ความเป็นมาของทีวี (Television) หรือโทรทัศน์ในประเทศไทย เริ่มต้นราวปีพ.ศ.2498 เป็นระบบทีวีขาวดำ และเปลี่ยนเป็นระบบทีวีสีในปีพ.ศ.2510 โดยใช้การแพร่ภาพด้วยระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนช่อง และคุณภาพขอสัญญาณ แต่ระบบดิจิทอลคือการส่งสัญญาณที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุที่ทำให้ได้จำนวน 8 -25 ช่องสถานีต่างกับระบบอนาล็อกที่ได้เพียงช่องเดียว ข้อดีของระบบดิจิทอลคือประหยัดพลังงาน ได้ภาพที่คมชัดกว่า และสัญญาณภาพมีอัตราส่วนแบบ Wide screen คือ 16:9 ซึ่งเหมาะกับเครื่องรับโทรทัศน์แบบ LED, LCD และ Plasma TV
เหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็นทีวีระบบดิจิทอล คือ ดำเนินการตามมติประชาคมอาเซียนที่จะเปลี่ยนระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดินเป็นระบบดิจิทอลใช้มาตรฐานคือ DVB-T2 และให้ยุติระบบอนาล็อกในช่วงปีพ.ศ.2558 – 2563 สำหรับประเทศไทยกำหนดให้ออกใบอนุญาตดิจิทอลทีวีช่วงแรกระหว่างกุมภาพันธ์ 2555 – สิงหาคม 2556 โดยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานทำหน้าที่กำหนดกรอบ วางหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ซึ่งในอนาคตสามารถรับชมทีวีสาธารณะได้มากกว่า 100 ช่อง แต่ช่วงสิงหาคม 2556 ไทยจะออกใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจจำนวน 24 ช่อง ซึ่งเพิ่มจากระบบอนาล็อกเดิมที่มีทีวีสาธารณะเพียง 6 ช่อง คือ 3, 5, 7, 9, NBT และ Thai PBS
การรับสัญญาณดิจิทอลเข้าทีวีมี 3 แบบ คือ แบบแรก คือ ทีวีรุ่นเก่าที่ใช้เสารับสัญญาณแบบ Antenna หรือเสาหนวดกุ้ง จะต้องซื้ออุปกรณ์ที่เรียกว่า จูนเนอร์ หรือ กล่องรับสัญญาณดิจิตอล (Set top box) เพื่อทำหน้าที่รับสัญญาณดิจิทอลมาแปลงเป็นสัญญาณอนาล็อกส่งเข้าทีวีรุ่นเก่า แบบที่สอง คือ ทีวีผ่านจานดาวเทียมทั้งแบบรายเดือนหรือไม่เป็นรายเดือนจะรับชมดิจิทอลทีวีได้ทันที และช่องเดิมจะถูกประกาศให้เป็นทีวีสาธารณะ แล้วจะเพิ่มช่องใหม่เข้าไปอัตโนมัติ แบบที่สาม คือ ซื้อทีวีที่เป็นทีวีดิจิทอลที่สามารถรับสัญญาณดิจิทอลได้โดยตรง ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้คาดว่าจะส่งสัญญาณควบคู่กันไปทั้งสัญญาณอนาล็อกและสัญญาณดิจิทอลไม่เกินปีพ.ศ.2563 แล้วมีข่าวว่าช่อง 9 และ NBT จะทดลองออกอากาศในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่