เตรียมเครื่องไว้รวมพลคนใช้ notebook สู่ภัยไวรัส

13 ก.ค.52 วันนี้ได้เครื่องคอมพิวเตอร์ ASUS คุณสมบัติ คือ Pentium T3400 2.16 GHz, Ram DDRII SO-DIMM 2 GB ของ KingMax, HD 250 GB ในกล่องเครื่องคอมพิวเตอร์มี Driver CD-ROM แถมมา 3 แผ่น แผ่นแรก คือ F80Q : N3033 สำหรับระบบปฏิบัติการ XP แผ่นที่สอง คือ F80Q : N2790 สำหรับระบบปฏิบัติการ Vista แผ่นที่สาม คือ โปรแกรมแถมมาที่ไม่น่าสนใจพอที่จะให้ผมทดลองติดตั้งใช้งาน เครื่องที่ได้มาติดตั้งระบบปฏิบัติการไปเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนด Drive C ให้มีโปรแกรมเพียง Drive เดียว ส่วน Drive D เป็น CD-ROM และ Drive E กับ Drive F เป็นห้องเปล่า ซึ่งมีการแบ่ง Drive ไว้ 3 Drive ขนาด 77 GB เท่ากันหมด

     วันนี้จึงทดสอบติดตั้งระบบปฏิบัติการเพิ่มอีก 3 รุ่นลงไปในเครื่องเพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้ โดยเลือกให้ Drive C มี 1 ระบบ Drive E มี 2 ระบบ และ Drive F เป็น Server อีก 1 ระบบ ก็ได้คำแนะนำจากคุณอนุชิต ยอดใจยา เรื่องระบบปฏิบัติการแต่ละรุ่น และการ setup wifi ของ ASUS ที่มีความซับซ้อนอยู่บ้าง ส่วน driver ผมติดตั้งแบบจากแผ่นทุกตัวบนทุกระบบปฏิบัติการ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อระบบ ตอนติดตั้ง driver เครื่องจะสั่ง restart ตัวเอง ผมก็ไปหยุดการ restart ด้วยคำสั่ง shutdown -a พอตั้งสติได้ว่า นั่นคือการสั่ง reboot เพื่อ clear config ก็สั่ง restart ให้เขาอีกครั้ง

          อุปสรรคที่ทำให้คนใจร้อนอย่างผมไม่สบายใจนัก คือ แผ่นซีดีที่เตรียมไว้ มีปัญหากันทุกแผ่น ต้องคอยสั่ง skip file ที่เสีย และหวังว่าจะไม่กระทบต่อการทำงานของระบบปฏิบัติการหลัก ตัวอย่างเช่น ระบบ Server ที่ผมพยายามติดตั้งไปถึง 3 รอบ เพราะแฟ้มเสียในขณะคัดลอกแฟ้ม ก็สงสัยว่าเกิดอะไรกันแน่ พอสั่ง skip file จนดำเนินการไปถึงการติดตั้งเสร็จ ก็ไม่มีอาการอะไรน่าเป็นห่วง คงต้องไปลุ่นตอนใช้งานแต่ละฟังก์ชันของระบบ ส่วนระบบสุดท้ายติดตั้งเพิ่มเข้าไปกับระบบที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ มีอาการค่อนข้างหนัก เพราะติดตั้งภาษาไทยไม่สำเร็จ มีข้อความแจ้งว่าแฟ้มเสียติดตั้งไม่ได้ ก็ต้องทำใจและติดตั้งเข้าไปแบบไม่ใช้ภาษาไทย คงสรุปว่าแผ่นซีดีสมัยนี้อายุสั้นกันเหลือเกิน แผ่นที่ดีที่สุดของวันนี้เห็นจะมีแต่ driver ที่แกะออกมาจากกล่องเท่านั้นที่ไม่เกเร

     นี่ก็ดึกมากแล้วพอเที่ยงคืนแล้วตาฟาง (ดังคำว่าสัตว์โลกย่อเป็นไปตามกรรม) จึงมีแผนว่าวันต่อ ๆ ไปว่าจะลง deepfreeze ใน drive c จะได้ไม่มีไวรัสมากวน และติดตั้ง linux อีก 2 ระบบคือ fedora กับ plawan แต่ต้องหาโปรแกรม partition magic มาแยก partition สำหรับติดตั้งโปรแกรมเพิ่ม ทีแรกว่าจะทำให้เสร็จวันนี้ แต่หาโปรแกรมไม่พบซะแล้ว ถ้าเรียบร้อยก็จะเตรียมระดมพลคนใช้โน๊ตบุ๊ค และแนะนำการติดตั้งหลายระบบปฏิบัติการ พร้อมการติดตั้งโปรแกรมฆ่าไวรัสแบบแยกระบบปฏิบัติการ และการลง deepfreeze แช่แข็งระบบปฏิบัติการหลัก จะได้ไม่มีปัญหามากวนใจเครื่องของผู้ใช้โน๊ตบุ๊คอีก ส่วน linux ก็ติดตั้งเพื่อช่วยงาน และเรียนรู้ร่วมกับ คุณอนุชิต ยอดใจยา นั่นหละครับ เห็นเขาดูแลเครื่องบริการเพียงลำพังแล้วก็อยากเรียนรู้ด้วยตามประสาคนคุ้นเคย

เข้าวัดถือศีล สวดมนต์ นั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติธรรม

7-8 ก.ค.52 อาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง นุ่งขาวห่มขาว รักษาศีล สวดมนต์ นั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เดินจงกลม รับประทานอาหารเจ ฟังเทศ สนทนาธรรมกับพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ ร่วมกับคนในหมู่บ้านไหล่หิน ณ วัดชัยมงคลธรรมวราราม ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ตามโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในสัปดาห์วันอาสาฬหบูชา ในโอกาสนี้ได้ร่วมทำบุญบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ชมนิทรรศการแสดงพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุในวิหารหลวง พบว่าขณะปฏิบัติธรรมจิตสงบขึ้น เห็นหนทางสู่การพ้นทุกข์ ตามหลักอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
+ http://www.thaiall.com/dhamma/

นำเสนองานวิจัยในเวทีของ กศน.

ภาพเป็นข่าวส่งลง นสพ.ฅนเมืองเหนือ
ภาพเป็นข่าวส่งลง นสพ.ฅนเมืองเหนือ

ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโยนก นำเสนอโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง บ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ในงานการประชุมสัมนางานวิจัย “โครงการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปีงบประมาณ 2552”  ณ โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ยิ่ง กีรติบูรณะ และ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ เป็นผู้วิพากษ์การนำเสนอโครงการวิจัย ระหว่าง 29-30 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา

     ภาพ ผอ.อวิรุทธิ์  ภักดีสุวรรณ (มุมล่างซ้าย) จากจังหวัดมหาสารคาม ท่านเป็นผู้นำเสนอโครงการ “รูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข บ้านเหล่าน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม” ท่านกรุณาสลับกับผมถ่ายภาพในฐานะผู้นำเสนอ และผมได้รับความอนุเคราะห์แฟ้มรายงานโครงการจากท่าน มาเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการวางแผน และดำเนินการจัดทำโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขในลำปาง ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้คัดลอกให้กับผู้เกี่ยวข้องไป 4 ท่านแล้ว คือ อ.ชิน อ.วันชาติ อ.ศรีศุกร์ และอ.ออย เท่าที่ได้ฟังการนำเสนอก็พบว่า กศน.มีจุดแข็งในการทำหัวข้อนี้ชัดเจนจากการเข้าไปคลุกคลี และได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ไข้หวัดใหญ่ 2009 (H1N1) ที่ลำปาง จว.ที่ 45

ตรวจไข้ถึงสถาบันการศึกษา
ตรวจไข้ถึงสถาบันการศึกษา

 3 ก.ค.52 วันนี้วันศุกร์พอดี จากนี้ก็หยุดยาวเข้าพรรษาถึงวันพุธ หน้าเหตุเกิดเพราะนายอั๋น  เป็นผู้ป่วยรายแรกของลำปางที่ยืนยันว่า ติดเชื้อไข้หวัด 2009 จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยืนยันผู้ติดเชื้อแล้ว 1710 ราย อยู่ระหว่างการตรวจในห้องปฏิบัติการ อีก 2371 ราย เฉพาะวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 154 ราย เป็นนักเรียน 125 ราย หากดูที่จังหวัดจะพบว่ายืนยันแล้วพบใน กทม.มี 1031 จาก 1710 ราย หากแยกเป็นจังหวัดอันดับ 2 คือ นนทบุรี 219 ราย อันดับ 3 คือ ปทุมธานี 111 ราย ใกล้ลำปางก็จะมี เชียงใหม่ 9 ราย ลำพูน 2 ราย ส่วนลำปางอย่างน้อยก็ 1 ราย  เพราะน.ศ.ในลำปาง 5 คน คือ มล ดี ดุล พร และนิเทศหนึ่ง  กับอ.ท อยู่ในข่ายเฝ้าระวังส่งเลือดและเอ็กซเรย์ส่งไปเชียงใหม่ ที่สงสัยกันคือวันเสาร์ไปแข่ง Go ที่เชียงใหม่ ตัวอั๋นมีเวลาใกล้ชิดกับเพื่อนในห้อง ที่ร่วมแข่ง และอาจารย์ผู้สอน พอวันอังคารอั๋นก็เข้า โรงพยาบาล ทราบผลยืนยันเย็นวันพฤหัสบดี แต่ตัวอั๋นอาการดีขึ้นมาก อาจได้กลับบ้านก็วันนี้ รออนุมัติจากแพทย์ พี่ชายคือ อ.ด ที่ใกล้ชิด หรือพี่แรมที่พาส่งโรงพยาบาล ก็ไม่มีอาการอะไรเลย น่าจะเป็นเหมือนในข่าวที่บอกว่าเชื่อนี้อาจไม่ทำอันตรายกับบางคนที่มีภูมิ หรือมีอาการน้อยมากจนไม่มากพอที่จะเข้าโรงพยาบาลก็เป็นได้

     น่าตกใจที่โรคนี้แพร่เร็วมาก หลายประเทศยกระดับเป็น 6 แล้ว เช่น ฝรั่งเศส ลำปางคงเป็นจังหวัดที่ 45 ที่มีรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อ สาธารณะสุขยกทีมมาให้คำแนะนำถึงสถาบัน และตรวจคัดกรองในเบื้องต้น แต่ก็ไม่พบอะไรมากนัก ยกเว้นกลุ่มเพื่อนที่ไปแข่งโกะที่เชียงใหม่ 3 คน ซึ่งพากันเข้าร่วมงานแห่เทียนพรรษาเช้านี้ ซึ่งผมขอให้ คุณแบงค์ พาไปส่งโรงพยาบาลจากอาการไข้ และไอ ที่ออกมาชัดเจนตั้งแต่ ตอนเช้าแล้ว จากสถิติของสาธารณสุข พบว่าทั้งโลกมีผู้ป่วยที่ยืนยันใน 120 ประเทศรวม 77201 คน เสียชีวิต 332 คน คิดเป็นโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.43 ทั้งโลกมีอเมริกาเป็นอันดับ 1 คือ 27717 คน เสียชีวิต 127 คน อันดับ 2 คือ แคนนาดา 7983 คนเสียชีวิต 25 อันดับ 3 คือเม็กซิโก  8680 คน เสียชีวิต 116 คน อันดับ 4 คือ อังกฤษ 6538 เสียชีวิต 3 เรื่องนี้คงไม่จบเพียงเท่านี้ ในฤดูที่ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกกำลังระบาด เราเรายังคงต้องติดตาม ระวังตนเอง ล้างมือ ไม่ใกล้ชิดผู้ต้องสงสัย ศึกษาข้อมูล และเตรียมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

http://beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=2110271&Itemid=242

รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 4/2552

แห่เทียนพรรษา
แห่เทียนพรรษา

3 ก.ค.52 1)นำเสนองานวิจัยงานศพฯ กทม. ที่ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ชวนไปนำเสนอในเวทีนำเสนองานวิจัย ของกศน.2009 ให้กับผู้บริหารกศน.จากทุกภาคได้ร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 180 ท่าน เพราะท่านได้ฟัง อ.ราตรี ดวงไชย ทีมวิจัยของผมนำเสนอในเวทียุทธศาสตร์การศึกษาของสกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่บ้านเสานัก (ครั้งนั้นผมไปนำเสนองานวิจัยฐานข้อมูลการประเมินตนเองที่ มจพ.) ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม แบบ PAR = Participatory Action Research หรือ CBR=Community-Based Research แล้วผมได้มีโอกาสพบกับผอ.ของมหาสารคาม ซึ่งท่านนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยใช้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านในลำปาง แล้วผมได้คัดลอกรายงานทั้งเล่มให้กับ อ.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ อ.วันชาติ นภาศรี อ.ชินพันธ์ และน้องออย ผมว่ารายงานฉบับนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้ผมนึกถึงจุดแข็งที่ กศน.มีในบทบาทที่ใกล้ชิดชุมชนและมีเครื่องมือในการพัฒนาหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขอย่างชัดเจน นี่เป็น output จากการที่อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ อนุญาตให้ผมได้ไปนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ 2) งานแข่งฟ้อนเล็บเป็นส่วนหนึ่งของงานแห่เทียนปีนี้ ผมร่วมเป็นกำลังใจในฐานะคณะวิทย์ใน งานประกวดฟ้อนเล็บของนักศึกษามหาวิทยาลัยของเรา ที่สวนเขลางค์ในเย็นวันพฤหัสบดีที่ 2  ก.ค.52 ซึ่งทีมของเราพลาดรางวัลด้านการฟ้อนเล็บไปอย่างน่าเสียดาย ข้อสังเกตที่พบคือ 2.1) ช่างฟ้อนมีมากกว่าคนดูอย่างเห็นได้ชัด แต่ละกลุ่มที่ส่งช่างฟ้อนเข้าประกวดมีกำลังใจตามมาด้วย ไม่มาก อย่างของมหาวิทยาลัยเรามีเพียงผมกับน้องเอ็มและพี่บุญมีเท่านั้น และไม่ต่างกับทีมอื่น  2.2)ส่วนผู้จัดงาน คือเทศบาลนครลำปางก็จะมีกรรมการ 2.3)ผู้ที่มาออกกำลังกายมากมายใน สวนก็ให้ความสนใจกับการรำครั้งนี้น้อยมาก สังเกตุได้จากจำนวนคนดูที่รายล้อมแทบไม่มี 2.4)ช่างฟ้อนที่มาแข่งก็มิได้สนใจการร่ายรำของคู่แข่ง ถ้าไม่ไปซ้อมของตนเอง ก็นั่งรอเวลา ส่วนกลุ่มที่รำเสร็จก่อนก็จะกลับกันก่อนหลังแข่งเสร็จเป็นส่วนใหญ่ 2.5)ความเห็นเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมคงพูดได้แต่คำว่าน่าเป็นห่วง และอยู่ในวิกฤตขาลงอย่างชัดเจน ในสังคมวัตถุนิยม 3)งานแห่เทียนเริ่มตั้งแต่ 7.00น. อ.ศรีศุกร์ นิลกรรณ์ติดต่อรถขนทหารจากค่ายสุรศักดิ์มนตรีเป็นการด่วนเมื่อวาน แล้วผมก็เซ็นบันทึกออกของคณะวิทย์ฯ ขออนุมัติท่านอธิการเมื่อวานเย็นในฐานะผู้ดูแลการเดินทางของนักศึกษา ว่าขออนุมัติวงเงินค่าน้ำมันกับค่าเบี้ยในกรอบ 700 บาท ก็เกือบมีปัญหาเรื่องการเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้าง เพราะคุณเปรมจิตติดต่อเช่ารถบัสไม่ทันด้วยเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนั้น สรุปว่าเช้ามาก็จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงกับค่าน้ำมันรวม 500 บาท ให้กับทหารท่านไป จากเดิมตั้งงบเช้ารถปรับอากาศ 2000 บาท ล้อหมุน 7.15น. มีทั้งหมด 43 คนในนั้นเป็นบุคลากร 10 คน นายกเทศบาลนครลำปางกล่าวรายงาน 8.00น. แล้วผู้ว่าก็กล่าวเปิด ขบวนเลื่อน 9.00น. ถึงวัดบุญวาทย์ 10.00น. ไปทำบุญถวายเทียนวัดพระบาทผู้บริหารไปกันหลายท่าน อาทิ คณบดีคณะสังคมฯ คณบดีคณะบริหาร ผช.ฝ่ายกิจการนักศึกษา เสร็จพิธีประมาณ 11.00น. ทุกอย่างเรียบร้อยดียกเว้นตัวผมดูโทรมไปนิด เพราะเดินไปกับรถขบวนเหมือนนักศึกษาและเพื่อนร่วมงานที่ไปด้วยกันท่ามกลางแดดร้อน

กว่าจะถึงงานเลี้ยงศิษย์ใหม่

งานเลี้ยงน้องใหม่
งานเลี้ยงน้องใหม่

25 มิ.ย.52 วันนี้มีกิจกรรม 3 ลักษณะคือ ไหว้ครู กีฬา และงานเลี้ยงศิษย์ใหม่ 1)ช่วงเช้าในห้องประชุมอาจารย์เข้าร่วมเป็นเกียรติกันหนาตา ศิษย์มอบพานคือ นาย เจ เหมียว โอม ศิษย์ที่เก่งก็รับมอบเกียรติบัตร อรพรรณ และศรัญญา 2) บ่ายโมงก็ไปพบกันที่แสตนท์ พี่ริน อ.เอก อ.นุ้ย อ.แต อ.บุ๋ม และผม ก็ไปร่วมกิจกรรม ร้องเพลงกันสนุก ถ่ายวีดีโอตอนบูม อัพขึ้น youtube.com ไว้ 1 ตอน หาคำว่า “yonok boom” ใน google.com ก็จะพบ แม้แดดจะร้อน แต่ด้วยความสามัคคี พวกเราก็ชินในที่สุด ยิ่งแข่งแล้วชนะที่ 1 จนได้รับมอบขนมจากท่านอธิการมา 1 กล่อง ก็แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในปีนี้ อาจารย์เจ้าหน้าที่ก็ไปเชียร์กันเกือบทั้งคณะ ลูกศิษย์เห็นก็มีกำลังใจ 3)ตกเย็น พี่ ๆ แต่งตัวไปงานพรอม สวยเลิศด้วยสีสรรค์ และลวดลาย ก็รู้สึกว่าสุดเหวี่ยงก็งานนี้หละ น้องเจ กับน้องนาย เป็นตัวแทนคณะร่วมกิจกรรมประกวดดาวกับเดือน แสดงความสามารถเต็มที่  แม้ไม่ได้รางวัลที่ 1 ของมหาวิทยาลัย แต่ได้กำลังใจจากทุกคนในคณะไปเต็ม ๆ การจัดงานผ่านไปเรามีเต้นท์ปีนี้ 2 ผืน ขึงเป็นหลังคา 2 ชั้นป้องกันแดดทะลุได้ระดับหนึ่ง ซื้อใหม่ขนาดจตุรัส 6 * 6 เมตร กับผืนเก่าน่าจะ 4 * 8 อีก 1 ผืนทั้งหมดเก็บไว้ในชั้น 1 หลังห้องประชุมตึกคริสต์ ส่วนค่าใช้จ่ายนักศึกษาลงขันกันคนละ 20 บาท แล้วอาจารย์ก็แสดงพลังสนับสนุนส่วนที่เกิน
+ ส่วนภาพถ่ายมีเผยแพร่ทั้งใน hi5.com และ yonok.ac.th ลองเข้าไปชมกันได้ครับ
+ http://www.thaiabc.com/photo/photo_yn_freshy52.zip 13 MB

เตรียมงานไหว้ครู กีฬา freshy night กับน.ศ.

freshy

23 มิ.ย.52 กิจกรรมวันนี้มาในหลายอารมณ์ ช่วงเช้าแก้ไขปัญหา e-learning system, google apps และ blog ได้สำเร็จ ประชุมวางแผน และทบทวนการทำงานกับทีมไอที มีตุ้ย กับแบงค์ ส่วนเอกยังไม่เข้ามา ช่วงสายหน่อยก็เคลียร์เรื่องเตรียมตัวไปนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการงานวิจัย กศน.ประจำปี 2552 ที่ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ได้ชวนไปนำเสนอผลงานจากภาคเหนือที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชุมชน ตอนบ่ายก็เคลียร์เรื่องต้องประชุมวิจัยพรุ่งนี้กับ อ.วันชาติ ที่ต้องนำเสนองานวิจัยระบบฐานข้อมูล ด้านการประกันคุณภาพ แต่ประเด็นใหญ่คือการนำเสนอความคลาดเคลื่อนเพื่อให้เกิดความตระหนัก
      บ่าย 2 ครึ่ง นายอั๋น ก็โทรมาชวนไปให้กำลังใจใต้หอหญิง หาเสบียงไปเสริมในการทำพาน ซึ่ง อ.เกศริน ก็แจ้งว่างบของมหาวิทยาลัยมีให้ 750 ประกอบด้วยทำพาน 250 และจัดแสตนท์ 500 ทำให้ผมทราบวงเงินที่รวมกับการเก็บค่าทำพานคนละ 20 บาทจากนักศึกษาก็ได้อีกประมาณ 700 บาท รวมเป็น 1450 บาท แต่เงินสำรองก้อนแรก 500 ที่นายอั๋นกับเพื่อนไปซื้อของทำพานเกินงบไปแล้ว ก่อนพานเสร็จโดยสมบูรณ์ อ.แนน ก็มาเยี่ยม พานเสร็จเร็วในเวลาเกือบ 5 โมง เพราะมีของ มีแบบ มีคน น้องปี 1 ต่อเนื่องมาร่วมเกือบครบ นายอั๋นกับเพื่อนขอใช้งบอีก 1200 บาท ไปซื้ออุปกรณ์ทำแสตนท์ ก็มีรายการใหญ่คือ ผ้าลาน 6 * 6 กับอาหารเย็น ผมสั่งไปว่าขอไก่ 3 ตัว แต่ได้ไก่มา 2 ตัวกับอาหารอื่น ส่วนค่าแต่งตัวดาวกับเดือนอีก 500 บาท น้องดาที่เก็บเงินทำพานควักจ่ายไปก่อน
     6 โมงเย็น อั๋นกับเพื่อนนำอุปกรณ์แต่งเวทีและเสบียงมาที่แสตนท์ วางแผนกันเสร็จก็ทานข้าวเย็นร่วมกัน อ.แต ก็มาร่วมเป็นกำลังใจ น.ศ.ดูมีความสุขในการแต่งเวที ลงสีชื่อคณะบนแผ่นป้าย และยุ้ยวาดหมีแพนด้าตามกระแส ระหว่างนั้นน้องนายกับน้องเจ ที่เป็นดาวกับเดือนก็ซ้อมเต้นแม้ขลุกขลักบ้างในช่วงเย็น แต่ดึกหน่อยก็คลี่คลาย  เรื่องที่คลี่ไม่ได้คืออดุลทำกุญแจหาย แล้วหญ้าในสนามตัดสูงกว่า 3 นิ้ว ก็คงหากุญแจไม่พบแน่ เวทีหันหน้าเข้าหาแสงอาทิตย์ ผมกับศิษย์ถกกันเรื่องการขึงผ้าลานพักหนึ่งกว่าจะลงตัว ช่วงหลังเราทำรั้วด้านหน้าได้อั๋นกับบอยที่ชำนาญในการตัดไม้ไผ่ ทำให้การทำรั่วหน้าแสตนท์ที่ผมคิดว่ายาก เป็นเรื่องง่ายไปซะงั้น ศิษย์กลุ่มสุดท้ายที่เหลือก็มี อั๋น บอย ปาง อดุล โบว์ โอ ยุ้ย นก ศรัญญา และน้องเศรษฐศาสตร์ สุดท้ายผมก็ยอมแพ้ในสังขารขอกลับบ้านตอน 3 ทุ่ม มาแวะดื่มนำเย็นที่ 7-11 พอดับกระหายได้ก็ตัดสินใจซื้อน้ำเย็น ๆ ไปฝากศิษย์ที่เหงื่อไหลไคลย้อยหน้าเวที ให้ได้ดื่มน้ำหวานเย็นชื่นใจ อย่างที่ผมได้ดื่ม เพื่อดับกระหายในยามกระหายมากมาก กลับถึงบ้านก็ upload รูปเด็กเข้า hi5  และมานั่งเขียนบันทึกนี่หละครับ

รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 3/2552

21 มิ.ย.52 1)งานบริการวิชาการที่ได้รับอนุมัติจาก อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ ให้ผมไปบริการวิชาการที่ กศน.แม่ทะ วันที่ 13-14 มิ.ย.52 ก็ได้ดำเนินการเป็นวิทยากรในหัวข้อ web template 2.0 เสร็จสิ้น แต่ได้ประสานเพิ่มเติมและรับเชิญเป็นวิทยากรอีกครั้งในหัวข้อ google apps เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิ.ย.52 ซึ่งมีอาจารย์เกศริน อินเพลา ร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ 2)การเตรียมงานพิธีไหว้ครู ได้ประสานกับนักศึกษา และเลือกให้เดือนกับดาวของคณะทำหน้าที่ถือพาน 2 พาน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 250 บาท ทำให้ปีนี้คณะจะมีพานใช้งานของคณะ และนักศึกษาเห็นชอบร่วมกันทำพานไหว้ครู โดยรวมกลุ่มกันในเย็นวันพุธที่ 24 มิ.ย.52 ถ้าอาจารย์ท่านใดสะดวกไปให้กำลังใจนักศึกษาในการทำพานแสดงความของคุณท่านก็ขอเชิญที่ใต้หอพักชาย 3)งานพิธีถวายเทียนพรรษา ซึ่ง อาจารย์เกศริน อินเพลา ได้ร่วมประชุมในครั้งแรก เมื่อผมร่วมประชุมในครั้งที่ 2 ก็ได้ข้อสรุปว่ามหาวิทยาลัยขอเชิญชวนนักศึกษาคณะละ 10 คน ซึ่งนักศึกษาแจ้งชื่อมาแล้ว เป็นงานบุญที่ชวนกันไปแสดงพลังที่สวนเขลางค์ แล้วไปแห่เทียนเข้าวัดพระบาท เพื่อถวายเทียนสู่วัดพระบาท ในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค.52 โดยคณะวิทย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลแถวขบวนแห่ 4)บทวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนที่สรุปโดยอ.วันชาติ นภาศรี draft แรก เขียนเสร็จแล้ว แต่สรุปเฉพาะส่วนขององค์ประกอบ และไม่แยกส่วนของตัวบ่งชี้ออกมาให้เด่นชัด และขาดบทวิเคราะห์เปรียบเทียบระดับคณะ ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนัก (Awareness) ให้แก่คณะ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคณะกำลังเตรียมข้อมูล เมื่อวิเคราะห์แล้วจะนำเสนอเวทีแรกในเวทีวิจัยที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 มิ.ย.52 โดยนำเสนอต่อยอดจากการนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยประกันคุณภาพของอาจารย์ศศิวิมลและทีมงานมหาวิทยาลัย 5)คณะแสดงบทบาทต่อชุมชนด้วยการนำเสนอความคิดเห็นด้านไอทีสู่สื่อท้องถิ่น ผมแจ้งให้ทราบว่า บทความไอทีในชีวิตประจำวัน ที่ 196 เขียนเรื่อง ความสำเร็จของระบบฐานความรู้ของโลก  ตีพิมพ์ 6 ก.ค. – 12 ก.ค.52

อบรมการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง

18 มิ.ย.52 มีการจัดอบรมการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ครั้งที่ 1 / 2552 รอบที่ 1 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 มหาวิทยาลัยโยนก โดยมีเจ้าหน้าที่ อาจารย์ และหัวหน้าสำนักงาน เข้ารับการอบรม 13 ท่าน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 11.00 – 12.00น. ซึ่งเป็นไปแผนงานใน โครงการวิจัย “พัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองของหน่วยงาน

      หัวข้อบรรยายดังนี้ 1) แจกคู่มือ ลงชื่อเข้าอบรม และแจกรหัสผ่านใหม่ 2) ชี้แจงวัตถุประสงค์ และประเด็น 2.1) ปรับคำอธิบาย และเงื่อนไขในเกณฑ์ ตามที่คุณเพชรี สุวรรณเลิศ นำเสนอในที่ประชุมผู้บริหาร ที่ สกอ. แก้ไขมีเอกสารประกอบ 36 หน้า 2.2) เพิ่มการเลือกปี เพื่อตรวจข้อมูลย้อนหลัง 2.3) แสดงผลวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อน 2.4) แก้ไขรหัสผู้ใช้เป็นภาษาอังกฤษ 2.5) เพิ่มการเชื่อม CDS เข้าองค์ประกอบในส่วนตรวจเอกสาร 3) ทบทวนการใช้งานโปรแกรม 3.1) การนำเข้าข้อมูลพื้นฐานด้วย excel หรือแก้เป็นรายการ 3.2) การกรอกข้อมูลเป้าหมาย ผลดำเนินงาน และผลประเมิน การนำไปทำรายงาน 4 ส และการนำเสนอร่วมกับข้อมูลพื้นฐาน 3.3) ใส่รายการหลักฐานได้ทั้งแบบทำเอกสารจนแล้วเสร็จ หรือทำงานบูรณาการโดยใช้เว็บเก็บข้อมูลเพื่อเข้าไปจัดทำร่วมกัน 4) ประเมินการอบรม และอื่น ๆ ( http://www.yonok.ac.th/sar )

อบรม web template และ google apps ที่กศน.แม่ทะ

ผู้ร่วมอบรม
ผู้ร่วมอบรม

12 – 13 มิ.ย 52  ผมไปเป็นวิทยากรอบรมการใช้งานระบบซีเอ็มเอส web template 2.0 ที่พัฒนาและเผยแพร่โดย อ.ศรีเชาวน์  วิหคโต มีคุณอนุชิต ยอดใจยาไปเป็นผู้ช่วย เราได้รับเชิญจาก ผอ.จรรยา จิรชีวะ ให้อบรมบุคลากร กศน.แม่ทะ  ณ ศูนย์การเรียนรู้ประวัติความเป็นมาแหล่งเรียนรู้อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง  ก่อนไปได้ปรับแต่งโปรแกรม thaiabc6.3 เพื่อเปิดบริการ Local Web Server ซึ่งมี web template 2.01 ในโปรแกรมนั้น ทำให้ฝึกจัดการ web template 2.01 ที่ผมปรับปรุงระบบความปลอดภัย สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ง่าย วันแรกปูพื้นฐานการเขียนเว็บ ซึ่งผู้เรียนหลายท่านไม่ถนัด แต่วันที่ 2 เรียนการเข้าจัดการเท่านั้น (ไม่สอน html) ทุกคนเข้าใจการปรับแต่งเว็บแบบ CMS ด้วยตนเอง ตามวัตถุประสงค์ของ ผอ. วัตถุประสงค์ของการอบรมคือ เพื่อให้ครูในแหล่งเรียนรู้แต่ละตำบลมีส่วนร่วมในการเข้าจัดการเว็บเพจของ กศน.แม่ทะ โดยแบ่งกลุ่มตามหัวข้อ และตามพื้นที่ แทนที่จะปล่อยให้ใครสักคนเป็นคนป้อนข้อมูล ก็จะหันมาแบ่งงานและรับผิดชอบร่วมกัน

     ในสัปดาห์ต่อมา วันที่ 20 มิ.ย.52 ไปเป็นวิทยากรอีกครั้งมี อ.เกศริน อินเพลา เป็นผู้ช่วยในการอบรมการใช้ google apps ซึ่งรุ่นของระบบที่ กศน.ลำปาง และกศน.กรุงเทพฯ เคยขอใช้จาก google เพื่อเปิดบริการแก่บุคลากรในกศน. ต่างกับ google apps ที่ผมขอใช้บริการล่าสุด เพื่อเตรียมสอน โดยเฉพาะเรื่อง start page กับ page creater นั้นไม่พบใน google apps รุ่นใหม่ แต่พบเรื่อง site แทน และ site ก็ไม่มีใน google apps รุ่นเก่า แต่ระยะเวลาการอบรม 1 วันก็เหมาะกับ 4 หัวข้อคือ email, talk, calendar และ document วัตถุประสงค์ของการอบรมคือ เพื่อใช้งานระบบการสื่อสารและระบบสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ตามแนว enterprise 2.0 ผ่านบริการของ google apps ที่กศน. ลำปาง และกศน.ทั่วประเทศเข้ารับการอบรม ครั้งนี้จึงเป็นการขยายความสามารถในระดับครู เพื่อทำให้การสื่อสารระหว่างครู กับผอ. สามารถเกิดขึ้นได้

     ผู้เข้าร่วมอบรมน่ารักทุกคน โดยเฉพาะเรียน google talk แล้ว หลายคนก็ใช้หูฟังกับไมค์คุยกันเพลินเลยครับ ผู้เรียนประกอบด้วย 1)นางสาวนันท์นภัสร์ ศรีวิเชียร 2)นางกมลนันท์  ธรรมนพ 3)นายทาน จันทะปัน 4)นางลำดวน วงศ์สาย 5)นางเทียมจิตร เพชรล้ำ 6)นางธิติยา  แก้วเมืองมา 7)นางสายไหม  กรรเชียง 8)นางสาวอรวรรณ  มานันไชย 9)นางสาวจุฬารัตน์ วงศ์ษา 10)นางสาวนงคราญ  ใจตา 11)นางสาวกาญจนา  กิ่งแก้ว 12)นางกรชนก มังคะวงศ์ 13)นางสาวบงกช  เกิดในวงศ์ 14)นางสาวไพรินทร์   สุวรรณจักร 15)นางอัฉราภรณ์   คำพิชัย 16)นางสาวมนัสวี  จิรชีวะ 17)นางสาวธัญจิรา  บุญรักษา 18)นางสาววิไลลักษณ์  บุญปันเชื้อ 19)นางสาวทัศนีย์  เพชรตา 20)นายธนวัฒน์  ปันสุทะ 21)นายวุฒิพงศ์  เครือวงศ์ปิง 22)นางสาวปิยะกาญน์  เลิศจุ่ม 23)นายณรงค์  จักรจันทร์ 24)ผอ.จรรยา จิรชีวะ ( ภาพทุกคน )

     ผลการให้บริการวิชาการครั้งนี้ ทำให้ผม และผู้ช่วยทั้ง 2 ท่าน ได้เรียนรู้ระบบ CMS อีกโปรแกรมหนึ่งที่พัฒนาโดยใช้ text file และถูกใช้งานในกศน.ลำปาง และกศน.อำเภอ ได้เข้าไปศึกษาโปรแกรม ปรับแต่งให้เหมาะกับการอบรม และนำเสนอให้คนทั่วไปได้นำไปเรียนรู้และใช้งาน และนำเสนอลงสื่อท้องถิ่นด้วยภาพข่าวกิจกรรมบริการวิชาการ ผ่านสำนักประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย ส่วน google apps จะได้ไปเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย และคนทั่วไปผ่านหลายช่องทาง เพราะมีประโยชน์ต่อองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากไอที โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร และการทำงานร่วมกันที่ใช้เอกสารเป็นสื่อกลาง ( เอกสารอบรม ) http://www.google.com/a/thaiabc.com