ตานก๋วยฉลากที่มหาวิทยาลัยโยนก

 

ที่ มหาวิทยาลัยโยนก
ที่ มหาวิทยาลัยโยนก

29 ต.ค.52 ร่วมประเพณีตานก๋วยฉลากเป็นครั้งที่ 2 ของปี แต่เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยโยนก มีศรัทธาที่เป็นนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นำก๋วยหรือสังฆทานมาร่วมกิจกรรม มีเส้นกว่า 140 เส้น ของผมกับภรรยามีกันคนละเส้น เจ้าภาพจัดงานได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูปมารับทาน จัดโดยคณะบริหารธุรกิจ นำโดย อ.นิยม จันทกูล โดยมีเพื่อนอาจารย์หลายท่านเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เช่น อ.แนน อ.นุ้ย พี่ริน อ.แหม่ม อ.เก๋ อ.สุรพงษ์ อ.ใหญ่ อ.บอย อ.ชินพันธ์ อ.สุจิรา ส่วนผู้นำประกอบพิธีคือ อ.วีระพันธ์  แก้วรัตน์ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์วัดทำพิธีได้อย่างยอดเยี่ยม ครั้งนี้พระท่านมาเทศน์ให้นักศึกษาฟัง มีเรื่องราวตามธรรมในใบลาน ก็ได้คติเตือนใจกลับบ้านกันไปถ้วนหน้า สรุปได้ว่าเป็นกิจบุญที่ทุกคนมีความสุข ใบหน้าอิ่มเอมไปด้วยบุญกันทุกคน .. งานนี้รู้เลยว่ายังมีคนที่ศรัทธาในศาสนาพุทธอยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งสรุปได้ว่าเต็มตามตัวบ่งชี้ครับ

ทำบุญกับวัดกฐินตก ที่ลำปาง

กฐินตก
กฐินตก

29 ต.ค.52 ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ คุณศิริทัศน์ โรจนพฤกษ์ รับทำบุญวัดที่กฐินตก และปีนี้เป็นปีแรกที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยโยนก ออกทำบุญวัดที่กฐินตกมากกว่า 80 วัด โดยวัดในลำปางมีกว่า 673 วัด แต่กฐินตกเนื่องจากไม่มีใครจองกฐินมีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่ง เหตุการแบบนี้เกิดขึ้นทุกปี วันนี้บางคณะและบางสำนักงานได้รวมตัวกันไปทำบุญที่ วัดห้วยคิง อำเภอแม่เมาะ ลำปาง โดยนัดหมายวัดที่กฐินตกกว่า 15 วัดมาใช้สถานที่ที่วัดนี้เป็นที่กรานกฐิน มีหน่วยงานในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกที่ ดร.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ เชิญชวนมาร่วมทำบุญทอดกฐินจากหลายองค์กร เพราะการเป็นเจ้าภาพกองกฐินเป็นภาระหนักมิใช่น้อย คุณลัดดาวรรณ เรือนทัศนีย์ เป็นผู้ประสานงาน และนำทุกคนไปร่วมทอดกฐินในครั้งนี้ เพราะถ้าไปกันทีละวัด ๆ ละคนสองคน ก็คงไม่สะดวก จึงมีการปรับแผนเพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน
     ในปัจจุบัน พบว่า ศรัทธาต่อศาสนาที่มีในตัวมนุษย์ลดลง การให้ความสำคัญกับวัตถุเพิ่มขึ้น ศีลที่เป็นเครื่องปกป้องมนุษย์เริ่มเสื่อมสลาย จำนวนคนที่สนใจทอดกฐินลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรือไม่นิยมทอดกฐินมาแต่อดีตก็เป็นได้ จำนวนพระสงฆ์ในวัดมีน้อย ยิ่งวัดในชนบทมักมี 1 – 2 รูป แต่ถ้าวัดในกรุงเทพฯ จะมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่มาก แต่ในชุมชนที่ศรัทธา หรือความเชื่อยังแจ่มชัด จำนวนพระสงฆ์กลับไม่เป็นไปดังคาด .. ในโอกาสนี้คณะศรัทธา จึงมีความสุขที่ได้ทำบุญกับวัดที่กฐินตก เพื่อถวายจตุปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพระสงฆ์

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จวัดไหล่หินหลวง

พระเทพ เสด็จวัดไหล่หินหลวง

28 ต.ค.52 9.00น. สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยี่ยมวัดไหล่หินหลวง จังหวัดลำปาง เป็นที่ปิติยินดีของชาวไหล่หินหาที่สุดมิได้ ลูกทั้ง 3 ของผมและพ่อตาบรรจง ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอยู่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง เป็นครั้งแรกของพวกลูกที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าเจ้านายใกล้ชิดเพียงนี้ ครอบครัวของเราก็ยินดีที่ได้รับโอกาสดีเช่นนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้านายท่านจะเสด็จมาหมู่บ้านนี้อีก ถ้ามาโอกาสแบบนี้อีกในครั้งใดก็จะพาลูกเขาไปเฝ้าเช่นนี้ทุกครั้งไป สำหรับตัวแทนชาวไหล่หิน นำโดย นายทรงศักดิ์ แก้วมูล ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ฯ ถวายรายงานใกล้ชิด พบรายละเอียดจากทีวีหลายช่องเป็นที่ประจักษ์

ความเห็นต่อ Windows 7 หลังเปิดตัวไม่กี่วัน

26 ต.ค.52 วันนี้ลูกศิษย์เธอชื่อ ฝน บ่นว่าใช้ Windows 7 แล้วเครื่องอืดขณะนำเสนอโครงงานจบ กรณีศึกษาสถานพยาบาลบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง (ซึ่งทีมอาจารย์ไม่ถือว่าเป็นข้อแก้ตัว) เดิมใช้ Windows XP เครื่องทำงานได้ค่อนข้างเร็ว ผมก็ยกตัวอย่างว่า “ผมขับรถเก่าอยู่คันหนึ่ง แล้วก็มีรถออกมาใหม่ ไม่เห็นจะต้องไปหาซื้อรถใหม่เลย” คงต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นมาก ๆ ถึงจะทำให้ผมเปลี่ยนรถรุ่นใหม่ได้ เรื่องการเปลี่ยนระบบปฏิบัติการก็เช่นกัน หากเปลี่ยนแล้วไม่คุ้ม หรือไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรที่คาดไม่ถึงบ้าง ก็คงต้องพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล เพราะทรัพยากรของมนุษย์ส่วนใหญ่มีอยู่อย่างจำกัด การวิ่งไล่ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยขาดเหตุผลที่หนักแน่น ผมว่าเหนื่อยนะครับ
     วันที่ 25 ต.ค.52
ไปพบงานเปิดตัว Windows 7 ที่ Robinson Airport จ.เชียงใหม่ พบว่ามีออกมา 5 รุ่นแบ่งตามกลุ่มลูกค้า และราคา คือ Ultimate, Professional, Home premium, Home Basic และ Starter

ผลประเมินโครงการวิพากษ์ระบบฐานข้อมูล

26 ต.ค.52 โครงการนี้มีตัวบ่งชี้ 2 ตัว คือ จำนวนคน กับ ความพึงพอใจ พบว่าผลประเมินความพึงพอใจตกครับ อันที่จริงมีประเด็นให้วิเคราะห์กันต่อได้ และมีวิธีปรับแบบสอบถามที่สมเหตุสมผลกว่านี้ได้ แต่ตั้งตัวบ่งชี้ไว้ 3.5 ของภาพรวม แล้วผลได้เพียง 3.04 ส่วนจำนวนคนไม่มีปัญหา เพราะตั้งไว้ 30 คนแต่เข้ามา 40 กว่าครับ โดยสรุปคือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ มี 2 ข้อ ได้แก่ 1)มีผู้เข้าร่วมอบรมอย่างน้อย 80% ของเป้าหมาย 2) ความพึงพอใจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 3.5 จากคะแนน 5 ระดับ ซึ่งโครงการบรรลุตามตัวบ่งชี้ของโครงการเพียง 1 ตัวบ่งชี้
     ประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรม พบว่า ห้องอบรมมีความพึงพอใจในระดับปานกลาง (X=2.64, S.D=0.93) วิทยากร มีความพึงพอใจในระดับมาก (X= 3.2, S.D= 0.63) หัวข้อที่บรรยาย มีความพึงพอใจในระดับมาก (X= 3, S.D= 0.69) ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม มีความพึงพอใจในระดับมาก(X= 3.08, S.D= 0.79) สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ มีความพึงพอใจในระดับมาก (X= 3.2, S.D= 0.8) ภาพรวมของโครงการ มีความพึงพอใจในระดับมาก (X= 3.04, S.D= 0.66)
     ส่วนประเมินความเข้าใจ พบว่า ความเข้าใจหลังวิพากษ์สูงกว่าก่อนเข้าโครงการมีร้อยละ 64 มีความเข้าใจเท่าเดิมร้อยละ 32 และมีความเข้าใจลดลงร้อยละ 4

เข้าอบรมหลักสูตรที่ 5 dialogue และคิดอย่างวิจัย

24 ต.ค.52 ไปเข้าอบรมกับศูนย์ประสานงาน สกว.ลำปาง เช้า – เย็น จัดโดยนางสาวภัทรา มาน้อย มี กร กับ มะปราง ในฐานะนักศึกษาที่รับทุน CBPUS ไปร่วมด้วย ที่ห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครลำปาง ครั้งนี้นั่งพื้นกัน และมีเพื่อนนักวิจัยชุมชนเข้าร่วมกว่า 40 คน ก่อนปิดเวทีให้เขียนข้อเสนอแนะต่อเพื่อนในวง แล้วนำกลับไปอ่านที่บ้าน ในแบบสุนทรียเสวนาด้วยกัลยาณมิตร
     กิจกรรมที่จำได้มี 3 อย่าง คือ 1)นั่งสมาธิแล้ว ให้วาดภาพในวัยเด็ก เรื่องนี้ผมทำไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปวาดภาพดอกบัว หลังวาดเสร็จให้นำเสนอรายคน เป็นเหตุให้ในเวทีมีคนร้องไห้ 2 คน ถ้าผมวาดภาพความหลังคงร้องไห้เป็นแน่ พักนี้จิตอ่อนไหวง่ายมาก เพราะทนไม่ได้ต่อการเห็นการเปลี่ยนแปลงโลก ที่มนุษย์เป็นต้นเหตุ แต่แก้ไขอะไรไม่ได้เลย 2)มีกิจกรรมให้เลือกระหว่าง นกอินทรีย์ หมี วัวกระทิง และหนู ก็เลือกกันไปแล้ว แบ่งกลุ่มและให้เหตุผลทีละคน สุดท้ายเฉลยว่าคนเลือกแบบใดมักมีลักษณะอย่างไร สำหรับผมก็ต้องบอกว่าตรงกับตัวผม 3)มีคำถามน่าสนใจ ว่า “ชาย 2 คนลงซ่อมปล่องไฟ แล้วขึ้นมา คนหนึ่งสะอาด อีกคนสกปรก ใครจะไปอาบน้ำก่อนกันคำตอบที่ถูกก็มีอยู่นะครับ แต่เจอคำใบ้ไปว่ามองเพื่อนแล้วไปอาบน้ำ ทำให้เขวกันไปหมดเลย .. นี่คือกรณีหนึ่งที่ใช้นำเสนอเรื่องคิดอย่างวิจัย

กำหนดโครงเรื่อง VDO กันใหม่

home01

23 ต.ค.52 กรกับมะปราง พบอ.ที่ปรึกษา ช่วงบ่ายวันหยุดรวม 4 ชั่วโมง มีกิจกรรมดังนี้ 1)ศึกษา vdo ในพื้นที่วิจัยและภาพที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการทำงาน 2)ศึกษา vdo ในพื้นที่อื่น เป็นการทบทวนวรรณกรรมทั้งกระบวนการ และเทคนิก 3)พิจารณา script ที่แต่ละคนเตรียมมา แต่พบว่าขาดโครงเรื่องที่ชัดเจน 4)ยกร่างโครงเรื่อง และมอบหมายงานไปเขียน script กันต่อ นัดหมายต่อไป เป็นเย็น 29 ต.ค.52
     ทุนที่นักศึกษามีก่อนเขียน script ตามโครงเรื่อง 2 เรื่อง 1) ประเด็นปัญหา การแก้ไข และผลที่ได้ 2)กระบวนการวิจัย ต่อไป คือ 1)เข้าใจในชุมชนผ่านการสัมภาษณ์และเข้าไปใช้ชีวิต 2)เข้าใจกระบวนการจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนและเข้าเวทีวิจัย 3)มีประสบการณ์จากการอ่านรายงาน ศึกษาจากภาพถ่าย และวีดีโอทั้งในและนอกโครงการ 4)ลองผิดลองถูก ฝึกฝนในการยกร่าง script และตัดต่อวีดีโอมาแล้วระดับหนึ่ง 5)บันทึกกิจกรรม เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในรายงานเสนอ CBPUS เมื่อต้องปิดโครงการ
+ http://www.thaiall.com/research/vdo_structure.doc
+ http://www.webprodee.com ของ นายกร

น.ศ.CBPUS เข้าเรียนรู้ชุมชนครั้งที่ 3 และเวที สกว.

ห้องบัวตอง ราชภัฎลำปาง
ห้องบัวตอง ราชภัฎลำปาง

15 ต.ค.52 กร กับ มะปราง ร่วมเวทีสรุปบทเรียนปี 2552 สกว.ลำปาง ร่วมกับ อ.วิเชพ อ.กฤตภาศ อ.อ้อม อ.เอ อ.เก๋ และอ.แต วันที่ 15 ต.ค.52 ณ ห้องบัวตอง ราชภัฎลำปาง จัดโดย นางสาวภัทรา มาน้อย โดยมี ผศ.เล็ก แสงมีอานุภาพ ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน “ฮู้แฮง แป๋งฮ่อม ต้อมกำกึ๊ด” เพื่อเปิดเวทีแบ่งปันประสบการณ์ที่นักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ มานำเสนอในประเด็นที่สัมพันธ์กับการศึกษา และมีนักวิชาการมาให้คำแนะนำ เป็นแนวทางพัฒนาต่อไป จนเลยเวลาไปนิดหน่อย
     ก่อนเข้าเวทีนี้ นักศึกษาทั้ง 2 คนข้างต้น และนายสุทัศน์ ได้ลงพื้นที่ครั้งที่ 3 วันที่ 11-12 ต.ค.52 เพื่อเก็บข้อมูลวีดีโอเพิ่ม นำเสนอวีดีโอต้นแบบ และโฮมเพจของโครงการ ต่ออ.บุรินทร์ ซึ่งมีกิจกรรม และประเด็นในการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาที่สำคัญ คือ 1)การทบทวนโครงเรื่องของ VDO 2 เรื่อง 2)การยกร่าง Script สำหรับจัดทำวีดีโอรวม 3 ชั่วโมง 3)ตกเย็นวิพากษ์วีดีโอ และ 4)โฮมเพจต้นแบบ 5)วันที่สองเข้าสัมภาษณ์นักวิจัยในพื้นที่อีกครั้งก่อนกลับลำปาง

วิพากษ์ระบบฐานข้อมูลครั้งแรก

20 ต.ค.52 ในรอบ 21 ปี วันนี้เป็นวันแรกที่นำระบบฐานข้อมูล 21 ระบบ มาเปิดเผยในห้องประชุมของมหาวิทยาลัยที่มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 45 ท่าน คุณอนุชิต ยอดใจยา ช่วยบันทึกเสียงลง MP3 เพื่อให้ผมเปิดฟังที่บ้านและจัดทำรายงานได้ ขั้นตอนเปลี่ยนจาก 1)หน่วยงานนำเสนอ 2)คณะแยกกลุ่ม 3)คณะให้ข้อเสนอแนะ 4)หน่วยงานสรุป เป็น 1)หน่วยงานนำเสนอ 2)คณะให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งจบไปทีละระบบ ทำให้เวลา 3 ชั่วโมง สามารถเปิดเวทีแลกเปลี่ยนทั้ง 21 ระบบในเวลาที่กำหนด
     คะแนนประเมินความพึงพอใจจากการประชุมน่าจะต่ำมาก ไม่น่าเกิน 4 จากคะแนน 5 ระดับ ถ้าวัดเฉพาะความพึงพอใจต่อโครงการเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จ โครงการนี้คงสอบตกเป็นแน่ เพราะ 1)หน่วยงานก็ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นงานหนักอึ้ง 2)คณะก็มารับทราบว่ามีระบบมากมายที่ตนต้องใช้งาน 3)ทีมพัฒนาซึ่งมีโปรแกรมเมอร์ของสำนักไอที 1 คน โปรแกรมเมอร์ของสำนักทะเบียน 1 คน และโปรแกรมเมอร์อาสาสมัคร 3 คน ก็มีงานต้องพัฒนาและเชื่อมระบบทั้งหมดเป็นเครือข่ายเดียวกัน มีประเด็นมากมายยังไม่ clear เช่น 1)การจัดการความรู้มี series อย่างไร คณะได้รับโจทย์ว่าต้องกำหนดหัวข้อการจัดการความรู้ 2)ต้องกลับไปเขียนนโยบายด้านต่าง ๆ .. ถ้ามีใครประเมินว่าพอใจการประชุมครั้งนี้ก็คงบอกว่าแปลกหละครับ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกินคาดเลยแม้แต่น้อย .. ในโลกแห่งความเป็นจริง
     หรือคิดแบบไม่เข้าข้างตนเอง คือผมพูดไม่รู้เรื่อง ดูแลให้ทุกคนพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ทำให้ทุกคนไม่พอใจในโครงการนี้ .. ก็เป็นไปได้ .. แต่ถ้าจะทำให้คนในมหาวิทยาลัยเข้าใจกัน เข้าใจระบบของกันและกัน ที่สำคัญเข้าใจงานของหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ ตามแผนที่ อ.อติชาต วางไว้ก่อนเดินทางไกล ผมก็ยินดีกับผลการประเมินความพึงพอใจข้างต้น

พัฒนาศักยภาพว่าที่บัณฑิตด้านไอที

21 ต.ค.52 คืนนี้ผมทำงานได้งานเดียว เพราะเจ็บคอ คือเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพว่าที่บัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนเขียนรายงานผลโครงการอีเลินนิ่งกับโครงการวิพากษ์DB คงต้องเลื่อนไปก่อน สำหรับโครงการที่พึ่งเขียนเสร็จปรึกษาเพียง คุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ และคุณอนุชิต ยอดใจ ว่าโครงการน่าจะมีหัวข้ออะไรบ้าง ก็ได้มา 9 หัวข้อ คือ 1)การติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดว์ 2)การปรับแต่งค่าเริ่มต้นให้กับระบบปฏิบัติการวินโดว์ 3)การติดตั้งโปรแกรมประยุกต์ 4)ระบบความปลอดภัยและการจัดการไวรัสเบื้องต้น 5)การเขียนแผนภาพขั้นตอนการทำงานด้วย Visio 6)การประมวลผลด้วย MS Excel 2 ครั้ง 7)การจัดการข้อมูลด้วย MS Access 2 ครั้ง 8)การจัดการภาพกราฟฟิก 3 ครั้ง 9)การเขียนเว็บเพจเบื้องต้น 3 ครั้ง
     มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ซึ่งเป็นโครงการอบรมให้นักศึกษาฟรี แต่เขาต้องจ่ายเงินมัดจำป้องกันนักศึกษาโดดเรียน โดยสอนระหว่าง 18.00น. – 20.00น. มีวิทยากร 2 คนต่อครั้ง ชั่วโมงละ 150 บาทต่อคน สอน 15 วัน ช่วงพฤศจิกายน 52 ถึง มกราคม 53 โดยมีงบรวม 10,000 บาท เตรียมวิทยากรไว้ 5 คนตามความถนัดในแต่ละเรื่อง พรุ่งนี้ผมต้องลุ่นว่าโครงการนี้จะผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็น่าเสียดายครับ