ผลประเมินการอบรมและวิพากษ์ข้อมูลพื้นฐาน

7 มิ.ย.53 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.53 ที่ผ่านมา มีเวทีที่จัดโดยงานประกันคุณภาพ อ.อัศนีย์ ณ น่าน และเป็นเสมือนการอบรมนักวิจัยในการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นและความพึงพอใจในการใช้งานโปรแกรมไปพร้อมกัน พบว่า ผลประเมิน 5 คำถามมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (X=3.96, S.D=0.65)
     โดยแบบสอบถามในครั้งนี้มุ่งสร้างการรับรู้แก่ผู้ร่วมวิพากษ์ โดยใช้คำถามนำที่มุ่งไปสู่การให้ความสำคัญกับหลักฐาน การรับรู้เรื่องข้อมูลพื้นฐาน การมีส่วนร่วมจากบุคลากร การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการประกันคุณภาพ และการมติสำหรับการจัดอบรมเพิ่มเติม ซึ่งสรุปความคิดเห็น/ความพึงพอใจได้ว่า
     1) บุคลากรเชื่อว่าการใช้ระบบฐานข้อมูล ช่วยรวบรวมหลักฐานจากแต่ละบุคคลสู่คณะ และมหาวิทยาลัย นำมาตรวจสอบการอ้างอิงตามเกณฑ์มาตรฐานได้ง่าย อยู่ในระดับมาก (X=4,S.D=0.55)
     2) บุคลากรเชื่อว่าการใช้ระบบฐานข้อมูล สามารถเป็นแหล่งรวบรวมเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐาน (CDS) จากหน่วยงาน และคณะวิชาให้ตรงกับข้อมูลในตัวบ่งชี้ อยู่ในระดับมาก (X=3.86,S.D=0.53)
     3) บุคลากรเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “หลักฐานส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานของบุคลากรหรือคณะกรรมการ หากผู้รับผิดชอบส่งข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูล แล้วคณะวิชาหรือมหาวิทยาลัยนำไปใช้อ้างอิงตามตัวบ่งชี้ ก็จะแสดงการมีส่วนร่วมจากบุคลากร” อยู่ในระดับมาก (X=4.14,S.D=0.53)
     4) ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วท่านสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการประเมินตนเอง อยู่ในระดับมาก (X=3.79,S.D=0.43)
     5) ถ้ามีการจัดอบรมการใช้ระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง เพื่อนำข้อมูลเข้าตามเกณฑ์ ตัวบ่งชี้ หรือข้อมูลพื้นฐาน บุคลากรเห็นว่าควรมีการจัดอบรมขึ้นอีกครั้ง อยู่ในระดับมาก (X=4,S.D=1.04)
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/sar_530601_cds.xls

ส่งข่าวเรื่องการไปปฏิบัติงานประชุมวิชาการที่กทม

nccit 2010

6 มิ.ย.53 มหาวิทยาลัยโยนกร่วมเป็นเจ้าภาพกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ในชื่องาน The 6th National Conference on Computing and Information Technology and The 10 th International Conference on Innovative Internet Community Systems ณ โรงแรมอิสติน กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 3 – 5 มิถุนายน 2553 โดยมีบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา 
     โดยมี ดร.มนชัย เทียนทอง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ. ให้การต้อนรับใกล้ชิด ซึ่งบุคลากรที่ไปร่วมงานครั้งนี้ประกอบด้วย อ.วิเชพ ใจบุญ อ.อติชาต หาญชาญชัย อ.เกศริน อินเพลา อ.ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น และ ผศ.บุรินทร์  รุจจนพันธุ์ ส่วนพี่ตี๋ทำหน้าที่ควบคุมการเดินทางให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
+ http://www.nccit.net

เตรียมเอกสารอบรมส่งข้อมูลระดับบุคคลเพื่องานประกันคุณภาพ

5 มิ.ย.53 เตรียมเอกสารการอบรมการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลประเมินตนเองระดับบุคคล ปีนี้เป็นปีแรกที่มี อ.อัศนีย์ ณ น่าน มารับงานประกันคุณภาพ และท่านอธิการให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากระดับบุคคล เกิดกระบวนการส่งเสริมการทำงานร่วมกัน สร้างความเข้าใจในการประกันคุณภาพอย่างมีส่วนร่วม และพัฒนาทรัพยากรบุคคลเชิงบูรณาการ กิจกรรมในการอบรมภายใน 1 ชั่วโมงประกอบด้วยการชี้แจงโดยตัวแทนฝ่ายประกัน และอบรมการส่งข้อมูลเข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และองค์ประกอบ และประเมินผล ซึ่งการติดตามจะมีกลไกของงานวิจัยมาขับเคลื่อน
     ซึ่งรายการเอกสารหลักฐานเป็นสิ่งที่บุคลากรต้องไปพูดคุยแลกเปลี่ยนในหน่วยงานของตน หรือเป็นที่ต้องการของคณะวิชา หรือมหาวิทยาลัย ว่ามีอะไรที่ต้องใช้ในเกณฑ์ใด เพราะมหาวิทยาลัยดำเนินการตามเกณฑ์นี้มาแล้วสามปี ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะใช้เกณฑ์ชุดนี้ ก่อนใช้เกณฑ์ใหม่ ส่วนคณะวิชาจะถูกเชิญมารับการอบรมในการดึงข้อมูลที่แต่ละบุคคลส่งเข้าไป มาใช้อ้างอิง หรือประสานกลับไปสำหรับรายละเอียดของเนื้อหา ความสมบูรณ์ และรูปเล่มเป็นลำดับต่อไป วันนี้จัดทำแบบสอบถามการอบรมครั้งนี้ และใบเซ็นชื่อ ส่วนแบบสอบถามที่ใช้วิพากษ์ข้อมูลพื้นฐานอยู่ที่มหาวิทยาลัยและจะประมวลผลเป็นลำดับต่อไป
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/52_sar_person.doc
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/ques_sar52_530601.doc
+ http://www.thaiall.com/research/sar52/ques_sar52_53060708.doc

เข้าอบรมทักษะการคิดแบบวิจัย

นักวิจัยส่วนหนึ่งที่ร่วมกิจกรรม

29 พ.ค.53 สถาบันนวัตกรรมกระบวนการเรียนรู้ชุมชนจัดอบรมทักษะการคิดแบบวิจัย ที่ สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 2 ลำปาง วันเสาร์ที่ 29 พ.ค.53 นำโดยคุณอัญมณี แสงแก้ว (โบว์) คุณภัทรา มาน้อย (จิ๋ม) และคุณรัตติกร บุญมี (จิ๊บ) เป็นกิจกรรมที่ 3 ใน 7 กิจกรรมตามแผนของปี 2553 คือ 1) เทคนิคการวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 2) วิทยากรกระบวนการ 3) ทักษะการคิดแบบวิจัย 4) การวาดเพื่อการสื่อสาร 5) การเขียนโครงการเพื่อขอรับทุน 6) การทำแผนที่ทางสังคม 7) สุนทรียสนทนา
     นอกจากกิจกรรมวิชาการที่ให้แนวการวิเคราะห์งานไว้ 4 ประเด็นคือ ปรากฎการณ์ รูปแบบ โครงสร้าง และแบบจำลองความคิด และองค์ประกอบของบ้านแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการคิดแบบวิจัย อาทิ วาดจักรยาน เดินเท้าชิด และแม่น้ำพิษ ส่วนโครงการใหม่ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้คือ กลุ่มนักวิจัยวัดปงสนุก และกลุ่มนักวิจัยน้ำห้วยปุ๊
     มีโอกาสแลกเปลี่ยน กับนายกอบต. ท่านสนใจจัดทำสื่อมัลติมีเดียของตำบล ผมจึงแนะนำ กรกับปราง ที่ทำงานวิจัยจัดทำสื่อวีดีทัศน์บ้านไหล่หิน ได้ติดต่อกับท่านนายก และในเวทีนี้ คุณภัทรา ได้ฉายวีดีโอที่กรกับปรางจัดทำ ให้เพื่อนในทีมวิจัยได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัยของบ้านไหล่หิน .. ก็หวังว่า กรกับปราง จะเข้าไปขยายงานในชุมชนนี้ได้สำเร็จ

กิจกรรมต่อเนื่องร่วมกับสกว.ภาค ศูนย์ลำปาง

แผนที่ไป สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 2 ลำปาง

28 พ.ค.53 ได้รับอีเมล 2 ฉบับจากน้องโบว์ เรื่องแรกคือเปลี่ยนสถานที่อบรมพัฒนาศักยภาพนักวิจัย จากห้องสมุดเป็น สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 2 ลำปาง คาดว่าโบว์ใช้วิธีวาดรูปแล้ว scan จากนั้นก็ส่งให้ผมทางอีเมล คาดว่าพรุ่งนี้คงทราบเหตุว่าเปลี่ยนจากห้องสมุดเทศบาลนครลำปาง มาเป็นส.ว.ล เพราะอะไร เรื่องที่สองคือได้รับรายงานการขอขยายเวลาโครงการวิจัย คาดว่าส่งให้หัวหน้าโครงการทุกคนที่อยู่ในรายการ เห็นรายชื่อโครงการที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ และระยะเวลาที่ขอขยายออกไปของแต่ละโครงการแล้ว ก็ต้องบอกว่าเป็นภาระของศูนย์ที่ต้องดูแลใกล้ชิด เนื่องจากโครงการที่ขยายเวลาออกไปนานก็จะต้องใช้ทรัพยากรเพิ่ม ทั้งด้านเวลา งบประมาณ และการดูแล ถ้าจบเร็วก็จะได้ใช้เวลาที่เหลือของชีวิตไปทำกิจกรรมอื่นได้ .. ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกโครงการที่ยังปิดไม่โดยสมบูรณ์เร่งให้เสร็จโดยเร็ว

รายงานการพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับนักศึกษา

ระบบสารสนเทศนักศึกษา

27 พ.ค.53 ด้วยกลไกการพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับนักศึกษาโดย คุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ ทำให้ผมมีโอกาสได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ อ.สกุลศักดิ์ อินหล้า ท่านเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา ดูแลงานหลายด้านของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนากิจกรรมนักศึกษา และสอดรับกับการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งทำงานร่วมกับ อ.บุญรักษา ปัญญายืน หัวหน้าฝ่ายพัฒนานักศึกษาใหม่ จากการหารือทำให้ทราบว่าการเก็บข้อมูลการทำกิจกรรมของนักศึกษาจำแนกได้ 2 กลุ่มคือ กิจกรรมหลัก และกิจกรรมรอง ซึ่งกิจกรรมหลักจะถูกกำหนดขึ้นผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนานักศึกษา ที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมวิชาการของคณะวิชาในรูปการทำงานเชิงบูรณาการ
     เมื่อคุณธรณินทร์ ทราบข้อมูลกิจกรรมหลักจะนำไปบรรจุในระบบสารเทศนักศึกษา และมีกลไกในการจัดการข้อมูล 3 ส่วนคือ 1) ผู้รับผิดชอบกิจกรรมหลัก หรือกิจกรรมรองแต่ละกิจกรรม จะนำข้อมูลมา upload เข้าระบบ และมีรายชื่อนักศึกษาที่ทำกิจกรรมแต่ละครั้งขึ้นมาในระบบ เพื่อการตรวจสอบโดยนักศึกษา และคณะวิชา 2) นักศึกษาจะเป็นผู้เข้ามาให้ข้อมูล ประเมินกิจกรรม และตรวจสอบตนเอง การเข้าร่วมกิจกรรมแล้วแสดงข้อคิดเห็นในรูปของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกิจกรรมนั้น เกิดเป็นกลไก PDCA ในด้านการทำกิจกรรมของนักศึกษา แล้วสามารถนำข้อมูลไปจัดทำรายงานผลกิจกรรม (Activities Transcript) ของนักศึกษาแต่ละคนได้อย่างสมเหตุสมผล 3) ผู้ควบคุมนโยบายในรูปของคณะกรรมการเข้าตรวจสอบตามกลไก PDCA แล้วประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและสถานการณ์เฉพาะกิจ
     ระบบนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งผู้ควบคุมนโยบาย ผู้ออกแบบกิจกรรม ผู้ยกร่างกิจกรรม การทำความเข้าใจกับนักศึกษา และการพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันเชิงบูรณาการ
+ http://www.yonok.ac.th/student/
+ http://www.yonok.ac.th/mis
+ http://sa.siit.tu.ac.th/ats/ac_transcript.php
+ http://www.sat.chula.ac.th/chula2/
+ http://activity.mahidol.ac.th/news/activity2-1.html
+ http://demo.nu.ac.th/ActTrans/

ร่างแผนระบบสารสนเทศ

ร่างแผนระบบสารสนเทศ

23 พ.ค.53 ตามที่มีเกณฑ์ของ สกอ. ออกใหม่ปี 2553 ใน ตบช 7.5 ที่ระบุว่ามหาวิทยาลัยและคณะวิชาต้องมีแผนระบบสารสนเทศ จากการวิพากษ์ระบบฐานข้อมูลในเดือนที่ผ่านมา จึงจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ และดำเนินการยกร่างแผนระบบสารสนเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำฟอร์มกรอกข้อมูลแผนในรายละเอียดที่สื่อให้เข้าใจตรงกัน สอดรับกับการทำงานสามด้านของระบบสารสนเทศ คือ การนำข้อมูลเข้า การประมวลผล และการนำไปใช้ แต่สารสนเทศมีรายละเอียดมาก จึงให้ความสำคัญกับสารสนเทศที่เกี่ยวกับ 4 มิติ คือ 1) องค์กรภายนอก 2) แผนกลยุทธ์ 3 ) การประกันคุณภาพ 4) การบริหารจัดการที่สำคัญ
     กระบวนการที่ใช้ในการจัดทำแผนระบบสารสนเทศคือ 1) วิพากษ์ระบบฐานข้อมูล 2) แต่งตั้งกรรมการ ร่วมกันยกร่างแผน ให้ข้อมูลเรื่องแผนแก่บุคลากร และรับข้อเสนอแผนจากบุคลากร 3) ประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกันจัดทำแผน 4) เสนอขออนุมัติแผนต่อมหาวิทยาลัย 5) ดำเนินการตามแผน 6) ติดตาม และประเมินกิจกรรม 6) สรุปผล
.. เล่าสู่กันฟังครับ เพราะขณะนี้อยู่ขั้นตอนการยกร่างแผน

สรุปรายงาน KM จำนวน 2 เล่ม

22 พ.ค.53 ตามที่อ.อติชาต เป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแลการจัดการความรู้ในคณะวิทย์ ทำให้มีรายงานตามแผนการจัดการความรู้เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมาจำนวน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1) ในปีการศึกษา 2551 ทำ KM เรื่อง การสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนัก
     ในปีการศึกษา 2552 ผ่องถ่ายมายังคณะวิทย์ และเกิดการทำงานตามแผนทั้งหมด 2 แผน คือ 2) มิ.ย.-พ.ย.52 ทำเรื่อง การพัฒนาการเรียนการสอน และ 3) ม.ค.-เม.ย.53 ทำเรื่องการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และได้จัดทำรายงานเผยแพร่ใน blog ของมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดให้เพื่อนบุคลากรและบุคคลทั่วไปได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการติดตามเรื่องแรก พบว่า ค่าเฉลี่ยความสำเร็จของการนำความรู้ไปใช้อยู่ระดับมากที่สุด (X=4.57) ผลการติดตามเรื่องที่สอง พบว่า มีการยอมรับคู่มือวิชาโครงงานฯ สำหรับนำไปประกอบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผ่านกระบวนการจัดการความรู้
     หากเพื่อนท่านใดมีข้อเสนอแนะก็ยินดีรับ เพื่อการปรับแก้และเป็นบทเรียนแก่บุคคลทั่วไป
+ http://www.thaiall.com/km/science/52_km_june_nov_v1.zip
+ http://www.thaiall.com/km/science/53_km_jan_may_v3.zip

เพิ่มวาระการประชุมก่อนเปิดภาคเรียน

20 พ.ค.53 วันนี้หัวหน้าส่งเมลมาถามว่ามีวาระอะไรต้องเข้าประชุมก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งเราทุกคนทราบว่าในการทำงานต้องมีการวางแผนเตรียมการ ซึ่งสอดรับกับพันธกิจสี่ด้าน การประกันคุณภาพ แผนปฏิบัติการประจำปี และแผนกลยุทธ์ มีเรื่องราวมากมายทั้งนโยบายจากผู้บริหารและหน่วยงานสนับสนุน แต่ที่ผมทราบและสามารถให้ข้อมูลได้มี 2 เรื่อง จึงเสนอเพิ่มวาระการประชุมที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 26 พ.ค.53 13.30 – 16.30 จำนวน 2 วาระ
     มีวาระที่เสนอคือ 1) ขอเพิ่มวาระเรื่อง อาจารย์ประจำหลักสูตรร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศเชิงบูรณาการ เพื่อให้มีหลักฐานการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านการประชุมที่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้การทำงานตามตัวบ่งชี้ 7.5 เกิดขึ้นตามเกณฑ์ของ สกอ.ใหม่ ซึ่งอาจารย์อติชาต กำลังทำหนังสือขอแต่งตั้งจากท่านอธิการ 2) ขอเพิ่มวาระเรื่อง การรายงานการติดตามประเมินผลความสำเร็จของการจัดการความรู้ เหตุผลของการเพิ่มวาระนี้คือ เป็น 1 ใน 39 ตัวบ่งชี้ที่ต้องมีร่องรอยหลักฐาน ในการประเมินตนเองเพื่อรับการประกันคุณภาพ ปีการศึกษา 2552 ซึ่งในตัวบ่งชี้ 7.3 มีการพัฒนาองค์กรสู่องค์กรการเรียนรู้ เกณฑ์ที่ 5 ระบุว่า “นำผลการประเมินไปปรับใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการความรู้ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนงานปกติและปรับปรุงแผนการจัดการความรู้”
     ในวาระที่ 2 ที่นำเสนอนี้จำเป็นต้องมีมติในทางที่เห็นชอบร่วมกันกำหนด 2 อย่างคือ 1. หัวเรื่อง KM ใหม่ 2.ตัวบ่งชี้ที่วัดได้เป็นรูปธรรม จึงต้องการมติว่าบุคลากรในคณะคิดว่าปีการศึกษาต่อไปควรมีเรื่องอะไรเป็น KM ของคณะ โปรดเสนอในที่ประชุมของคณะเพื่อปีการศึกษาต่อไปจะได้มีแผนการจัดการความรู้ เพื่อให้ผ่าน 1 ใน 39 ตัวบ่งชี้ของการประกันคุณภาพ ตามเกณฑ์ใหม่ของ สกอ. แต่ผมคงไม่รอให้ถึงวันประชุม คิดว่าต้องทำงานนอกรอบ จึงคาดว่าจะไปขอหารือกับ อ.ภาณี หรืออ.เบณ ไม่อยากใช้เวลามากเกินจำเป็นสำหรับ KM เพราะการทำงานในระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีการทำงานนอกรอบก่อนเสมอ เวลาเข้าเวทีที่เป็นทางการจะได้ข้อสรุปหรือได้ประเด็นที่สำคัญอย่างรวดเร็ว

ส่งรายงานเล่มใหญ่ให้คณะวิชา แล้วส่งบันทึกแจ้งคณะกรรมการ

18 พ.ค.53 เขียนบันทึกเรื่อง แจ้งการจัดทำรายงานสรุปผลโครงการ โอกาสต่อไปจะได้ใช้เป็นแบบอย่าง เพราะการส่งรายงานเล่มใหญ่ให้กรรมการกว่า 20 คนเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล จึงส่งบันทึกแจ้งแทนว่าไปอ่านที่คณะวิชาแทนได้ หรือดาวน์โหลดด้วยตนเอง ซึ่งมีรายละเอียด 3 ย่อหน้าดังนี้
     1) ตามที่ท่านร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบอีเลินนิ่งมหาวิทยาลัยโยนก และเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมวางแผน เขียนโครงการ และดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนด้วยอีเลินนิ่ง ซึ่งสำเร็จลุล่วงในการพัฒนาบุคลกรไปแล้วจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคัดเลือกผู้พัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้อีเลินนิ่ง ซึ่งผลของการดำเนินงานทำให้ได้ผู้ที่ใช้อีเลินนิ่งเป็นเครื่องมือในปีการศึกษา 2552 มาเป็นแบบอย่างของบุคลากรจำนวน 4 ท่าน แล้วได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ได้รับการคัดเลือกมาเป็นวิทยากรในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาสื่อการสอนอีเลินนิ่ง ที่จัดขึ้นวันที่ 29 – 30 เมษายน 2553 และได้ข้อเสนอเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
     2) การดำเนินการทั้ง 2 โครงการได้จัดทำรายงานสรุปผลที่มีข้อมูลการจัดสรรมูลค่าและงบประมาณ จำแนกตามคณะวิชา เพื่อใช้เป็นบทเรียนในการทำงานที่เชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยี การใช้เครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเป็นทางเลือกในการวิจัยในชั้นเรียน และเป็นเอกสารหลักฐานการประกันคุณภาพในเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการบริการวิชาการของคณะวิชา และในเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเอกสารรายงานสรุปผลได้ถูกจัดส่งให้กับคณบดีทุกคณะวิชา รองอธิการบดี และอธิการบดี สำหรับใช้อ้างอิงต่อไป
     3) สำหรับแฟ้มรายงานสรุปผล นอกจากท่านจะศึกษาได้จากรูปเล่มที่จัดส่งให้แต่ละคณะวิชาแล้ว ท่านยังสามารถดาวน์โหลดได้จากระบบอินทราเน็ต หรือระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัย ที่ http://www.yonok.ac.th/mis ภายใต้ลิงค์ที่ชื่อว่า “รายงานสรุปผลโครงการ”