ภาพที่ชวนให้จินตนาการจากการอบรม

 

งูกำลังรับประทานอีกัวน่า
งูกำลังรับประทานอีกัวน่า

คุณกฤษดา เขียวสนุกนำเสนอภาพชวนให้จินตนาการในการอบรม “การวาดเพื่อการสื่อสาร” เช่น ภาพโฆษณายาสีฟัน ภาพโฆษณาปูนแข็ง เครื่องคอมพิวเตอร์อย่างแรง แต่ผมเข้าเว็บไซต์ดังกล่าวโดยตรงไม่ได้ ต้องเข้าผ่านเว็บไซต์ zend2.com ผมทดสอบใน /picture ก็ใช้งานได้ มีภาพดี ๆ ในเว็บไซต์นี้มากมาย ก็ตั้งใจไปหาภาพมาใช้ประกอบการสอน เรื่องจินตนาการเหมือนกับเป้าหมายของวิทยากร ส่วนภาพประกอบ ได้มาจาก sanook.com คือภาพงูกับอีกัวน่า ธรรมชาติของผู้ล่ากับผู้ถูกล่า

รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 1/2552

เสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2552 1)การอบรม : กลางวันผมเป็นตัวแทนของโครงการวิจัยฯ ที่มหาวิทยาลัยรับทุนในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น ไปอบรม “การวาดเพื่อการสื่อสาร” ที่จัดโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีรายละเอียดใน blog ของมหาวิทยาลัย 2)ร่วมงาน cocktail กลางคืนร่วมงานมุทิตาจิตของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม ร่วมกับ ร.คณบดี และอ.อติชาต หาญชาญชัย มีประเด็นที่ผมจับได้เกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน จึงเขียนเป็นบทความที่ 194 ลง นสพ.ฅนเมืองเหนือ และนำเสนอในเว็บไซต์ของคณะ 3)ได้แนวคิดเขียนบทความ จากงานมุทิตาจิต ผมจับประเด็นเรื่องการจัดการความรู้ การบริหารความเสี่ยง และระบบ knowledge-based system ได้ แต่ยังไม่ได้ยกร่างบทความ สิ่งที่เห็นคือความเสียดายในองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยสกัด หรือสั่งสมจากท่านออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อใช้ในการเรียนรู้ และต่อยอดไปสู่การพัฒนาคน ยังไม่มากพอที่ผมจะสังเกตุเห็น โดยเฉพาะระบบ knowledge-based system ที่จะเป็นการบริหารจัดการองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจก็ยังไม่ชัด .. ก็มีแผนจะนำเสนอในกลุ่มประเด็นนี้ครับ

อบรมการวาดรูปเพื่อการสื่อสาร

พีพี่ให้กำลังใจ
พีพี่ให้กำลังใจ

30 พ.ค.52 ศูนย์ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ โดยคุณภัทรา มาน้อย (จิ๋ม) คุณรัตติกร บุญมี (จิ๊บ) และคุณอัญมณี แสงแก้ว (โบว์) ได้เชิญคุณกฤษดา เขียวสนุก (พี่บอย) มาเป็นวิทยากรที่ห้องประชุมของห้องสมุดเทศบาลนครลำปาง ในโครงการอบรมครั้งที่ 3 หัวข้อ การวาดเพื่อการสื่อสาร จากแผนงาน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 2) การเป็นวิทยากรกระบวนการ 3) การวาดเพื่อการสื่อสาร 4) การเขียน Social Mapping 5) การคิดแบบวิจัย มีตอนหนึ่งใน powerpoint เรื่อง วิธีเติมสารอาหารให้จินตนาการ มี 5 หัวข้อคือ 1) มองสภาพแวดล้อม 2) ขยับร่างกาย 3) ดูผลงานในปัจจุบัน 4) กล้าคิดแตกต่างอย่างท้าทาย 5) ช่างสังเกต

          การอบรมครั้งนี้เน้นการวาดเพื่อการสื่อสาร มิใช่วาดเพื่อความสวยงามหลาย ๆ คนวาดได้สวยงามมาก แต่เป้าหมายของการวาดในงานวิจัย คือการนำเสนอให้ชุมชนได้เข้าใจในสิ่งที่นักวิจัยต้องการสื่อ แล้วจิ๋มก็ได้อธิบายว่า การวาดมี 2 แบบ หากแบ่งตามแผนการวาด คือ 1)แบบไม่มีแผน เพราะฟังคนในเวทีพูดแล้ววาดทันที 2) แบบมีแผน เพราะวางแผนไว้ในหัวแล้ววางโครงแบบเพื่อสื่อให้เห็นอย่างเป็นระบบ ช่วงเช้าวิทยากรจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม บรรยายทฤษฎีการวาดรู้ และการใช้จินตนาการ นำเสนอภาพจาก http://www.funpic.hu พอ 11.30 น. ก็สอนวาดภาพแสดงความรู้สึกของคน โดยใช้วงกลมกับเส้น 3 เส้นเป็นหลัก ช่วงบ่ายก็สอนวาดมุมของหน้า ตัวคน สถานที่ และการใช้ลูกศร บ่ายแก่หน่อยก็แบ่งกลุ่มให้วาดตามโครงการของตนเอง ทีมของผมมีลูกสาว 3 คน คือ รีม พีพี และมาหยา ช่วยลงสีในแผนภาพที่นำเสนอขั้นตอนในภาพรวมของโครงการวิจัยงานศพฯ

         การวาดภาพครั้งนี้ ก็ต้องเลือกว่านำเสนอในกรอบใด ใช้ไดอะแกรมแบบใด และมีขอบเขตเพียงใด เพราะกรอบที่จะเขียนมีตัวเลือกในหัวของผมประกอบด้วย 1) ขั้นตอนในภาพรวม 2) ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนและบทบาทของคน 3) ประเด็นและบทบาทของคน 4) กระบวนการและบทบาทของคน 5) การพัฒนาสื่อและบทบาทของคน 6) วิเคราะห์ตาม Social Map 7) วิเคราะห์ตาม Mind Map

ช่วยกันวาด
ช่วยกันวาด

          สรุปว่าภาพที่วาดออกมาแสดงถึงขั้นตอนในภาพรวม แบ่งตามช่วงเวลา ขอบเขตที่นำเสนอคือ บทบาทของกลุ่มคน สถานที่ในแบบตามลำดับ และสื่อที่ใช้ ส่วนลำดับในแผนภาพควบคุมการไหลแบบตามลำดับ (Sequence)  เพราะสื่อให้เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพมุมกว้างไม่ละเอียดนัก  แต่จำนวนประเด็นที่อยู่ในภาพมีมากเกินเวลาที่มีอยู่ การอธิบายให้เข้าใจสิ่งที่ต้องการนำเสนอจึงทำได้จำกัด เมื่อเทียบกับจำนวนกลุ่มที่ต้องออกมานำเสนอ ประกอบกับการอบรมครั้งนี้เป็นเพียงการฝึกวาดรูปเพื่อการสื่อสาร และวิทยากรก็บอกว่า “ได้เท่าใดเท่านั้น” ทำให้ผมไม่นำเสนอขั้นตอนการทำงานในระยะที่ 3 เพราะแค่ 2 ระยะที่เขียนไปก็คงต้องอธิบายกันยาวอยู่แล้ว

     มีคุณหมอจากเมืองปานมาเป็นตัวแทนโครงการวิจัยน้ำดื่มฯ ของเมืองปาน ที่อ.อดิศักดิ์ เสมอพิทักษ์ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน เป็นทีมวิจัย เหตุที่ทั้ง 2 ท่านไม่ได้มาร่วมด้วยเพราะไปจัดงานมุทิตาจิตของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม ได้พบ รศ.ดร.บุญฑวรรณ วิงวอน ในงานกลางคืน แต่งานอบรมตอนกลางวันผมได้พบ ผศ.ดร.ดวงจันทร์ เดี่ยววิไล ก็เป็นอีกวันหนึ่งของผมที่ได้พบผู้คนมากมายอีกครั้ง

งานมุทิตาจิต ของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม

อาจารย์จินต์
อาจารย์จินต์

เย็น 30 พ.ค.52 เวลา 19.00น.-22.00น. ได้ร่วมงานมุทิตาจิต (หนึ่งในพรหมวิหาร 4 คือยินดีเมื่อเห็นเขาเป็นสุข) ของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม เป็นงานแสดงความยินดีในการเกษียณรอบที่สองของท่าน เพราะท่านเกษียณอายุราชการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปี 2537 และมาเริ่มทำงานที่ม.โยนกในปีเดียวกัน จนถึงปี 2552 ท่านทำงานไป 15 ปี มีอายุครบ 75 ปี รู้สึกว่าสังขารไม่ให้อีกต่อไป จึงขอเกษียณการทำงานอย่างแท้จริง ท่านตั้งปณิธานที่จะไปอยู่วัดใช้ชีวิตอย่างสงบตามวิถีของพุทธศาสนิกชน

     ในงานนี้มีอาจารย์ เจ้าหน้าที่ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนเก่า ศิษย์เก่าไปร่วมงานทั้ง 15 รุ่น และรุ่นที่ไปกันมากที่สุดเห็นจะเป็น MBA รุ่นที่ 1 เป็นงานแสดงความยินดีที่เห็นท่านมีความสุขที่ออกไปพักผ่อน ไม่ต้องตื่นเช้าและกลับเย็น ไม่ต้องเดินตามตะวันอีกต่อไป ต่อไปท่านต้องเป็นนายตนเองแล้ว มีหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือดูแลตนเองให้สังขารอยู่กับท่านให้นานที่สุด ผมอยู่งานมุทิตาจิตจนงานเลิกเวลา 22.00 น. เพราะซึ่งใจและชื่นชมที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ 1)ท่านพ้นวัย 60 ไปมากโขและทำงานต่อได้อีกตั้ง 15 ปี ดีใจที่เห็นท่านมีวันนี้ที่สมบูรณ์ ก็ต้องย้อนกับมาดูตัวว่าจะทำอย่างไรจะให้มีอายุยืนยาวได้อย่างท่าน (มนุษย์กว่า 30% จากไปก่อนอายุ 60 ปี) และด้วยปัจจัยเรื่องอายุที่อาจไม่ได้เห็นงานมุทิตาจิตของตนเอง 2)แขกที่มาร่วมงานมีมากมายหลายกลุ่ม ทุกคนมาด้วยจิตกุศล ด้วยใจรักและชื่นชมในอาจารย์ของพวกเขา การจัดงานช่วงเช้ามีทั้งงานบุญเลี้ยงพระ และตีกอล์ฟของศิษย์เก่า ส่วนการจัดงานช่วงเย็นก็เป็นไปอย่างมีความสุข มีการมอบของขวัญแสดงความยินดี ทั้ง อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ และอ.อติชาต หาญชาญชัย ก็เป็นตัวแทนหน่วยงานออกไปมอบของขวัญ มีการฉายวีดีทัศน์ที่ทีมงานของบัณฑิตจัดทำถึง 3 ชุด และใช้ใน 3 วาระตามแผนที่วางไว้ การแสดงศิลปวัฒนธรรมของศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่าออกมาร้องเพลง มีผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงานมากมาย เช่น คุณอนุรักษ์ นภาวรรณ ผู้สนับสนุนรายใหญ่ อ.อัศนีย์ ณ น่าน ประสานจัดทำหนังสือที่ระลึกที่ปกมีภาพของท่านผมขาวตามสังขาร (เห็นท่านแซวตนเองบนเวที) ผศ.นำชัย เติมศิริเกียรติ นำหนังสือธรรมเรื่อง “คุณบิดามารดา” มาแจกภายในงาน บนเวทีมุทิตาจิตมีศิษย์เก่าแต่ละรุ่นออกไปแสดงความรู้สึก ก็มีศิษย์ท่านหนึ่งพูดว่า “หนูขอเบอร์ไว้ด้วยนะคะ เวลามีปัญหาจะโทรไปปรึกษา” ผมก็คิดอยู่ในใจว่าการจัดการความรู้นี่สำคัญจริงแท้ เพราะหัวหน้าผม อ.อติชาต หาญชาญชัย ก็ไปต่อเอกด้านนี้ และสมแล้วที่ในกฎหมายไทยเริ่มให้ความสำคัญ

     ในอดีตช่วงแรกที่ท่านมาที่ม.โยนก ผมพอจำได้ว่า 15 ปีก่อน เดือนเมษายน 2537 ม.โยนกจัดปฐมนิเทศอาจารย์ที่สวนป่าทุ่งเกวียน แล้วท่านก็เป็นหนึ่งในวิทยากร ที่จำได้เพราะมีประเด็นที่ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับท่านในมหาวิทยาลัยเริ่มมีการจัดการความรู้ (KM) ในโลกเรามีระบบที่เรียกว่า expert system มาหลายสิบปี ก็เกิดความรู้สึกเสียดายในองค์ความรู้ของท่านที่สั่งสมมากว่า 75 ปี

     ผมได้ถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นจากความทรงจำที่ร่วมงานมุทิตาจิต 1)ออกมาเป็นบันทึก และโพสท์ใน blog site เป็นการบันทึกสิ่งที่เราประทับใจในตัวท่าน และการมีส่วนร่วมของศิษย์เก่า 2)นำไปประยุกต์สำหรับเขียนบทความไอทีในชีวิตประจำวัน เล่าเรื่องงานมุทิตาจิต กับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะงานนี้ใช้ไอทีอยู่ไม่น้อย เป็นเพียงเทคนิคหนึ่ง ที่สามารถนำความรู้มาจัดการในบทบาทของคนร่วมงานคนหนึ่ง

ฟ้งการนำเสนอกระดานอัจฉริยะ

whiteboard25 พ.ค. 52 คุณอนุชิต ยอดใจยา ผช.ผอ.สทส แจ้งให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ Promethean ชื่อ จิรทีปต์ พัฒนานิตย์สกุล ขอเข้ามานำเสนออุปกรณ์ที่เรียกว่า กระดานอัจฉริยะ สำหรับระบบห้องเรียนอัจฉริยะ เป็นระบบที่สมบูรณ์มากในการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย พระเอกคือ Activboard (electronic whiteboard) ที่ใช้ปากกาพิเศษเขียนเหมือนกัน touch screen แต่ใช้วิธีฉายแสงจาก projector เข้ากระดานนี้ อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในห้องเรียนมาทั้ง Activboard, Activpen, Activwand, Activote, Activprimary, Activstudio และ Application Software อีกเพียบ อย่างที่บอกว่าพระเอกคือกระดาน โดยกระดานขนาดกลาง มีราคาแสนเศษ ติดตั้งแบบนี้สัก 5 ห้องรวมอุปกรณ์ก็เกือบ 1 ล้านบาท นับว่าคุ้มมาก สำหรับโรงเรียนทุกขนาด ไม่ว่าจะรวยหรือจน เพราะถ้าจำเป็นก็คงหางบประมาณมาได้ หรือ ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในยุคดิจิทอลเป็นพิเศษ ระบบนี้น่าจะเหมาะกับกลุ่มนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องผงช็อก หรือแพ้กลิ่นของปากกาเคมี
       บริษัทฮอลลีวู้ดอินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ชนะเรื่องสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิผลระดับโลก มาหลายปี มีรายชื่อลูกค้าเป็น profile และ good practice ในประเทศไทยอยู่เพียบ โดยโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง ก็ใช้สินค้านี้ และแนะนำกับตัวแทนขายให้มาพบผม ก็ดีใจครับที่ได้รู้จักสินค้า นี่ผมวางแผนเดือนละ 2 หนว่าสักวันจะซื้อมาไว้สอนการบ้านลูกที่บ้านสักเครื่อง หรือเอาไว้สอนพิเศษเด็ก ๆ ระแวกบ้านไหล่หิน ถ้ามีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา และถือศีลกินผักที่บ้านเกิดของภรรยา
      ดู profile เห็นว่าสื่อนี้ได้รางวัล worlddidac Award, Award of Excellence Teaching Learning , Media and Methods Award และ Queens Award for Innovation ( http://www.prometheanworld.com
http://www.prometheanplanet.com )

ทดสอบคัดลอกบล็อกแล้วบันทึกไว้ใน /wordpress

26 พ.ค.52 1) ปิดบทความไอทีในชีวิตประจำวัน 2 เรื่อง คือ 192 จุดเริ่มต้นของความปลอดภัยด้านไอที และ 193 การเลือก Netbook หรือ Notebook เผยแพร่ใน thaiall.com/opinion/readonly.php ส่วนเรื่องที่ 194 กำหนดไว้แล้วในแผนที่ส่งตอนรายงานโครงการร่วมกับ nccit09 2) ปรับบทความ thaiall.com/wordpress พร้อมคัดลอกข้อมูลใน /blog ไปติดตั้งใน 127.0.0.1 ที่บ้าน เตรียมสอนช่วงต้นเดือนมิถุนายน52 3) แต่การอบรมจะใช้ template2 ที่ผมต้อง upgrade script ให้ทำงานกับ php รุ่นที่ผมใช้อยู่ และคาดว่าจะตั้งเป็นรุ่น 2.01 ก็ยังไม่ได้แจ้ง อ.ศรีเชาวน์ วิหคโต ผู้พัฒนา template2 ที่กศน.หลายแห่งใช้งาน เลยครับ เพราะคิดว่าพัฒนาแล้วจะติดตั้งใน thaiabc63.zip และแยกเผยแพร่เฉพาะ template21.zip อีกที  4) วันนี้หมดแรงข้าวเย็น คงพัฒนา template2.01 ต่อตอนนี้ไม่ได้แน่ สังขารไม่ให้ซะแล้วครับ ขอพักเท่านี้ พรุ่งนี้เย็นค่อยว่ากันใหม่

งานศพบนวิถีการให้เกียรติ 360 องศา

ภาพประกอบจาก พิธีศพของท่านพุทธทาส
ภาพประกอบจาก พิธีศพของท่านพุทธทาส

      ได้รับเชิญไปร่วมพิธีประชุมเพลิง หรือพิธีฌาปนกิจศพ ของผู้สูงอายุในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ท่านเป็นครูเก่าบวชเรียนมาแต่เยาว์ และมีลูกหลานหลายคน ลูกแต่ละคนก็มีหน้าที่การงานที่ดี ในหมู่หลานนับสิบคน ก็มีหลานที่เรียนจบแล้วอยู่หลายคน
        ไปร่วมประมาณ 10.00 น. ทำพิธีและทานอาหารกันเสร็จก็ประมาณ 12.00 น. ผมไปรอที่วัด ส่วนผู้สูงอายุในหมู่บ้านก็ทะยอยกันกลับบ้าน ยกเว้นคนหนุ่มสาว กับเพื่อนบ้านใกล้ชิด ที่ไปร่วมพิธีประชุมเพลิง ช่วยกันลากล้อที่มีศาลาราคา 2 หมื่นกว่าบาทเป็นหนึ่งในเครื่องทาน ส่วนผู้มีเกียรติมากหน่อยก็จะไปรอที่ฌาปนสถาน เพื่อร่วมพิธีประชุมเพลิง ระหว่างลากรถไปฌาปนสถานจะโปรยทานไปด้วย ใครได้เบอร์ที่ห่อไว้ในเหรียญตรงกับอายุ ก็ให้ออกไปรับซองรางวัล เป็นการชิงโชค หรือความเอื้ออาทรของเจ้าภาพ
       กว่าจะลากศพไปถึงฌาปนสถาน ก็ประมาณ 13.00 น. เพราะรอแม่บ้านล้างจาน และเตรียมชื่อแขก เพราะมีผู้มีเกียรติในงานที่ต้องออกไปวางผ้า 99 ท่านพอดี ประกอบด้วยผ้าตามอายุ 85 ผืน และผ้าไตรบังสุกุลอีก 14 ผืน พระสงฆ์ใช้เวลาสวดไม่นาน ก็เริ่มเชิญแขกไปวางผ้าทั้ง 99 ผืน แล้วเจ้าภาพก็มอบซองเงินสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานีอนามัย และกลุ่ม รวม 12 ซอง จากนั้นก็ให้ตัวแทนเจ้าภาพอ่านประวัติผู้ล่วงลับในหนังสือที่แจกให้ สุดท้ายเสร็จพิธีด้วยการเปิดให้ผู้ร่วมงานนำดอกไม้จันทร์ไปวางหน้าศพบนเมรุ ในเวลาประมาณ 14.30 น.

ความเปลี่ยนแปลง

ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์

     “การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชุมชนนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลา แล้วใครจะทำ และทำเพื่อใคร”  เป็นประโยคที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นก่อนทำการวิจัยในพื้นที่ เกิดอะไรบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ก่อนงานวิจัยจะเริ่ม คำถาม คำนินทา คำเตือน คำบอกเล่า ล้วนเป็นคำที่มีความหมายและมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของชุมชนและเป็นคำที่เกิดขึ้นก่อนงานวิจัยจะเริ่ม 

  “ทำไปทำไม ของมันดีอยู่แล้ว”
  “เป็นใครมาจากไหน ถึงได้กล้าทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน”
  “อย่าทำเลย เดี๋ยวมันจะขึด”
  “เมื่อทำไปแล้ว ได้อะไรขึ้นมา ชาวบ้านได้อะไร”
  “สูทำไปทำไม ไผเป็นคนบอกให้สูทำ”

     คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีข่าวการทำวิจัยเรื่องงานศพในบ้านไหล่หิน การทำงานเริ่มระมัดระวังมากขึ้น เริ่มหันมาพูดคุยกันในกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านถี่ขึ้น นักวิจัยต่างคนต่างให้ข้อคิดเห็นต่างกันออกไป เป็นกระจกซึ่งกันและกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างการทำงาน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในตัวนักวิจัย เริ่มมีการไตร่ตรองความคิดของตนเองและเพื่อนร่วมงานอย่างละเอียด ประเด็นนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากตัวนักวิจัยต้องการที่จะให้งานที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของชุมชน เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่างในชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักวิจัยท้องถิ่นที่มีต่อชุมชนและรูปแบบงานวิจัยนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปตามรูปแบบที่เกิดขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่ชุมชนจะกล่าวว่านักวิจัยของบ้านไหล่หินเป็นผู้นำทางความคิด หรือ “เป๋นเก๊าตางกำกึด” และนี่เป็นสิ่งที่นักวิจัยท้องถิ่นต้องยอมรับ
        หากกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในงานวิจัยท้องถิ่นโดยนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หิน หมู่ 2 ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง แล้วนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลนั่นคือ นักวิจัย และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากชุมชน และที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนโดยรอบ ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและสามารถสัมผัสได้ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า นักวิจัยของบ้านไหล่หินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด เปลี่ยนแปลงการทำงาน ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดการยอมรับนักวิจัยในชุมชนขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการทำงานของนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หินทำงานกันเป็นทีม ทำให้การยอมรับกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ชาวบ้านเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างจากนักวิจัยท้องถิ่นบ้าง แต่ความคิดของชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นการแตกแยกในกลุ่มของชาวบ้านกันเอง แต่กลับเป็นผลดีต่อกระบวนการงานวิจัยที่กำลังลงมือกันอยู่ เป็นกระจกส่องการทำงานโดยคนในชุมชน เกิดสัมพันธภาพที่ดีในกลุ่มนักวิจัยและชาวบ้านที่เข้าร่วมเวที เสียงหัวเราะเริ่มเสียงดังขึ้น การแสดงความคิดเห็นในเวทีเริ่มมีสีสัน ข้อเสนอแนะมีมากขึ้น
       สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านมีความเข้าใจในกระบวนการงานวิจัยมากขึ้น กอปรกับชุมชนไหล่หินเป็นชุมชนที่มีการทำวิจัยในชุมชนค่อนข้างมาก ทำให้การดำเนินกิจกรรมระหว่างงานวิจัยนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวทีงานวิจัยแล้วผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในช่วงเวลาปกติ และในช่วงที่มีงานศพในหมู่บ้าน ขั้นตอนและกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนไหล่หินนั้นเป็นกระบวนการที่มีทั้งการขับเคลื่อนโดยนักวิจัยและการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชน ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในบางครั้งของห้วงเวลาที่ดำเนินงานวิจัย บางเรื่องเป็นเรื่องที่นักวิจัยไม่สามารถถามต่อชุมชนได้ เนื่องจากว่าบางสิ่งบางอย่างในงานวิจัยเป็นเรื่องของจารีตประเพณี เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมานาน เพราะฉะนั้นประเด็นนี้คนที่ขับเคลื่อนเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทำให้ประเด็นคำถามที่ทีมนักวิจัยต้องการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเวทีประชาคม เป็นการพูดคุยผ่านกระบวนการประชาคมในหมู่บ้านและการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในงานศพที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเริ่มมีการพูดคุยในงานศพก็นำมาพูดคุยให้ข้อเสนอแนะในเวที โดยเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีการพูดคุยกันมานานก่อนงานวิจัยจะเริ่มขึ้นและเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัย ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีการบ่มมานาน การพูดคุย การเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เคยปิดกั้นทางความคิดของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับจารีตถูกเปิดเผย ถูกพูดถึง ทำให้จารีตประเพณีหรือฮีตถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพูดคุย ปัดฝุ่นกันอีกครั้งว่า เป็นฮีตเดิมฮีตเก่าฮีตแก่หรือไม่อย่างไร ใช้เหตุและผลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการชำระฮีตในชุมชน ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นทิศทางของความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในชุมชน จนนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นตามการชำระฮีต โดยยังยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของบรรพบุรุษในชุมชน ทั้งนี้เป็นการเดินทางสายกลางทางความคิดระหว่างนักวิจัยในหมู่บ้าน ผู้สูงอายุ เยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดขึ้นท่ามกลางมวลชนหลายหมู่เหล่าที่เห็นพ้องในแนวทางการดำเนินงานโครงการวิจัยการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านไหล่หิน หมู่ 2 และ หมู่ 6 ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและสัมพันธภาพในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เกิดการยอมรับทางความคิด และการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น
              จากความเปลี่ยนแปลงในทั้งสองหมู่บ้านทำให้ชุมชนรอบข้างเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกระบวนการงานวิจัยที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านดำเนินการกันอยู่ มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงไม่สนับสนุน เหมือนลักษณะในครั้งแรกที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หิน แต่กระนั้นก็ตามการกล่าวขานก็เป็นเพียงการกล่าวขานเล่าเรื่องราวเท่านั้น ความกระจ่างชัดในวัตถุประสงค์ของงงานวิจัยยังไม่แผ่คลุมในระดับตำบลหรือชุมชนรอบข้างแต่อย่างใด   

“หมู่บ้านท่านทำแบบใด ผมอยากมีแนวทาง
เหมือนบ้านท่านบ้าง หากมีเวลาผมขอเชิญมา
พูดคุยกับชาวบ้านตอนประชุมหมู่บ้านด้วยนะ” 

       เสียงของผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนึ่งบอกกล่าวแบบเชิญชวนหนึ่งในทีมวิจัยของเราเข้าไปพูดคุยในประเด็นที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังดำเนินการและปฏิบัติกันอยู่ ตรงนี้เป็นการชั่งคิดของชุมชนรอบข้างถึงแนวทางที่เกิดขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนรอบข้างที่ตอบรับกระบวนการงานวิจัยที่เกิดขึ้น เป็นการส่งไม้ต่อที่ไม่ต้องออกแรงกันมากนัก เกิดแนวร่วมแบบไม่เป็นทางการเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน เกิดแรงสนับสนุนจากภายนอกชุมชนเข้ามาเป็นระยะ ๆ จนในที่สุดกระบวนการและขั้นตอนที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หินก็สามารถหยิบยกในรูปแบบการดำเนินงานไปใช้กับชุมชนรอบข้างในตำบลไหล่หินได้เป็นอย่างดี จะแตกต่างตรงที่แนวทางและรูปแบบของแต่ละหมู่บ้านที่ไม่เหมือนกัน แต่กระบวนการที่นำไปใช้เป็นการถอดบทเรียนที่ชาวบ้านสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนทางความคิด บทเรียนทางการปฏิบัติ ทำให้เห็นว่าในเมื่อสิ่งที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังทำอยู่นั้น เกิดผลดี ผลสัมฤทธิ์ที่มีคุณค่า หมู่บ้านหรือชุมชนรอบข้างเกิดความต้องการที่จะใช้กระบวนการของงานวิจัยเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชนของตน
        จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวบุคคลไปถึงระดับหมู่บ้านจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับตำบลนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดที่อยู่ภายใต้กระบวนการงานวิจัยท้องถิ่นของชาวบ้านไหล่หินที่กล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงชุมชนจนนำไปสู่รูปแบบการจัดงานศพที่เกิดขึ้นจากเวทีประชาคม เกิดจากบทเรียนที่ถอดด้ามมาจากชุมชนรอบข้าง ทั้งนี้ผู้เขียนที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยชาวบ้าน เห็นว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกระบวนการงานวิจัยที่สอนให้ชาวบ้านได้รู้จักระบบการคิดที่มีเหตุผลและเป็นขั้นตอนอย่างยั่งยืนบนฐานความคิดของตนเองและชุมชน

ทำบุญ เปิดเรียน เลื่อนบทความ ถูกฉลาก

17 พ.ค.52 1) ที่บ้านไหล่หินทำบุญบ้าน ได้นิมนต์ เจ้าคณะตำบล ตุ๊ภาพ และพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ พร้อมพระสงฆ์อีก 2 รูปจากวัดลุ่ม ตั้งแต่ลุงแสนเสียก็ยังไม่ได้ทำบุญบ้าน จึงถือโอกาสทำบุญ 100 วัน ทำบุญบ้าน และทำบุญให้ยายนีไปด้วย ผู้สูงอายุไปร่วมทำพิธีที่บ้านประมาณ 20 ท่าน ต้องถือว่ามาร่วมกันมากกว่าปกติ แม้ไม่ได้บอกใคร   คงเพราะเป็นครอบครัวใหญ่ และชุมชนเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิด คนหนุ่มก็เข้าครัว ผู้สูงอายุก็อยู่บนบ้านฟังธรรม 2) พรุ่งนี้เปิดเรียนวันแรกของลูกทั้งสาม เราจึงกลับไปนอนที่บ้านอัศวิน แต่ลืมไปเอาชุดใหม่ ที่ใช้เงินหลวงแจกให้ไปซื้อชุดเป็นเงิน 350 บาท ส่วนหนังสือคงได้จากการยืมเรียน ก็ตกลงกันว่าวันพรุ่งนี้สวมชุดเก่าไปก่อนคงไม่เป็นไร ฝนดาวเข้า ป.5/8 พีพี ป.4/1 มาหยา ป.4/5 ส่วนชื่อครูจะให้ลูกไปจดมาชัด ๆ วันพรุ่งนี้ค่อยลงเว็บเพจของพวกเขา 3) ตรวจกำหนดการนำเสนอบทความ ที่ มจพ. (www.nccit.net และ nccit09-it04) พบว่านำเสนอบทความของผมเลื่อนเป็นวันที่ 23 พค. ตรงกับวันที่นัดจิ๋มไว้ที่บ้านเสานัก ทำให้ ppt ที่เตรียมไว้คงไม่ได้ใช้งานนี้แน่ จึงขอให้ อ.สุวรรณ กับ อ.ราตรี เป็นตัวแทนนักวิจัยบ้านไหล่หิน เพราะท่านมีบทความที่ถอดประสบการณ์ได้ชัดเจน และเหมาะที่จะนำเสนอประสบการณ์ในฐานะนักวิจัยชุมชน เป็นมุมมองของนักวิชาการในชุมชน ผลการประสานงานก็เรียบร้อยด้วยดี จะขอเลื่อนทาง มจพ. ก็คงไม่เหมาะ เพราะเขากำหนด และเผยแพร่ไปแล้ว ถ้าเลื่อนก็เป็นการแซงคิวเขา ซึ่งผมจะไม่ทำ คิดซะว่าเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะได้อยู่ฟังทั้ง 2 วัน จึงตัดสินใจนอนกรุงเทพฯ อีกคืน ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะทีมคณะวิทย์ฯ ที่ไปด้วยเขาก็กลับคืนวันศุกร์ ตามกำหนดเดิมได้ 4) ตกเย็นก็กลับบ้านมาตรวจฉลากกินแบ่งรัฐบาลพบว่าถูกเลข 2 ตัว 1 ใบ ก็ให้ย่าลัดดาไปขึ้นตัง ซื้อ 2 ใบจ่ายไป 200 บาท แต่ได้มา 2000 บาท ที่ได้มานี่ยังไม่พอทำบุญวันนี้เลย เพราะใส่ซองพระ 7 ซอง ๆ ละ 200 บาท ก็ 1400 บาทเข้าไปแล้ว แต่วันนี้เราทำบุญ และการทำบุญคือการให้ โดยไม่หวังผลตอบแทน ทำแล้วก็มีความสุข คิดอย่างนั้นก็จะสบายใจ

สรุปกระบวนการที่สำคัญในฐานะครูนักวิจัยชุมชน

อ.ราตรี
อ.ราตรี

        หลังจากร่วมงานกับทีมวิจัยชุมชน แล้วได้เห็นกระบวนการทำงานที่ให้คนในชุมชนค่อย ๆ ซึมซับ ตระหนึกถึงคำว่า “พอเพียง” และมีความเข้าใจในการที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ตามวิถีของคนในชุมชน ที่คนในชุมชนเห็นร่วมกันว่าปัจจุบันเป็นไปอย่างไม่ประหยัด ไม่พอดีพองาม คือ การจัดงานศพ ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับงานวิจัยครั้งนี้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม จึงนำเสนอบทสรุปกระบวนการจากการร่วมงานโครงการวิจัย มีประเด็นที่สำคัญดังนี้
  1. การประชุมที่เน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้แสดงความคิดเห็น ร่วมสรุปและวิเคราะห์ร่วมกันในหลายรูปแบบ หลายระดับ อาทิ ประชุมนักวิจัย ประชุมนักวิจัยร่วม ประชุมผู้แทนชาวบ้าน และประชุมชาวบ้านทั้งหมดทีละหมู่บ้าน การประชุมแต่ละครั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็น และสรุปประเด็นต่าง ๆ เมื่อเป็นความคิดเห็นที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ทำให้แน่ใจได้ว่าจะเป็นมติที่ยอมรับร่วมกัน และไม่เกิดความขัดแย้งตามมาในภายหลัง การประชุมมีปฏิทินการทำงานของแต่ละเวทีชัดเจนก่อนนำไปสู่เวทีสรุปผลในที่สุด
  2. การเชิญภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือผู้สูงอายุมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ให้ข้อคิดเห็นเป็นวิธีที่ทำให้เวทีแสดงความคิดเห็นมีความเข้าใจตรงกัน เกิดการยอมรับ คล้อยตาม เช่นการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเล่าวิวัฒนาการเรื่องการจัดการงานศพที่มีแนวโน้มไปในทางที่จะฟุ่มเฟือยมากขึ้น เมื่อร่วมกันวิพากษ์ พินิจพิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลและประสบการณ์การจัดการงานศพในอดีตมาแลกเปลี่ยนในเวที จึงเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
  3. การศึกษาดูงานทำให้ผู้แทน หรือผู้นำในชุมชนได้ไปแลกเปลี่ยน ได้เห็นบทเรียนของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง เข้าใจเหตุของการเปลี่ยนแปลงค่านิคม ความเชื่อ พิธีกรรม ทำให้มีความกล้าในการรื้อสาง และ เปลี่ยนแปลงกิจกรรมบางอย่างที่มุ่งยกระดับครัวเรือนและชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
  4. การมีส่วนร่วมเป็นวิธีที่นักวิจัยหลัก และนักวิจัยร่วมใช้หลักประชาธิปไตย การทำงานทุกขั้นตอนได้นำชุมชนเข้ามาให้ข้อเสนอแนะ และร่วมวางแผน เปิดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมเริ่มจากกลุ่มเล็ก ขยายไปทั้งหมู่บ้าน และขยายไปทั้งตำบล เป็นการทำงานที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากระดับผู้นำชุมชนไปถึงระดับครัวเรือนอย่างชัดเจน
  5. การประชาสัมพันธ์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างการทำงาน ไปถึงเวทีสรุปผล ที่นำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นการงด การลดหรือการปรับเปลี่ยน เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และนำไปใช้ในหมู่บ้านอื่น พื้นที่อื่น ในขอบเขตของโครงการที่ทีมวิจัยหลักได้วางแผนนั้น ได้ขยายพื้นที่ครอบครุมไปทั้งตำบล และการประชาสัมพันธ์จะไปไกลกว่าด้วยสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อเอกสาร ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อวิทยุชุมชน
  ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมในการดำเนินการ ได้เห็น ได้มีส่วนร่วมและอยู่ในขั้นตอนการทำงานที่เป็นกระบวนการที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับการบริหารงานโรงเรียนไหล่หินวิทยาได้ และคิดว่าผลของการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญ เรียนรู้วิธีการ และนำประเด็นไปปฏิบัติสืบต่ออย่างยั่งยืน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป
โดย อ.ราตรี ดวงไชย รองผู้อำนวยการโรงเรียนไหล่หินวิทยา
http://www.thaiall.com/lovelampang/laihin_ratee.htm