26 ม.ค.53 วันนี้เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยโยนก มีกิจกรรม 2 อย่างเกิดขึ้นในวันนี้คือตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสโมสรนักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2553 ช่วงสายได้มีการพูดคุยกับเพื่อนอาจารย์ในคณะว่าจะมีอาจารย์ใหม่มาประจำที่มหาวิทยาลัยอีกหลายท่าน เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต มีประเด็นเรื่องห้องทำงาน ในใจผมก็นึกไปถึง ภาพยนต์เรื่องรับน้องสยองขวัญ ซะงั้น (ไม่เกี่ยวกันเลย) .. อาจารย์ที่มาใหม่จะมาสังกัด ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาลัยสร้างสรรค์ อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน .. ก็ยินดีต้อนรับล่วงหน้าครับ
ช่วงบ่ายก็ได้รับมอบหมายให้ไปรับอาจารย์ 3 ท่านมาประชุมวิชาการพิจารณา 6 หลักสูตร ไปรับตั้งแต่ 6.00น. ของวันรุ่งขึ้น ช่วงเย็นมาทราบว่าเลื่อนไปอีกหลายวัน แต่ที่แน่นอนคือวันศุกร์นี้ศิษย์เก่าลำปางจะไปกทม. ร่วมกับศิษย์เก่าโยนกทั่วประเทศวันเสาร์เย็น ร่วมกันจัดงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ที่ตึกไอทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ผมก็จะไปร่วมด้วย เพราะนาน ๆ จะได้พบเพื่อนสักครั้ง เป็นนิมิตรหมายที่จะได้รวมพลัง แสดงพลัง แต่บ่ายวันนี้เช่นกันมีรุ่นน้องมาให้ข้อมูลว่า มีผู้ไม่หวังดี ถูกปล่อยข่าวว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวว่าการรวมกันครั้งนี้จะเป็นการก่อม็อบ ต่อต้านอะไรสักอย่าง (ดีนะที่เสื้อของงานเป็นสีขาว ถ้าเป็นเหลืองหรือแดงคงมีการเมืองมาเอี่ยวด้วยแน่) ผมฟังแล้วก็อดขำผ่านโทรศัพท์ไปไม่ได้ เพราะไม่คิดว่าจะมีใครคิดอะไรที่ขาดองค์ประกอบของความสมเหตุสมผลเช่นนั้น แต่ถ้าคิดและลือกันไปเองยังจะน่าเชื่อซะกว่า มีให้เห็นบ่อย ๆ ทางทีวี
Author: บุรินทร์ รุจจนพันธุ์
โทรศัพท์มรณะ รับแล้วลาโลก
20 ม.ค.53 ทั่วภาคเหนือผวาหนักมีข่าวเชื่อกันว่า ต่อติดตาย ถ้ามีสายเรียกเข้าเป็นเบอร์โทรแปลก เช่น 0833366xxx หรือ 999-9999 แล้วหน้าจอขึ้นตัวอักษรแดง หรือหน้าจอแดงอย่ารับ เขาว่าเป็นไปได้ระหว่างไวรัสกับไสยศาสตร์กระนั้นเชียว ทั้ง 3 เบอร์เป็นของ AIS ที่เปิดใช้อยู่ ผู้เกี่ยวข้องแจ้งว่าเจ้าของหมายเลขทุกคนไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ AIS บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่เรื่องเช่นนี้จะเป็นจริง ส่วนช่อง 3 ออกรายการเรื่องเด่นเย็นนี้เมื่อ 20 ม.ค.53 ข่าวลือ!เบอร์โทรศัพท์มรณะ แบบว่ารับปุ๊ปตายปั๊ป แก้วหูแตก เลือดคั่งในสมอง เลือดออกปากออกจมูก ถึงกับมีติดประกาศไว้ที่หน้าบ้านที่อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ให้รับเฉพาะเบอร์ที่รู้จักเท่านั้น และที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พระท่านก็ต้องเทศสอนให้รู้จักมีสติ .. ก็น่าแปลกที่มีคนเชื่อเรื่องเหล่านี้นะครับ
http://www.kroobannok.com/26805
http://hilight.kapook.com/view/45615
http://www.thairath.co.th/content/region/59988
http://www.thairath.co.th/content/region/60048
http://www.siamzone.com/board/view.php?sid=1375638
พบปัญหาจูมลาในเว็บไซต์สมาคมฯ ของโรงเรียน
24 ม.ค.53 จูมลา (joomla) 1.5 บาง template มีปัญหากับ IE6 ของผมก็พบครับ ทดสอบกับเครื่องที่ใช้ Windows SP2 ทั้งหมด 5 เครื่องของ 5 คน จะมี IE6 มากับ Windows ทุกคน เมื่อเปิดเว็บไซต์ของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง พบว่า IE6 ค้างแบบ Not Response ต้อง End Process ถ้าไม่ end process ก็จะเปิดเว็บอื่นไม่ได้ ผู้ใช้บางคนต้องปิดเครื่องเพื่อแก้ปัญหา แต่มีเครื่องหนึ่งเปิดได้ เมื่อค้นข้อมูลเรื่องนี้จาก google.com ก็มีการพูดคุยกันว่า joomla 1.5 มีปัญหากับ IE6 จริง สถิติการใช้ IE6 ของไทยยังสูงสุด ถ้าหากทำเว็บให้ผู้พัฒนาดูคนเดียวก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าต้องการให้คนอื่นดู การให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา และทดสอบคงเป็นเรื่องสำคัญ .. ก็รู้ว่าวิธีแก้ปัญหากับ CMS นั้นไม่ง่ายเลยครับ
วิธีแก้ คือบังคับให้ผู้ใช้ download ie7 มิเช่นนั้นเปิดเว็บไซต์เราไม่ขึ้น .. ผมว่าวิธีนี้ดูแปลก ๆ นะครับ แต่ webmaster บางคนเขาทำจริง
การเชื่อมโยงระหว่างชุมชน อาจารย์ และนักศึกษา
23 ม.ค.53 องค์ความรู้ในชุมชนมีซ่อนบ่มอยู่มากมาย และหลากหลายสาขาวิชา สิ่งเหล่านั้นเริ่มถูกยกระดับคุณค่าหลังจากมีการพัฒนาชุมชนเมืองเพียงด้านเดียวมาระยะหนึ่ง โดยปล่อยปะละเลยคุณค่าของชุมชนชนบท ทิ้งไว้แต่คำร่ำลือถึงความศิวิไลที่ทุกคนต่างโหยหา แต่ขาดการดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีคำถามว่าใครจะเข้าไปเป็นกลไกในการพัฒนา รักษา และมีกระบวนการอย่างไร ให้เกิดการทำนุบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม และองค์ความรู้ของชุมชนให้ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อให้เยาวชนและชุมชนเองได้ชื่นชมตราบนานเท่านาน
การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และองค์ความรู้ของชุมชนต้องเริ่มต้นจากการเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่โดยชุมชน ดังคำว่ามีหนึ่งสมอง สองมือกับหนึ่งใจย่อมทำกิจการงานทุกอย่างได้สำเร็จ ดังนั้นชุมชนต้องมีใจรักที่จะรักษาและชื่นชมสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิม องค์ความรู้ที่เปรียบได้กับสมองของชุมชน ซึ่งปัจจุบันมักรู้จักกันในนามของปราชญ์ชาวบ้านที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ให้เกิดการสืบทอดเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากจำนวนปราชญ์ชาวบ้านเริ่มลดลงตามข้อจำกัดเรื่องอายุ แล้วกระบวนการหรือกลไกหรือมือที่จะเข้ามาทำให้ใจและสมองเชื่อมโยงด้วยความเข้มแข็งและขยายผลให้เกิดการยอมรับสืบทอด บอกต่อ แล้วเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นของการพัฒนาชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน ชุมชนข้างเคียง และสถาบันการศึกษาให้ความตระหนักและขยายการมีส่วนร่วมทั้งด้านนโยบาย งบประมาณ และกระบวนการเข้าสู่ชุมชนอย่างชัดเจน เพราะเป็นทางออกของการอยู่รอดในสังคมโลกร่วมกันอย่างมีความสุข
นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Policy) ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดใหม่ ก็คือการส่งเสริมให้คนไทยคิดใหม่ทำใหม่อย่างสร้างสรรค์ การทำให้สังคมชุมชนฐานรากของมนุษย์มีความเข้มแข็งย่อมส่งผลต่อความเข้มแข็งของสังคมเมืองและสังคมโลกเป็นลูกโซ่ มีความคิดใหม่มากมายที่มีต้นกำเนิดจากในชุมชน แล้วต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืนโดยเกิดจากการมุ่งมั่นของคนในชุมชนร่วมกับการหนุนเสริมจากภายนอกให้เกิดการคิดต่อจนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจจนหลายชุมชนสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนความพอเพียง ดังนั้นคำว่าความพอเพียงจึงเป็นหนึ่งในคำสำคัญที่ชุมชนต้องเข้าใจและสอดรับกับหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่จะใช้เป็นฐานคิดในการดำรงชีวิต การบริหารจัดการ และการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นทางสายกลางที่สอดรับกับ 3 เรื่องคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
ปัจจุบันสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ให้การสนับสนุนบุคลากรในสถาบันการศึกษาได้เข้าไปบูรณาการองค์ความรู้ที่มีอยู่ระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน ทำให้ชุมชนและสถาบันการศึกษาเกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ทั้งชุมชนเกิดความเข้าใจในกระบวนการทำงานอย่างมีขั้นตอน ส่วนอาจารย์ในสถาบันการศึกษาก็จะได้เข้าใจองค์ความรู้และธรรมชาติของชุมชน ได้นำสิ่งที่ได้ไปปรับการเรียนการสอนแล้วเกิดการแลกเปลี่ยนในสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning Exchange) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่คือวัตถุประสงค์หนึ่งของการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) ที่เปิดให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยได้ลงไปทำงานในชุมชนที่ตนเองรักและต้องการพัฒนาโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและองค์ความรู้ในสาขาวิชาของตน
เมื่ออาจารย์จากมหาวิทยาลัยเริ่มเข้าใจในชุมชนผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น แล้วนำประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนอาจารย์ และนักศึกษาในชั้นเรียน ประกอบกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเปิดให้ทุนสนับสนุนนักศึกษา (Community-Based Projects for Undergraduate Student : CBPUS) ได้ทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับวิชาโครงงานที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา ทำให้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเข้าไปเรียนรู้ชุมชนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนโดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือ ผ่านการหนุนเสริมอย่างจริงจังของอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นนวัตกรรมในการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน สิ่งที่นักศึกษาได้รับคือการเรียนรู้ชุมชนผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการวิจัยร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริงเป็นระยะเวลาหนึ่งร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา และศูนย์ประสานงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ผลของงานวิจัยเกิดผลในหลายมิติทั้งการเรียนรู้ชุมชนโดยนักศึกษา ประสบการณ์ในการพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา มิติใหม่ของการวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการวิจัยผ่านบทบาทของสถาบันการศึกษา ทั้งหมดคือการเชื่อมโยงของการพัฒนาชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของปราชญ์ชาวบ้าน การพัฒนานักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนได้เข้าเรียนรู้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาการเรียนการสอนมิติใหม่ในสถาบันการศึกษา และการพัฒนากระบวนการพัฒนาชุมชนฐานรากเชิงบูรณาการอย่างแท้จริง
โดย อาจารย์ที่ชักชวนนักศึกษาเข้าทำงานวิจัยในบ้านไหล่หิน
+ บทความจาก http://www.thaiall.com/research
การบูรณาการวิชาโครงงานกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
15 ม.ค.53 บทความเผยแพร่เสนอลงใน นิตยสาร Eduzones ฉบับพิเศษ มหาวิทยาลัยโยนก เขียนโดย นายกร ศิริพันธุ์ และน.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม แล้วส่งให้ คุณศักดิ์รพี วดีศิริศักดิ์ บก. Eduzones Journal ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอบโครงงานคือ อ.วิเชพ ใจบุญ และ อ.เกศรินทร์ อินเพลา ได้รับทราบความก้าวหน้าของการทำโครงงาน
จากการลงทะเบียนเรียนในวิชา โครงงานระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ (CPIS 412) ซึ่งเป็นการเรียนที่เน้นการศึกษาค้นคว้า ศึกษาความต้องการขององค์กรทางธุรกิจ ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองแล้วพัฒนาเป็นโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ตอบความต้องการขององค์กร ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่มีโอกาสสัมผัสหรือทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ต่อมาอาจารย์ในคณะได้นำประสบการณ์ในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาชวนให้แลกเปลี่ยนในชั้นเรียน จึงเกิดความสนใจในโครงการหนึ่ง คือ โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง
เมื่อตัดสินใจเลือกทำงานวิจัยเพื่อชุมชนเป็นโครงงานจบตามหลักสูตร จึงเข้าไปศึกษาชุมชนบ้านไหล่หิน เพื่อเขียนข้อเสนอโครงการแล้วพบว่ามีประเด็นและลักษณะของชุมชนเหมาะสมกับงานนี้ เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร คือ บ้านไหล่หิน หมู่ 2 และบ้านไหล่หินตะวันตกหมู่ 6 ประชากรส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธที่ศรัทธาในวัดไทย 2 วัด ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันคือ วัดเสลารัตนปัพพะตาราม (วัดไหล่หินหลวง) และวัดชัยมงคลธรรมวราราม ในด้านสถานศึกษามีโรงเรียนบ้านไหล่หินเปิดสอนในระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับประถมศึกษา และโรงเรียนไหล่หินวิทยาเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งวัดและโรงเรียนตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่กันอย่างเกื้อกูลเสมือนญาติพี่น้อง และมีความสามัคคี เมื่อมีงานที่เป็นงานส่วนรวม เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน หรืองานศพ จะมีชาวบ้านไปร่วมงานจำนวนมาก แล้วเจ้าภาพจะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งด้านสถานที่ ด้านอาหาร และการต้อนรับ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานมีความพึงพอใจในทุกด้านเเท่าเจ้าภาพจะจัดหาให้ได้
จากสภาพเศรษฐกิจ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาความยากจนเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ เมื่อครอบครัวใดมีคนเสียชีวิตจะต้องจัดงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าภาพไม่ได้มีการตระเตรียมเงินไว้ล่วงหน้าเหมือนงานบุญหรืองานมงคล ด้วยค่านิยมที่หลั่งไหล่เข้าสู่ชุมชน คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้นและเชื่อว่าการจัดงานศพที่ใหญ่โตแสดงถึงความมีหน้ามีตาของเจ้าภาพ ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เจ้าภาพต้องแบกรับ โดยละลายพฤติกรรมทางสังคมที่เป็นตัวบ่มเพาะชุมชนที่อยู่อย่างเกื้อกูลและความพอเพียงให้จางหายไป
ต้นปีพ.ศ.2550 ผู้นำหลากหลายบทบาทในหมู่บ้านทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนผู้นำองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ได้รวมตัวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในงานศพที่สูงขึ้นตามการบริโภควัฒนธรรมที่สวนทางกับกระแสเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมาเป็นเครื่องมือ โดยขอรับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ภายใต้โครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” หลังจากการดำเนินงานโครงการสิ้นสุดลงทีมวิจัยได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การขยายผลประเด็นการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนโดยใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือนั้น ยังขาดการนำเสนอที่เป็นรูปธรรม และเข้าใจง่าย
จึงมีแนวคิดที่จะจัดทำสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผล แต่เนื่องจากทีมวิจัยชาวบ้านมีข้อจำกัดในการพัฒนาสื่อด้วยตนเอง ดังนั้นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ ได้แก่ นายกร ศิริพันธุ์ และ น.ส.อรพรรณ สงเคราะห์ธรรม ได้อาสาเข้าเติมเต็มต่อยอดงานวิจัยเดิมให้มีความสมบูรณ์ โดยเน้นไปที่การจัดทำสื่อขยายผลองค์ความรู้ จึงขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีควบคู่กับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสร้างเครื่องมือนำเสนอบทเรียนจากโครงการที่มีผลชัดเจนด้วยสื่อวีดีทัศน์เกี่ยวกับประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพ และกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น แล้วขยายผลสู่โรงเรียนเป้าหมายในชุมชน
โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้รับอนุมัติ คือ เรื่อง “แนวทางการผลิตสื่อวีดีทัศน์เพื่อขยายผลองค์ความรู้เรื่องการจัดการงานศพบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” เลขที่โครงการ PDG52N0013 มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือ 1)เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการหาประเด็นข้อตกลงในการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 2) เพื่อจัดทำสื่อวีดีโอเผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง 3) เพื่อศึกษาทิศทาง หรือแนวโน้มในการขยายผลการนำสื่อวีดีโอที่จัดทำไปใช้ในกลุ่มเป้าหมาย
กระบวนการทำงานมีขั้นตอนดังนี้ นักศึกษาเข้าเก็บรวบรวมข้อมูล สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง เรียนรู้ชุมชน รวมถึงการเรียนรู้เรื่องการจัดงานศพในหมู่บ้าน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ในการจัดทำโครงเรื่อง (Story Board) แล้วบันทึกวีดีโอของคนในชุมชนตัดต่อเป็นสื่อวีดีทัศน์เผยแพร่ประเด็นข้อตกลง และกระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งจากการเข้าทำงานในชุมชน พบว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและทุกคนที่เข้าร่วมโครงการมีความสุข เนื่องจากเป็นโครงการมีประโยชน์ต่อชุมชน สามารถเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายบทบาทให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกที่คนในชุมชนจะใช้ประสบการณ์ที่ได้รับไปเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาอื่นได้อย่างมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการต่อไป
หลังจัดทำสื่อวีดีทัศน์สำเร็จได้นำไปทดลองฉายให้กับคนในชุมชน ในโรงเรียนบ้านไหล่หิน และในโรงเรียนไหล่หินวิทยา พบว่านักเรียนมีความเข้าใจและสนใจที่จะเรียนรู้ทั้งรูปแบบในการจัดการงานศพที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงสรุปได้ว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโครงการนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการวิจัยไปจัดทำสื่อได้อย่างถูกต้องในรูปสื่อวีดีทัศน์ที่เข้าใจง่าย เผยแพร่ง่าย ใช้ขยายผลเข้าไปในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายได้ตามความมุ่งหวัง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนมีจิตสำนึกสาธารณะมีความรักชุมชนอย่างเข้าใจและร่วมกันพัฒนาชุมชนของตนให้ยั่งยืนสืบไป
+ http://blog.eduzones.com/magazine/
+ http://www.thaiall.com/research/vdo_aricle_yookmag.doc
ระบบการปรับปรุงรายงานขาดลาสายออนไลน์
22 ม.ค.53 วัตถุประสงค์ของระบบคือ ปรับปรุงข้อมูลที่ใช้รายงานจำนวนวันและชั่วโมง ที่บุคลากร ขาด ลา และสาย ให้บริการแก่บุคลากร หัวหน้างาน และผู้บริหาร ให้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่สรุปภาพรวมของแต่ละเดือน กลไกที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามระบบ คือ บุคากรที่หัวหน้างานทรัพยากรบุคคลมอบหมายให้ดำเนินการมีหน้าที่ดำเนินการทุกสิ้นเดือน และทำไปพร้อมกับการจัดทำรายงานการขาดลาสายของบุคลากรเสนอต่อผู้บริหาร
มีขั้นตอนดังนี้ ๑) จัดทำรายงานการขาดลาสายของบุคลากรเสนอต่อผู้บริหาร แล้วบันทึกข้อมูลด้วย MS Excel ๒) เปิดแฟ้มข้อมูลต้นแบบ ๔ แฟ้มในเครื่องของตนเอง คือ ๒.๑ แฟ้มข้อมูลบุคลากร (empl.csv) ๒.๒ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของเจ้าหน้าที่ (leavework_officer.csv) ๒.๓ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของพนักงาน (leavework_empl.csv) ๒.๔ แฟ้มข้อมูลการขาดลาของอาจารย์ (leavework_ajarn.csv) แล้วปรับปรุงข้อมูลด้วยการเพิ่มข้อมูลเดือนใหม่ หรือเพิ่มลบบุคลากร ๓) เข้าสู่ระบบ e-document ของมหาวิทยาลัยในห้อง person ๔) upload แฟ้มทั้ง ๔ ที่มีรูปแบบเป็น CSV ๕) เข้าระบบอินทราเน็ตตรวจสอบการปรับปรุงว่ามีการรายงานข้อมูลการขาดลาสายถูกต้องหรือไม่ ๖) แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ
ระบบหรือขั้นตอนการปรับปรุงผลการเรียนออนไลน์
22 ม.ค.53 นำขั้นตอนเดิมที่เผยแพร่เมื่อ 25 พ.ย.2552 มาปรับปรุง และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการคิดต่อในการเขียนระบบและขั้นตอนของงานหน่วยอื่นต่อไป โดยมีรายละเอียดใหม่ดังนี้ วัตถุประสงค์ของระบบคือ ปรับปรุงข้อมูลผลการเรียนของนักศึกษา ที่ให้บริการแก่นักศึกษาตรวจผลการเรียนด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ให้เป็นข้อมูลล่าสุดหลังจากคณะวิชาส่งผลการเรียนทุกสิ้นภาคการศึกษา กลไกที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามระบบ คือ บุคลากรที่หัวหน้างานทะเบียนมอบหมายให้ดำเนินการมีหน้าที่ดำเนินการทุกสิ้นภาคการศึกษา และหลังเปิดภาคเรียนไปแล้วประมาณ ๓ สัปดาห์
มีขั้นตอนดังนี้ ๑) งานทะเบียนรับผลการเรียนจากอาจารย์ผู้สอนในแต่ละคณะวิชา ๒) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แล้วกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล ๓) เลือกส่งออกข้อมูลที่จำเป็นไปเป็นแฟ้มข้อมูลเฉพาะเรื่อง ได้แก่ แฟ้มผลการเรียน แฟ้มอาจารย์ และแฟ้มวิชา ให้อยู่ในแฟ้มที่มีรูปแบบเป็น CSV ๔) เข้าสู่ระบบ e-document ของมหาวิทยาลัยในห้อง grade ๕) upload แฟ้มผลการเรียนเฉพาะเรื่องที่มีรูปแบบเป็น CSV สำหรับแฟ้มผลการเรียนให้แยกเป็นภาคเรียนละ ๑ แฟ้ม ๖) สั่งปรับปรุงข้อมูลในเครื่อง yn1 โดยใช้ข้อมูลจากเครื่อง it ให้มีข้อมูลตรงกัน โดยมีตัวอย่าง URL ดังนี้ http://yn1.yonok.ac.th/grade/_regist20083.php ๗) ตรวจสอบผลการปรับปรุงว่านักศึกษาได้ข้อมูลผลการเรียนล่าสุดของตนหรือไม่ จาก URL ดังนี้ http://www.yonok.ac.th/grade ๘) ประชาสัมพันธ์ให้คณะวิชา และนักศึกษาได้รับทราบ
เก็บ log ของผู้ใช้ระบบอินทราเน็ตไม่เข้า
19 ม.ค.53 เมื่อ 2 วันก่อนคือวันอังคารที่ผ่านมา พบปัญหาว่า อ.อติชาต หาญชาญชัย เข้าสู่ระบบอินทราเน็ต (เป็นผู้ทดสอบที่ไม่ได้มาจากการรับบันทึกเชิญชวนบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เข้าทดสอบระบบ แต่มาจากการบอกต่อของบุคลากร) สิ่งที่พบคือไม่แสดงข้อมูลการเข้าใช้ในระบบเก็บ log และจำนวนผู้ใช้หยุดที่จำนวน 27 คนเท่านั้น จึงแจ้งไปยังคุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ ว่าเกิดอะไรขึ้น มีการปรับข้อมูลอะไรหรือไม่ เพราะข้อมูลล่าสุดเป็นของวันที่ 15 ม.ค.53 แล้วผมก็เห็นกับตาว่าท่านได้เข้าใช้ระบบเมื่อวานนี้ และผลลัพธ์ใน log ไม่ถูกปรับอย่างที่ควรจะเป็น เวลาผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ได้ทราบว่าพบปัญหาจริง แต่ยังแก้ไขไม่สำเร็จ เพราะ code ทำงานในเครื่องจำลองที่ใช้เป็นฐานในการพัฒนานั้นทำงานอย่างถูกต้อง มีข้อสงสัยว่าระบบ mysql ในเครื่องหลักมีปัญหา .. ก็สงสัยว่าจริงหรือ
เมื่อผมเข้าไปดู code ก็พบว่าปกติ แต่ insert record ใหม่ไม่เข้าเท่านั้น ไปตรวจจำนวนระเบียนพบว่ามี 127 ระเบียน และไม่มีการเพิ่มขึ้นอีก .. นึกไปนึกมา ก็นึกได้ว่า 127 คือครึ่งหนึ่งของ 256 ซึ่งเป็นเลขที่อาจเป็นข้อจำกัดของ data type ที่เก็บข้อมูล จึงเข้าไปดูโครงสร้างแฟ้มด้วย phpmyadmin ก็พบว่า autonumber กำหนดเป็น tinyint ซึ่งรับระหว่าง -128 – 127 เมื่อแก้ไขเป็น int แล้ว ก็เก็บข้อมูลของผู้ที่ login เข้าสู่ระบบได้ตามปกติ ถึงวันนี้มีผู้เข้าระบบไปแล้ว 33 คน สำหรับคณะวิทย์ฯ มีบุคลากรเข้าใช้งานไปแล้วร้อยละ 75 ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบในระดับคณะวิชาด้วยกัน
หัวหน้าทักว่าทำไมไม่เขียน blog อีก .. ต้องตอบ
20 ม.ค.53 หลายวันมานี้ผมติดภารกิจ มีหลายเรื่องที่แก้ไม่ตก ส่วนเรื่องเขียนนั้น ผมก็เขียนตามปกติไว้ที่ thaiall.com/blog แต่ไม่ได้เขียนที่ blog ของโยนก เพราะเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัว อาจเป็นแง่ลบต่อสังคมโยนก และสังคมมนุษย์ ที่ไม่อยากให้เกิดบูมเมอแรงเข้าตัว จึงไปเขียนนอกโยนก อย่าง 2 เรื่องล่าสุดที่เขียนไป คือ pr ซึ่งเป็นประสบการณ์เกี่ยวกับ sw ที่ไม่เหมาะนักและไม่อยากให้โยนกติดร่างแห่ไปด้วย อีกเรื่องคือเรื่องอุบัติเหตุจากการฟ้อนรำ ซึ่งผมคิดว่ามนุษย์เราควรเลิกได้แล้วเรื่องการเอาผู้หญิงมาฟ้อนรำ เป็นการไม่ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน .. ก็เป็นการแบ่งปันความเชื่อให้ชวนคิดกันเท่านั้นครับ ว่าสิ่งที่เราทำอาจไม่ถูกทุกเรื่อง และสิ่งที่ถูกอาจยังไม่ได้ทำ
ผ่านไปอีกเรื่องกับ pr 4
20 ม.ค.53 วันนี้ clear ปัญหา pr 4 ไปได้ระดับหนึ่ง เหตุเกิดจากมีนักศึกษาคือ กร กับปราง ทำโครงงานตัดต่อวีดีโอ ทั้งสองเป็นเจ้าของเว็บไซต์ goto69.com และ ldy69.com แต่พวกเขาบ่นเรื่องปัญหาการตัดต่อให้ฟังหลายประเด็น เช่น โหลดไม่เข้า มีสีแดงแทรก ตัดเสียงรบกวนไม่ได้ ซึ่งชื่อเสียงของ pr 4 นั้นเรียกได้ว่าสุดยอดในด้านนี้ ผมเองเคยใช้แต่ movie maker กับ proshow ในการตัดต่อภาพยนต์ ประกอบกับหาคนเล่าเรื่อง pr ในอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยพบ อีกประเด็น คือ ต้องการตัดต่อวีดีโอด้านการศึกษาเผยแพร่ใน youtube.com เป็นเหตุให้คิดจะใช้ pr สักครั้งกับเครื่องที่มีแรมสองเม็กขึ้นไปที่มีอยู่ในบ้านให้เกิดประโยชน์
ใช้เวลา 3 วันกับเรื่องนี้ วันแรกดาวน์โหลดใช้เวลา 1 คืนกับอีก 1 วันกว่าจะโหลดสำเร็จ มาลงแผ่น DVD ขนาด 4 GB เกือบเต็มแผ่น วันที่สองใช้โปรแกรมที่ได้จากเน็ตมาติดตั้ง ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง แล้วทำตามขั้นตอนที่แนะนำมากับแผ่น แต่ก็มีปัญหาเรื่อง license จึงได้คัดลอกแฟ้มที่ให้มาลงไปในห้องต่าง ๆ ตามที่แนะนำมา แต่ก็เรียกใช้ pr ไม่สำเร็จ ตอนเรียกใช้โปรแกรม pr จะดับไปเฉยตั้งแต่เริ่มต้น อาการนี้ไม่เกิดกับโปรแกรมอื่นในตระกูลนี้ หลังทดสอบเปิดปิดหลายโปรแกรม เมื่อเปิด pr อีกครั้งก็พบว่าเปิดได้ แต่พบว่า import movie ไม่เข้า มีข้อความว่า format unsupport จึงตัดสินใจ upgrade เป็น 4.2.1 แต่ก็มีปัญหาเหมือนเดิม วันที่สามได้แผ่นจากคุณธรณินทร์มาเป็นรุ่น 4.0.0 ติดตั้งครั้งแรก พบปัญหาเดิมคือ pr shutdown ขณะ start จึงตัดสินใจ uninstall แล้วลบ folder ให้ clear เมื่อติดตั้งอีกครั้งก็ใช้งานได้ ไปจนถึงการ export เป็น flv พบว่าไม่มีปัญหา แต่ export นานมากเหมือนที่ปรางเล่าให้ฟังจริง หนังยาวสิบสี่นาทีใช้เวลา encode กว่า 50 นาทีแล้ว
การใช้งาน pr ยังมีปัญหาเหมือนวันแรกซ่อนอยู่ คือ เปิดขึ้นมาแล้วดับไปเฉยเลย พบวิธีหนีปัญหา คือ เปิดโปรแกรมนี้ 2 – 6 รอบ ก็จะใช้งานได้รอบสุดท้ายนั้น เครื่องที่ใช้เป็น drive f ที่ลงโปรแกรมครบชุดกับฮาร์ดแวร์ มิได้ลงใน os ตัวที่เหลือที่ค่อนข้างสะอาดกว่า แต่ os ตัวนี้เป็นตัวที่ใช้ option ของ asus ค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเป็นไปได้ว่าเกิดจาก software confict แต่ก็ยังไม่ได้ทดสอบปิดบริการทีละตัวเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง .. บางปัญหาปล่อยไปบ้างก็น่าจะดี