่างจริงจังจนกระทั่งบรรลุผล
อะไร ทำให้คนมัวแต่คิดแผน หรือคิดว่าจะทำตามแผนได้อย่างไร จนกระทั่งรีรอไม่ลงมือทำงาน คิดเรื่องแผนว่าดีไม่ดีอย่างไรจนไม่มีใครลงมือทำตามแผนนั้น แผนดีมีอยู่จริง แต่งานดีไม่มีสักเรื่องที่เกิดขึ้น เหตุที่คนมัวแต่ถกเถียงกันเรื่องแผนนั้นมาจากการที่ไม่ได้ตกลงกันให้ชัดเจนก่อนว่าคำว่าประสบความสำเร็จนั้นคือเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้ายังมองไม่ชัดว่าแค่ไหนเรียกว่าประสบความสำเร็จในงานนั้น ต่างคนต่างก็นิยามความสำเร็จของตนเองขึ้นมาแล้วอนุมานไปเองว่าคนอื่นก็ใช้นิยามของความสำเร็จของงานนั้นเหมือนกับที่ตนเองเชื่อ การถกเถียงจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ว่าจะเริ่มงานกันอย่างไร เพราะปลายทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเริ่มต้นลงมือทำงานจะเกิดขึ้นได้เร็วช้าขึ้นกับว่าเราตกลงความหมายของคำว่างานสำเร็จได้เร็วเพียงใด การตกลงเรื่องความสำเร็จนี้ ขอเพียงแค่ทุกคนยอมรับว่าคำว่าความสำเร็จของแต่ละหน่วยงานนั้นแตกต่างกันไปตามอายุงานและขีดความสามารถของแต่ละหน่วยงาน ผลงานอย่างหนึ่งที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในหน่วยงานหนึ่งอาจหมายถึงผลงานที่ล้มเหลวในอีกหน่วยงานหนึ่งก็ได้
เริ่มทำงานมาแค่สองสามปี คงไม่สามารถนิยามความสำเร็จของงานได้เหมือนกับหน่วยงานที่ทำงานมาเกือบร้อยปี มีคนแค่สามสี่คนคงไม่อาจใช้นิยามความสำเร็จของงานได้เหมือนกับหน่วยงานที่มีคนนับร้อยนับพัน ยอมรับและรู้จักขีดความสามารถของกลุ่มของตนได้มากเท่าใด เวลาที่ใช้ในการตกลงนิยามของความสำเร็จก็เร็วขึ้นเท่านั้น
หลายครั้ง ที่มีประเด็นที่มาถกเถียงกันจนไม่ได้ลงมือทำงานกันสักที นั้นมาจากข่าวลือบ้าง มาจากคำติเตียนอย่างไม่สร้างสรรค์บ้าง มาจากคำแนะนำของบางคนที่ดูเหมือนว่าจะหวังดีแต่จริงๆ แล้วเจตนาร้ายคือไม่ต้องการให้งานเดินหน้าได้บ้าง โบราณกล่าวไว้ว่าจิ้งจกทักให้รับฟังก็จริง แต่ถ้าไม่ยอมออกจากบ้านไปไหน เพราะมัวแต่กังวลกับจิ้งจก การงานคงไม่อาจเดินหน้าไปได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงไว้ด้วยว่าหลายคนรักษาหน้าที่การงานของตนไว้ได้ด้วยการคอยติเตียนงานของคนอื่นว่าเป็นไปไม่ได้บ้าง ว่าวางแผนไม่ดีพอบ้าง ทั้งๆ ที่พอย้อนถามกลับว่าที่ต้องทำเพิ่มเติมนั้น ต้องทำอะไรบ้าง คนเหล่านี้ก็ตอบไม่ได้ ดังนั้น หากไม่อยากกังวลกับสารพัดเรื่องจนรีรอไม่กล้าลงมือทำงานกันอย่างจริงจัง ต้องรู้จักเอาหูไปนา เอาตาไปไร่กับคำนินทาหรือคำเล่าลือต่างๆ เกี่ยวกับงานนั้นเสียบ้าง ถ้าตกลงกันเรื่องนิยามของความสำเร็จของงานนั้นได้แล้วให้ลงมือทำทันที อย่ากลัวคำนินทา อย่ารีรอกับสารพัดคำแนะนำเสนอแนะต่างๆ มากจนเกินไปเพราะลงมือทำงานแล้วงานจะดีเลวอย่างไรก็ยังบอกได้ว่างานได้เกิดขึ้นแล้ว
ถ้าทีมงาน มีคนที่ชิงดีชิงเด่นกันมาร่วมทำงานกัน ปรากฏมามากต่อมากแล้วว่างานจะเริ่มต้นได้ช้ามาก เพราะหมดเวลาไปกับการที่ต่างฝ่ายต่างหาทางกีดกันอีกฝ่ายหนึ่งให้ห่างไกลจากความสำเร็จของงาน ถ้าไม่ใช่งานที่ฉันได้ประโยชน์แล้ว ฉันไม่ยอมให้ใครได้หน้าได้ตาจากความสำเร็จของงานที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าอยากเริ่มลงมือทำงานตามแผนได้เร็ว ต้องขอให้ทุกคนที่มาทำงานด้วยกันแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกไปก่อน ขอให้ลงมือทำงานก่อนแล้วค่อยมาชิงดีชิงเด่นกันทีหลัง หรือถ้าทำได้ขออย่าได้เลือกทีมงานที่มัวแต่ชิงดีชิงเด่นกัน เลือกคนไม่เก่งแต่ไม่เกี่ยงงานดีกว่าเลือกคนเก่งที่อิจฉาตาร้อนไปหมดทุกเรื่อง การชิงดีชิงเด่นกันนั้นดีสำหรับงานที่ต่างคนต่างทำ ชิงดีชิงเด่นในงานเดียวกันไม่เคยทำให้งานนั้นสำเร็จได้
ความกังวล ที่มากเกินไปกับการที่ผลงานที่ได้อาจไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่คาดหวังไว้ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายงานจบลงที่ว่าได้คิดงานนั้น แต่ไม่ได้ทำงานนั้น ถ้าคาดหวังว่างานนั้นต้องสมบูรณ์แบบมากเกินไป ก่อนลงมือทำงานก็เลยต้องคิดมากหน่อย คิดมากไปจนกระทั่งต้องมาคบคิดเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ถึงหนึ่งในล้าน วันเวลาผ่านไปก็ยิ่งสนุกกับการคิดประเด็นที่สมมุติขึ้นมาว่าถ้าเกิดเช่นนี้ ต้องทำอะไร จนหมดสนุกที่จะลงมือทำงานอย่างจริงจัง ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ายักษ์ใหญ่ในวงการไอทีไม่เคยรีรอที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มาพร้อมกับความบกพร่อง ออกตัวมาก่อนแล้วค่อยตามแก้ไขภายหลัง ทุกวันนี้ เราจึงได้ใช้งานผลิตภัณฑ์ไอทีที่ออกตัวเร็วแต่มีการตามแก้ไขสารพัดเรื่องอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อย่ากังวลกับความสมบูรณ์แบบของผลงานมากเกินไป แต่ให้เร่งลงมือทำไปก่อน ผิดพลาดประการใดก็น่าจะมีเวลาแก้ไขให้ถูกต้องได้ ลงมือทำงานด้วยกันดีกว่าลงแรงวิตกสารพัดเรื่องร่วมกัน
มีหลายงาน ที่ผู้บริหารบอกให้ทำเพื่อให้ดูเหมือนว่าได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้ผลงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งที่จริงแล้วผู้บริหารไม่ได้อยากให้เกิดผลงานอย่างที่บอกไว้ แค่มีงานไว้ใช้บอกกล่าวเป็นการแก้ตัวว่ากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง งานแบบนี้ลงมือทำได้ยากเพราะมีความไม่แน่นอนว่าจะให้ทำอะไรกันแน่ ดังนั้น ถ้าเห็นว่างานใดผู้บริหารสรรหามาให้ทำเพียงเพื่อใช้แก้ตัวในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็อย่าตกอกตกใจที่งานไม่เดินหน้าเสียที แค่แกล้งทำท่าทำทางว่ากำลังจะลงมือทำก็เป็นที่พอใจของผู้บริหารแล้ว เคล็ดลับคือถ้าต้องทำงานภายใต้การบริหารของใคร ให้สร้างทักษะในการแยกแยะระหว่างงานที่ผู้บริหารหวังว่าจะให้เกิดขึ้นจริง กับงานที่มีไว้ใช้แก้ตัวในบางเรื่อง ถ้าแยกแยะไม่ได้ให้ระวังให้ดีว่าเราจะไปสร้างความสำเร็จกับงานที่ผู้บริหารไม่ตั้งใจจะให้เสร็จโดยไม่รู้ตัว งานสำเร็จแต่คราวนี้ตัวเราก็เสร็จตามไปด้วย
โดย ดร.บวร ปภัสราทร
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ประจำคอลัมน์ “ก้าวไกล วิสัยทัศน์ “
http://www.bangkokbiznews.com
ปล. ผมพบเรื่องนี้ เพราะ อ.อุดม ไพรเกษร ได้ share link มาให้อ่าน เมื่อวันที่ 30 ก.ค.55
แต่กว่าผมจะเข้ามาเก็บประเด็นได้ ก็21 ส.ค.55 แล้วครับ