ไปอ่านพบเรื่อง การกระจายอำนาจการศึกษา คือทางออกของการศึกษาไทย
ที่ http://board.palungjit.org/f10/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-143339.html
อ่านดูแล้ว ผมว่าเขาสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยเน้นการกระจายอำนาจ
แต่มองเห็นปัญหา จำแนกได้ 5 ข้อ ..
เห็นว่าน่าสนใจ จึงคัดลอกเก็บไว้ โดยมีเนื้อหาดังนี้
—
แนวคิดการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญ คือ การทำอย่างไรจึงจะมีระบบบริหารการศึกษาที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ คนแต่ละคนที่มีหน้าที่ทำงานอะไร ได้ทำงานนั้น ๆ ได้อย่างไม่มีอุปสรรค ระบบบริหารที่ดี คือทำให้เกิดระบบที่จริงจังที่จะทำงานต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ และสำหรับประเทศไทยที่มีประชากร 64-65 ล้านคน การรวมศูนย์อำนาจเป็นสิ่งที่รังแต่จะทำให้ระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบราชการเดินไปได้ยาก ระบบการศึกษาที่ยึดโยงกับระบบราชการ จะต้องกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น
ผลแห่งการพยายามปฏิรูปการศึกษา จึงทำให้เกิดเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นมา 176 แห่ง ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่เป็นผลตามมามีดังต่อไปนี้
1. บทบาทหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษา (Roles and Functions)
ยังไม่ชัดเจน คือไม่มีกฎหมายรองรับให้เป็นนิติบุคคลที่จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ในเขตพื้นที่การศึกษาของตน หากในทัศนะของผม ควรให้เขตพื้นที่ได้มีหน้าที่ครบถ้วนต่อไปนี้ คือ การวางแผนรวมของเขตพื้นที่, การจัดสรรกำลังคน เกลี่ยกำลังคน, การจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการรณรงค์หางบประมาณเสริมจากงบประมาณที่ได้จากส่วนกลาง การจะทำได้ดังกล่าว จะต้องมีการเสนอเป็นกฎหมายลูก ประกอบการปฏิรูปการศึกษา ทำให้เกิด CEO การศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่
2. การเปลี่ยนแปลงยังไม่เกิดแรงผลักดันให้ต้องพัฒนาอย่างชัดเจน (Impact and Momentum)
จากการสังเกตของผม ครูอาจารย์จำนวนมาก ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนการสอน ยังไม่มีการดำเนินการไปตามมาตรฐานการศึกษา ดังที่ทาง สมศ. ได้รายงานต่อสาธารณะหลายครั้ง ก็ยืนยันได้ว่า ยังไม่มีการพัฒนาการทำงานของครู ซึ่งส่งผลให้การจัดการเรียนการสอน และผลการเรียนของนักเรียนก็เลยยังไม่พัฒนา จากการศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เรามีจุดอ่อนด้าน “ขีดความสามารถของกำลังคน” ซึ่งแน่นอนว่าทำให้การที่ต่างชาติคิดจะมาลงทุนในไทยก็ต้องคิดมาก การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ก็เป็นผลพลอยที่จะเห็นได้จากอาการชะงักให้เห็นในช่วง 4-5 ปีหลังนี้
3. การยังไม่เกิดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการศึกษาของชุมชน (Participation)
ผมลองได้ศึกษาจากที่สอนในระดับดุษฎีบัณฑิตทางความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา ทั้งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และการสอนที่อื่นๆ พบว่า ต้นทุนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่น่าจะเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาระดับ ป. 1 ถึง ม. 6 เฉลี่ยน่าจะเพียงพอที่ 16,500 บาท ในช่วงที่ค่าเงินเฟ้อและค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยปัญหาราคาน้ำมัน จะทำให้มีผลกระทบต่อการศึกษาเช่นกัน ในอีกไม่นานคงต้องมองต้นทุนที่ 20,000 บาท นั้นหมายความว่าจะจัดการศึกษาให้ได้ดีเป็นมาตรฐาน คงต้องมีเงินเสริมจากงบประมาณแผ่นดินสักร้อยละ 30 ซึ่งต้องมาจากท้องถิ่น พ่อแม่ผู้ปกครอง และอื่นๆ หากไม่ได้การมีส่วนร่วมจากชุมชน การศึกษาของชาติในระดับภูมิภาคก็จะประสบปัญหา
4. ความเสื่อมล้าของการศึกษาภาคเอกชน (Private Education)
จากการประมาณการของผมเอง คิดว่าภาคเอกชนจะมีบทบาทในการศึกษาขั้นพื้นฐานเหลือไม่เกินร้อยละ 10 โรงเรียนมัธยมศึกษาของเอกชนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา ที่พอจะเป็นความต้องการ และเอกชนทำได้ดี คือระดับอนุบาลศึกษา การศึกษาประถมวัย โรงเรียนเอกชนนั้นเป็นทางเลือกของการศึกษา ที่หากเขามีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ภาครัฐก็ไม่ต้องไปเหนื่อยทำแทนเขา พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง เขามีความสามารถจ่ายเงินได้บางส่วน หากมีการสนับสนุนเงินสมทบ หรือมี Education Coupon ที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการศึกษาที่ผู้ปกครองได้เลือกส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนเอกชนได้หัวละเท่าใด และประกาศอย่างชัดเจนแน่นอน เอกชนเขาจะได้ไปคิดแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ถูก แต่ถ้าอะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน เขาลงทุนทำไปแล้ว มีแต่ล้มเหลว ก็เป็นความสูญเปล่า
5. การขาดระบบพัฒนานักบริหารการศึกษาพันธุ์ใหม่ (New Leadership)
เรามีการจัดการเรียนการสอนด้านบริหารการศึกษากันมากมาย หลายแห่ง แต่ทั้งหมดยังมีปัญหาในด้านต่อไปนี้
– การมีวิสัยทัศน์ที่จะมองการณ์ไกล (Visions) บางที่อาจต้องเข้าใจในความเป็นไปในโลกสากล ประเทศที่เขาพัฒนากันไปแล้วนั้น มีแนวโน้มกันอย่างไร
– การมีความสามารถในการวางแผน มีแผนพัฒนา (Planning Skills) การจะต้องไปขอเงินขอทางจากกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ หากเป็นภาคธุรกิจ เขาต้องมีแผนงานที่จะเห็นได้ว่าจะต้องการใช้เงินจำนวนเท่าใด ไปใช้เรื่องอะไร จะมีความคุ้มหรือไม่ จะต้องมีการสนับสนุนต่อเนื่องกันนานสักเท่าใด
– การมีความเข้าใจและทักษะทางการเมือง (Political Skills) นักบริหารการศึกษายุคใหม่หนีไม่พ้นการเมือง ต้องสามารถทำงานร่วมกับนักการเมือง ตัวแทนประชาชนในแต่ละระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการถ่วงดุลแรงผลักดันของกลุ่มต่างๆ อย่างเหมาะสม
– ความรอบรู้ในเรื่องกฎหมาย (Legal Education) การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ มีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติที่ต้องโปร่งใสมีหลักที่จะยึด
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่นักบริหารการศึกษารุ่นใหม่ ๆ ต้องพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถ
มองในอีกด้านหนึ่งคือ “โอกาส” ผมคิดว่าในช่วง 5-10 ปีต่อไปนี้ เราคงต้องมีนักบริหารพันธุ์ใหม่ ระดับนำ อาจจะเรียกว่า CEO ทางการศึกษาสัก 1000 คน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค คนระดับนี้อาจได้แก่ ผอ. เขตพื้นที่การศึกษา รองผอ. ที่จะเตรียมตัวเรียนรู้เพื่อจะรับหน้าที่ต่อไป นอกกจากนี้คือ ผอ. อาจารย์ใหญ่สถานศึกษาทั้งของภาครัฐ และเอกชน ขนาดใหญ่
อีกระดับหนึ่ง อาจจะนับเป็นหมื่น ๆ คนทีเดียว เขาคือ ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมีทั่วประเทศนับกว่า 30000 แห่ง อีกส่วนคือพวกที่จะมีบทบาทจากภายนอก จากภาคธุรกิจเอกชน ชุมชน ระบบปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล, อบจ., อบต., เขาเหล่านี้ โดยเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่บุคลากรของการศึกษาโดยตรง แต่เขาจะมีบทบาทในการช่วยผลักดันระบบการศึกษาให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง
เราคงต้องมองวิธีการผลิตกำลังคนไปนำระบบการศึกษา และระบบสังคมในแบบใหม่ โดยต้องเน้นไปที่ขีดความสามารถในการไปเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างจริงจัง มากกว่าการจะผลิตคน โดยเน้นไปที่ปริญญาบัตร หรือกระดาษ
ระบบผลิตคนและผู้นำทางการศึกษานั้น จะต้องเป็นระบบประสมประสานที่ทำให้นักบริหารการศึกษาใหม่ มีเครื่องมือที่ติดตัวไปในการทำงาน และสามารถผลักดันขับเคลื่อนการศึกษาของชาติไปได้อย่างจริงจัง เราต้องไม่หวังการนำจากระบบการเมืองส่วนกลาง เพราะแนวโน้มความไม่มั่นคงทางการเมืองในส่วนกลาง ประกอบกับมันเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะยึดการบริหารแบบรวมศูนย์ แบบหวงอำนาจ