สมเด็จพระเทพฯ เสด็จวัดไหล่หินหลวง

พระเทพ เสด็จวัดไหล่หินหลวง

28 ต.ค.52 9.00น. สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยี่ยมวัดไหล่หินหลวง จังหวัดลำปาง เป็นที่ปิติยินดีของชาวไหล่หินหาที่สุดมิได้ ลูกทั้ง 3 ของผมและพ่อตาบรรจง ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอยู่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง เป็นครั้งแรกของพวกลูกที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าเจ้านายใกล้ชิดเพียงนี้ ครอบครัวของเราก็ยินดีที่ได้รับโอกาสดีเช่นนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้านายท่านจะเสด็จมาหมู่บ้านนี้อีก ถ้ามาโอกาสแบบนี้อีกในครั้งใดก็จะพาลูกเขาไปเฝ้าเช่นนี้ทุกครั้งไป สำหรับตัวแทนชาวไหล่หิน นำโดย นายทรงศักดิ์ แก้วมูล ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ฯ ถวายรายงานใกล้ชิด พบรายละเอียดจากทีวีหลายช่องเป็นที่ประจักษ์

อุบายลวงจิตลดโทษะต่ออัตตาในมนุษย์

12 ต.ค.52 เพื่อนในองค์กรหนึ่งโทรมาระบาย เรื่องความมีอัตตาในตัวมนุษย์ เขารู้สึกไม่สบายใจเมื่อถูกมนุษย์ด้วยกันแสดงตนว่าเหนือกว่า ด้วยการยกตนข่มท่าน แสดงตนว่าเหนือกว่าด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ หรือบุญคุณ เหมือนคนไทยที่ยึดมั่นถือมั่นในอำนาจ ความรู้ วัยวุฒิและศักดิ์ศรี ผมก็เลยอาศัยคำพระว่า “คนทุกคนเกิดมา ไม่ได้พกอะไรมา ตอนไปก็ไม่พกอะไรไป แต่ตอนอยู่ กลับทำตัวว่ามีอะไรซะมากมาย” และ “มนุษย์ยังมีกิเลสยังไม่รู้จักพอเพียง” อีกคำที่พระหลายรูปท่านชอบเปรียบเปรยว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์ประเสริฐเสมอไป ฟังพระท่านด่าว่าเป็นสัตว์เดรัชฉานอยู่บ่อยครั้ง เช่น “อย่ากินเหล้าแล้วเมาเหมือนหมา อย่าดีแต่เห่า สีซอให้ควายฟัง” ผมก็ชักคล้อยตาม เหมือนดูละครทีวีบ่อย ๆ ก็มักจินตนาการไปว่าตนเองเป็นพระเอกอยู่ร่ำไป แต่นี่พระท่านสอนโดยเปรียบเปรย ว่าผมเป็นสัตว์เดรัชฉานแล้วนี่ผมก็ต้องจินตนาการไปตามนั้นแล้วสิ
     กลับมาพูดถึง การให้คติเตือนใจเพื่อนคนนั้นว่า มนุษย์เราเกิดมามักอยู่ไม่ถึง 100 ปี เกิดมาต้องตายกันทุกคน ยับยั้งกิเลสในตน ทำจิตให้สงบ ลดอัตตา ลดศักดิ์ศรี ต้องรู้จักให้อภัย แล้วนึกซะว่า “คนที่มีอัตตาก็เป็นเพียงสัตว์เดรัชฉาน เป็นเพียงหมาตัวหนึ่งเห่าบ๊อกบ็อกน่ารักจะตาย” เราก็จะสบายใจแล้วให้อภัยเขา หรือไม่ก็นึกซะว่า “เขาคือปลาตัวมื้อเย็นนี้จะกลับไปทุกหัวแล้วทอดเป็นอาหารเย็น จิตที่หมกมุ่นกับความหม่นหมองก็น่าจะปลอดโปร่งขึ้นได้” เพราะถ้าไม่อภัยแล้วไปทำร้ายเขาด้วยบันดาลโทสะ ก็อาจติดคุกติดตาราง .. ไม่คุ้มกับความเป็นผู้มีบุญได้เกิดมาเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐครั้งหนึ่งบนโลกนี้ .. ก็หวังแต่ว่าเพื่อนทางโทรศัพท์ผู้นั้นจะเข้าใจ

.. ลอกมาจากที่ไหนก็จำไม่ได้แล้ว ขออภัยที่ไม่ได้เขียนแหล่งอ้างอิงไว้

กิเลสและอัตตาในตัวเรา .. ที่น่ารังเกียจ

28 ก.ย.52 น่าแปลกมาก ที่ใครต่อใคร เช่น เสื้อแดง เสื้อเหลือ นักการเมือง คนในหนังสือพิมพ์ ดาราเซ็กซี่ มักพูดถึง หรือถูกเล่าในเรื่องราวความผิดของคนอื่น นินทา ให้ร้ายด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ใช้ฐานคิดของตนเองเป็นหลัก เป็นเรื่องไม่น่ารื่นรมอย่างยิ่ง แต่จิตใต้สำนึกของผมกลับรู้สึกสนุกไปกับความวุ่นวายภายนอก เท่ากับขาดอุเบกขา ที่ไม่อาจวางเฉยหรือทำตัวเป็นกลาง ทุกครั้งที่อยู่คนเดียวและจิตว่าง ก็จะนึกทบทวนกิจกรรมของมนุษย์จนเผลอรู้สึกรังเกียจ และขยะแขยงความเป็นมนุษย์ของตนเองก็หลายครั้ง อาทิ 1)รู้ว่าตนเอง ยังมีความรัก โลภ โกรธ หลง เห็นพฤติกรรมของดาราสาวเป็นเรื่องไม่สมควร แต่แก้ไขอะไรไม่ได้ 2)แก้ไขสัจธรรมที่ว่าตนเองต้องตายไม่ได้ ยังทำใจไม่ได้ เกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย 3)มองเห็นความไม่รู้จักสงบในผู้สูงอายุรอบตัว เช่นคนในครอบครัว เมื่อผมชวนเข้าวัด “ก็บอกว่า ไปทำไม ไปแล้วได้อะไร” 4)ส่วนตัวผมก็ยังลดการอุปโภคและบริโภคเป็น 0 ไม่ได้สักที แค่ลดลงคนรอบข้างก็มองผมเป็นสัตว์ประหลาดไปแล้ว .. รำพึงรำพัน

ตานก๋วยฉลาก

รวมภาพจากประเพณี ตานก๋วยฉลาก
รวมภาพจากประเพณี ตานก๋วยฉลาก

12 ก.ย.52 ได้จัดก๋วยและฉลากไปทานที่วัดไหล่หินหลวง ถึงญาติสนิทผู้ล่วงลับ 3 ท่าน คือ ตาแสน ยายแก้ว และยายนี เป็นประเพณีที่ทำกันทุกปีในบ้านไหล่หิน ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยมีเพื่อนบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียง มาร่วมตานกันทุกปี ประเพณีนี้เรียกว่า “ตานก๋วยฉลาก” โดยชาวบ้านเช่น ครอบครัวของผม จะดาครัว หรือเตรียมก๋วย สมัยก่อนใช้ไม้ไผ่สานเป็นก๋วยหรือภาชนะใส่ของ แล้วใช้ใส่ข้าวของเครื่องใช้ อาหารคาวหวานใส่ลงไป ผู้ล่วงลับจะได้พกพาไปไหนได้สะดวก ปัจจุบันเห็นใช้ตะกร้าพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ บางคนก็ยังใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของตาน อาจใช้ย่าม กะละมังก็ทำได้ สำหรับของที่ตาน หรืออุทิศไปให้ผู้ล่วงลับอาจมีบ้านจำลอง เตียง หงส์จำลอง นกจำลอง หรืออะไรต่อมิอะไรตามจิตศรัทธา เป็นของตาน
     ช่วงเช้าไปถึงวัดก็จะเอาฉลาก หรือเส้นไปลงทะเบียนกับกรรมการวัด เพื่อจัดสรรมอบให้พระสงฆ์ หรือเณรที่มาจากวัดใกล้เคียงรวมกว่า 100 รูป และผู้เกี่ยวข้อง เพราะมีเส้นในปีนี้กว่า 4000 เส้น ก็คือของตาน 4000 ชุดจากหลายร้อยครอบครัว สำหรับพระที่ได้รับเส้นหรือฉลากมา อาจมอบให้กรรมการวัดไปตามหา แล้วนำมาจัดสรรในภายหลัง มีความเชื่อว่าถ้าของตานชุดใดถูกรับไปก่อน หมายถึงผู้ล่วงลับมารับส่วนบุญไปเร็ว ชุดใดออกช้า แสดงว่ายังไม่มารับ แต่สุดท้ายก็ได้ตานทุกชุด ต่างกันเพียงแต่ว่าจะหมดช้าหรือหมดเร็ว แต่ละครอบครัวจะเตรียมก๋วยไว้หลายชุด บางบ้านมากกว่า 10 ชุด เพราะมีญาติที่ล่วงลับไปแล้วหลายคน
     เมื่อผมไปถึงวัดก็พบคุณทรงศักดิ์ แก้วมูล ในฐานะกรรมการวัดที่มีบทบาทสำคัญในการจัดงานนี้ จึงขอถ่ายภาพท่านมาเขียน blog และนานนานครั้งผมจะได้มีโอกาสไปร่วมงาน เพราะถ้าวันงานตรงกับวันทำงานก็จะมอบให้ญาติท่านอื่นไปทำหน้าที่ ครอบครัวผมมีคนมารับตานเร็ว กลับถึงบ้านประมาณ 12.30 น. ออกบ้านกันแต่เช้าตั้งแต่ 09.00 น. เพราะมีพิธีทางศาสนาในศาลา ที่กระทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ก็ต้องลุ่นว่าปีต่อไปจะนำลูก ๆ ไปร่วมกิจกรรมนี้ได้อีกหรือไม่ ก็ภวนาให้เป็นวันหยุด .. จะได้ไปร่วมตานอีก

ร่วมเรียนรู้พุทธศิลป์ วัดปงสนุก ลำปาง

วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง
วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง

29 ส.ค.52 ดร.สุจิรา หาผล คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโยนก จัดทำโครงการบูรณาการนำนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และครอบครัวบุคลากรในสถาบัน มีตัวแทนจากทุกคณะเข้าร่วม อาทิ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะนิเทศศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ ไปเรียนรู้การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม พุทธศิลป์ และโบราณสถาน ณ วัดปงสนุกเหนือ จังหวัดลำปาง ในวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2552 ช่วงเช้า นายธงชัย กุลรูป เป็นตัวแทนนักศึกษากล่าวนำไหว้พระ และ อ.สุภาพ ขุนจุมพล เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนวิทยากรภาควิชาการ คือ อ.อนุกูล ศิริพันธ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง ทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ กระบวนการ และพัฒนาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการยิงคำถามให้วิทยากร และถามตอบตลอดการบรรยายอย่างมีชีวิตชีวา วิทยากรถึงกับเอ่ยปากชมว่าไม่มีใครแอบงีบเลย ไม่เหมือนเด็กเล็กจากโรงเรียนใกล้เคียงที่มีอาการวูบเป็นหย่อมหย่อม ช่วงบ่ายทุกคนร่วมกิจกรรมบูรณะวัดร่วมกัน เป็นงานบุญที่ทุกคนแช่มชื่น สังเกตได้จากสีหน้าของผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้ครับ และคาดว่างานกฐินคราวหน้าจะมีศรัทธาจากมหาวิทยาลัยของเราไปร่วมทำบุญที่วัดนี้

ลงแขกในทุ่งนากับครอบครัวที่ไหล่หิน

 

ในทุ่ง
ในทุ่ง

9 ส.ค.52 บทเรียนจากการทำงานวันหยุดสุดท้ายของสัปดาห์ 1)ไปพบพระครูวัดไหล่หินลุ่ม แจ้งเรื่องการเลือกพื้นที่บ้านกิ่ว และสนทนากับท่านอยู่พักใหญ่ก็ได้ข้อสรุปว่า ถ้ามีโอกาสจะชวนนักศึกษาไปช่วยเก็บข้อมูลในหมู่บ้านร่วมกับ อสม. หานักศึกษาไปเสริมทีมเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง เพราะนักศึกษาจะได้โครงการวิจัย CBPUS 2 คนของ สกว. คือปางกับกร ถ้าชวนเพื่อนนักศึกษาไปเรียนรู้ชุมชนก็น่าจะเป็นไปได้ ที่นอนที่กินก็พร้อม เพราะพระครูบอกว่ามีที่พักให้ ข้าวก้นบาตรก็พอได้อยู่ (แต่ก่อนกลับต้องใช้หนี้วัดก่อน .. อันนี้ผมเติม) 2)ก่อนเที่ยงก็พาครอบครัวไปส่งกับข้าวในทุ่งนา เพราะวันนี้พ่อตาพาเพื่อนบ้านไปลงแขก ถอนกล้าหรือหลกกล้าประมาณ 15 คน ในที่นา 2 ไฮ่เมือง ส่วนการปลูกได้จ้างทีมปลูกที่รับจ้างตลอดฤดูกลางนี้ในระแวกบ้าน จอดรถห่างจากที่นากว่า 500 เมตร เดินไปตามคันนา กลับถึงบ้านดูเด็ก ๆ ไม่เหนื่อยล้าเหมือนที่ผมคาดไว้ ส่วนตัวผมก็ไม่มีไข้ติดกลับมาด้วย ภรรยาเล่าให้ฟังว่าโดยปกติคนถอนกล้าจะเป็นผู้ชาย คนมัดกล้าเป็นหญิง คนปลูกข้าวเป็นหญิง คนเกี่ยวข้าวมีทั้งหญิงและชาย ส่วนคนตีข้าวเป็นชาย มีเหตุผลว่าแยกกันเพราะเรื่องของกำลังที่ชายจะมากกว่าหญิง สำหรับที่ดินกว่า 2 ไฮ่เมืองของพ่อตา มีคนขอซื้อ 6หมื่นแล้ว แต่ตาบอกว่า 7.5หมื่นถึงจะปล่อย ส่วนเพื่อนบ้านบอกว่าน่าจะรีบปล่อยนะ เพราะได้ราคาแล้ว 3)ทดสอบใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมโทรศัพท์ Nokia 2330c ผ่าน Bluetooth และเปิดบริการ Audio Gateway เมื่อผมใช้ Sony Ericsson พบว่าคอมพิวเตอร์รับโทรศัพท์ได้อัตโนมัติ ภรรยาพูดผ่านคอมพิวเตอร์ ส่วนผมอยู่นอกถนน คุยกับภรรยาโดยภรรยาไม่แตะต้องโทรศัพท์ ที่แน่ ๆ คือผมเสียค่าโทรศัพท์ตามปกติ และหลักการนี้ทำให้ภรรยาสามารถเปิด โปรแกรมบันทึกเสียง เช่น sound recorder และบันทึกบทสนทนาไว้ในคอมพิวเตอร์ และเขียนลง CD เก็บไว้ฟังได้ทุกเวลา เคยเห็นสายลับทำในภาพยนต์ ผมจึงทดสอบทำบ้าง ก็ทำได้ดังที่เขาเคยทำกัน 4)ต่อ net ด้วย 1222 ผ่าน Phone Line จากบ้านไหล่หิน ตอนเช้าความเร็วพอทำงานได้ แต่ตอนบ่ายช้ามาก ยังไม่ได้ทดสอบ disconnect แล้ว connect ใหม่ ส่วน dial ผ่าน Nokia 2330c ก็ไม่ได้ เพราะ AIS ปฏิเสธโทรเข้า 1222 ถ้าจะให้ได้คงต้องไปซื้อชั่วโมง net มาทดสอบซะแล้วครับ

เข้าวัดถือศีล สวดมนต์ นั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติธรรม

7-8 ก.ค.52 อาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง นุ่งขาวห่มขาว รักษาศีล สวดมนต์ นั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เดินจงกลม รับประทานอาหารเจ ฟังเทศ สนทนาธรรมกับพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ ร่วมกับคนในหมู่บ้านไหล่หิน ณ วัดชัยมงคลธรรมวราราม ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ตามโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในสัปดาห์วันอาสาฬหบูชา ในโอกาสนี้ได้ร่วมทำบุญบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ชมนิทรรศการแสดงพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุในวิหารหลวง พบว่าขณะปฏิบัติธรรมจิตสงบขึ้น เห็นหนทางสู่การพ้นทุกข์ ตามหลักอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
+ http://www.thaiall.com/dhamma/

กลุ่มออมทรัพย์วันละบาท

กองทุน
กองทุน

5 พ.ค.52  21.00น. – 22.00น. ได้ฟังบรรยายเรื่อง “กลุ่มออมทรัพย์วันละบาท” มีวิทยากรคือหัวหน้ากลุ่มออมทรัพย์วันละบาท ของต.ป่าตัน ได้รับเชิญจากพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ให้บรรยายเรื่องการทำกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมาในชื่อ “การประชุมสัมมนา สร้างกระบวนการเรียนรู้การจัดสวัสดิการชุมชน” สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงาน การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง (พมจ.)
     วิทยากรเล่าว่าออมกันวันละบาทต่อคนจ่ายทุกต้นเดือนก็เพียง 30 บาท  มีนโยบายจ่ายเพียง 10 ปี ก็ตกอยู่ที่ 3600 บาทเท่านั้น หลังจาก 10 ปีก็จะได้รับความคุ้มครองตลอดไป  ถ้าเสียชีวิตก็รับเงิน 3600 บาทคืนไปได้เลย แต่กองทุนนี้จะมีนโยบายอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันในชุมชน ในลำปางมีกองทุนที่เข้มแข็ง 3 พื้นที่ คือ อ.เถิน อ.แม่พริก และต.ป่าตัน เพราะเป็นพื้นที่นำร่องที่ภาครัฐ และอบต. จะจ่ายเงินสมทบให้ เช่นออมมา 10 ปีจ่ายไป  3600 บาท ก็จะได้อีก 3600 + 3600 บาท รวมเป็น 10800 บาทญาติก็จะรับไปเมื่อเจ้าตัวเสียชีวิต นอกจากนี้กลุ่มยังสามารถเขียนโครงการส่งเข้าไปรับการพิจารณาของบประมาณมาพัฒนาชุมชน ได้ทุกเดือนจาก พมจ. สำหรับตัวอย่างที่กองทุนจัดสวัสดิการให้คนชุมชน เช่น มีเงินวันละ 100 บาทถ้าต้องนอนโรงพยาบาลแต่ไม่เกิน 500 บาท และไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นต้น ส่วนระบบฐานข้อมูลจะใช้คอมพิวเตอร์ ใช้สมุดแบบธนาคาร หรือใช้ระบบใดก็ได้ หากใช้ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีวิทยากรจากเชียงใหม่ หรือสนใจไปดูงานทาง พมจ. ก็จะมีงบประมาณค่าเดินทางให้คนในหมู่บ้านไปดู เพื่อนำมาพัฒนากลุ่มต่อไป

โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนสู่แผนพัฒนาชุมชน

 

การทำบัญชีครัวเรือน
การทำบัญชีครัวเรือน

5 พ.ค.52  20.00น. – 21.00น. ได้ฟังบรรยายเรื่อง “การทำบัญชีครัวเรือน” มีวิทยากรคือหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อดูแลเขตอำเภอเกาะคา ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. ท่านย้ายมาเมื่อวันที่ 16 เม.ย.52 อาศัยอยู่อ.ห้างฉัตร และได้รับเชิญจากพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ให้มาร่วมกันทำ “โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนสู่แผนพัฒนาชุมชน” ที่จัดโดยวัดชัยมงคลธรรมวรารามร่วมกับ ธ.ก.ส. มีคนในบ้านไหล่หินหมู่ 6 เป็นส่วนใหญ่นำโดยพ่อกำนัน มาร่วมประมาณ 40 ถึง 50 คน เท่าที่สังเกตุจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน เพราะมีการตั้งโต๊ะเก็บเงินสมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ผมได้ความรู้วิธีการทำบัญชีครัว โดยใช้สมุดเล่มเขียวมีกิจกรรมให้บันทึกทุกวัน ประกอบด้วย 5 ช่องคือ วันที่ กิจกรรม รายรับ รายจ่าย และหมายเหตุ ยังมีเรื่องหม้อที่รับน้ำเข้า และจะอุดรอยรั่วอย่างไรไม่ให้น้ำไหลออกมากเกินไป เรื่องนี้ทาง ธ.ก.ส.สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว เพราะเห็นว่าทั้งประเทศแจกไปหลายล้านเล่ม
     วิทยากรเล่าว่าการที่ธนาคารเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เพราะธนาคารมิได้มีหน้าที่เพียงปล่อยกู้ แล้วตามทวงหนี้ แต่ต้องสนับสนุนให้คนในชุมชน หรือลูกหนี้ รู้จักทำอาชีพ รู้จักการใช้เงิน และออมเงินอย่างเป็นระบบ หากทุกคนเข้าใจการออมเงิน รู้ซึ้งคำว่าพอเพียงแล้ว ย่อมทำให้การพัฒนาชุมชนตามที่วางแผนไว้ในโอกาสต่อไป สามารถดำเนินการได้ง่าย จนทำให้การแก้ปัญหาความยากจน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างชุมชนน่าอยู่ และมีความสุขอยู่ไม่ไกล ในตอนท้ายพระครูแจ้งว่าทาง ธ.ก.ส.เคยประกวดและให้บ้านเป็นรางวัลราคา 5 แสนแก่ผู้ที่เขียนได้ดี สำหรับในหมู่บ้านไหล่หิน พระครู จะมีรางวัลให้แต่เป็นอะไรขออุบไว้ก่อน ก็คงมีรายละเอียดในการประชุมหมู่บ้านครั้งต่อไปของพ่อกำนัน
     ผมสังเกตุว่าพระครูท่านฉันท์ข้าวมื้อเดียว และสวมชุดสีเดียว หากคนไหล่หิน ลดจำนวนมื้ออาหารลงสักหนึ่งมื้อ และลดปัจจัยปรุงแต่งลงบ้าง ก็คงลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก เพื่อลดความต้องการ ลดความอยากลงนิดหนึ่ง ความสุขจากความรู้จักพอก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

งานมุทิตาจิต ของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม

อาจารย์จินต์
อาจารย์จินต์

เย็น 30 พ.ค.52 เวลา 19.00น.-22.00น. ได้ร่วมงานมุทิตาจิต (หนึ่งในพรหมวิหาร 4 คือยินดีเมื่อเห็นเขาเป็นสุข) ของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม เป็นงานแสดงความยินดีในการเกษียณรอบที่สองของท่าน เพราะท่านเกษียณอายุราชการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปี 2537 และมาเริ่มทำงานที่ม.โยนกในปีเดียวกัน จนถึงปี 2552 ท่านทำงานไป 15 ปี มีอายุครบ 75 ปี รู้สึกว่าสังขารไม่ให้อีกต่อไป จึงขอเกษียณการทำงานอย่างแท้จริง ท่านตั้งปณิธานที่จะไปอยู่วัดใช้ชีวิตอย่างสงบตามวิถีของพุทธศาสนิกชน

     ในงานนี้มีอาจารย์ เจ้าหน้าที่ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนเก่า ศิษย์เก่าไปร่วมงานทั้ง 15 รุ่น และรุ่นที่ไปกันมากที่สุดเห็นจะเป็น MBA รุ่นที่ 1 เป็นงานแสดงความยินดีที่เห็นท่านมีความสุขที่ออกไปพักผ่อน ไม่ต้องตื่นเช้าและกลับเย็น ไม่ต้องเดินตามตะวันอีกต่อไป ต่อไปท่านต้องเป็นนายตนเองแล้ว มีหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือดูแลตนเองให้สังขารอยู่กับท่านให้นานที่สุด ผมอยู่งานมุทิตาจิตจนงานเลิกเวลา 22.00 น. เพราะซึ่งใจและชื่นชมที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ 1)ท่านพ้นวัย 60 ไปมากโขและทำงานต่อได้อีกตั้ง 15 ปี ดีใจที่เห็นท่านมีวันนี้ที่สมบูรณ์ ก็ต้องย้อนกับมาดูตัวว่าจะทำอย่างไรจะให้มีอายุยืนยาวได้อย่างท่าน (มนุษย์กว่า 30% จากไปก่อนอายุ 60 ปี) และด้วยปัจจัยเรื่องอายุที่อาจไม่ได้เห็นงานมุทิตาจิตของตนเอง 2)แขกที่มาร่วมงานมีมากมายหลายกลุ่ม ทุกคนมาด้วยจิตกุศล ด้วยใจรักและชื่นชมในอาจารย์ของพวกเขา การจัดงานช่วงเช้ามีทั้งงานบุญเลี้ยงพระ และตีกอล์ฟของศิษย์เก่า ส่วนการจัดงานช่วงเย็นก็เป็นไปอย่างมีความสุข มีการมอบของขวัญแสดงความยินดี ทั้ง อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ และอ.อติชาต หาญชาญชัย ก็เป็นตัวแทนหน่วยงานออกไปมอบของขวัญ มีการฉายวีดีทัศน์ที่ทีมงานของบัณฑิตจัดทำถึง 3 ชุด และใช้ใน 3 วาระตามแผนที่วางไว้ การแสดงศิลปวัฒนธรรมของศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่าออกมาร้องเพลง มีผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงานมากมาย เช่น คุณอนุรักษ์ นภาวรรณ ผู้สนับสนุนรายใหญ่ อ.อัศนีย์ ณ น่าน ประสานจัดทำหนังสือที่ระลึกที่ปกมีภาพของท่านผมขาวตามสังขาร (เห็นท่านแซวตนเองบนเวที) ผศ.นำชัย เติมศิริเกียรติ นำหนังสือธรรมเรื่อง “คุณบิดามารดา” มาแจกภายในงาน บนเวทีมุทิตาจิตมีศิษย์เก่าแต่ละรุ่นออกไปแสดงความรู้สึก ก็มีศิษย์ท่านหนึ่งพูดว่า “หนูขอเบอร์ไว้ด้วยนะคะ เวลามีปัญหาจะโทรไปปรึกษา” ผมก็คิดอยู่ในใจว่าการจัดการความรู้นี่สำคัญจริงแท้ เพราะหัวหน้าผม อ.อติชาต หาญชาญชัย ก็ไปต่อเอกด้านนี้ และสมแล้วที่ในกฎหมายไทยเริ่มให้ความสำคัญ

     ในอดีตช่วงแรกที่ท่านมาที่ม.โยนก ผมพอจำได้ว่า 15 ปีก่อน เดือนเมษายน 2537 ม.โยนกจัดปฐมนิเทศอาจารย์ที่สวนป่าทุ่งเกวียน แล้วท่านก็เป็นหนึ่งในวิทยากร ที่จำได้เพราะมีประเด็นที่ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับท่านในมหาวิทยาลัยเริ่มมีการจัดการความรู้ (KM) ในโลกเรามีระบบที่เรียกว่า expert system มาหลายสิบปี ก็เกิดความรู้สึกเสียดายในองค์ความรู้ของท่านที่สั่งสมมากว่า 75 ปี

     ผมได้ถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นจากความทรงจำที่ร่วมงานมุทิตาจิต 1)ออกมาเป็นบันทึก และโพสท์ใน blog site เป็นการบันทึกสิ่งที่เราประทับใจในตัวท่าน และการมีส่วนร่วมของศิษย์เก่า 2)นำไปประยุกต์สำหรับเขียนบทความไอทีในชีวิตประจำวัน เล่าเรื่องงานมุทิตาจิต กับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะงานนี้ใช้ไอทีอยู่ไม่น้อย เป็นเพียงเทคนิคหนึ่ง ที่สามารถนำความรู้มาจัดการในบทบาทของคนร่วมงานคนหนึ่ง