งานศพบนวิถีการให้เกียรติ 360 องศา

ภาพประกอบจาก พิธีศพของท่านพุทธทาส
ภาพประกอบจาก พิธีศพของท่านพุทธทาส

      ได้รับเชิญไปร่วมพิธีประชุมเพลิง หรือพิธีฌาปนกิจศพ ของผู้สูงอายุในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ท่านเป็นครูเก่าบวชเรียนมาแต่เยาว์ และมีลูกหลานหลายคน ลูกแต่ละคนก็มีหน้าที่การงานที่ดี ในหมู่หลานนับสิบคน ก็มีหลานที่เรียนจบแล้วอยู่หลายคน
        ไปร่วมประมาณ 10.00 น. ทำพิธีและทานอาหารกันเสร็จก็ประมาณ 12.00 น. ผมไปรอที่วัด ส่วนผู้สูงอายุในหมู่บ้านก็ทะยอยกันกลับบ้าน ยกเว้นคนหนุ่มสาว กับเพื่อนบ้านใกล้ชิด ที่ไปร่วมพิธีประชุมเพลิง ช่วยกันลากล้อที่มีศาลาราคา 2 หมื่นกว่าบาทเป็นหนึ่งในเครื่องทาน ส่วนผู้มีเกียรติมากหน่อยก็จะไปรอที่ฌาปนสถาน เพื่อร่วมพิธีประชุมเพลิง ระหว่างลากรถไปฌาปนสถานจะโปรยทานไปด้วย ใครได้เบอร์ที่ห่อไว้ในเหรียญตรงกับอายุ ก็ให้ออกไปรับซองรางวัล เป็นการชิงโชค หรือความเอื้ออาทรของเจ้าภาพ
       กว่าจะลากศพไปถึงฌาปนสถาน ก็ประมาณ 13.00 น. เพราะรอแม่บ้านล้างจาน และเตรียมชื่อแขก เพราะมีผู้มีเกียรติในงานที่ต้องออกไปวางผ้า 99 ท่านพอดี ประกอบด้วยผ้าตามอายุ 85 ผืน และผ้าไตรบังสุกุลอีก 14 ผืน พระสงฆ์ใช้เวลาสวดไม่นาน ก็เริ่มเชิญแขกไปวางผ้าทั้ง 99 ผืน แล้วเจ้าภาพก็มอบซองเงินสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานีอนามัย และกลุ่ม รวม 12 ซอง จากนั้นก็ให้ตัวแทนเจ้าภาพอ่านประวัติผู้ล่วงลับในหนังสือที่แจกให้ สุดท้ายเสร็จพิธีด้วยการเปิดให้ผู้ร่วมงานนำดอกไม้จันทร์ไปวางหน้าศพบนเมรุ ในเวลาประมาณ 14.30 น.

ความเปลี่ยนแปลง

ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์

     “การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชุมชนนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลา แล้วใครจะทำ และทำเพื่อใคร”  เป็นประโยคที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นก่อนทำการวิจัยในพื้นที่ เกิดอะไรบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ก่อนงานวิจัยจะเริ่ม คำถาม คำนินทา คำเตือน คำบอกเล่า ล้วนเป็นคำที่มีความหมายและมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของชุมชนและเป็นคำที่เกิดขึ้นก่อนงานวิจัยจะเริ่ม 

  “ทำไปทำไม ของมันดีอยู่แล้ว”
  “เป็นใครมาจากไหน ถึงได้กล้าทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน”
  “อย่าทำเลย เดี๋ยวมันจะขึด”
  “เมื่อทำไปแล้ว ได้อะไรขึ้นมา ชาวบ้านได้อะไร”
  “สูทำไปทำไม ไผเป็นคนบอกให้สูทำ”

     คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีข่าวการทำวิจัยเรื่องงานศพในบ้านไหล่หิน การทำงานเริ่มระมัดระวังมากขึ้น เริ่มหันมาพูดคุยกันในกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านถี่ขึ้น นักวิจัยต่างคนต่างให้ข้อคิดเห็นต่างกันออกไป เป็นกระจกซึ่งกันและกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างการทำงาน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในตัวนักวิจัย เริ่มมีการไตร่ตรองความคิดของตนเองและเพื่อนร่วมงานอย่างละเอียด ประเด็นนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากตัวนักวิจัยต้องการที่จะให้งานที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของชุมชน เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่างในชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักวิจัยท้องถิ่นที่มีต่อชุมชนและรูปแบบงานวิจัยนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปตามรูปแบบที่เกิดขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่ชุมชนจะกล่าวว่านักวิจัยของบ้านไหล่หินเป็นผู้นำทางความคิด หรือ “เป๋นเก๊าตางกำกึด” และนี่เป็นสิ่งที่นักวิจัยท้องถิ่นต้องยอมรับ
        หากกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในงานวิจัยท้องถิ่นโดยนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หิน หมู่ 2 ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง แล้วนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลนั่นคือ นักวิจัย และเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากชุมชน และที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนโดยรอบ ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและสามารถสัมผัสได้ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า นักวิจัยของบ้านไหล่หินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด เปลี่ยนแปลงการทำงาน ประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดการยอมรับนักวิจัยในชุมชนขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการทำงานของนักวิจัยท้องถิ่นบ้านไหล่หินทำงานกันเป็นทีม ทำให้การยอมรับกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ชาวบ้านเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างจากนักวิจัยท้องถิ่นบ้าง แต่ความคิดของชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นการแตกแยกในกลุ่มของชาวบ้านกันเอง แต่กลับเป็นผลดีต่อกระบวนการงานวิจัยที่กำลังลงมือกันอยู่ เป็นกระจกส่องการทำงานโดยคนในชุมชน เกิดสัมพันธภาพที่ดีในกลุ่มนักวิจัยและชาวบ้านที่เข้าร่วมเวที เสียงหัวเราะเริ่มเสียงดังขึ้น การแสดงความคิดเห็นในเวทีเริ่มมีสีสัน ข้อเสนอแนะมีมากขึ้น
       สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านมีความเข้าใจในกระบวนการงานวิจัยมากขึ้น กอปรกับชุมชนไหล่หินเป็นชุมชนที่มีการทำวิจัยในชุมชนค่อนข้างมาก ทำให้การดำเนินกิจกรรมระหว่างงานวิจัยนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวทีงานวิจัยแล้วผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในช่วงเวลาปกติ และในช่วงที่มีงานศพในหมู่บ้าน ขั้นตอนและกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนไหล่หินนั้นเป็นกระบวนการที่มีทั้งการขับเคลื่อนโดยนักวิจัยและการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชน ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในบางครั้งของห้วงเวลาที่ดำเนินงานวิจัย บางเรื่องเป็นเรื่องที่นักวิจัยไม่สามารถถามต่อชุมชนได้ เนื่องจากว่าบางสิ่งบางอย่างในงานวิจัยเป็นเรื่องของจารีตประเพณี เป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมานาน เพราะฉะนั้นประเด็นนี้คนที่ขับเคลื่อนเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทำให้ประเด็นคำถามที่ทีมนักวิจัยต้องการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเวทีประชาคม เป็นการพูดคุยผ่านกระบวนการประชาคมในหมู่บ้านและการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในงานศพที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเริ่มมีการพูดคุยในงานศพก็นำมาพูดคุยให้ข้อเสนอแนะในเวที โดยเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีการพูดคุยกันมานานก่อนงานวิจัยจะเริ่มขึ้นและเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัย ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีการบ่มมานาน การพูดคุย การเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เคยปิดกั้นทางความคิดของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับจารีตถูกเปิดเผย ถูกพูดถึง ทำให้จารีตประเพณีหรือฮีตถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพูดคุย ปัดฝุ่นกันอีกครั้งว่า เป็นฮีตเดิมฮีตเก่าฮีตแก่หรือไม่อย่างไร ใช้เหตุและผลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการชำระฮีตในชุมชน ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นทิศทางของความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในชุมชน จนนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นตามการชำระฮีต โดยยังยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของบรรพบุรุษในชุมชน ทั้งนี้เป็นการเดินทางสายกลางทางความคิดระหว่างนักวิจัยในหมู่บ้าน ผู้สูงอายุ เยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดขึ้นท่ามกลางมวลชนหลายหมู่เหล่าที่เห็นพ้องในแนวทางการดำเนินงานโครงการวิจัยการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านไหล่หิน หมู่ 2 และ หมู่ 6 ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและสัมพันธภาพในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เกิดการยอมรับทางความคิด และการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น
              จากความเปลี่ยนแปลงในทั้งสองหมู่บ้านทำให้ชุมชนรอบข้างเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกระบวนการงานวิจัยที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านดำเนินการกันอยู่ มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงไม่สนับสนุน เหมือนลักษณะในครั้งแรกที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หิน แต่กระนั้นก็ตามการกล่าวขานก็เป็นเพียงการกล่าวขานเล่าเรื่องราวเท่านั้น ความกระจ่างชัดในวัตถุประสงค์ของงงานวิจัยยังไม่แผ่คลุมในระดับตำบลหรือชุมชนรอบข้างแต่อย่างใด   

“หมู่บ้านท่านทำแบบใด ผมอยากมีแนวทาง
เหมือนบ้านท่านบ้าง หากมีเวลาผมขอเชิญมา
พูดคุยกับชาวบ้านตอนประชุมหมู่บ้านด้วยนะ” 

       เสียงของผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนึ่งบอกกล่าวแบบเชิญชวนหนึ่งในทีมวิจัยของเราเข้าไปพูดคุยในประเด็นที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังดำเนินการและปฏิบัติกันอยู่ ตรงนี้เป็นการชั่งคิดของชุมชนรอบข้างถึงแนวทางที่เกิดขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนรอบข้างที่ตอบรับกระบวนการงานวิจัยที่เกิดขึ้น เป็นการส่งไม้ต่อที่ไม่ต้องออกแรงกันมากนัก เกิดแนวร่วมแบบไม่เป็นทางการเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน เกิดแรงสนับสนุนจากภายนอกชุมชนเข้ามาเป็นระยะ ๆ จนในที่สุดกระบวนการและขั้นตอนที่เกิดขึ้นในบ้านไหล่หินก็สามารถหยิบยกในรูปแบบการดำเนินงานไปใช้กับชุมชนรอบข้างในตำบลไหล่หินได้เป็นอย่างดี จะแตกต่างตรงที่แนวทางและรูปแบบของแต่ละหมู่บ้านที่ไม่เหมือนกัน แต่กระบวนการที่นำไปใช้เป็นการถอดบทเรียนที่ชาวบ้านสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนทางความคิด บทเรียนทางการปฏิบัติ ทำให้เห็นว่าในเมื่อสิ่งที่บ้านไหล่หินทั้งสองหมู่บ้านกำลังทำอยู่นั้น เกิดผลดี ผลสัมฤทธิ์ที่มีคุณค่า หมู่บ้านหรือชุมชนรอบข้างเกิดความต้องการที่จะใช้กระบวนการของงานวิจัยเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชุมชนของตน
        จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวบุคคลไปถึงระดับหมู่บ้านจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับตำบลนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดที่อยู่ภายใต้กระบวนการงานวิจัยท้องถิ่นของชาวบ้านไหล่หินที่กล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงชุมชนจนนำไปสู่รูปแบบการจัดงานศพที่เกิดขึ้นจากเวทีประชาคม เกิดจากบทเรียนที่ถอดด้ามมาจากชุมชนรอบข้าง ทั้งนี้ผู้เขียนที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยชาวบ้าน เห็นว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกระบวนการงานวิจัยที่สอนให้ชาวบ้านได้รู้จักระบบการคิดที่มีเหตุผลและเป็นขั้นตอนอย่างยั่งยืนบนฐานความคิดของตนเองและชุมชน

ทำบุญ เปิดเรียน เลื่อนบทความ ถูกฉลาก

17 พ.ค.52 1) ที่บ้านไหล่หินทำบุญบ้าน ได้นิมนต์ เจ้าคณะตำบล ตุ๊ภาพ และพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ พร้อมพระสงฆ์อีก 2 รูปจากวัดลุ่ม ตั้งแต่ลุงแสนเสียก็ยังไม่ได้ทำบุญบ้าน จึงถือโอกาสทำบุญ 100 วัน ทำบุญบ้าน และทำบุญให้ยายนีไปด้วย ผู้สูงอายุไปร่วมทำพิธีที่บ้านประมาณ 20 ท่าน ต้องถือว่ามาร่วมกันมากกว่าปกติ แม้ไม่ได้บอกใคร   คงเพราะเป็นครอบครัวใหญ่ และชุมชนเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิด คนหนุ่มก็เข้าครัว ผู้สูงอายุก็อยู่บนบ้านฟังธรรม 2) พรุ่งนี้เปิดเรียนวันแรกของลูกทั้งสาม เราจึงกลับไปนอนที่บ้านอัศวิน แต่ลืมไปเอาชุดใหม่ ที่ใช้เงินหลวงแจกให้ไปซื้อชุดเป็นเงิน 350 บาท ส่วนหนังสือคงได้จากการยืมเรียน ก็ตกลงกันว่าวันพรุ่งนี้สวมชุดเก่าไปก่อนคงไม่เป็นไร ฝนดาวเข้า ป.5/8 พีพี ป.4/1 มาหยา ป.4/5 ส่วนชื่อครูจะให้ลูกไปจดมาชัด ๆ วันพรุ่งนี้ค่อยลงเว็บเพจของพวกเขา 3) ตรวจกำหนดการนำเสนอบทความ ที่ มจพ. (www.nccit.net และ nccit09-it04) พบว่านำเสนอบทความของผมเลื่อนเป็นวันที่ 23 พค. ตรงกับวันที่นัดจิ๋มไว้ที่บ้านเสานัก ทำให้ ppt ที่เตรียมไว้คงไม่ได้ใช้งานนี้แน่ จึงขอให้ อ.สุวรรณ กับ อ.ราตรี เป็นตัวแทนนักวิจัยบ้านไหล่หิน เพราะท่านมีบทความที่ถอดประสบการณ์ได้ชัดเจน และเหมาะที่จะนำเสนอประสบการณ์ในฐานะนักวิจัยชุมชน เป็นมุมมองของนักวิชาการในชุมชน ผลการประสานงานก็เรียบร้อยด้วยดี จะขอเลื่อนทาง มจพ. ก็คงไม่เหมาะ เพราะเขากำหนด และเผยแพร่ไปแล้ว ถ้าเลื่อนก็เป็นการแซงคิวเขา ซึ่งผมจะไม่ทำ คิดซะว่าเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะได้อยู่ฟังทั้ง 2 วัน จึงตัดสินใจนอนกรุงเทพฯ อีกคืน ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะทีมคณะวิทย์ฯ ที่ไปด้วยเขาก็กลับคืนวันศุกร์ ตามกำหนดเดิมได้ 4) ตกเย็นก็กลับบ้านมาตรวจฉลากกินแบ่งรัฐบาลพบว่าถูกเลข 2 ตัว 1 ใบ ก็ให้ย่าลัดดาไปขึ้นตัง ซื้อ 2 ใบจ่ายไป 200 บาท แต่ได้มา 2000 บาท ที่ได้มานี่ยังไม่พอทำบุญวันนี้เลย เพราะใส่ซองพระ 7 ซอง ๆ ละ 200 บาท ก็ 1400 บาทเข้าไปแล้ว แต่วันนี้เราทำบุญ และการทำบุญคือการให้ โดยไม่หวังผลตอบแทน ทำแล้วก็มีความสุข คิดอย่างนั้นก็จะสบายใจ

สรุปกระบวนการที่สำคัญในฐานะครูนักวิจัยชุมชน

อ.ราตรี
อ.ราตรี

        หลังจากร่วมงานกับทีมวิจัยชุมชน แล้วได้เห็นกระบวนการทำงานที่ให้คนในชุมชนค่อย ๆ ซึมซับ ตระหนึกถึงคำว่า “พอเพียง” และมีความเข้าใจในการที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ตามวิถีของคนในชุมชน ที่คนในชุมชนเห็นร่วมกันว่าปัจจุบันเป็นไปอย่างไม่ประหยัด ไม่พอดีพองาม คือ การจัดงานศพ ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับงานวิจัยครั้งนี้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วม จึงนำเสนอบทสรุปกระบวนการจากการร่วมงานโครงการวิจัย มีประเด็นที่สำคัญดังนี้
  1. การประชุมที่เน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้แสดงความคิดเห็น ร่วมสรุปและวิเคราะห์ร่วมกันในหลายรูปแบบ หลายระดับ อาทิ ประชุมนักวิจัย ประชุมนักวิจัยร่วม ประชุมผู้แทนชาวบ้าน และประชุมชาวบ้านทั้งหมดทีละหมู่บ้าน การประชุมแต่ละครั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็น และสรุปประเด็นต่าง ๆ เมื่อเป็นความคิดเห็นที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ทำให้แน่ใจได้ว่าจะเป็นมติที่ยอมรับร่วมกัน และไม่เกิดความขัดแย้งตามมาในภายหลัง การประชุมมีปฏิทินการทำงานของแต่ละเวทีชัดเจนก่อนนำไปสู่เวทีสรุปผลในที่สุด
  2. การเชิญภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือผู้สูงอายุมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ให้ข้อคิดเห็นเป็นวิธีที่ทำให้เวทีแสดงความคิดเห็นมีความเข้าใจตรงกัน เกิดการยอมรับ คล้อยตาม เช่นการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเล่าวิวัฒนาการเรื่องการจัดการงานศพที่มีแนวโน้มไปในทางที่จะฟุ่มเฟือยมากขึ้น เมื่อร่วมกันวิพากษ์ พินิจพิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลและประสบการณ์การจัดการงานศพในอดีตมาแลกเปลี่ยนในเวที จึงเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
  3. การศึกษาดูงานทำให้ผู้แทน หรือผู้นำในชุมชนได้ไปแลกเปลี่ยน ได้เห็นบทเรียนของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง เข้าใจเหตุของการเปลี่ยนแปลงค่านิคม ความเชื่อ พิธีกรรม ทำให้มีความกล้าในการรื้อสาง และ เปลี่ยนแปลงกิจกรรมบางอย่างที่มุ่งยกระดับครัวเรือนและชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
  4. การมีส่วนร่วมเป็นวิธีที่นักวิจัยหลัก และนักวิจัยร่วมใช้หลักประชาธิปไตย การทำงานทุกขั้นตอนได้นำชุมชนเข้ามาให้ข้อเสนอแนะ และร่วมวางแผน เปิดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมเริ่มจากกลุ่มเล็ก ขยายไปทั้งหมู่บ้าน และขยายไปทั้งตำบล เป็นการทำงานที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากระดับผู้นำชุมชนไปถึงระดับครัวเรือนอย่างชัดเจน
  5. การประชาสัมพันธ์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างการทำงาน ไปถึงเวทีสรุปผล ที่นำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นการงด การลดหรือการปรับเปลี่ยน เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และนำไปใช้ในหมู่บ้านอื่น พื้นที่อื่น ในขอบเขตของโครงการที่ทีมวิจัยหลักได้วางแผนนั้น ได้ขยายพื้นที่ครอบครุมไปทั้งตำบล และการประชาสัมพันธ์จะไปไกลกว่าด้วยสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อเอกสาร ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อวิทยุชุมชน
  ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมในการดำเนินการ ได้เห็น ได้มีส่วนร่วมและอยู่ในขั้นตอนการทำงานที่เป็นกระบวนการที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับการบริหารงานโรงเรียนไหล่หินวิทยาได้ และคิดว่าผลของการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญ เรียนรู้วิธีการ และนำประเด็นไปปฏิบัติสืบต่ออย่างยั่งยืน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป
โดย อ.ราตรี ดวงไชย รองผู้อำนวยการโรงเรียนไหล่หินวิทยา
http://www.thaiall.com/lovelampang/laihin_ratee.htm

กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดในชุมชน

vj_suwant_a
สุวรรณ

       ชุมชนได้อะไรจากโครงการวิจัย  ในเชิงวิชาการชุมชนได้ความรู้พื้นฐาน  กับคำว่าวิจัย โดยพื้นฐานทางการศึกษาแล้ว ชุมชนมีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน  ซึ่งมีกลุ่มคนจำนวนน้อยในชุมชนที่ผ่านระบบการศึกษาที่รู้จักคำว่าวิจัย  มีจำนวนมากที่ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยิน   และมีจำนวนหนึ่งที่เคยได้ยิน ได้อ่านแต่ไม่รู้ความหมายหรือรู้แต่ไม่ชัดเจน โครงการวิจัยจึงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้และเกิดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน จึงทำให้ทุกคนในชุมชนหรือส่วนใหญ่ได้รู้จักคำว่าวิจัย คืออะไร     อีกคำหนึ่ง คือคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเป็นคำที่ทุกคนได้ยิน ได้ฟัง ได้คุ้นเคยผ่านทางสื่อต่างๆ  แต่การที่จะรู้ความหมายอย่างถ่องแท้เพื่อนำไปสู่การปฎิบัตินั้นมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่คิดเพียงเรื่องเศรษฐกิจ การกิน การใช้ และการคิดถึงอาชีพที่เป็นภาคการเกษตรเท่านั้น  มองว่าเป็นเรื่องของส่วนตัวและครอบครัวเท่านั้น  ซึ่งที่แท้จริง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินวิถีชีวิตของทุกกลุ่มอาชีพ  โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง  ครอบครัว  หน่วยงาน องค์กร  ชุมชนและสังคม  โครงการวิจัยจึงทำให้เกิดความชัดเจนในองค์ความรู้ กับคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับชุมชน  เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ ไปปฏิบัติที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม
       ชุมชนได้เกิดกระบวนการอย่างน้อย  2 กระบวนการ คือ
       1. กระบวนการมีส่วนร่วม   การจัดการในงานศพมิใช่มีคนเพียง 2 –3 คน ที่จะดำเนินการได้และตัดสินใจให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองได้ทุกอย่าง  บางอย่าง บางประเด็น เป็นเงื่อนไข  เป็นกติกา เป็นประเพณี ของสังคมที่ต้องปฏิบัติ   โครงการวิจัย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการใช้กระบวนการของเดรมมิ่ง ( P D C A )  โดยการคิดวางแผนร่วมกันเพื่อให้ได้ประเด็นปัญหาไปสู่การปฏิบัติจริง  มีการสำรวจตรวจสอบประเด็นปัญหาใดที่ไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ และนำผลนั้นมาประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป  การได้ประเด็นปัญหาของการจัดการงานศพที่มีอยู่มากมายที่มีผลกระทบต่อเจ้าภาพและชุมชนมาบริหารจัดการอย่างได้ผลจึงเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
      2. กระบวนการประชาธิปไตย  การจัดการงานศพเป็นรูปแบบที่จัดสืบต่อกันมาและมีปัญหามากมายที่ไม่มีใครมองหรือมีคนมองแต่มิได้นำเสนอสู่การแก้ไข  โครงการวิจัยทำให้ทุกคนมองถึงปัญหาและนำปัญหานั้นมาคิดพร้อมกับนำเสนออย่างมีเหตุผล  มีความขัดแย้งในเชิงเหตุผลของแต่ละบุคคล  ท้ายสุดเกิดการยอมรับในเหตุผลซึ่งกันและกันและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างลงตัว ทุกคนจึงเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามในกิจกรรมเดียวกัน
       รูปแบบการจัดงานศพ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นองค์ความรู้ของชุมชน การจัดการงานศพบางเรื่องเป็นความละเอียดอ่อน  เป็นกิจกรรมที่ไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารและจัดการแบบเร่งด่วนและฉับพลัน  ซึ่งมีหลักหรือประเด็นที่เป็นกิจกรรมในการบริหารจัดการที่พอจะแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆอยู่  3 ประเด็น  คือ  พิธีกรรม   ความเชื่อ   และค่านิยม
       1. พิธีกรรม หรือพิธีการ  เป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 พิธีใหญ่ คือ  พิธีทางศาสนา และพิธีทางสังคม
       พิธีทางศาสนา  เช่น การการนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ สวด  การจัดสำรับปัจจัย
       พิธีทางสังคม เช่น การเชิญแขกมาร่วมงาน  การบริการต้อนรับ  การจัดอาหารเลี้ยงดู  การจัดสถานที่ที่พักอาศัย การให้เกียรติผู้ร่วมงานเป็นตัวแทนในการวางผ้าบังสุกุลหรือถวายสำรับปัจจัยแด่พระสงฆ์ เป็นต้น
      2. ความเชื่อ   เป็นนามธรรมที่สามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรม  ความเชื่อเป็นกิจกรรมหรือวิธีการปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา เช่น ความเชื่อเรื่องของวันดี วันเสีย  เป็นความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากคนรุ่นก่อน ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนอย่างมีเหตุมีผลว่า ดีอย่างไร  เสียอย่างไร   เพียงแต่เชื่อและปฏิบัติต่อกันมาและเชื่อว่าหากฝืนปฏิบัติแล้วจะเกิดความไม่เป็นมงคล  ความวิบัติ ต่อครอบครัวหรือชุมชน   ตัวอย่างหรือสถิติของการไม่ปฏิบัติตามความเชื่อนั้นแล้วทำให้บังเกิดสิ่งที่ไม่ดีงามเกิดขึ้นต่อชุมชนและครอบครัว ก็ไม่มีความชัดเจน  ความเชื่อจึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามรุ่นต่อรุ่นมากกว่า  ผลกระทบของประเด็นนี้คือ การที่ต้องจัดเก็บศพไว้นานหลายวันด้วยข้อจำกัดของคำว่า วันดี วันเสีย
       3. ค่านิยม   เป็นกิจกรรมที่ได้ประยุกต์หรือบูรณาการตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  เพียงมีใครได้คิดและทำเป็นแบบอย่างครั้งหนึ่งก็เกิดการปฏิบัติตามกัน  ซึ่งในอดีตไม่เคยมี  เช่น การจัดงานเลี้ยงแบบงานรื่นเริงหรืองานมงคล  มีดนตรี มีการจัดตั้งโต๊ะเลี้ยงสุราอาหาร การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ  การจัดให้มีปราสาทสวยงามราคาแพง เป็นต้น  ค่านิยมได้ก่อรูปแบบให้สังคมได้ชี้ถึงความเด่น ความด้อย ความมีศักยภาพหรือฐานะของเจ้าภาพ
       โครงการวิจัย รูปแบบการจัดการงานศพฯ  ได้อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนมาร่วมคิดและแก้ไขปัญหาที่ซ่อนบ่มอยู่ในการบริหารจัดการ โดยการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการประยุกต์ใช้ ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน  โครงการได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง  รูปแบบ และพฤติกรรมสังคม สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
       รูปแบบการจัดงานศพเป็นองค์ความรู้ในชุมชนที่มีกระบวนการ  เป็นองค์ความรู้ที่มีความยั่งยืน และจะมีพัฒนาการไปอย่างไม่จบสิ้น เป็นไปตามสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
       การจัดรูปแบบงานศพโดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน การนำประเด็นปัญหาที่เป็นผลกระทบมาสู่การแก้ไขและนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นรูปแบบใหม่ในชุมชนที่ต้องปฏิบัติสืบไป
       ชุมชนได้นำประเด็นปัญหาที่มีทั้งความง่าย แลความยากในทางปฏิบัติมาจัดการได้อย่างลงตัวถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่ยิ่งของโครงการ  ประเด็นปัญหาที่มีความง่าย เช่น การเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน  เพียงชี้แจงเหตุผล ความเป็นมาให้กับชุมชนเข้าใจก็สามารถปฏิบัติได้ ประเด็นปัญหาที่มีความยาก เช่น เรื่องของวันดี วันเสีย ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมานานเป็นนามธรรมที่มีความละเอียดอ่อน  โดยนำเอาความหายนะ ภัยวิบัติ  ความไม่เป็นมงคล มากำหนดหากไม่ปฏิบัติตาม  ความยากอยู่ที่การเปลี่ยนความเชื่อโดยการหาเหตุผลมาหักล้าง ที่ทำให้ทุกคนยอมรับและพึงพอใจ
       การดำเนินงานตามโครงการวิจัยถือว่ามีความสำเร็จ บรรลุตามวัตถุประสงค์    ชุมชนได้อะไรมากมายจากการมีส่วนร่วมในโครงการนี้  โดยเฉพาะการได้มีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานที่เป็นวิถีชีวิตชุมชนแบบยั่งยืน  การได้สร้างพื้นฐานการเป็นนักวิจัยของคนในชุมชน  การสร้างความพร้อมให้ชุมชนที่จะมองปัญหาอื่นที่มีอยู่ในชุมชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชนที่โครงการได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยท้องถิ่นดีเด่นระดับประเทศ  ความภาคภูมิใจของชาวบ้านไหล่หินอีกประการหนึ่งคือ การที่ได้มีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวแบบในการจัดงานศพที่สามารถขยายผลไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียงได้ปฏิบัติตาม  ต้องขอขอบคุณ สกว.ที่มอบโอกาสให้เกิดกระบวนการสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชน
        อีกโอกาสหนึ่งในระบบการศึกษาในสถานศึกษาที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ คือการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในการจัดงานศพ มาจัดทำเป็นสาระหลักสูตรท้องถิ่น ให้บุตรหลานได้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการได้เห็นการปฏิบัติจริงของชุมชน ซึ่งมีเกือบทุกสาระอยู่ในองค์ความรู้นั้น
       ท้องถิ่น ชุมชน มีปัญหาซ่อนบ่มอยู่มากมาย ที่รอรับการแก้ไขและพัฒนา เพื่อสร้างความสงบสุขให้ชุมชน  เพียงแต่ว่าจะมีใครเสียสละเวลาและกล้าเป็นผู้นำในการมองปัญหานั้น ๆ แล้วสืบค้นเพื่อแก้ไข  โดยการอาศัยการสนับสนุน จาก สกว.ท้องถิ่น ที่พร้อมให้การสนับสนุน  ซึ่งถือว่า  สกว. มีส่วนช่วยสร้างและขัดเกลาสังคม  นำชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา นำความสุข ความสงบสู่ชุมชนท้องถิ่นได้ตามสถานการณ์
โดย อ.สุวรรณ  เกษณา    ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสาด-ผึ้งนาเกลือ
http://www.thaiall.com/lovelampang/laihin_suwan.htm

แผนที่สังคม (Social Mapping)

แผนที่สังคม
แผนที่สังคม

แผนที่สังคม (Social Mapping) คือ เครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยรูปแบบที่นำเสนอนี้ นำมาจากต้นแบบที่ออกแบบโดยคุณภัทรา มาน้อย ปกติแผนที่สังคมถูกใช้ทำแผนที่หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด อาจใช้ทำแผนที่แสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของความรู้หรือทุนในชุมชน หรือใช้แจกแจงรายละเอียดตำแหน่งในชุมชนที่ต้องการใช้ประโยชน์ หรือประกอบการตัดสินใจ หรือเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน
ซึ่งแผนภาพนี้เขียนจากการประยุกต์ข้อมูลตามโครงวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพ บ้านไหล่หินฯ เพื่อนำเสนอด้วยแผนภูมิที่พี่เลี้ยงโครงการได้แนะนำให้ใช้แสดง ความสัมพันธ์ของ คน ความรู้ สารสนเทศ และการเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
http://www.thaiall.com/research/method_cbr.ppt
http://www.thaiall.com/research/manoi.htm

การพัฒนาชุมชนผ่านบทบาทพระสงษ์

clipboard1เปิดประชุม 2 ทุ่มตรงในอังคารที่ 12 พ.ค.52 พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ เชิญชวน ผู้นำจากบ้านหมู่ 2 และหมู่ 6 ตำบลไหล่หิน ทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอสม. กลุ่มผู้สูงอายุ ครูจาก 2 โรงเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และอาจารย์มหาวิทยาลัย อาทิ อ.ธวัชชัย แสนชมพู อ.อัศนีย์ ณ น่าน มีผู้ร่วมประชุมมากกว่า 50 คน มารับนโยบาย หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ รับทราบแผนการดำเนินงานโครงการ และกำหนดการ เพราะโครงการจะได้รับอนุมัติ 1มิ.ย.52 – 31พ.ค.53 ได้ชมวีดีโอบทเรียนการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ โครงการนี้ได้รับอนุมัติจาก สสส. มีชื่อโครงการคือ “โครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานที่ยั่งยืน” ผ่าน “กลุ่มธรรมะสว่างใจบ้านไหล่หิน” ที่พระครูเป็นประธานกลุ่ม ที่ทำการตั้งอยู่ที่วัดชัยมงคลธรรมวราราม โครงการที่มีการนำเสนอว่าจะดำเนินการโดยสรุปมี 8 โครงการคือ 1) ลดรายจ่าย อาทิ ปลูกผักปลอดสาร และบัญชีครัวเรือน 2) แยกขยะ 3) อบรมคุณธรรม 4) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ 5) ครอบครัวอบอุ่นกิจกรรมวันอาทิตย์ 6) ออกกำลัง และกินเพื่อสุขภาพ 7) ปลูกจิตสำนักรักบ้านเกิด 8) พัฒนากลุ่มอาชีพ ซึ่งทุกโครงการเกิดจากการที่ท่านวิเคราะห์ SWOT ของวัด และชุมชน โดยสอดรับกับข้อสรุปวัตถุประสงค์ 3 ข้อของโครงการ คือ 1) สร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเอง 2) มีคุณธรรม ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด 3) มีครอบครัวอบอุ่น มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ใช้เวลาประชุมตั้งแต่ 20.00น. ถึง 22.15น. กว่าผมจะขับรถถึงบ้านก็ 23.00น. พอดี
http://www.thaihealth.or.th/node/7061

จิตไม่ว่างวันพืชมงคลปี 2552

แอบบอก
แอบบอกออกแบบ

ตื่นเช้าก็ชมวีดีโอบรรยายธรรมของ
ดร.วรภัทร ภู่เจริญ  ได้ดีวีดีจาก
กฤษดา เขียวสนุก ตอนไปประชุมวันที่ 10 ขณะเปิดให้ครอบครัวชมวีดีโอ ก็เตรียมสอนไปด้วย โดยทำบทเรียนที่วิชวลเบสิก เตรียมสอนภาคเรียนต่อไป ก็หมดเวลาในช่วงเช้าไปอย่างรวดเร็ว บ่ายสามโมงไปร่วมพิธีแอบบอกว่าเราออกแบบ ของมหาวิทยาลัยเปิดนิทรรศการที่ BigC ลำปาง โดยมีโมเดลถนนดวงรัตน์ เป็น hight light พร้อมกับงานเดินแบบชุดทันสมัยที่ใช้ผ้าม่อฮ่อม ออกแบบโดยนักศึกษาสาขาออกแบบ ระหว่างนั้นได้พูดคุยกับเพื่อนท่านหนึ่งที่แสดงทัศนคติที่จะทำร้ายองค์กรหนึ่งที่ผมรัก โดยเขาเองก็คงไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว เพราะฐานความเชื่อของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ทำให้ผมจิตไม่ว่าง วุ่นวายในจิต เศร้าใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ใช้ธรรมข่มใจว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”  หรือข่มจิตด้วยคำว่า “ความสุขอยู่ที่ใจเรา” ที่นักบรรยายธรรมท่านสั่งสอนแล้วก็ตาม ก็ยังทำใจเลิกห่วงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจนเกินเหตุไม่ได้ เป็นผลให้เย็นนี้ผมทำอะไรต่อไม่ได้มากนัก เพราะจิตไม่สงบ คุมจิตนิ่งไม่ได้ หรือนั่งนิ่งทำงานหน้าเครื่องไม่ได้ แล้วไปนั่งฆ่าเวลาอ่านหนังสือ 25 ความคิดพลิกโลก(25 BIG IDEAS)  ที่แปลโดย ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล แล้วมาจัดการภาพที่ถ่ายได้จากนิทรรศการมาเข้าระบบสะสมภาพ http://www.managerroom.com
       พอดึกผมก็เพิ่ม plug in : page number ใน blog ของ wordpress แล้วฟังละครที่ครอบครัวดูกัน คือเรื่องแม่หญิง วันนี้มี surprise เพราะไม่คิดว่าละครเรื่องนี้จะมีฉาก หนุ่ม ศรราม เทพพิทักษ์ เกือบข่มขืน นุ่น วรนุช วงษ์สวรรค์ .. ไม่นึกว่าละครดี ๆ แบบนี้ จะนำเสนอคนดี ๆ แบบนั้นทำเรื่องผิดศีลในฐานะพระเอกของเรื่อง

ร่วมเวทีวิจัยที่ศูนย์ประสานงานกับ อ.อัศนีย์ ณ น่าน

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 9.00 – 16.00 น.
                     ร่วมแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัย “กระบวนการสร้างการเรียนรู้ตำนานมูลศาสนาฉบับวัดบ้านเอื้อม ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง” นำเสนอโดยทีมวิจัย 3 ท่าน คือ พระอธิการสวัสดิ์ โสตฺถิโก เจ้าอาวาสวัดบ้านเอื้อม พระสุริยา วัดยางอ้อยเหนือ และ อาจารย์เกษวรี  สว่างวงศ์ ซึ่งทุกท่านนำเสนอที่มา กิจกรรม บทเรียน ปัญหา และการขยับต่อในช่วงต่อไปได้อย่างชัดเจน ตำนานมูลศาสนาของวัดบ้านเอื้อมที่เลือกมาแปลครั้งนี้ มีต้นฉบับขนาด 48 หน้าปั๊ปสา โดยมีแผนแปลออกมา 4 รุ่นคือ 1) ภาษาล้านนา 2) ภาษาปริวรรต 3) ภาษาคำเมือง 4) ภาษาไทย ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องการจัดทำหรือการนำพจนานุกรมภาษาล้านนามาใช้ในโครงการ นอกเหนือจากที่โครงการได้จัดทำแบบฝึกหัดที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของอาจารย์อัศนีย์ ณ น่าน ว่าน่าจะนำวรรณกรรมอ้างอิงในพื้นที่อื่นมาใช้ประโยชน์ หลังเสร็จการประชุมคุณภัทรา มาน้อย เฉลยว่าทีมนี้ได้มีการใช้ Social Mapping ทำให้สามารถนำเสนอได้อย่างเป็นลำดับเริ่มจากนำเสนอเรื่องคนและความรู้ (Social) ข้อมูล (Map) และกิจกรรม (Ing)
                      ร่วมแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอโครงการใหม่ของเยาวชนโรงเรียนพัฒนาสังคม คุณกมลธสรณ์ ยอดกำลัง นำเยาวชนของอำเภอห้างฉัตรมานำเสนอ เยาวชนอธิบายได้ชัดเจนกันทุกคน ผมมีโอกาสนำเสนอว่าน่าจะหาชื่อโครงการมาเป็นธง วัตถุประสงค์ สรรหาคนที่เข้ามามีบทบาท ประเด็น และกิจกรรม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือการหาชื่อโครงการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ทีมเยาวชนที่มานำเสนอมีความเข้าใจกิจกรรมที่ทำอยู่ในโรงเรียนพอสมควร จึงเสนอชื่อโครงการว่า “รูปแบบโรงเรียนต้นแบบเชิงบูรณาการบ้าน วัด โรงเรียน” แต่หลังจากแลกเปลี่ยนร่วมกันในเวที ได้มีข้อสังเกตว่าเยาวชนอายุประมาณ 10 – 15 ปี น่าจะมีขอบเขตไม่กว้างหรือลึกเกินไปนัก จึงเสนอชื่อโครงการใหม่ว่า “แนวทางการพัฒนาเยาวชนโรงเรียนพัฒนาสังคม” เพราะที่มากันครั้งนี้เนื่องจากเกาะกลุ่มจากการใช้โรงเรียนพัฒนาสังคมเป็นฐาน และที่เสนอไปก็เพื่อให้มีการนำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ใหม่ ก่อนที่จะกลับมานำเสนอในเวที เพื่อทบทวนและร่วมให้ความเห็นกันอีกครั้ง

ชวนเที่ยว 5 วัดกับชุมชนวิถีไทยพุทธตำบลไหล่หิน

ภาพไหล่หิน
ภาพไหล่หิน

เช้าวันเสาร์ ถึงสถานีรถไฟหรือรถทัวร์ อำเภอเมือง ลำปาง แล้วเดินทาง 30 กิโลเมตรไปตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เข้าไหล่หินแวะกาดเช้าในบ้านไหล่หิน ซื้อกับข้าวท้องถิ่นเป็นอาหารมื้อเช้า เข้าพักบ้านพ่อหลวงแม่หลวงในหมู่บ้านในบ้านที่สะดวก ไปสักการะ วัดไหล่หินหลวงและพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง เดิมชมแนวต้นยางริมแม่น้ำยาวเก็บภาพประทับใจ  ทางก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารตามสั่งในหมู่บ้านเป็นอาหารกลางวัน แล้วขับจักรยานชมทุ่งริมแม่น้ำยาวไปบ้านมะกอกนาบัว บ่ายแก่ ๆ ไปกาดแลงบ้านหนองหล่ายแล้วซื้ออาหารเย็นมาทำกิน กลับมาพักผ่อนทานข้าวเย็นในที่บ้านที่พัก ตกค่ำไปสวดมนต์ทำวัตรเย็นกับพระครูวัดชัยมงคลธรรมวราราม  เริ่มเช้าวันอาทิตย์หาอาหารเช้าในกาดเช้าไหล่หิน จากนั้นก็ออกเดินทางนำผู้ที่แข็งแรงไปขึ้นดอยฮางเป็นดอยหินปูนมี พระธาตุอยู่บนยอดดอย และมีถ้ำพระอยู่กลางดอยระหว่างทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุ ลงจากดอยพาไปแช่น้ำพุร้อน ทานข้าวเที่ยงบนแพ ที่บ้านโป่งร้อน แล้วไปไหว้พระที่ วัดสันตินิคม (สันป่าสัก) เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดลำปาง  แห่งที่ 1 (สังกัดธรรมยุต) ออกจากตำบลไหล่หินแวะสักการะ วัดพระธาตุลำปางหลวง  ก่อนส่งที่สถานีขนส่งในอำเภอเมืองลำปาง  .. ก็เพียงแต่คิดจะชวนคนไทยมาเที่ยวที่ตำบลไหล่หิน มีค่าที่พักให้พ่อหลวงแม่หลวงเจ้าของบ้าน 500 บาท กับค่าเดินทางอีก 1000 บาท กับค่าจัดการประสานงานวันละ 1000 บาท และอื่นอีก 500 บาท ก็น่าจะ เหมาะกับคนในชุมชน