ขบวนแห่กัณฑ์เทศในงานตั้งธรรมหลวงเวียงละกอน

ขบวนของมหาวิทยาลัยโยนก
ขบวนของมหาวิทยาลัยโยนก

14 ม.ค.53 งานวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขอเชิญชวนอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษามหาวิทยาลัยโยนก ร่วมกิจกรรม 2 งานคือ 1) แห่กัณฑ์เทศ วันที่ 14 เวลา 7.00-9.00น. จากโรงเรียนเทศบาล4 ไปศาลหลักเมือง และ 2) ร่วมฟังเทศน์มหาชาติ กัณฑ์มัทรี จากพระราชธรรมาลังการ เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์ พระอารามหลวง จ.ลำปาง ในวันที่ 15 เวลา 13.00-14.00น. ณ ศาลหลักเมือง แล้วในวันนี้คณะวิทย์ฯ ไปร่วมแห่กัณฑ์เทศ และมีโอกาสเก็บภาพ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาที่ไปร่วมกิจกรรมกว่า 30 คน เป็นความสุขใจในฐานะกลุ่มพุทธศาสนิกชน ที่มีโอกาสได้ร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบไป เพื่อนร่วมบุญครั้งนี้มีมากมาย อาทิ อ.ใหญ่ อ.เอก อ.โก อ.นงลักษณ์ อ.เอ็ม อ.พจน์ อ.นัน อ.น้ำค้าง พี่ริน พี่แบงค์ พี่รัชนีย์ ส่วนนักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มากที่สุด รองลงมาเป็นคณะนิติศาสตร์
     งานบุญครั้งนี้เป็นกิจกรรมทางศาสนาพุทธในจังหวัดลำปาง การร่วมกิจกรรมก็มีทั้งเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ข้าราชการ การแต่งกายก็เป็นไปตามฟอร์มของแต่ละองค์กร เช่น นักเรียนก็ชุดนักเรียน ส่วนนักศึกษาก็จะเป็นชุดนักศึกษา ซึ่งหลายสถาบันมีนักศึกษาแต่งกายตามปกติวิสัย ที่พระสงฆ์ดูชุดนักศึกาษาสมัยนี้แล้วอาจมีความคิดเห็นไปในทางไม่สงบมากไป ปัจจุบันโลกไร้พรมแดนเป็นจริง ความคิดก็เริ่มไม่มีพรมแดน ดังนโยบายของรัฐบาล หรือคำขวัญวันเด็กก็จะมีคำว่า ความคิดสร้างสรรค์เข้ามา ทำให้ความคิด หรือพฤติกรรมเริ่มหลุดออกนอกกรอบ พระสงฆ์เริ่มใช้กล้องดิจิทอล อ.พจน์ ให้ข้อสังเกตุว่า มีพระสงฆ์ใช้กล้องถ่ายรูปเก็บภาพนักศึกษาหญิง ซึ่งดูแล้วก็ใช้ทัศนคติของผู้เคร่งวินัยตัดสินความไปในทางหนึ่งซะแล้ว แต่ผมให้ความเห็นว่าเขาคงเก็บไปทำ case study ส่วนผมเห็นพระสงฆ์ใช้วิทยุสื่อสาร ก็คิดว่าทันสมัยดี มีอะไรให้พูดคุยสื่อสารกันแน่นอน มีกิจกรรมทางโลกให้พระสงฆ์ได้เข้ามาทำกิจกรรม มากกว่าที่คาดหวังอยู่ไม่น้อย .. วิถีของแต่ละคน .. ตนย่อมเป็นผู้กำหนด

Smart Education Sim หรือ AIS Smart Solution

13 ม.ค.53 ที่มหาวิทยาลัยโดย งานทะเบียน และ งานประชาสัมพันธ์ ร่วมให้บริการ Smart Education Sim หรือ AIS Smart Solution หรือ YONOK Sim แก่นักศึกษา คือ บริการส่งข้อมูลข่าวสารจากมหาวิทยาลัยถึงนักศึกษาฟรี สำหรับนักศึกษาที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบ AIS GSM และ AIS One-2-Call เท่านั้น นักศึกษาที่สนใจสามารถเข้าไปสมัครด้วยตนเองที่ http://www.yonok.ac.th/sim หรือสมัครผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยส่ง sms พิมพ์ yonok,รหัสนักศึกษา,ปีพ.ศ.เกิด (2หลัก) เดือนเกิด(2หลัก) วันเกิด (2หลัก) เช่น yonok,5010000001,321019 ส่งมาที่เบอร์ 9010112 แล้วนักศึกษาจะได้รับข้อความตอบกลับว่า “การลงทะเบียนเสร็จสิ้น ท่านได้เป็นสมาชิกของระบบเรียบร้อยแล้ว” เป็นอันว่าการสมัครเสร็จสมบูรณ์ บริการนี้เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยโยนก กับบริษัท AIS ซึ่งพัฒนาระบบโดยบริษัท G-Able เป็นอีกช่องทางที่ใช้เทคโนโลยีช่วยในการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยถึงนักศึกษาอีกวิธีหนึ่ง ซึ่ง อาจารย์ คณะวิชา หรือหน่วยงาน สามารถใช้เป็นช่องทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
+ http://www.thaiall.com/mis/mis08.htm

รับเมล เรื่องการเลือกเรียนเพราะบรรยากาศน่าเรียน

นักศึกษา ผู้มีความสุข อย่างสร้างสรรค์
นักศึกษา ผู้มีความสุข อย่างสร้างสรรค์

11 ม.ค.53 อ.มงคล ใจสุข ส่งอีเมลให้ผม มีภาพ 11 ภาพ ซึ่งสำเนาถึงเพื่อนอาจารย์อีกกว่า 20 คน หลังเราเข้าอบรม creative+ กับ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ จึงเข้าใจคำว่าภาพศิลปะ เพราะคำว่าภาพศิลปะ หมายถึงภาพที่มีอารมณ์ น่าจะเป็นเพราะต้องการส่งภาพให้นำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ หรือเป็นตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์จากการถ่ายภาพเชิงสร้างสรรค์ ที่ชี้ให้เห็นความสุขของนักศึกษาที่มาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ .. ผมก็คิดไปทำนองนั้น จึงตัดต่อมาให้ชื่นชมครับ

อบรมการเขียนรายงานโครงการ cbpus

 

การอบรมเชิงปฏิบัติการ เขียนรายงานสรุป cbpus
การอบรมเชิงปฏิบัติการ เขียนรายงานสรุป cbpus

10 ม.ค.53 นายกร ศิริพันธุ์ นางสาวอรพรรณ สงเคราะห์ธรรม อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน พร้อมเพื่อนที่รับทุน cbpus ที่เชื่อมผ่านโหนด (node) ลำปาง ซึ่งดูแลโดย อ.ฉิ่ง ของราชภัฏเชียงใหม่ โดยมีนางสาวภัทรา มาน้อย เป็นผู้ประสานงานของโหนด ทำหน้าที่ดูแลผู้รับทุนจากกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มราชภัฏ กลุ่มราชมงคล กลุ่มมจร. กลุ่มโยนก วัตถุประสงค์การอบรมครั้งนี้ เพื่อให้การปิดโครงการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นไปตามกำหนดการ จึงต้องทำความเข้าใจ ติดตาม ซักซ้อม ลงมือเขียนรายงานให้ไปในทางเดียวกัน และส่งเอกสารทางการเงิน โดยนัดหมายนำเสนอสรุปโครงการแต่ละโครงการในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ราชภัฏลำปาง 
    นางสาวรัตติกร บุญมี ผู้บรรยายได้ให้แนวการเขียนรายงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นแก่นักวิจัยชุดนี้ โดยให้แนวการเขียนรายงานการวิจัยแบ่งเป็น 5 บท คือ 1) บทนำ 2) แนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 3) วิธีการดำเนินงาน 4) ผลการดำเนินงานวิจัย 5) สรุปอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ภาคผนวกมี 3 ส่วนคือ 1) บทความเผยแพร่ 2) ภาพกิจกรรม 3) ประวัตินักวิจัย .. แนวการทำงานของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับวิจัยเชิงวิชาการอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ถ้าปรับให้การเขียนรายงานเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ คนที่มีเป้าหมายเพื่องานวิชาการก็จะนำไปใช้ในด้านวิชาการได้
+ http://thaiall.com/research/hidden/training_cbpus_report_530110.zip

งานเลี้ยงปีใหม่ที่มหาวิทยาลัย ปี 2553

งานเลี้ยงปีใหม่ใต้อาคารบริหารธุรกิจ
งานเลี้ยงปีใหม่ใต้อาคารบริหารธุรกิจ

8 ม.ค.53 มนุษย์เกิดมาเป็นสัตว์สังคม ความสุขหนึ่งที่ปุถุชนส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธคือการอยู่รวมกันเป็นสังคมและได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การพบปะสังสรรค์เป็นครั้งคราว พูดคุยแลกเปลี่ยน เพราะปกติไม่ค่อยได้คุยกัน ทุกคนมักยุ่งอยู่แต่ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จนลืมความสัมพันธ์ในตัวตน ในครอบครัว ในองค์กร ในสังคมภายนอก การพบปะมักมีกิจกรรมที่ไม่ปกติ หรือถึงขั้นผิดปกติอยู่หลายกิจกรรม ก็เพื่อให้ความผิดปกติเหล่านั้นแปลสภาพเป็นตัวขับความบันเทิงให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ด้วยอาศัยสิ่งเร้าจากภายนอกมาทำให้เกิดความสุขสำราญขึ้นในจิตเราผ่านอุบายมากมาย เช่น แสงสี เสียง รอยยิ้ม มุกขอพิธีกร ความเอื้ออาทรของผู้บริหาร และการได้ทรัพย์มาโดยไม่ได้คาดหมาย .. ทุกอย่างที่จะบันดาลสุขก็มีขึ้นในวาระนี้
     เก็บภาพมาฝากจากมุมที่แตกต่าง แต่ภาพดี ๆ คงต้องขอจากพี่เวท และน้องแบงค์ เพราะใช้กล้องคุณภาพสูง ที่จะมีความสุขกันแบบนี้ เนื่องจากหนึ่งปีมีหนเดียวต้องเต็มที่กันหน่อย ก็เหมือนวันเกิด วันปีใหม่ วันตรุษจีน วันสงกรานต์ วันคริสมาสต์ ที่มีเพียงปีละครั้ง มีความสุข สังสรรค์ ด้วยกิจกรรมบันเทิง .. เล่าเท่านี้ครับ ถ้าเล่าต่อเกรงว่าจะเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่ .. สรุปว่ามีความสุขอีกครั้งกับกิจกรรมปีละครั้งในมหาวิทยาลัยร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขกันถ้วนหน้า

อวตารที่ไม่ใช่อวตาร

นำเสนออวตาร 3 แบบ
นำเสนออวตาร 3 แบบ

8 ม.ค.52 หลายปีมานี้ได้รับมอบหมายจาก หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ และ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์ให้ชาวลำปางได้ร่วมเรียนรู้จากมุมมองของนักวิชาการในสถาบันการศึกษา ประกอบกับเป็นโยบายของ ท่านอธิการบดี ที่ส่งเสริมให้บุคลากรได้มีงานเขียนในสื่อท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง บทความที่ 225 นี้เป็นงานที่เขียนในเวลางาน และเสร็จในการเขียนรอบเวลาเดียว จึงตัดสินใจ post เข้า blog ครับ กลับบ้านจะได้ clear งานอื่น

ไอทีในชีวิตประจำวัน # 225 อวตารที่ไม่ใช่อวตาร
     ปัจจุบันคำว่า อวตาร (Avatar) ถูกใช้ในหลายโอกาส ทั้งในชื่อภาพยนตร์ แสดงเป็นตัวแทนในเว็บไซต์ หรือการแบ่งภาคของเทพ ซึ่งต้นกำเนิดของคำนี้มาจากความเชื่อของศาสนาฮินดู ว่า อวตารคือการแบ่งภาคของเทพในศาสนามาเกิดบนโลกมนุษย์ อาจแบ่งมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ก็ได้ เพื่อมาทำหน้าที่บรรเทาความเดือดร้อนของมนุษย์ ส่วนความเชื่อของชาวพุทธนิกายวัชรยานมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์อวตารหรือแบ่งภาคได้เช่นกัน อาทิ ชาวพุทธในทิเบตเชื่อว่า ทะไล ลามะ เป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวร และ ปันเชน ลามะ เป็นอวตารของพระอมิตาภะพุทธะ เป็นต้น
     ภาพยนตร์เรื่องอวตาร 2552 แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ในการย้ายจิตวิญญาณจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่งเสมือนการเข้าสิง หรือการถอดร่างออกไปควบคุมร่างใหม่ หรือร่างอวตาร โดยร่างเดิมไม่มีความรู้สึกนึกคิดหลงเหลืออยู่ เมื่อปิดเครื่องส่งถ่ายจิตวิญญาณจะทำให้ดึงจิตวิญญาณจากร่างอวตารกลับมายังร่างจริงในทันที แนวคิดนี้ต่างกับอวตารในความเชื่อทางศาสนาในประเด็นที่เทพสามารถแบ่งพลังเพียงส่วนหนึ่งไปเป็นร่างใหม่ที่มีความรู้สึกนึกคิดของตนเอง แต่ในภาพยนตร์คือการย้ายจิตวิญญาณไปยังร่างใหม่
     คำว่า Avatar ที่เราพบในเว็บไซต์เป็น อวตารคอมพิวเตอร์ คือ สัญลักษณ์แสดงตัวตนของเจ้าของ พบได้ในเว็บไซต์เครือข่ายสังคม เกมคอมพิวเตอร์ เว็บบอร์ด มีลักษณะเป็นภาพไอคอน ภาพการ์ตูน ภาพถ่าย หรือภาพเสมือนจริง ในความหมายนี้อวตารเป็นเพียงตัวแทนแสดงตน แสดงความรู้สึก รูปลักษณ์ หรือลักษณะที่เจ้าของอวตารต้องการสื่อสาร ไปพร้อมกับบทบาท บทความ บล็อก สารสนเทศ หรือเว็บไซต์ ซึ่งเป็นตัวแทนที่ขาดการเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับเจ้าของอย่างแท้จริง เพราะหากข้อมูลลบ หรืออวตารถูกเปลี่ยน เจ้าของจะไม่รู้ถึงการเปลี่ยนเหล่านั้นแต่จะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีใครแจ้งให้ทราบหรือกลับมาเปิดดูอีกครั้งเท่านั้น ก็มีคำถามว่าท่านมีอวตารหรือเข้าใจความต่างของอวตารทั้ง 3 แบบว่าอย่างไร
+ http://www.thaiall.com/opinion/readonly.php

วีดีโอบทเรียนจากการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น

วีดีโอนำเสนอกระบวนการวิจัย
วีดีโอนำเสนอกระบวนการวิจัย

7 ม.ค.52 ได้รับวีดีโอจาก กรและปราง จึง upload ภาพยนต์บทเรียนงานวิจัยจำนวน 2 เรื่องที่นักศึกษาทุน cbpus คือ กร กับปราง (www.ldy69.com) ได้ยกร่างขึ้นมาเพื่อ present ให้ตัวแทนชุมชนที่อยู่ในภาพยนต์ได้เห็นภาพร่วมที่ได้นำเสนอร่วมกัน และใช้สอบถามนักเรียนจากทั้ง 2 โรงเรียนคือ โรงเรียนบ้านไหล่หิน และโรงเรียนไหล่หินวิทยา ช่วงมกราคม 2553 ซึ่งจะได้ประสานกับ อาจารย์ราตรี ดวงไชย และอาจารย์สุดา แผ่นคำ ต่อไป ในระหว่างประสานกับพื้นที่ ได้ส่งภาพยนต์ไปเผยแพร่ใน youtube.com แต่เข้าไปได้เรื่องละประมาณ 70% ต่อเรื่อง เพราะ youtube.com จำกัดความยาวเรื่องละไม่เกิน 10 นาที แต่หนังทั้ง 2 เรื่องยาวเรื่องละ 14 นาที ก็คิดว่าเผยแพร่ให้ดูแบบเรียกน้ำย่อยไปก่อนครับ และที่ส่งเข้าไปก็ลดขนาดแฟ้มลง ที่ท่านเห็นจึงไม่เต็มเรื่อง และมีความละเอียดไม่สูงนัก
+ http://www.youtube.com/watch?v=brdqIYi1Gw4
http://www.youtube.com/watch?v=KX52y3QZilQ

เราช่วยกาชาด กาชาดช่วยเรา

กาชาดลำปาง
กาชาดลำปาง

1 ม.ค.53 มีโอกาสเป็นตัวแทนนักศึกษา และตัวแทนอาจารย์ ร่วมกับภรรยา และนักศึกษารวมกว่า 8 ชีวิต รับหน้าที่ช่วยผู้ใจบุญที่มาร่วมกิจกรรมตกมัจฉากับกาชาดลำปาง เป็นงานบุญที่ช่วยเหลือผู้ใจบุญที่ไปร่วมให้ทานในงานฤดูหนาวและงานกาชาดจังหวัดลำปาง ประจำปี 2553 จัดขึ้นระหว่าง 26 ธันวาคม 2552 ถึง 4 มกราคม 2553 โดยงานนี้มีนางปริญดา บุญฤทธิพงษ์ นายกเหล่ากาชาด คอยอำนวยการทุกฝ่ายในบูทของกาชาดลำปางอย่างเต็มที่ ทีมนักศึกษาโยนกและผม อยู่กับท่านตั้งแต่ 17.00น. – 24.00น. โดยประมาณ ขนาดผมยังหนุ่ม ๆ ยังเหนื่อยแทบแย่ แต่ท่านนายกอายุปูนนั้นยังกระปรี้กระเปร่ากลับบ้านทีหลังผมซะอีก และท่านก็อยู่ทุกวัน แต่ผมมาวันเดียวก็เหนื่อยแทบแย่แล้ว งานนี้เป็นงานบุญล้วน ๆ เพราะผู้ประกาศบอกว่าภารกิจของกาชาดคือช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั้งในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง ทุกคนที่มาช่วยงานเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น ไม่มีอามิสสินจ้างใดเลย เย็นวันนี้นอกจากโยนกก็ยังมีเจ้าหน้าที่จากขนส่งและประกันสังคมมาร่วมช่วยงานกันขันแข็ง อีกสิ่งที่ประทับใจคือกาชาดเลี้ยงก๋วยจั๊บแสนอร่อยรอบดึกแก่ทีมงานอาสาทุกคนในเวลาประมาณสี่ทุ่ม
     คนกาชาดส่วนใหญ่เป็นคนเสียสละ ผมรู้มาว่าคนกาชาดมักเป็นผู้บริจาคโลหิต หรือเกร็ดเลือด เพราะเป็นทานโดยใช้สิ่งที่มีอยู่ในร่างกายของเราโดยตรง เป็นสิ่งที่เหลือใช้จากร่างกาย จะยากดีมีจนก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน และยังสามารถทำได้ปีละหลายครั้ง ผู้รับเลือดเราไปก็ยังนำไปใช้ประโยชน์ในร่างกายของเขาได้ง่าย และคนกาชาดมักเป็นผู้บริจาคอวัยวะ ซึ่งเป็นความดีที่ไม่สิ้นสุดคือการอุทิศอวัยวะเมื่อยามสิ้นสูญ แต่ทำได้เพียงครั้งเดียวและต้องพิจารณาความเหมาะสมของอวัยวะเป็นรายไป คนที่มีความประสงค์และมีผู้นำอวัยวะไปใช้ประโยชน์ได้นับว่าเป็นผู้มีโชคที่ได้ทำบุญครั้งสุดท้ายของชีวิตในแบบที่ทำกันได้ยากยิ่ง และคนกาชาดยังเป็นผู้บริจาคร่างกายให้นักศึกษาแพทย์นำไปศึกษา หรือที่เรียกว่าอาจารย์ใหญ่ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้ร่างกายของเราอย่างละเอียด ซึ่งมนุษย์เราทำได้เพียงครั้งเดียว และเงื่อนไขก็ทำให้การบริจาคร่างกายทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะข้อจำกัดเรื่องอายุ โรคที่ทำให้ตาย และความสมบูรณ์ของร่างกาย .. ก็ต้องชื่นชมคนกาชาดที่มีทานเป็นอุดมการณ์นำชีวิตทุกคน และพวกเราชาวโยนกก็จะทะยอยยึดเป็นแนวปฏิบัติกันต่อไป

ภาพบูทด้านข้างและด้านหลังของ booth creative

บูทของโยนกในงานฤดูหนาวและกาชาด ปี 2553
บูทของโยนกในงานฤดูหนาวและกาชาด ปี 2553

1 ม.ค.52 มีโอกาสเป็นตัวแทนนักศึกษาของคณะวิทย์ฯ ไปช่วยงานกาชาด รับผิดชอบส่วนบ่อมัจฉา ช่วยอำนวยความสะดวกผู้ร่วมกิจกรรมตกมัจฉา ฉีกบัตร และชี้แจง ก่อนที่ผมจะเข้าช่วยกาชาด 17.00น-24.00น. ได้เก็บภาพด้านข้าง และด้านหลังของ booth yonok 2553 ในงานฤดูหนาวและงานกาชาด เพราะปีหน้าถ้าทำอีกจะได้มีต้นแบบ แนวคิดของบูทเป็น Creative สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะเป็น Creative Economy และพบคำนี้ในคำขวัญวันเด็ก 2553 คือ “คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม”

อภิปรายผลการวิจัย การศึกษาการประยุกต์ไอทีสำหรับผู้บริหาร

เหตุเกิดในต่างประเทศ
เหตุเกิดในต่างประเทศ

2 ม.ค.53 มีโอกาสช่วย ยกร่างอภิปรายผลการวิจัย ของกลุ่มเพื่อนที่ศึกษาการใช้ไอทีของผู้บริหารในองค์กรหนึ่ง เมื่ออ่านรายละเอียดในรายงานแล้ว ทำให้เข้าใจว่าการดำเนินงานและผลการวิจัยเป็นอย่างไร แต่ก็เขียนได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะไม่ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิพากษ์ว่าสิ่งที่ผมยกร่างขึ้นมานั้น  ทีมวิจัยทั้ง ๓ ท่านที่ศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเห็นตรงหรือไม่ แต่นี่เป็นเพียงการยกร่างของการอภิปรายผล ที่หวังจะให้เกิดการพัฒนา และนำไปต่อยอดต่อไป จะปรับเปลี่ยนประการใดก็สุดแล้วแต่ทีมวิจัยท่าน
     โดยมีประเด็นอภิปรายแบ่งเป็น ๔ เรื่อง ดังนี้ ๑. ผู้บริหารสามารถใช้งานโปรแกรมสำนักงานในกลุ่มของไมโครซอฟท์ เพื่อพิมพ์เอกสาร ตารางคำนวณ และงานนำเสนอมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอน และงานบริหารในองค์กร แล้วยังสามารถสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และสื่อสารด้วยอีเมลได้ ๒. ผู้บริหารเห็นความสำคัญจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากโปรแกรมสำเร็จรูป และมองไปที่ภาพรวมของเทคโนโลยี แต่การระบุปัญหาส่วนใหญ่เน้นไปที่ปัญหาด้านอุปกรณ์มากกว่าปัญหาด้านสารสนเทศที่มาจากระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งไม่พบการชี้ชัดที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาจากการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานให้บรรลุสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ขององค์กร ๓. ผู้บริหารยังใช้งานโปรแกรมประยุกต์หรือระบบฐานข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจในรูปของสถิติยังไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจตามความต้องการของผู้บริหาร และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้บริหารที่จะทำความเข้าใจในประโยชน์ของระบบฐานข้อมูลแต่ละระบบ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถกำหนดความต้องการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน ๔. ผู้บริหารไม่ต้องการพัฒนาตนเองในการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งโปรแกรมสำเร็จรูปโดยทั่วไปไม่ช่วยสนับสนุนการใช้ระบบเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารที่ชัดเจน โดยวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ให้น้ำหนักของการศึกษาวิจัยเพื่อวางแผนการจัดอบรมและจัดหลักสูตรด้านไอทีให้กับผู้บริหารโดยให้ความสำคัญกับโปรแกรมสำเร็จรูปโดยทั่วไป มากกว่าการศึกษาความต้องการของผู้บริหารที่ต้องการเติมเต็ม แล้วนำไปช่วยให้การตัดสินใจที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร