22 ก.ค. 52 กรณีที่ 1 เครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Acer ในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 ผมต้องการทำให้เครื่องบูทจาก Live USB จึงกดปุ่ม del ขณะเปิดเครื่องก็จะมี Phonix – AwardBIOS CMOS Setup Utility เป็นเมนูมาให้เลือก ได้ดำเนินการดังนี้ 1) Advanced BIOS Features 2) First Boot Device = USB-ZIP และ Second Boot Device = CDROM และ Third Boot Device = Hard Disk 3) กดปุ่ม F10 เพื่อ Save แล้ว Restart
หลังเปิดเครื่องอีกครั้ง ผมใส่ Handy Drive เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น Fedora Live USB หรือ Windows Live USB ก็ทำงานได้ตามปกติ สำหรับ Fedora สามารถเชื่อมต่อ Network ได้ทันที ไม่พบปัญหาเรื่อง Driver หรือการขอ IP จาก DHCP และยังสามารถปรับปรุงแก้ไขระบบใน Handy Drive ได้เหมือนกับใช้ใน Hard Disk แต่ Windows Live USB ไม่สามารถเชื่อมต่อ Network ได้ คงเป็นเพราะ Driver ที่ไม่ตรงกันกับโปรแกรมที่อยู่ใน USB เพราะขนาดของโปรแกรมทั้งหมดเพียง 60 MB และยังติดตั้งมาแบบ ISO ที่ไม่ถูกแตกแฟ้มอีกด้วย จะแก้ไขอะไรก็คงไม่ง่ายนัก
กรณีที่ 2 เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ASUS T3400 กดปุ่ม f2 ขณะเปิดเครื่อง เข้า Boot, Boot Device priority กำหนด CD/DVD, Removable Device, Network, Hard Drive ตามลำดับ เมื่อออกมาก็เข้า Hard Disk Drives ถ้ามี Handy Drive คาอยู่จะเห็น USB เป็นรายการที่ 2 ให้กดปุ่ม + เพื่อเลื่อนให้ USB มาก่อน Hard Disk แล้วกดปุ่ม F10 เพื่อ Save and Exit หลัง reboot ก็จะเข้า Fedora ใน USB Drive ซึ่งทำงานได้เร็วกว่า CD-ROM อย่างเห็นได้ชัด ในกรณี Boot เครื่องและใช้งานผ่าน CD-ROM
ในเครื่อง Notebook T3400 มีปัญหาเรื่องเปลี่ยนยี่ห้อของการบูทด้วย usb ในกรณีใช้ usb ยี่ห้อเดิมจากการ save bios ครั้งก่อนไม่พบปัญหา แต่ถ้าเปลี่ยน usb ก็จะไม่ยอมบูท ต้องเข้า f2 + Hard Disk Drives แล้วเลื่อนให้ Usb ขึ้นมาก่อน Hard Disk จึงจะบูทได้
กรณีที่ 3 (26 ก.ค.52) เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีที่บ้านใช้ AMD เมื่อกดปุ่ม F12 ขณะเปิดเครื่องก็เข้าส่วนเลือกสื่อสำหรับ Boot ให้เลือก USB-ZIP ก็จะเข้าระบบ Fedora ที่อยู่ใน USB ได้ตามปกติ แต่จากการทดสอบพบว่า USB ยี่ห้อ Kingmax รุ่นขาวเงิน ไม่บูทในเครื่อง PC ของผม แต่ใช้ USB บูทเครื่อง Notebook ได้ทั้ง 2 Kingmax 260 บาท และ Kingston 240 บาท กำลังตรวจว่าเกิดจากข้อผิดพลาดของการเขียน USB หรือ USB รุ่นนี้ใหม่เกินไป เพราะซื้อรุ่นละ 3 ตัวรวมของเก่าอีก 2 เป็น 8 ตัว อีก 2 ตัวคือ Apacer กับ Mp3 Cube ซึ่ง Apacer ใช้งานได้ปกติในทุกเครื่องที่ทดสอบ แต่กับเครื่อง PC AMD พบ Mp3 Cube บูทแล้วพบว่า Could Not find kernel image ซึ่งอย่างน้อยก็มีอะไรขึ้นมาให้เห็น ไม่เหมือน Kingmax ที่ไม่แสดงอะไรเลยในขณะ boot ซึ่งแสดงว่า incompatible
กรณีที่ 4 เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีพบปัญหากับ Mp3 Cube แต่ T3400 Notebook สามารถเข้า Fedora Live USB ใน Mp3 Cube ได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องแก้ไขด้วย F2 ใน notebook เพื่อเปลี่ยนลำดับการบูท เข้าใจว่า Notebook มอง Mp3 Cube เป็น USB-ZIP อย่างถูกต้อง แต่ USB รุ่นใหม่ถูกมองเป็น Hard Disk จึงต้องเข้าไปเปลี่ยนลำดับการ Boot ของ Hard Disk ให้เป็น USB ทุกครั้ง เมื่อใช้ USB รุ่นใหม่ใน Notebook
Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์
เน็ตเวิร์คล่ม เครื่องบริการล้ม รู้ได้ด้วย NetHAM
21 ก.ค.52 วันนี้ได้รับเอกสารชวนไปอบรมการใช้โปรแกรมตรวจสอบสถานะของเครือข่ายและบริการ NetHam (Network Health Analysis and Monitoring) มีอบรมวันที่ 19-20 ส.ค.52 ที่เชียงใหม่ คนละ 1500 บาท จัดโดย สวทช.ภาคเหนือ ซึ่งระบบนี้ทำงานบน Fedora Core 7 or UP จึงเข้าไปค้นข้อมูลและพบรายละเอียดที่มาของโครงการดังนี้ “ในการบริหารจัดการเครือข่ายภายในองค์กร ปัญหาที่พบอยู่เสมอคือความผิดปกติภายในระบบที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ กว่าที่ผู้ดูแลระบบจะรับทราบถึงปัญหา เวลาก็อาจผ่านไปเนิ่นนานจนเกิดความเสียหาย อีกทั้งการระบุต้นเหตุของปัญหาก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะในเครือข่ายขนาดใหญ่ การนำระบบตรวจสอบการทำงานเครือข่ายอัติโนมัติมาใช้ จึงสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ดูแลระบบ ทำให้สามารถรับรู้ในทันทีที่เกิดปัญหา และสามารถทำการแก้ไขได้ อย่างทันท่วงที ส่งผลให้การทำงานของระบบเครือข่ายภายในองค์กรเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ”
ความสามารถของโปรแกรม อาทิ 1)ดูสถานะของระบบผ่าน web interface ได้จากทุกที่ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าเครื่อง 2)แสดงสถานะของระบบบนแผนภาพ topology ช่วยให้เข้าใจง่าย เห็นภาพรวมได้ชัด 3)มีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติของ service และแสดงผลเป็นกราฟ สามารถเรียกดูย้อนหลัง และซูมดูกราฟในช่วงเวลาที่ต้องการได้ 4)สามารถตั้งเวลาตรวจสอบสถานะของ service มาตรฐานที่สามารถเข้าถึงจากภายนอก เช่น HTTP, FTP, POP3, SMTP, SNMP ฯลฯ และสถานะภายในที่ไม่สามารถเข้าถึงจากภายนอก ต้องดึงข้อมูลผ่าน secure remote access 5)สามารถกำหนดรูปแบบของการตรวจวัดได้อย่างละเอียด รวมทั้งสามารถพัฒนา plugin และ module สำหรับรองรับ service ใหม่ในอนาคตได้ 6)แจ้งเตือนผู้ดูแลระบบผ่านทางอีเมล ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติในระบบ
+ ข้อมูลจาก http://wiki.nectec.or.th/ntl/Project/NetHam
บีบแบนด์วิดท์ จำกัดเว็บต้องห้ามด้วย Bacon
21 ก.ค.52 วันนี้ได้รับเอกสารชวนไปอบรม วิธีการควบคุมแบนด์วิดท์ด้วย Bacon (Bandwidth Controller) มีอบรมวันที่ 21 ส.ค.52 ที่เชียงใหม่ คนละ 1000 บาท จัดโดย สวทช.ภาคเหนือ ซึ่งระบบนี้ทำงานบน Fedora Core หรือ Linux SIS, Firewall iptable 1.3.8, Netfilter Layer 7 2.18, ChartDirector, MySQL, RRDTool, Webserver, PHP จึงเข้าไปค้นข้อมูลและพบรายละเอียดที่มาของโครงการดังนี้ “ปัจจุบันระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในแต่ละองค์กรมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ทั้งทางด้านติดต่อสื่อสารและการประยุกต์ใช้งานอื่น ทำให้มีความต้องการใช้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ละองค์กรจะมีแบนด์วิดท์ (Bandwidth) จำกัด และดูเหมือนว่าทรัพยากรเครือข่ายดังกล่าวจะไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรอย่างเต็มที่ เนื่องจากการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ในองค์กรส่วนใหญ่ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลจัดการเครือข่าย รวมถึงการแก้ปัญหาด้านเครือข่าย และยังไม่สามารถจัดสรรการใช้งานแบนด์วิดท์เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ความสามารถควบคุมปริมาณข้อมูลในแบนด์วิดท์แบบอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถใช้ควบคุมบริการในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ 1)ควบคุมปริมาณแบนด์วิดท์เข้าออกเครือข่าย 2)ควบคุมปริมาณแบนด์วิดท์จำแนกตามประเภทของโปรแกรมที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต 3)ควบคุมปริมาณแบนด์วิดท์จำแนกตามผู้ใช้ 4)กำหนดลำดับความสำคัญ (Priority) ให้กับข้อมูลภายในเครือข่าย 5)กำหนดช่วงเวลาและตั้งเวลาการควบคุมได้
+ ข้อมูลจาก http://wiki.nectec.or.th/ntl/Project/BaCon
เน็ตช้า จัดลำดับปริมาณการใช้แบนด์วิดท์ของผู้ใช้
21 ก.ค.52 วันนี้ได้รับเอกสารชวนไปอบรมวิธีการวิเคราะห์ปริมาณการใช้งานในเครือข่าย ด้วย NTop Viewer มีอบรมวันที่ 21 ส.ค.52 ที่เชียงใหม่ คนละ 1000 บาท จัดโดย สวทช.ภาคเหนือ ซึ่งระบบนี้ทำงานบน Fedora Core 7 or up, NTop รุ่นของ Nectec, JPGraph, RRDTool, Webserver, PHP จึงเข้าไปค้นข้อมูลและพบรายละเอียดที่มาของโครงการดังนี้ “เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน บริษัทขนาดใหญ่ วิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัย โรงเรียน และชุมชนต่างมีเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นของตนเอง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น เพราะการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) มีการแข่งขันสูง ทำให้ค่าบริการลดลง ความท้าทายที่ตามมาจากการจัดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ตามหน่วยงานและชุมชนทั่วไป คือทำอย่างไรจึงจะบริหารจัดการให้เครือข่ายที่มีอยู่ให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัญหาที่พบบ่อยคือหน่วยงานขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น โรงเรียนและชุมชน มักขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลจัดการเครือข่าย”
โครงการนี้มี วัตถุประสงค์ ที่จะวิจัยและพัฒนาต่อยอดซอฟท์แวร์ที่จะช่วยดูแลการใช้งานเครือข่ายให้มีความมั่นคงปลอดภัย จัดการให้มีการใช้งานทรัพยากรภายในเครือข่ายอย่างเต็มประสิทธิภาพ และแจ้งเตือนถึงสาเหตุเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นในเครือข่าย โดยหนึ่งในซอฟท์แวร์ที่ทางโครงการเลือกใช้คือ NTOP (Network Top) ซึ่งเป็น open-source software สำหรับตรวจสอบปริมาณการจราจรในเครือข่าย (network traffic) และจำแนกประเภทการใช้งานตามชนิดของโพรโตคอล ชนิดของแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่เข้าถึง
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการระบบบริหารจัดการเครือข่ายอัจฉริยะ โดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป้าหมาย คือ 1)ปรับปรุง NTOP ให้ใช้งานง่าย เหมาะกับบุคคลทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเครือข่าย 2)สนองต่อความต้องการเฉพาะของผู้ดูแลเครือข่ายโรงเรียน สถาบันการศึกษา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และอินเทอร์เน็ตชุมชน
+ ข้อมูลจาก http://wiki.nectec.or.th/ntl/Project/NtopViewer
ติดตั้ง plawan central log เพิ่มอีก 1 OS แทน boot แบบ Live CD
19 ก.ค.52 ติดตั้ง Plawan Central Log Beta2 ที่ download แฟ้ม .iso จาก plawan.com เมื่อ 17 กค.52 แล้วเขียนลง CD โดยมีขั้นตอนหลัง Boot ด้วย CD ของ Plawan เพื่อติดตั้งใน Asus T3400 ดังนี้ 1)Boot ด้วย CD-ROM ใช้เวลากว่า 10 นาทีกว่าจะ boot เสร็จ 2)Prepare disk space ผมเลือก Manual เพราะไม่แน่ใจว่าระบบอัตโนมัติแบ่งนั้นจะกระทบอะไร และผมก็ไม่ได้ใช้ HD ทั้งหมดสำหรับ Linux ตัวนี้ 3)เลือก Free space ใน Device สุดท้ายที่เคยใช้ Partition magic แบ่งไว้ ซึ่งมีทั้งหมด 44 GB แต่มีแผนใช้กับ Plawan เพียง 22 GB 4)แบ่ง Partition เป็น ext3 สำหรับ / หรือ root เพียง 20 GB 5)แบ่ง Partiton เป็น swap area เพียง 2 GB 6)เลือก Migrate Documents and Settings แล้ว checkbox เฉพาะของ sda1 หรือ Windows ตัวหลัก เพื่อนำมาใช้ใน plawan แต่ลูกของ sda1 ผมไม่ได้เลือกเลย ได้แก่ Internet explorer, Wallpaper, User Picture, My Documents, My Music และ My Pictures 7)จากนั้นก็ดำเนินการติดตั้ง ซึ่งทำให้เกิด Partition ทั้ง 2 ข้างต้น และมีการแก้ไข boot ใน sda ซึ่งใช้เวลาติดตั้งโปรแกรม และ download รวมชั่วโมงกว่า 8 ) เมื่อติดตั้งแล้ว ก็สั่ง restart จะพบว่า boot ด้วย grub ก่อน loader ของ windows
23 ก.ค.52 บันทึกผลการทดสอบใช้งาน plawan central log 2 เรื่อง คือ 1)การเข้า root ของ plawan จะเข้าผ่าน login ด้วย user root ไม่ได้ ต้องใช้ user ปกติเข้าไปก่อน เมื่อพบ Desktop ก็ให้ Right Click, Applications, Shells, sudo -i ถ้าใส่รหัสผ่านถูกก็จะพบเครื่องหมาย # เมื่อใช้ pwd ก็จะพบว่าอยู่ใน ห้อง /root (แหล่งอ้างอิง linuxthai.org) 2) ในระบบ Multi OS ผมต้องการ boot Windows ซึ่งอยู่ลำดับที่ 3 แต่ค่า default มี Plawan อยู่ลำดับที่ 0 ต้องเข้าไปใน /boot/grub แล้วเปิดแฟ้ม menu.lst ด้วย vi แล้วแก้ default 0 เป็น default 3 ก็จะเข้า Windows อัตโนมัติในกรณีไม่เลือก OS ตัวใด้
กำหนดลำดับการ boot ของ notebook
18 ก.ค.52 Notebook สามารถกำหนด Boot Device Priority ตามลำดับจาก Hard Drive, Cd/DVD, Removable Device และ Network การเปลี่ยนลำดับย่อมมีเหตุผล สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้อยู่จะกำหนดใหม่เป็น Cd/DVD, Removable Device, Network และ Hard Drive เพราะต้องการให้เครื่องสามารถ boot ด้วย CD-ROM หรือ Handydrive ก่อนเข้า Harddisk และเมื่อเข้า Bios ได้ก็ควรกำหนดรหัสผ่านสำหรับเข้าไปแก้ไขให้เรียบร้อย เพราะปกติจะไม่มีรหัสป้องกันเมื่อได้เครื่องใหม่มา สำหรับเครื่อง Acer PC พบว่า Removeable Device จะใช้คำว่า USB-ZIP แทนครับ
เตรียมเครื่องไว้รวมพลคนใช้ notebook สู่ภัยไวรัส
13 ก.ค.52 วันนี้ได้เครื่องคอมพิวเตอร์ ASUS คุณสมบัติ คือ Pentium T3400 2.16 GHz, Ram DDRII SO-DIMM 2 GB ของ KingMax, HD 250 GB ในกล่องเครื่องคอมพิวเตอร์มี Driver CD-ROM แถมมา 3 แผ่น แผ่นแรก คือ F80Q : N3033 สำหรับระบบปฏิบัติการ XP แผ่นที่สอง คือ F80Q : N2790 สำหรับระบบปฏิบัติการ Vista แผ่นที่สาม คือ โปรแกรมแถมมาที่ไม่น่าสนใจพอที่จะให้ผมทดลองติดตั้งใช้งาน เครื่องที่ได้มาติดตั้งระบบปฏิบัติการไปเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนด Drive C ให้มีโปรแกรมเพียง Drive เดียว ส่วน Drive D เป็น CD-ROM และ Drive E กับ Drive F เป็นห้องเปล่า ซึ่งมีการแบ่ง Drive ไว้ 3 Drive ขนาด 77 GB เท่ากันหมด
วันนี้จึงทดสอบติดตั้งระบบปฏิบัติการเพิ่มอีก 3 รุ่นลงไปในเครื่องเพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้ โดยเลือกให้ Drive C มี 1 ระบบ Drive E มี 2 ระบบ และ Drive F เป็น Server อีก 1 ระบบ ก็ได้คำแนะนำจากคุณอนุชิต ยอดใจยา เรื่องระบบปฏิบัติการแต่ละรุ่น และการ setup wifi ของ ASUS ที่มีความซับซ้อนอยู่บ้าง ส่วน driver ผมติดตั้งแบบจากแผ่นทุกตัวบนทุกระบบปฏิบัติการ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อระบบ ตอนติดตั้ง driver เครื่องจะสั่ง restart ตัวเอง ผมก็ไปหยุดการ restart ด้วยคำสั่ง shutdown -a พอตั้งสติได้ว่า นั่นคือการสั่ง reboot เพื่อ clear config ก็สั่ง restart ให้เขาอีกครั้ง
อุปสรรคที่ทำให้คนใจร้อนอย่างผมไม่สบายใจนัก คือ แผ่นซีดีที่เตรียมไว้ มีปัญหากันทุกแผ่น ต้องคอยสั่ง skip file ที่เสีย และหวังว่าจะไม่กระทบต่อการทำงานของระบบปฏิบัติการหลัก ตัวอย่างเช่น ระบบ Server ที่ผมพยายามติดตั้งไปถึง 3 รอบ เพราะแฟ้มเสียในขณะคัดลอกแฟ้ม ก็สงสัยว่าเกิดอะไรกันแน่ พอสั่ง skip file จนดำเนินการไปถึงการติดตั้งเสร็จ ก็ไม่มีอาการอะไรน่าเป็นห่วง คงต้องไปลุ่นตอนใช้งานแต่ละฟังก์ชันของระบบ ส่วนระบบสุดท้ายติดตั้งเพิ่มเข้าไปกับระบบที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ มีอาการค่อนข้างหนัก เพราะติดตั้งภาษาไทยไม่สำเร็จ มีข้อความแจ้งว่าแฟ้มเสียติดตั้งไม่ได้ ก็ต้องทำใจและติดตั้งเข้าไปแบบไม่ใช้ภาษาไทย คงสรุปว่าแผ่นซีดีสมัยนี้อายุสั้นกันเหลือเกิน แผ่นที่ดีที่สุดของวันนี้เห็นจะมีแต่ driver ที่แกะออกมาจากกล่องเท่านั้นที่ไม่เกเร
นี่ก็ดึกมากแล้วพอเที่ยงคืนแล้วตาฟาง (ดังคำว่าสัตว์โลกย่อเป็นไปตามกรรม) จึงมีแผนว่าวันต่อ ๆ ไปว่าจะลง deepfreeze ใน drive c จะได้ไม่มีไวรัสมากวน และติดตั้ง linux อีก 2 ระบบคือ fedora กับ plawan แต่ต้องหาโปรแกรม partition magic มาแยก partition สำหรับติดตั้งโปรแกรมเพิ่ม ทีแรกว่าจะทำให้เสร็จวันนี้ แต่หาโปรแกรมไม่พบซะแล้ว ถ้าเรียบร้อยก็จะเตรียมระดมพลคนใช้โน๊ตบุ๊ค และแนะนำการติดตั้งหลายระบบปฏิบัติการ พร้อมการติดตั้งโปรแกรมฆ่าไวรัสแบบแยกระบบปฏิบัติการ และการลง deepfreeze แช่แข็งระบบปฏิบัติการหลัก จะได้ไม่มีปัญหามากวนใจเครื่องของผู้ใช้โน๊ตบุ๊คอีก ส่วน linux ก็ติดตั้งเพื่อช่วยงาน และเรียนรู้ร่วมกับ คุณอนุชิต ยอดใจยา นั่นหละครับ เห็นเขาดูแลเครื่องบริการเพียงลำพังแล้วก็อยากเรียนรู้ด้วยตามประสาคนคุ้นเคย
เข้าวัดถือศีล สวดมนต์ นั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
7-8 ก.ค.52 อาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง นุ่งขาวห่มขาว รักษาศีล สวดมนต์ นั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เดินจงกลม รับประทานอาหารเจ ฟังเทศ สนทนาธรรมกับพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ ร่วมกับคนในหมู่บ้านไหล่หิน ณ วัดชัยมงคลธรรมวราราม ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ตามโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในสัปดาห์วันอาสาฬหบูชา ในโอกาสนี้ได้ร่วมทำบุญบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ชมนิทรรศการแสดงพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุในวิหารหลวง พบว่าขณะปฏิบัติธรรมจิตสงบขึ้น เห็นหนทางสู่การพ้นทุกข์ ตามหลักอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
+ http://www.thaiall.com/dhamma/
นำเสนองานวิจัยในเวทีของ กศน.
ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโยนก นำเสนอโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ในงานการประชุมสัมนางานวิจัย “โครงการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปีงบประมาณ 2552” ณ โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ยิ่ง กีรติบูรณะ และ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ เป็นผู้วิพากษ์การนำเสนอโครงการวิจัย ระหว่าง 29-30 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา
ภาพ ผอ.อวิรุทธิ์ ภักดีสุวรรณ (มุมล่างซ้าย) จากจังหวัดมหาสารคาม ท่านเป็นผู้นำเสนอโครงการ “รูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข บ้านเหล่าน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม” ท่านกรุณาสลับกับผมถ่ายภาพในฐานะผู้นำเสนอ และผมได้รับความอนุเคราะห์แฟ้มรายงานโครงการจากท่าน มาเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการวางแผน และดำเนินการจัดทำโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขในลำปาง ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้คัดลอกให้กับผู้เกี่ยวข้องไป 4 ท่านแล้ว คือ อ.ชิน อ.วันชาติ อ.ศรีศุกร์ และอ.ออย เท่าที่ได้ฟังการนำเสนอก็พบว่า กศน.มีจุดแข็งในการทำหัวข้อนี้ชัดเจนจากการเข้าไปคลุกคลี และได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ไข้หวัดใหญ่ 2009 (H1N1) ที่ลำปาง จว.ที่ 45
3 ก.ค.52 วันนี้วันศุกร์พอดี จากนี้ก็หยุดยาวเข้าพรรษาถึงวันพุธ หน้าเหตุเกิดเพราะนายอั๋น เป็นผู้ป่วยรายแรกของลำปางที่ยืนยันว่า ติดเชื้อไข้หวัด 2009 จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยืนยันผู้ติดเชื้อแล้ว 1710 ราย อยู่ระหว่างการตรวจในห้องปฏิบัติการ อีก 2371 ราย เฉพาะวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 154 ราย เป็นนักเรียน 125 ราย หากดูที่จังหวัดจะพบว่ายืนยันแล้วพบใน กทม.มี 1031 จาก 1710 ราย หากแยกเป็นจังหวัดอันดับ 2 คือ นนทบุรี 219 ราย อันดับ 3 คือ ปทุมธานี 111 ราย ใกล้ลำปางก็จะมี เชียงใหม่ 9 ราย ลำพูน 2 ราย ส่วนลำปางอย่างน้อยก็ 1 ราย เพราะน.ศ.ในลำปาง 5 คน คือ มล ดี ดุล พร และนิเทศหนึ่ง กับอ.ท อยู่ในข่ายเฝ้าระวังส่งเลือดและเอ็กซเรย์ส่งไปเชียงใหม่ ที่สงสัยกันคือวันเสาร์ไปแข่ง Go ที่เชียงใหม่ ตัวอั๋นมีเวลาใกล้ชิดกับเพื่อนในห้อง ที่ร่วมแข่ง และอาจารย์ผู้สอน พอวันอังคารอั๋นก็เข้า โรงพยาบาล ทราบผลยืนยันเย็นวันพฤหัสบดี แต่ตัวอั๋นอาการดีขึ้นมาก อาจได้กลับบ้านก็วันนี้ รออนุมัติจากแพทย์ พี่ชายคือ อ.ด ที่ใกล้ชิด หรือพี่แรมที่พาส่งโรงพยาบาล ก็ไม่มีอาการอะไรเลย น่าจะเป็นเหมือนในข่าวที่บอกว่าเชื่อนี้อาจไม่ทำอันตรายกับบางคนที่มีภูมิ หรือมีอาการน้อยมากจนไม่มากพอที่จะเข้าโรงพยาบาลก็เป็นได้
น่าตกใจที่โรคนี้แพร่เร็วมาก หลายประเทศยกระดับเป็น 6 แล้ว เช่น ฝรั่งเศส ลำปางคงเป็นจังหวัดที่ 45 ที่มีรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อ สาธารณะสุขยกทีมมาให้คำแนะนำถึงสถาบัน และตรวจคัดกรองในเบื้องต้น แต่ก็ไม่พบอะไรมากนัก ยกเว้นกลุ่มเพื่อนที่ไปแข่งโกะที่เชียงใหม่ 3 คน ซึ่งพากันเข้าร่วมงานแห่เทียนพรรษาเช้านี้ ซึ่งผมขอให้ คุณแบงค์ พาไปส่งโรงพยาบาลจากอาการไข้ และไอ ที่ออกมาชัดเจนตั้งแต่ ตอนเช้าแล้ว จากสถิติของสาธารณสุข พบว่าทั้งโลกมีผู้ป่วยที่ยืนยันใน 120 ประเทศรวม 77201 คน เสียชีวิต 332 คน คิดเป็นโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.43 ทั้งโลกมีอเมริกาเป็นอันดับ 1 คือ 27717 คน เสียชีวิต 127 คน อันดับ 2 คือ แคนนาดา 7983 คนเสียชีวิต 25 อันดับ 3 คือเม็กซิโก 8680 คน เสียชีวิต 116 คน อันดับ 4 คือ อังกฤษ 6538 เสียชีวิต 3 เรื่องนี้คงไม่จบเพียงเท่านี้ ในฤดูที่ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกกำลังระบาด เราเรายังคงต้องติดตาม ระวังตนเอง ล้างมือ ไม่ใกล้ชิดผู้ต้องสงสัย ศึกษาข้อมูล และเตรียมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
http://beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=2110271&Itemid=242